- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 01 April 2015 15:27
- Hits: 1211
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เชื่อว่าภาพใหญ่ ทั้งประเด็นทางการเมือง และเศรษฐกิจ ยังกดดัน SET แกว่งตัวลง และน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,510-1,485 จุด ซึ่งเป็นระดับค่า PER 14.5 เท่า เป็นโอกาสสะสมหุ้นรายตัว PER ต่ำ & ปันผลสูง (AIT(FV@B53) จะขึ้นเครื่องหมาย XD ในเดือน 21 เม.ย.) โดยยังเลือก STPI([email protected]) เป็น Top Pick เป็นหุ้น Laggard และระยะสั้นมีโอกาสได้งานใหม่สูงมาก
การเมือง กับเศรษฐกิจ ภาพใหญ่ที่ยังกดดันตลาดหุ้น
การเมือง: ดังที่นำเสนอไปเมื่อวานก่อนหน้าถึงการที่รัฐฯ เตรียมยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก และจะหันไปใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ออกมาใช้ควบคุม สถานการณ์และรักษาความสงบเรียบร้อย ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2558 ทั้งนี้แม้การยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก จะทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายขึ้นระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว หรือทำให้เกิดข้อจำกัดการลงทุนของนักลงทุนบางประเภทลดลงไป แต่อย่างไรก็ตาม ก็ได้ก่อให้เกิดความกังวลใหม่เข้ามาแทนที่ ได้แก่เรื่องใช้อำนาจผ่านมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ ซึ่งให้อำนาจแก่ นายกรัฐมนตรี (ได้รับการส่งต่ออำนาจมาจากหัวหน้า คสช.) ในการออกประกาศต่างๆ เพื่อควบคุมดูแลสถานการณ์อย่างกว้างขวาง โดยหลังจากนี้จะเริ่มเห็นการออกประกาศออกมา ทั้งนี้จากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ในเบื้องต้นน่าจะมี 5–6 เรื่อง อย่างเช่นการกำหนดฐานความผิดที่ต้องขึ้นศาลทหาร เป็นต้น ซึ่งนักลงทุนต้องติดตามการประกาศที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้คาดว่าประกาศต่างๆ น่าจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมือง เฉพาะอย่างยิ่งด้านความมั่นคง เป็นหลัก
เศรษฐกิจ: โอกาสการปรับลด GDP Growth ลดลงต่ำกว่า 3% มีโอกาสสูงมาก หากพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ พบว่า ยังไม่ค่อยดีนัก เริ่มจากการบริโภคภาคครัวเรือน (หรือ C คิดเป็น 50% ของ GDP) ชะลอตัวลง สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มโดยรวม ในเดือน ม.ค. 2558 หดตัว 2.1% ใกล้เคียงกับที่หดตัว 2% ในเดือน ม.ค. 2557 และสอดคล้องปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัว ในเดือน ม.ค. 2558 หดตัวมากถึง 11.4% (ลดลงติดต่อกัน 22 เดือน และ เป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี นับจากปัญหารถยนต์คันแรกใน เดือน ต.ค. 2554 และปัจจุบัน เชื่อว่าเกิดจากกำลังซื้อในประเทศที่ตกต่ำ)
อย่างไรก็ตามยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์เริ่มกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย ในเดือน ม.ค. 2558 แต่ยังคงหดตัว 8.4%yoy แต่ถือว่าเป็นการหดตัวในอัตราชะลอตัวลง ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีประการหนึ่ง ตามด้วยการลงทุนเอกชน (หรือ I คิดเป็น 21% ของ GDP) ยังคงชะลอตัวสะท้อนได้จาก การลงทุนภาคเอกชนหมวดก่อสร้าง พบว่าปริมาณการจำหน่ายปูนฯ เดือน ก.พ. หดตัว 2.4%yoy
นับว่าหดตัวต่อเนื่องนับจากปี 2557 สอดคล้องกับการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรชะลอตัว คือปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ หดตัวตัวเนื่องนับจากปี 2556 โดยในเดือน ก.พ. หดตัว 9.6% นับว่าดีขึ้นนับจากที่ลดตัวในอัตรากว่า 30% ในปี 2557 และ หดตัว 14% ในเดือน ม.ค. การลงทุนภาครัฐ (หรือ G คิดเป็น 4% ของ GDP) จนถึงเดือน ก.พ. 2558 หรือ ราว 5 เดือน มีการเบิกจ่าย 131.4 พันล้านบาท หรือลดลง 14.7%yoy (คิดเป็น 17.5% ของงบประมาณรวม) แบ่งเป็นงบประจำ 109.7 พันล้านบาท หดตัว 22.7%yoy และงบลงทุน 21.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 78.4%yoy (ข้อมูลเดือน มี.ค. การเบิกจ่ายงบรวม เพิ่มขึ้นเป็น 1.33 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 29.8% ของงบลงทุนทั้งหมด แบ่งเป็นงบประจำ 1.17 ล้านล้านบาท และงบลงทุน 1.33 แสนล้านบาท) และการค้าระหว่างประเทศ (x-m) ยอดส่งออกรวมเฉลี่ย 2 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ก.พ.) ติดลบ 4.8% โดยเป็นการหดตัวจากสินค้าเกษตร แร่ และ เชื่อเพลิง ยานยนต์ และ อุตสาหกรรมเกษตร โดยตลาดที่หตดัวได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน -5 ตรงข้ามยังมีสินค้าที่ขยายตัวได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า และ อิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ทางด้านนำเข้า เฉลี่ยเดือน ม.ค. และ ก.พ. ติดลบ 5.9% ทำให้ได้ดุลการค้าระหว่างประเทศ ในเดือน ม.ค. และ ก.พ. ขาดดุล 66.5 ล้านเหรียญฯ
ธุรกิจการบิน และท่องเที่ยว สะดุดจากปัญหารอบด้าน
ธุรกิจการบิน และสนามบินไทย ICAO ซึ่งเป็นหน่วยงาน ควบคุมมาตรฐานการดูแลธุรกิจการบินแต่ละประเทศ ได้มีข้อสรุปว่า ทำงานกรมการบินพลเรือนไทย (บพ.) ต่ำกว่ามาตรฐาน (บุคคลากรภาครัฐที่ควบคุมมาตรฐานการบินมีน้อยมาก เทียบกับจำนวนสายการบินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา) ส่งผลให้หลายประเทศ ระงับการเพิ่มเที่ยวบินเหมาลำจากไทย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน นอกจากนี้ยังชะลอการเปิดจุดบินใหม่ๆ และมีบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ เริ่มเข้มงวด การเพิ่มสายการบินจากไทย ซึ่งกระทบต่อผู้ให้บริการสายการบินของไทย เรียงลำดับจากกระทบมากไปน้อยคือ NOK(BV@B6) เนื่องจากถือหุ้นทางอ้อมของ สายการบินนกสกู๊ต (สัดส่วนการถือหุ้นสุทธิ 24%) ซึ่งได้ถูกระงับเที่ยวบินไปญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ทั้งหมด รองมาคือ THAI(ถือ:[email protected] มี [email protected]) (เฉพาะการเพิ่มเที่ยวบินเหมาลำไปญี่ปุ่น 2 เที่ยว และ THAI มีใบอนุญาตการบินครบถ้วนความเสี่ยงจึงน้อย) และ AAV(ซื้อ:FV@B6 มี BV@B6) คาดว่าน่าจะกระทบน้อย เพราะ AAV มีความสัมพันธ์กับสายการบิน แอร์เอเชีย เอ๊กซ์ ในลักษณะของการมีผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกันเท่านั้น ผลกระทบที่เกิดกับ แอร์เอเชีย เอ๊กซ์ จึงไม่มีผลต่อรายได้และกำไรของ AAV แต่อาจจะกระทบต่อจิตวิทยาการลงทุน
อย่างไรก็ตาม AAV อาจจะได้รับผลกระทบบ้างในเรื่องของการเปิดจุดบินใหม่ๆ ที่อยู่ในแผนเช่น ในจีน เป็นต้น และ BA(ซื้อ: [email protected] มี BV@B12) น่าจะกระทบน้อยสุด เพราะเส้นทางบินส่วนใหญ่อยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงไม่มีเที่ยวบินไปญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือจีน (ขณะที่มีใบอนุญาตครบถ้วนเช่นเดียวกับ THAI จึงเป็น 2 ราย ที่ไม่น่ากังวล) ขณะนี้เชื่อว่ารัฐฯจะพยายามเข้ามาเร่งแก้ไขปัญหาเอง ซึ่งคาดจะเห็นพัฒนาการเชิงบวกตามที่ ICAO กำหนดภายใน 2 เดือน และปัญหาทั้งหมดจะถูกแก้ใน 8 เดือน ซึ่งหากเป็นไปตามสมมติฐานนี้คาดว่า กระทบต่อ AOT ในฐานะที่เป็นผู้ผูกขาดการให้บริการสนามบิน โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือ จำนวนเที่ยวบินขึ้น-ลง สนามบิน ที่ AOT น่าจะหายไปราว 400 เที่ยว หรือคิดเป็น 0.06% ของเที่ยวบินทั้งหมด ส่วนจำนวนผู้โดยสารหายไปราว 6 แสนคน หรือ ราว คิดเป็น 0.69% ของจำนวนผู้โดยสารที่ประเมินไว้ที่ 86 ล้านรายในปี 2558 ทั้งหมดนี้จะกระทบต่อการรับรู้รายได้ค่าธรรมเนียมผ่านสนาม (ทั้งรายบุคคล และ สายการบิน) และในการประเมินเบื้องต้น หากมองโลกในแง่ร้าย โดยให้เที่ยวบินเหมาลำซึ่งคิดเป็น 5% ของเที่ยวบินทั้งหมด ถูกยกเลิก คาดว่าจะกดดันให้กำไรสุทธิของ AOT หายไปราว 15% จากประมาณการเดิม และ จะกระทบต่อ Fair Value ราว 25 บาท หรือลดลงราว 7.8% ลงมาที่ 295 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาตลลาดแล้วพบว่า เริ่มมี upside 6% แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ปัจจุบันถือว่ายังคงสุ่มเสี่ยง จึงยังคงคำแนะนำ ถือ หุ้น AOT ต่อไป สำหรับนักลงทุนที่มีหุ้น AOT อยู่แล้ว แต่สำหรับผู้ที่ต้องการ ลงทุนระยะสั้น คาดว่าแนวรับที่ 260 บาท ทำให้มี upside จาก Fair Value ที่ 295 ราว 12% จึงเป็นจุดที่แนะนำให้เริ่มสะสมรอบใหม่
ท่องเที่ยว การยกเลิกกฏอัยการศึก และหันมาใช้มาตรา 44 ยังไม่อาจสรุปว่าทุกอย่างจะกลับมาปกติ กล่าวคือ จะยังเป็นอุปสรรค ต่อธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะการจัดประชุมสัมมนาระหว่างประเทศ (business trip) เนื่องจากบริษัทประกันภัย ไม่คุ้มครองในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อชีวิต ประกอบกับปัญหาอุตสาหกรรมการบินไทย จากที่เกิดจากหน่วยงานภาครัฐขาดประสิทธิภาพดังกล่าวข้างต้น อาจจะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวไทยสะดุดหรือไม่ เพราะในปี 2558 มีการตั้งเป้าหมายยอดท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ถึง 13% เป็น 28 ล้านคน ขณะที่ฤดูกาลท่องเที่ยว (พีค) ซึ่งตามปกติจะเกิดขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี และไตรมาสแรก ทุกปี ได้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยข้อมูลล่าสุดพบว่ายอดนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทย ในเดือน ม.ค. 2558 มีทั้งสิ้น 2.65 ล้านคน เพิ่มขึ้น 16.3% จาก ม.ค. 2557 เป็นการเติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ทั้งนี้แม้ว่าการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวในแถบเอเซียตะวันออก ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มจาก 47.27% ในปี 2557 เป็น 58.23% ในช่วง ม.ค. 2558 โดยพบว่าส่วนใหญ่มาจาก อาเซียน ( เพิ่มจาก 18.28% เป็น 23.44%) และ จีน (จาก 15.6% เป็น 21.11%) ขณะที่นักท่องเที่ยวจากกลุ่มสหภาพยุโรปลดลงจาก 37.2% เหลือ 27.4% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลดลงของชาติรัสเซีย ฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ และ เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น
ต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิในภูมิภาคเอเซียเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว
วานนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ที่ 213 ล้านเหรียญ (เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าเกือบ 3 เท่าตัว) โดยเป็นการซื้อสุทธิในเกือบทุกประเทศ ยกเว้น ไต้หวันที่สลับมาขายสุทธิ (ดังแสดงในภาพด้านล่าง) ทางด้านตลาดหุ้นไทย นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 มูลค่าหนาแน่นถึง 31.7 ล้านเหรียญ หรือ 1,031 ล้านบาท โดยสรุปภาพรวมเดือน มี.ค. พบว่านักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 2,741 และ 8,764 ล้านบาท ตามลำดับ สวนทางกับนักลงทุนสถาบันและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิออกมาถึง 2,657 และ 8,848 ล้านบาท ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าฐานะการซื้อ-ขาย ของนักลงทุนต่างชาติ ยังไม่มีภาพที่ชัดเจน ทั้งนี้ขึ้นกับสถานการณ์ทางการเมือง และ เศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะหลังจากการยกเลิกกฏอัยการศึก และนำมาตรา 44 มาใช้ ความเข้าใจหรือการยอมรับของนักลงทุนต่างชาติ จะมีมากน้อยเพียงใด เป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล