- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 16 June 2014 15:32
- Hits: 2828
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้ายังคงขยับสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดเดิม 110 เหรียญฯต่อบาร์เรล จากความขัดแย้งในอิรัก ซึ่งกดดัน Supply น้ำมันดิบโลก แต่เป็นปัจจัยหนุนหุ้นน้ำมัน (PTT/PTTEP) ยังเลือก PTTEP(FV@B195) และ GUNKUL(FV@B20) ในฐานะพลังงานทดแทน เป็น Top picks
ยกเลิกเคอร์ฟิว แต่ยังอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก
เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการยกเลิกเคอร์ฟิวทั้งหมด หลังจากที่ก่อนหน้ามีการยกเลิกเฉพาะฟื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ในจังหวัดท่องเที่ยว แต่อย่างไรก็ตาม การกลับมาประกาศใช้ในบางพื้นยังมีโอกาสเกิดขึ้น หากมีความไม่สงบในบางพื้นที่ ขณะที่การประกาศกฏอัยการศึกฯ ยังมีอยู่ เชื่อว่าสถานการณ์ความตึงเครียดที่ค่อย ๆ ลดลงน่าจะสร้าง sentiment เชิงบวกต่อตลาด โดยเฉพาะหุ้นท่องเที่ยว และโรงแรม ทำให้นักท่องเที่ยวในยามค่ำคืนกลับมาสู่ชีวิตปกติอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาในประเทศไทยน่าจะเบาบาง เพราะปกติในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ถือว่าเป็นช่วงนอกฤดูกาล แต่คาดว่าจะดีขึ้นในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นช่วง high season (ผลประกอบการนาจะต่ำสุดในงวด 2Q57 และค่อย ๆ ดีขึ้นหลังจากนี้) แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณาราคาตลาด ของหุ้นที่อยู่ในกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม 3 บริษัทได้แก่ MINT (FV@B32), CENTEL (FV@B40) และ ERW (FV@B 5) พบว่ามี upside จำกัด คือราว 12.3%, 10%, 13.1% ตามลำดับ
แต่หากพิจารณาลักษณะธุรกิจที่มีการกระจายตัวดีที่สุด แนะนำ MINT (FV@B32) เป็น Top pick ในฐานะที่เป็นหุ้น Growth stock และแม้ มี P/E ราว 21.7 เท่า แต่จะลดลงเหลือ 19.1 เท่า และยังต่ำสุดในกลุ่ม (P/E ของ CENTEL และ ERW ราว 33.1 และ 101.1 ในปี 2557 และราว 27.7 เท่า และ 46.7 เท่า ปี 2558)
จีน และ ญี่ปุ่น เตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม
เชื่อว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจจากประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเซียยังมีอยู่ โดยเฉพาะประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอย่างประเทศญี่ปุ่น เพราะคาดว่าผลกระทบจากการขึ้นภาษีการขาย 3% เป็น 8% เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา ยังเห็นผลไม่ชัดเจน (GDP Growth 1Q57 กลับสูง 2.8% yoy vs 2.5% ในงวด 4Q56 เพราะมีการเร่งใช้จ่ายก่อนผลกระทบภาษีขาย) ทำให้ผลการประชุม ธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือ BOJ ล่าสุด ยังคงมติใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย โดยการเพิ่มปริมาณเงินระบบ 60-70 ล้านล้านเยนต่อปี (688 พันล้านเหรียญฯ) ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาด
ขณะที่ตลาดยังคงคาดหวังว่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปีนี้ และน่าจะเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ครั้งก่อน เพื่อชดเชยกับการขึ้นภาษีดังกล่าว พิจารณาจากการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ของ บลูมเบิร์กล่าสุด พบว่า 42% ของผู้ที่ตอบ คาดว่าจะเห็นมาตรการกระตุ้นราวเดือน ต.ค. และอีก 58% คาดว่าจะเกิดขึ้นในสิ้นปี 2557 นอกเหนือจากแผนการลดภาษีบริษัท จากปัจจุบัน 36% ให้ต่ำกว่า 30% โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นราวอีก 1-2 ปีข้างหน้า
ส่วนจีน หลังจากที่ธนาคารกลาง ได้ปรับลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย (RRR) 0.5% สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร และกิจการขนาดเล็ก (มีผลวันที่ 16 มิ.ย. นี้ และ ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา) ล่าสุดเตรียมผลักดันมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการการคลัง คือ เน้นการลงทุนสาธารณูปโภค ได้แก่ รถไฟ ถนน และสนามบิน แถบแม่น้ำแยงซี โดยหวังจะสร้างพื้นที่เศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีคนยากจนจำนวนมากอาศัยอยู่ ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจีน ซึ่งเชื่อว่ายังมีปัญหาฝังลึกและซ่อนอยู่อีกมาก ทั้งในเรื่องของกำลังการผลิตที่เกินความต้องการในหลายอุตสาหกรรม ได้แก่อุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น ปัญหาหนี้เสียนอกระบบ (shadow bank) จากการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในอดีต และปัญหาอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำ ซึ่งตราบที่จีนยังกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หรืออัตราการเติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย 7.5% ทำให้การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ๆ ยังมี และถือเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นจีน และ ภูมิภาคเอเซีย
ธนาคารกลาง สหรัฐ และไทย ไม่น่ามีอะไรใหม่
ดังที่กล่าวไปในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมของธนาคารกลาง 2 แห่ง คือ สหรัฐ และไทย ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิม จึงไม่มีมีส่วนในการกระตุ้นตลาดหุ้นไทยมากนัก กล่าวคือ การประชุมวันที่ 18-19 มิ.ย. นี้ สหรัฐน่าจะเดินหน้าตัดลดมาตรการ QE ต่อเนื่องเดือนละ 10 พันล้านเหรียญฯ หลังจากที่ตัดลดปริมาณเท่าๆ กันติดต่อกันมาเป็นเวลานาน 5 เดือน (ตั้งแต่ ม.ค. 2557) และน่าจะสิ้นสุดประมาณเดือน ส.ค.-ก.ย. 2557 และน่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหลังจากนี้ราวไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ทั้งนี้ขึ้นกับดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสำคัญ ๆ โดยเฉพาะตลาดแรงงาน แม้วันนี้อัตราการว่างงานสหรัฐจะอยู่ที่ระดับ 6.3% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 6.5% แต่ดูเหมือนยังไม่ได้รับความเชื่อมั่นต่อตลาดมากนัก ล่าสุดตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน ณ 7 มิ.ย. เพิ่มขึ้น 4000 ราย wow สวนทางกับตลาดคาดว่าจะลดลง 3,000 ราย เป็นต้น
และเช่นเดียวกับ วันที่ 18 มิ.ย. คาดว่าผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะ ยืนดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่เดิม 2% (ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ) เนื่องจากเป็นระดับที่ถือว่าต่ำอัตราเงินเฟ้อล่าสุด ในเดือน พ.ค. อยู่ที่ 2.62% (และเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5) ภายใต้มาตรการอุดหนุนพลังงานยังมีอยู่ เพราะหากมีการยกเลิกมาตรการอุดหนุนพลังงาน เชื่อว่าจะก็ปัจจัยกระตุ้นเงินเฟ้อ ให้เพิ่มขึ้นได้อีก
ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง หนุนราคาน้ำมันดิบโลกดีต่อ PTTEP
เหตุการณ์สู้รบในอิรัก ยังเป็นแรงหนุนให้ราคาน้ำมันดิบโลกทรงตัวในระดับสูงต่อไป ล่าสุดผลสำรวจนักวิเคราะห์ใน Wall Street ได้ปรับราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ Brent ณ สิ้นปี ขึ้นไปเป็น 116 เหรียญฯ/บาร์เรล จากเดิม 109 เหรียญฯ/บาร์เรล (จากที่กลุ่มกองกำลังติดอาวุธ ISIL เข้าควบคุมท่อส่งน้ำมันยังโรงกลั่นในเมือง Baiji ที่มีกำลังการผลิตจำนวน 3.1 แสนบาร์เรล/วัน ที่ตั้งอยู่บริเวณภาคเหนือของอิรัก หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของกำลังการผลิตทั้งหมด ซึ่งกระทบต่อการส่งออกน้ำมันจากอิรักค่อนข้างมาก ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับ 2 ในกลุ่ม OPEC คือราว 3.3 ล้านบาร์เรล/วัน รองจากซาอุดีอาระเบีย) ตราบที่การสู้รบยังไม่มีท่าทีสิ้นสุด จะส่งผลให้ supply น้ำมันดิบของกลุ่มประเทศ OPEC หายไปอีกแหล่งหนึ่ง หลังลิเบียหยุดส่งออก (ลิเบียผลิต 1.8 แสนบาร์เรล/วัน) ขณะที่สหรัฐนั้น พยายามแทรกแซง โดยให้ฝ่ายความมั่นคงเตรียมตัวสนับสนุนกองกำลังรักษาความสงบของรัฐบาลอิรักร่วมกับประเทศอื่นๆ ด้วย ในสถานการณ์นี้น่าจะดีต่อ PTTEP (FV@B 195) จากปัจจัยหนุนราคาน้ำมันโลกขึ้นไปทำจุดสูงสุดรอบกว่า 9 เดือน สูงกว่าสมมติฐานของ ASP ที่ 100 เหรียญฯต่อบาร์เรล จึงเลือกเป็น Top pick
ขณะที่ นายปานปรีย์ พหิทธนุกร ประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ (บอร์ด) ปตท. แล้ว เพื่อเปิดทางให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปฏิรูปตามแผนที่ตั้งใจไว้ การลาออกของนายปานปรีย์ ฯ คาดว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานของบริษัท หากไม่มีการแทรกแซงที่ผิดธรรมชาติ ทำให้ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการและคำแนะนำ ซื้อลงทุน ของ PTT(FV@B 360) ไว้เช่นเดิม ทั้งนี้คาดในระยะสั้นราคาหุ้นอาจได้รับแรงกดดันจากข่าวดังกล่าว จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะเข้าสะสมลงทุนหากราคาหุ้นอ่อนตัวลงจากปัจจัยต่างๆที่เกิดขึ้น เพราะปัจจัยพื้นฐานของ PTT ยังคงแข็งแกร่งตามเดิม
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
พบชัย ภัทราวิชญ์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล