- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 08 April 2015 16:21
- Hits: 961
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET ฟื้นตัวด้วยมูลค่าซื้อขายที่น้อยกว่าปกติ ทำให้ SET ที่ 1,550 จุด ไม่มั่นคง และอาจเผชิญแรงขายระยะสั้น กลยุทธ์ฯ ยังให้เลือกหุ้นที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนชนะตลาดในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ คือ RCL([email protected]) หรือหุ้น Laggard และมี PER ต่ำคือ SPALI (FV@B 31.96)
ตลาดยังให้น้ำหนักต่อการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายของโลกต่อไป
วันนี้จะมีการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งคาดว่าจะยังคงเพดานปริมาณการอัดฉีดเงินเข้าระบบผ่านปีละ 80 ล้านล้านเยน เนื่องจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังอยู่ในทิศทางชะลอตัว เริ่มตั้งแต่ ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. หดตัวราว 2%yoy (ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และต่ำสุดในรอบ 2 ปี) ตามมาด้วย ภาคการผลิต อุตสาหกรรม เดือน ก.พ. หดตัว 1%yoy เป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 เป็นต้น ขณะที่เงินเฟ้อ เดือน ก.พ. อยู่ที่ 2.2% ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง นับจากแตะระดับสูงสุดที่ 3.7%ในเดือน พ.ค. 2557 จากผลกระทบของการขึ้นภาษีขาย 3% เป็น 8% ในเดือน เม.ย. 2557 ด้วยเหตุนี้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ราว 65% ของผู้ตอบ จากการสำรวจของบลูมเบิร์ก คาดว่า BOJ จะต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกในราวสิ้นเดือน ต.ค. 2558
ขณะที่ทางสหรัฐ หลังจากการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน มี.ค. ต่ำกว่าที่ตลาดคาด (ประกาศจริง เพียง 126,000 ตำแหน่ง vs ตลาดคาด 248,000 ตำแหน่ง) และยังเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ธ.ค.2556 และสอดคล้องกับการจ้างงานภาคเอกชน (ADP) เดือน มี.ค. เพิ่มขึ้นเพียง 189,000 ตำแหน่ง ชะลอตัวลงจากที่เพิ่มมากถึง 214,000 ตำแหน่ง ในเดือน ก.พ. และเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. 2557 ทำให้อัตราการว่างงานงานโดยรวมเดือน มี.ค. ทรงตัวที่ระดับ 5.5% นอกจากนี้พบว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจอื่นๆ ยังมีทิศทางชะลอตัว ได้แก่ ภาคครัวเรือน (70% ของ GDP) กล่าวคือ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนเดือน ก.พ. การขยายตัวเพียง 2% จากปกติเฉลี่ย 4-5%, การลงทุนเอกชน สะท้อนจากยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน ก.พ. ทรงตัว เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (ชะลอตัวลงตั้งแต่เดือน ส.ค. 2557) และ ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจาก ดัชนี ISM การผลิต เดือน มี.ค. อยู่ที่ระดับ 51.5 ขยายตัวช้าสุด ในรอบเกือบ 2 ปี และเริ่มชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ เดือน ก.ย. 2557 เป็นต้น
จากเหตุผลข้างต้น ทำให้คาดว่ากระทบภาคเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัวในงวด 1Q58 (GDP Growth งวด 1Q58 อาจจะทรงตัว 2.4%yoy เป็นระดับใกล้เคียงกับงวด 4Q57) จึงมีน้ำหนักทำให้ Fed จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยฯ ออกไปเป็นช่วงปลายปี 2558 ถึงต้นปี 2559 หรือจนกว่าจะเห็นเงินเฟ้อเข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% และเศรษฐกิจเข้าสู่การจ้างงานเต็มที่ หรือที่ราว 5.2-5.3% ถึงแม้ว่าในระยะสั้น อาจมีความคิดเห็นที่แตกต่างสำหรับเวลาที่เหมาะสมต่อการขึ้นดอกเบี้ยฯ ครั้งแรก กล่าวคือ นาย วิลเลียม ดัดเลย์ (Fed นิวยอร์ก) และนาย เอนนิส ลอคฮาร์ด (Fed แอตเลนตา) คาดว่าจะเกิดขึ้นราวกลางปี 2558 (ช่วงเดือน ก.ค. - ก.ย.) ทั้งนี้ต้องติดตามผลการรายงานผลการประชุม Fed ของวันที่18-19 มี.ค. (Fed minutes) ที่จะมีขึ้นวันที่ 9 มี.ค. นี้
SET ฟื้นตัว ด้วยมูลค่าซื้อขายน้อย แต่เป็นการขึ้นด้วยหุ้น Laggards
นับตั้งแต่ SET Index ฟื้นตัวตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. เป็นต้นมา จนถึงล่าสุด ดัชนีปรับขึ้นแล้วกว่า 3.6% หลังจากที่ช่วง 13 ก.พ. – 26 มี.ค. ดัชนีปรับลงอย่างต่อเนื่องรวมกว่า 7.5% อย่างไรก็ตาม สังเกตได้ว่า การฟื้นตัวดังกล่าวกลับมีมูลค่าการซื้อขายต่ำกว่าปกติ กล่าวคือจากเฉลี่ยวันละกว่า 4 หมื่นล้านบาท เหลือต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเป็นรายกลุ่ม จะพบว่า กลุ่มที่ฟื้นตัวมากและชนะตลาด กลับกลายเป็นหุ้นที่อยู่ในกลุ่มที่ laggard อาทิ รับเหมาฯ อสังหาฯ ค้าปลีก ซึ่งเป็นที่สังเกตได้ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว (27 มี.ค. – 7 เม.ย.) การปรับขึ้นของดัชนีที่มาจากการเข้าซื้อสุทธิของนักลงทุนสถาบันฯ และนักลงทุนต่างชาติ (ที่ได้ขายออกมามากในช่วงก่อนหน้านี้) สะท้อนจากการฟื้นตัวของหุ้นขนาดใหญ่ ที่ราคาลงไปต่ำมาก เช่น CPALL เพิ่มขึ้นถึง 10.9% TOP เพิ่มขึ้น 8.7% BANPU เพิ่มขึ้น 8.6% CPF เพิ่มขึ้น 7.9% PTTGC เพิ่มขึ้น 7.6% TRUE เพิ่มขึ้น 7.3% PTTEP เพิ่มขึ้น 5.9% PTT เพิ่มขึ้น 4.9% เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายบริษัทที่ยังไม่ได้ปรับขึ้น หรือยังขึ้นน้อยเมื่อกับตลาด เช่น SCC เพิ่มขึ้นเพียง 0.4% INTUCH เพิ่มขึ้นเพียง 0.6% MINT เพิ่มขึ้นเพียง 0.7% CPN เพิ่มขึ้น 1.1% BEC เพิ่มขึ้น 1.9% KTB เพิ่มขึ้น 2.6% และ BTS เพิ่มขึ้น 2.8% จึงแนะนำสะสมหุ้น laggard กับตลาด เช่น BTS, BEC, KTB เป็นต้น
แรงซื้อกองทุน + สถาบัน สร้าง Sentiment เชิงบวกต่อตลาด
วานนี้ตลาดหุ้นในภูมิภาคกลับมาเปิดทำการทุกตลาดอีกครั้ง และนักลงทุนต่างชาติยังซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 178 ล้านเหรียญฯ และเป็นการซื้อสุทธิในทุกประเทศ โดยพบว่า นักลงทุนต่างชาติ ยังคงซื้อสุทธิในตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เป็นวันที่ 12 จาก 13 วันทำการหลังสุด ขณะที่อินโดนีเซียซื้อสุทธิติดต่อเป็นวันที่ 5 ส่วนตลาดหุ้นไทย วานนี้นักลงทุนต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิที่ 20.77 ล้านเหรียญ หรือ 673 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. เป็นต้นมา พบว่านักลงทุนต่างชาติยังมีสถานะขายสุทธิหุ้นไทย 27 ล้านเหรียญฯ และหากนับตั้งแต่ต้นปี มีสถานะขายสุทธิหุ้นไทย 283 ล้านเหรียญฯ (ดังภาพด้านล่าง)
ตรงข้ามกับนักลงทุนสถาบัน วานนี้ซื้อสุทธิไปอีก 2,965 ล้านบาท เป็นการซื้อต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 สะสมรวมกว่า 1.09 หมื่นล้านบาทแล้ว จึงทำให้เป็นกลุ่มที่ดันตลาดหุ้นไทยให้ปรับขึ้นมาแล้วกว่า 3.6% นับตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา แต่ดังที่เสนอไปวานนี้ว่าต้องระมัดระวังแรงขายที่อาจมีออกมาได้ทุกเมื่อ เนื่องจากกองทริกเกอร์ฟันด์บางกองมีเป้าหมายที่ 3-6% เท่านั้น
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
มาราพร กี้วิริยะกุล