WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
     SET ยังอ่อนตัวต่อ แต่เชื่อว่า 1,500 จุด ยังมีนัยสำคัญ ระยะสั้นแนะเลือกหุ้นที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนชนะตลาด โดยเฉพาะในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ โดย Top Two ในสถานการณ์นี้ คือ GUNKUL ([email protected]) และ RCL (FV@B 13.1)

กลยุทธ์การลงทุนในงวด 2Q58
      วานนี้ทีมวิจัยได้ออกบทวิเคราะห์ “กลยุทธ์การลงทุนในงวด 2Q58” ซึ่งได้จัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม คาดว่าจะเสร็จพร้อมส่งถึงมือลูกค้าในช่วงต้นเดือน เม.ย. นี้ สำหรับประเด็นที่นำเสนอ เริ่มจากความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นไทยต้องเผชิญคือ การปรับลด GDP Growth ปี 2558 ของไทยยังมีโอกาสเกิดขึ้น จากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักที่ยังชะลอตัว กดดันภาคส่งออกโดยตรง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่กดดันความเชื่อมั่นการบริโภคของภาคครัวเรือน นอกเหนือจากขาดแรงกระตุ้นต่อเนื่องจากการลงทุนภาครัฐ ขณะที่ทางด้านการเมืองเริ่มเข้มข้นขึ้นตามพัฒนาการของสถานการณ์ และเงื่อนเวลาที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้ โดยจุดสนใจอยู่ที่ร่างรัฐธรรมนูญที่อยู่ระหว่างการร่างขึ้นมาใหม่
      ขณะที่ความเสี่ยงต่อการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิของตลาดหุ้นไทยปี 2558 คาดว่าไม่มากนักเพียง 1% ของประมาณการเดิม จากผลกระทบของการลดดอกเบี้ย (กระทบกลุ่มธนาคารพาณิชย์และประกันชีวิตเป็นหลัก) และราคาน้ำมันดิบดูไบที่ลดต่ำกว่าสมมติฐานของฝ่ายวิจัย (กระทบกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี) โดยรวมยังทำให้คาด EPS Growth ปี 2558 ที่ระดับสูงกว่า 35% (จากฐานที่ต่ำในปี 2557) ถือว่าสูงกว่าตลาดหุ้นภูมิภาคและตลาดหุ้นโลก ซึ่งทำให้ที่ระดับดัชนี 1,514 จุด มีค่า Expected PER อยู่ที่ 14.6 เท่า ใกล้เคียงกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน จึงนับว่าตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจ
   กลยุทธ์การลงทุนยังให้น้ำหนักในหุ้น 50% ของพอร์ต และเลือกลงทุนในหุ้น PER ต่ำ ปันผลสูง: AIT, ASK ผสมหุ้นที่มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น DEMCO, IRPC, SAMART, SALEE, THCOM, TMB
ส่วนการลงทุนต่างประเทศ แนะนำหุ้น Dollar General คาดจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของการบริโภคในสหรัฐ และ Ping An Insurance ในกลุ่มประกันชีวิต ที่เติบโตตามเศรษฐกิจจีน หรือลงทุนผ่านกองทุน เลือก KF- HEUROPE ซึ่งลงทุนในหุ้นทั่วสหภาพยุโรป และ K-INDIA ซึ่งคาดว่า GDP Growth จะแซงหน้าจีนในอนาคต

ส่งออกไทยหดตัวต่อเนื่อง ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐส่งสัญญาณชะลอตัว
   เศรษฐกิจทั่วโลกยังคงถูกกดดัน หลังจากที่ดัชนีชี้นำต่างๆ รายงานออกมาต่ำที่คาด เริ่มจากไทย วานนี้ กระทรวงพาณิชย์ รายงาน การขยายตัวการส่งออก เดือน ก.พ. ติดลบ 6.1%yoy ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากเดือน ม.ค. ติดลบ 3.5%yoy โดยเฉลี่ย 2M58 ติดลบ 4.8% โดยสาเหตุหลักของการหดตัว มาจากมูลค่าการส่งออกน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก และอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกัน หากพิจารณาประเทศในแถบเอเซีย และประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ กล่าวคือ ใน 2 เดือนแรกของปี 2558 การส่งออกของอินเดีย ติดลบ 13%, อินโดนีเซีย ติดลบ 11.9%, สิงคโปร์ ติดลบ 8.5%, ออสเตรเลีย ติดลบ 8.4% และสหรัฐ ติดลบ 5.1% เป็นต้น

     ทั้งนี้ จากตัวเลข 2M58 ที่ติดลบ 4.8% เทียบกับที่ ASP คาดไว้ว่าในปี 2558 การส่งออกจะขยายตัวได้ 3.5% หมายความว่าในช่วง 10 เดือนที่เหลือของปี 2558การส่งออกต้องขยายตัวไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5.16% ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยมาก ดังนั้นฝ่ายวิจัยจึงอยู่ในช่วงทบทวนและปรับลดประมาณการการส่งออกให้ต่ำกว่า 3.5% ซึ่งอาจทำให้ GDP Growth ในปีนี้ลดลงเหลือ 2.5-3% (จากเดิม 3.5%)
ขณะที่ทางฝั่งสหรัฐปรากฎสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง โดยวานนี้ ตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน ก.พ. ติดลบ 1.4%mom หรือขยายตัวเพียง 1%yoy (ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 เดือน และเริ่มชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ เดือย ก.ย. 2557) เช่นเดียวกับ ตัวเลขการใช้จ่ายภาคธุรกิจ เดือน ก.พ. ติดลบ 1.4%mom (ลดลงจาก 0.1%mom ในเดือน ม.ค. และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6) ซึ่งสะท้อนถึงการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังของภาคธุรกิจ อันเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งสอดคล้องกับการชะลอตัวของดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวที่รายงานไปก่อนหน้า ได้แก่ ตลาดบ้าน ยังชะลอทั้งยอดขายบ้านมือสอง และยอดสร้างบ้านใหม่ ยอดค้าปลีก และภาคการผลิต ซึ่งสอดคล้องกับ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค. ลดลงอยู่ที่ระดับ 51.5 (ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน และลดลงจากระดับ 54 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี)

      อย่างไรก็ตาม คาดว่าการชะลอตัวของดัชนีเศรษฐกิจข้างต้น รวมถึงเงินเฟ้อที่ยังห่างไกลจากเป้าหมายที่ 2% อยู่มาก โดยเดือน ก.พ. อยู่ที่ 0%yoy ดีขึ้นเล็กน้อยจากที่ ติดลบ 0.1% ในเดือน ม.ค. (เป็นการชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ค. 2557 และใกล้เคียงกับระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี) ซึ่งโดยรวมไม่อาจชดเชยปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของตลาดแรงงาน ที่อัตราการว่างงานลดลงมาอยู่ที่ 5.5% ได้สมบูรณ์ จึงมีแนวโน้มที่ ธนาคารกลางสหรัฐ น่าจะเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยฯ ออกไปเป็นปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 สอดคล้องกับความคิดเห็นของนาย ชาร์ล อีวาน (Fed ชิคาโก) ที่คาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยฯ จะล่าช้าไปจนกระทั่ง 1H59 ประเด็นนี้จึงถือเป็นประเด็นเดียวที่ลดแรงกดดันต่อตลาดหุ้นโลกในขณะนี้

   ทางด้านปัญหาหนี้กรีซ ใกล้จะมาถึงจุดตัดสินมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในการประชุมรัฐมนตรีคลังยูโรโซนวานนี้ เยอรมัน ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มยูโรโซน ให้เวลากรีซอีก 5 วัน จนถึงวันที่ 30 มี.ค. นี้ ในการส่งแผนปฏิรูปหลายด้านตามที่กลุ่มเจ้าหนี้ในยุโรปเป็นผู้กำหนดเพื่อแลกกับการขอรับเงินช่วยเหลือ เนื่องจากปัจจุบันกรีซมีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนเงินเพื่อไปชำระหนี้ในเดือน เม.ย. โดยรัฐบาลกรีซมีกำหนดชำระหนี้ IMF มูลค่า 460 ล้านยูโร (502.5 ล้านเหรียญ) ที่ครบกำหนดในวันที่ 9 เม.ย.นี้ ขณะที่เงินสดในคลังจะหมดลง ภายในวันที่ 20 เม.ย. นี้ ซึ่งกรีซต้องการเงินเป็นการเร่งด่วนอีกประมาณ1.9 พันล้านยูโร ( 2.1 พันล้านเหรียญ) ซึ่งเป็นผลตอบแทนจากพันธบัตรกรีซที่ ECB ได้ริบไปก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดีหนทางการระดมเงินของกรีซที่ดูเหมือนจะตีบตันขึ้นเรื่อยๆ น่าจะทำให้ท้ายที่สุด กรีซน่าจะต้องยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ต่างชาติยังขายต่อเนื่อง เหตุขาดปัจจัยหนุน
     กระแสเงินทุนจากต่างชาติยังคงชะลอตัวต่อเนี่อง โดยวานนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาค เบาบางเป็นวันที่ 2 ราว 32 ล้านเหรียญฯ ใกล้เคียงกับวันก่อนหน้า และเป็นการซื้อสลับขายรายประเทศเช่นเดิม กล่าวคือ ไต้หวันขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 107 ล้านเหรียญฯ (วันก่อนหน้าขายสุทธิเพียง 16 ล้านเหรียญฯ) ส่วนไทยขายสุทธิเป็นวันที่ 2 เช่นกัน ราว 40 ล้านเหรียญฯ (1.3 พันล้านบาท, เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวจากวันก่อนหน้า) และอินโดนีเซียขายสุทธิเป็นวันที่ 4 ราว 31 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 58% จากวันก่อนหน้า) สวนทางกับเกาหลีใต้ที่ยังคงซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 7 และเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 78% อยู่ที่ 123 ล้านเหรียญฯ และฟิลิปปินส์ สลับมาซื้อสุทธิราว 24 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขายสุทธิใน 3 วันหลังสุด)
   เศรษฐกิจไทยที่ยังชะลอตัว และปัญหาการเมืองในประเทศไทยยังกดดันให้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิออกมาเป็นวันที่ 2 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค ยังเชื่อว่าในระยะสั้น นักลงทุนกลุ่มนี้จะยังซื้อสลับขายเบาบางรายวันเช่นเดิม เนื่องจากขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆให้กลับเข้ามาซื้อหุ้นไทย ขณะที่แรงขายมีอยู่อย่างจำกัด

เลือกหุ้นที่ให้ผลตอบแทนชนะตลาดช่วงก่อนสงกรานต์ : RCL, GUNKUL
     ดังที่กล่าวไปวานนี้ว่า ในภาวะตลาดที่ผันผวน แต่คาดว่าดัชนีที่ 1,500 จุด มีค่า Expected PER ที่ 14.9 เท่า ซึ่งยังแนะนำให้ทยอยเลือกหุ้นที่มีพื้นฐานดี โดยเฉพาะหุ้นที่มี PER ต่ำ และเงินปันผลสูง และในระยะอันใกล้ก็คือ ในช่วงเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตลาดหุ้นไทยมักจะเงียบเหงา เนื่องจากมีวันหยุดยาวต่อเนื่องกันหลายวัน และทำให้มูลค่าการซื้อขายจะไม่มากนัก แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณาสถิติในอดีต ย้อนหลัง 10 ปี พบว่าในในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือน เม.ย. ดัชนีตลาดหุ้นไทย มักให้ผลตอบแทน 1.1% ด้วยความน่าจะเป็น 70% และหากพิจารณารายหุ้นพบว่ามีหุ้นจำนวนมากที่จะให้ผลตอบแทนชนะตลาด ด้วยความน่าจะเป็นสูงเกิน 70% ดังปรากฏตารางด้านล่าง แต่ทั้งนี้จะเลือกหุ้น Top picks เพียง 2 บริษัทคือ GUNKUL ([email protected]) และ RCL (FV@B 13.1) เท่านั้น รายละเอียดดังปรากฏในตาราง

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!