- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 30 April 2015 17:55
- Hits: 1182
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
คาด SET ฟื้นตัวรอบใหม่ หลังปรับฐาน 3% ผลบวกจาก กนง. ลดดอกเบี้ย เร็วกว่าคาด กลยุทธ์เลือกหุ้นที่คาดจะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลงเต็ม ๆ คือ ASK([email protected]) และดีจากเรื่อง sentiment คือ SPALI([email protected]) เลือกเป็น Top picks ปัจจุบันมีค่า PER เพียง 8 เท่า และ 7 เท่า และยังมีเงินปันผลสูง 8% และ 6.5% ตามลำดับ
กลยุทธ์การลงทุน เลือกหุ้นได้ประโยชน์ภายใต้ดอกเบี้ยขาลง
วานนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.5% ด้วยมติ 5 ต่อ 2 เสียง นับว่า ดีกว่าตลาดคาดว่าจะคงดอกเบี้ยฯ ที่เดิม หลังจากประกาศลดไปแล้ว 0.25% เมื่อ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา เพราะเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าคาด ซึ่งทำให้สำนักงานวิจัยต่างๆ มีแนวโน้มปรับลดประมาณการ GDP Growth โดยล่าสุด ASP ได้ปรับลดลงไปแล้วเหลือ 2.5% (ติดตามอ่าน Economic Update ฉบับวันที่ 28 เม.ย. ที่ผ่านมา) ขณะที่ผลการสำรวจของกรุงเทพโพลล์ ล่าสุด ได้สรุปความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะตกท้องช้าง หรือภาวะถดถอย เนื่องจากปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมีเพียง ภาคท่องเที่ยงและการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของรัฐเท่านั้น และยังคาดหมายว่าในระยะ 3 เดือนข้างหน้าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะถดถอย (Recession) อย่างไรก็ตาม คาดว่าการลดดอกเบี้ยฯ ในครั้งนี้ น่าจะสร้าง sentiment เชิงบวกให้กับตลาดบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มลิสซิ่งที่มีต้นทุนดอกเบี้ยลอยตัว หรือ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าน่าจะได้ประโยชน์จากเรื่องของ Sentiment เป็นหลัก ดังนี้
กลุ่มแรกคือ ลิสซิ่ง นักวิเคราะห์ ASP ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง 25bp จะทำให้คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2558 ของกลุ่มฯ เพิ่มขึ้น 0.78% โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีต้นทุนการกู้ยืม (ภาระหนี้สิน) เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ส่งผลให้ส่วนที่เป็นฐานต้นทุนลดลง เทียบกับรายรับด้านการปล่อยสินเชื่อ (รายได้ดอกเบี้ย) ซึ่งมีสัดส่วนที่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ในปริมาณสูง รายได้จึงไม่ได้ลดตามดอกเบี้ยที่ปรับลดลง โดย ASK ([email protected]) น่าจะได้ประโยชน์สูงสุด ขณะที่มีจุดเด่นคือ มีค่า PER ต่ำเพียง 8 เท่า แต่คาดหวัง Div.Yield ได้สูงมากถึง 8%
ตามมาด้วย กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ แม้เชื่อว่าจะไม่ได้กระตุ้นกำลังซื้อโดยตรงก็ตาม แต่คาดว่าภาพอุตสาหกรรมโดยรวมน่าจะได้รับ sentiment เชิงบวก กล่าวคือ ผู้พัฒนาบ้านขาย
สามารถรับรู้ได้ตามแผนหรือเร็วกว่าคาด เพราะดอกเบี้ยต่ำจะทำให้ลูกค้าตัดสินใจการโอนกรรมสิทธิ์เร็วขึ้น หรือ ทำได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันสถาบันการเงินจะมีอัตราการปฎิเสธสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ลดลง และสุด ดอกเบี้ยที่ลดลง น่าจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายโดยรวมลง จากการศึกษาพบวา ดอกเบี้ยที่ลดลง 0.25% น่าจะทำให้รายการดอกเบี้ยจ่ายในงบกำไรขาดทุนของผู้พัฒนาบ้านขายหายไป 139 ล้านบาท คิดเป็น 0.35% ของประมาณการกำไรปี 2558 หุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ชื่นชอบ ซึ่งมีฐานลูกค้าระดับกลางและล่าง คือ SPALI ([email protected]) มีค่า PER ต่ำเพียง 6.3 เท่า แต่คาดหวัง Div.Yield ได้สูงถึง 6.5% ตามมาด้วย PS ([email protected]) มีค่า PER ต่ำเพียง 8 เท่า แต่คาดหวัง Div.Yield ได้สูงถึง 4.2%
ตรงกันข้ามหุ้นที่คาดว่าจะเสียประโยชน์ยังเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าดอกเบี้ยที่ลดลง 0.25% จะทำให้กำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปี 2558 หายไปราว 0.67% จากฐานกำไรที่ประเมินไว้ที่ 2.23 แสนล้านบาท หรือน่าจะหายไปราว 1 พันล้านบาท (กระทบต่อ ส่วนต่างดอกเบี้ยรับสุทธิ หรือ NIM โดยพบว่าทุกๆ 25bp ที่อัตราดอกเบี้ยลดลงจะทำให้คาดการณ์ NIM ลดลง 1.44bp จากคาดการณ์ปัจจุบันที่ 3.08% มาที่ 3.07%) ทั้งนี้คาดว่า ธ.พ. ที่จะได้รับผลกระทบสูงสุดกรณีอัตราดอกเบี้ยปรับตัวลดลงคือ KTB และ BBL เนื่องจากมีโครงสินเชื่อที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวในสัดส่วนที่สูงกว่าโครงสร้างแหล่งเงินทุนที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ตรงกันข้าม ธ.พ. ที่จะได้รับผลบวกจากดอกเบี้ยขาลง มากที่สุดคือ BAY, KKP
ทั้งนี้นักวิเคราะห์กลุ่มธนาคารพาณิชย์ของ ASP ปรับลดประมาณการและคำแนะนำการลงทุนของกลุ่มที่เท่ากับตลาด เป็นน้อยกว่าตลาด เพราะคาดว่าอัตราการเติบโตของ กำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จะลดลงเหลือเพียง 3.9% หลังการลดลงดอกเบี้ยรอบใหม่ จากปัจจุบันที่เติบโต 8%
มุมมอง Fed มีน้ำหนักไปในทางผ่อนคลายมากขึ้น
ผลการประชุม FOMC วานนี้ คณะกรรมการ Fed ยังมีมติคงอัตราดอกเบี้ยและ Fed Fund Rate ในระดับต่ำที่ 0.25% ต่อไป ขณะที่สิ่งที่หลายฝ่ายจับตาคือ ถ้อยแถลงของเจเน็ต เยลเลน ว่าจะมีการส่งสัญญาณเกี่ยวกับระยะเวลาการขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ ซึ่งแถลงการณ์ที่ออกมาเป็นไปในทิศทางที่ผ่อนคลายลงเล็กน้อย และมีการปรับลดมุมมองเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและภาคแรงงานของสหรัฐลง เนื่องจาก GDP Growth งวด 1Q58 ออกมาเติบโตต่ำกว่ามากเพียง 0.06% qoq (แต่เติบโตถึง 3% yoy เนื่องจากฐานในงวด 1Q57 ต่ำ หลักๆ มาจากการลดลงของการลงทุนภาคเอกชน และการส่งออก ซึ่ง Fed มองว่าปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว คือ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์อย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรก ทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ประกอบกับอากาศที่หนาวเย็นผิดปกติ รวมทั้งการหยุดงานประท้วงของคนงานในแท่นขุดเจาะน้ำมันเมื่อต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ก็เป็นสิ่งที่บั่นทอนการลงทุนเช่นกัน อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคครัวเรือนฟื้นตัวได้ดีขึ้น จากการลดลงของราคาน้ำมัน ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0.9% (อัตรารายปี)
โดยภาพรวม Fed มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังเติบโตได้ในระดับปานกลาง ขณะที่ภาคแรงงานชะลอตัวลง แต่เชื่อว่าจะกลับมาขยายตัวดีขึ้นจากการใช้นโยบายผ่อนคลายที่เหมาะสม ซึ่งทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า โอกาสที่ Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงกลางปีนี้ลดน้อยลงไป โดยผลสำรวจจาก Bloomberg รายงานว่ากว่า 73% คาดว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเดือน ก.ย. (เพิมขึ้นจากผลสำรวจตอนเดือน มี.ค.) จึงเชื่อว่าตลาดหุ้นโลก น่าจะผ่อนคลายลงจากประเด็นของการขึ้นดอกเบี้ย แต่ยังถูกกดดันจากเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัว ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐ ยังคงแกว่งตัว มาตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา
ดอกเบี้ยลด ขณะที่ SET Index ปรับฐาน ทำให้ Yield Gap ปรับขึ้นแตะ 4%
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% น่าจะส่งผลต่อเนื่องทำให้ Bond Yield 1 ปี ปรับลดลงในทิศทางที่สอดคล้องกันโดยล่าสุดปรับลดลงจาก 1.72% มาอยู่ที่ 1.58% ในส่วนของ SET Index หากนับจากจุดสูงสุดของปี 2558 ที่ 1619.77 เมื่อ 4 ก.พ.2557 จนถึงราคาปิดวานนี้ ปรับลดลงไปแล้ว 6% สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลโดยตรงต่อ Market Earning Yield Gap ซึ่งคำนวนจาก Market Earning Yield (E/P) ลบด้วย Bond Yield 1 ปี ให้ขยายตัวกว้างขึ้นจากเดิมอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 3% (ซึ่งหมายถึงการย้ายเงินทุนจากตลาดตราสารหนี้มาสู่ตราสารทุนให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นไม่ถึง 3% ทั้งที่ในภาวะปกติให้ส่วนต่าง 4-5%) มาสู่ระดับเหนือ 4% เล็กน้อยในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นภาวะการณ์ที่น่าจะดึงดูดนักลงทุนระยะยาวให้กลับมาสู่ตลาดหุ้น
สถานการณ์ปัจจุบันถือว่าเป็นภาวะที่เม็ดเงินลงทุน กำลังวิ่งหา Investment Asset ที่ให้ Yield สูง ซึ่งตลาดหุ้นก็เป็นเป็นหมายการลงทุนลำดับต้นๆ ที่นักลงทุนให้ความสนใจ แต่อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเลือกหุ้นเข้าพอร์ตการลงทุนก็ยังต้องระมัดระวัง ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยได้ใช้ Application ASP Smart (ลูกค้าของ ASP สามารถ Download ได้ทั้งใน App Store และ Play Store) คัดกรองหุ้นโดยกำหนดภายใต้เงื่อนไขว่า ต้องการหุ้น ที่ Dividend Yield เกิน 4% มีค่า Beta ไม่เกิน 1 เท่า และ เป็นหุ้นที่นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานให้คำแนะนำ ซื้อ ซึ่งผลการค้นหาหากไม่นับรวม Property Fund อย่างเช่น POPF, SPF, CPNRF และ TFUND แล้ว หุ้นที่น่าสนใจได้แก่ KGI, TVO, ASK, MBKET, TMT, BTS และ INTUCH แต่ตัวที่ฝ่ายวิจัยเห็นว่าโดดเด่นที่สุดน่าจะเป็น ASK (FV@B 30.10) บาทเพราะนอกจากจะเข้าเกณฑ์ดังกำหนดข้างต้นแล้ว ยังถือว่าเป็นบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลงอีกด้วย
ต่างชาติสลับมาขายหุ้นภูมิภาคเป็นวันแรก
วานนักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นวันแรก ราว 77 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกันถึง 9 วัน) โดยซื้อสุทธิเพียงประเทศเดียวเท่านั้น คือตลาดหุ้นไต้หวัน (ซื้อต่อเนื่องวันที่ 7) ที่เหลือเป็นการขายสุทธิทั้งสิ้น โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นเกาหลีใต้เป็นวันที่สองราว 82 ล้านเหรียญ เช่นเดียวกับกลุ่ม TIP ยังคงถูกขายออกมาเช่นเดิม โดยตลาดหุ้นอินโดนีเซียยังถูกขายหนักต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 กว่า 132 ล้านเหรียญ ตลาดหุ้นไทยถูกขายสุทธิเป็นวันที่ 3 ถึง 89 ล้านเหรียญ หรือ 2,910 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นยอดขายสุทธิที่สูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา ส่งผลให้ยอดซื้อสะสมนับตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. อยู่ที่ 4,195 ล้านบาท (แต่ต้นปี 2558 จนถึงเมื่อวาน ยังขายสุทธิ 4,618 ล้านบาท) ซึ่งคาดว่าการขายสุทธิที่เกิดขึ้น น่าจะมาจากนักลงทุนต่างชาติรอผลการประชุม Fed และความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ
RS - โอกาสของผู้กล้า ปรับจาก ถือ เป็น ซื้อ Fair Value 21 บาท
เชื่อว่างวด 1Q58 จะเป็นจุดต่ำสุดของผลประกอบการงวดปี 2558 โดยคาดหมายว่าจะมีผลขาดทุนราว 14 ล้านบาท เทียบกับที่เคยทำกำไรได้ 41 ล้านบาทในงวด 4Q57 ทั้งนี้เป็นผลจากการเป็นช่วง Low season ทำให้อัตราใช้เวลาโฆษณา(Utilization Rate) ปรับลดลงจากปกติ 75% เหลือเพียง 40 -45% แต่ก็ได้รับการชดเชยบางส่วนจากอัตราค่าโฆษณาที่ปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.3 หมื่นบาท/นาทีในงวด 4Q57 มาอยู่ที่ 2.5 หมื่นบาท/นาที แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าแนวโน้มผลประกอบการตั้งแต่ 2Q58 จะพลิกกลับมาทำกำไรอย่างก้าวกระโดด โดยฝ่ายวิจัยประเมินเบื้องต้นว่าน่าจะอยู่ราว 150 ล้านบาท ทั้งนี้จากแรงขับเคลื่อนของ อัตราการใช้เวลาโฆษณาซึ่งในช่วงเดือน มี.ค. - เม.ย. ปรับขึ้นราว 5% มาอยู่ในช่วง 45 – 50% และเชื่อว่าจะกลับเข้าสู่ระดับปกติที่ 75% ได้ในช่วง 2H58 ขณะที่การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราค่าโฆษณาล่าสุดพบว่ามาอยู่ที่เฉลี่ย 3 หมื่นบาท/นาที ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการกำไรงวดปื 2558 ไว้ที่ 616 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 371 ล้านบาทในงวดปี 2558 ส่วน Fair Value กำหนดที่ PER 35 เท่า จะได้มูลค่าเหมาะสมที่ 21 บาท มี Upside 37% จังหวะการลงทุนในช่วงนี้ฝ่ายวิจัยจึงเห็นว่าเป็นโอกาสของผู้กล้า เนื่องจากในช่วงการประกาศผลประกอบการ 1Q58 เป็นไปได้ที่คาคหุ้นอาจย่อยตัวลงมา ซึ่งควรถือเป็นโอกาสซื้อลงทุน
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647