- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 17 April 2015 16:53
- Hits: 1570
บล.กรุงศรี : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
บทวิจัยตลาดทุนกรุงศรี (Morning Brief Package)
ภาวะตลาดหุ้นวานนี้:
SET เปิดตลาดปรับตัวขึ้นทันที 13.18 จุด มาที่ 1561.01 โดยแกว่งตัวในแดนบวกตลอดทั้งวันจากแรงซื้อหนาแน่นในหุ้นกลุ่มพลังงาน และปิโตรเคมี หลังจากราคาน้ำมันดิบโลกปรับสูงขึ้น SET ปิดที่ระดับสูงสุดของวันที่ 1470 เพิ่มขึ้น 22.17 จุด (+1.43%) ด้วยมูลค่าซื้อขายที่หนาแน่นถึง 5 หมื่นล้านบาท นำโดยหุ้นกลุ่มพลังงาน (+4.99%) ปิโตรเคมี (+4.21%) รับเหมาก่อสร้าง (+2.29%) และสื่อสาร (+0.9%) ด้านกระแสเงินทุน นักลงทุนต่างชาติสลับกลับมาซื้อสุทธิสูงสุดถึง 3.9 พันล้านบาท เช่นเดียวกับกองทุนในประเทศซื้อสุทธิ 1 ล้านบาท และพอร์ตโบรกเกอร์ซื้อสุทธิ 8 วันติดต่อกันอีก 1 พันล้านบาท มีเพียงนักลงทุนในประเทศที่ขายสุทธิเป็นวันที่ 9 ติดต่อกันถึง 5.9 พันล้านบาท
แนวโน้มวันนี้:
เราคงมุมมองบวกต่อการเคลื่อนไหวของ SET ในระยะกลาง แต่ในวันนี้เรามองว่า SET มีแนวโน้มจะพักตัวลง (1) ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ปรับขึ้นรับรู้ข่าวการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบไปบ้างแล้ว โดยเช้านี้ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้า (WTI, Brent) ปรับลดลงเล็กน้อยราว 0.5% (2) ความกังวลต่อกรีกที่อาจจะผิดชำระหนี้ หลังจากฐานะการคลังสาธารณะของกรีซในปี 2557 ย่ำแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ และล่าสุดทางสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวและระยะสั้นของกรีซลง 1 ขั้นจากระดับ B-/B ลงสู่ระดับ CCC+/C พร้อมความเห็นว่าระดับหนี้สินและสถานะการเงินของประเทศอยู่ในภาวะ “ไม่มีเสถียรภาพ” และ (3) เศรษฐกิจในประเทศยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนนัก
ปัจจัยที่มีผลกระทบ
สภาพัฒน์คงเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2558 ที่ 3.5-4.5% หากการเบิกจ่าย และการลงทุนภาครัฐสามารถเดินหน้าได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจกิจในไตรมาสแรกจะขยายตัวราว 3% จากการลงทุนของรัฐและการท่องเที่ยว
กลุ่มประเทศจี-20 ร่วมประชุมที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระหว่างวันที่ 17-18 เม.ย. โดยจะให้ความสำคัญต่อประเด็นการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกผ่านทางการเพิ่มการลงทุน โดยรัฐมนตรีคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่มจี-20 จะหารือถึงการกระตุ้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเกิดใหม่ โดยมีการคาดการณ์ว่าที่ประชุมอาจหารือในเรื่องสำคัญ เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ และผลกระทบต่อกระแสเงินทุน ผลกระทบของราคาน้ำมันที่ลดลง ปัญหาหนี้ของกรีซ และเศรษฐกิจในยูโรโซน
โอเปกคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำมันจากสหรัฐจะเพิ่มขึ้นราว 13.65 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงไตรมาสที่ 2 และจะลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากแท่นขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐได้ลดลงอย่างมากราว 238 แท่นในช่วง 4 สัปดาห์ในเดือน มี.ค. สู่ระดับ 1,110 แท่น