WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
      SET ยังอ่อนตัวต่อ แต่จะมีแนวรับระยะสั้นที่ 1,500 จุด (Ex PER 14.5 เท่า) ตลาดน่าจะให้น้ำหนักต่อปัญหาเศรษฐกิจ และการเมืองในประเทศ ระยะสั้นจึงแนะเลือกหุ้นที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนชนะตลาดในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ หุ้นเด่น:GUNKUL ([email protected]) และ RCL (FV@B 13.1)

เงินเฟ้อสหรัฐ/อังกฤษ อ่อนตัว ตอกย้ำดอกเบี้ยต่ำยังจำเป็น
      การรายงานตัวเลขเงินเฟ้อในหลายประเทศยังคงอ่อนตัวและติดลบต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ตอกย้ำว่าการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายยังมีความจำเป็น โดยล่าสุด สหรัฐ รายงานเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 0%yoy ดีขึ้นเล็กน้อยจากที่ ติดลบ 0.1% ในเดือน ม.ค. ( เป็นการชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ค. 2557 และใกล้เคียงกับระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี) ตามมาด้วย อังกฤษ พบว่าเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 0%yoy ลดลงจาก จาก 0.3% ในเดือน ม.ค. (ชะลอตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่ ก.ค. 2556 และเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์)
      นอกเหนือจากนี้ยังเป้าหมายอัตราการว่างงานให้ต่ำกว่า 5.5% ลงเหลือ 5% บวก-ลบ แล้ว ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ได้กำหนดกรอบเป้าหมาย 2% ซึ่งเป็นเงือนไขหนึ่งในการใช้ประกอบการพิจารณาการปรับขึ้นดอกเบี้ย ในภาวะที่ราคาน้ำมันดิบโลกอยู่ในระดับต่ำ และการชะลอตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือง ซึ่งไม่สามารถเร่งเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ในเวลาอันใกล้หรืออย่างน้อยกลางปี 2558 ดังนั้นจึงคาดว่า ทั้งธนาคารกลางสหรัฐ และธนาคารกลางอังกฤษ จะยังไม่น่าเร่งรีบ ภายในเดือน มิ.ย. และเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยฯครั้งแรก เป็นสิ้นปี 2558 หรือต้นปี 2559 ในเวลาใกล้เคียงกัน ประเด็นนี้จึงน่าจะถือเป็นปัจจัยที่ลดแรงกดดันต่อตลาดหุ้นโลกได้

การปรับลด GDP vs ผลกระทบต่อกำไรตลาดหุ้น 2%
     ดังที่กล่าวไปแล้ววานนี้ถึงปัจจัยกดดันตลาดหุ้นไทยที่มีน้ำหนักมาจากประเด็นในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะประเด็นการเมือง หลังจากที่ คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญฯ ได้เดินหน้ามาจนถึงใกล้วันกำหนดเส้นตายคือ 17 เม.ย.2558 และจะต้อง ส่งเรื่องไปยัง 3 องค์กร ได้แก่ สปช. คณะรัฐมนตรี และ คสช. เพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะ และส่งกลับมาให้ คณะกรรมาธิการดำเนินการปรับปรุง และแก้ไขตามข้อเสนอแนะ ก่อนจะส่งต่อให้ สปช. จะลงมติเห็นชอบร่างฯ ซึ่งน่าจะต้องแล้วเสร็จภายใน 6 ส.ค.2558 และหากทุกอย่างยังเดินหน้า คาดว่าจะสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งหากผ่านขั้นตอนสุดท้าย น่าเสร็จสิ้นไม่เกิน 4 ก.ย.2558 แต่หากไม่เป็นไปตามกรอบเวลา ก็อาจเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้ทั้ง สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่าง หมดสภาพ และต้องไปเริ่มกระบวนการใหม่ตั้งแต่ต้น
      ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงต่อการปรับลด GDP Growth ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง นำโดย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ปรับลด GDP growth ลงเหลือ 3.9% จากเดิม 4.1% เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา และเมื่อ 20 มี.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ปรับลด GDP growth ลงเหลือ 3.8% จากเดิม 4% และล่าสุด ธนาคารพัฒนาเอเซีย (Asian Development Bank: ADB) ได้ปรับลดเหลือ 3.6% จากเดิม 3.9% โดยประเด็นที่ให้น้ำหนักในการปรับลดมากสุดคือ ภาคส่งออกที่ปรับลดลงเหลือ 1-2% เทียบกับจากเดิมคาดไว้ 3-4% จากปัญหาของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย
   ทั้งนี้ เชื่อว่า ผลกระทบต่อการปรับกำไรตลาดหุ้นหรือ EPS ก็มีอยู่บ้าง โดยคาดว่าน่าจะลดลงราว 2% จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 103.65 บาทต่อหุ้น (EPS Growth 35%) ภายใต้สมมติฐาน หรือ ปัจจัยเสี่ยงที่จะกดดันความสามารถในการทำกำไรมีอยู่ 2 ประการ คือ การลดดอกเบี้ยฯ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอีก 1-2 ครั้งหรือลดลงราว 0.25-0.5% ซึ่งจะกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ ทุก ๆ 0.25% ที่มีการลดดอกเบี้ยจะทำให้กำไรหายไปราว 1.5 หมื่นล้านบาท และตามมาด้วย กลุ่มประกันชีวิต คาดว่ากำไรจะหายไปประมาณ 1 พันล้านบาท
      ตามมาด้วยกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ความเสี่ยงที่จะลดประมาณการกำไรอาจจะยังมีอยู่แต่ไม่มาก หากพิจารณาราคาน้ำมันดิบดูไบปัจจุบัน เคลื่อนไหวต่ำกว่า 60 เหรียญฯต่อบาร์เรล โดยล่าสุด 52.6 เหรียญฯต่อบาร์เรล เทียบกับ 53.9 เหรียญฯต่อบาร์เรล เมื่อสิ้นงวด 4Q57 จึงคาดว่างวด 1Q58 จะไม่เกิด gain/loss จาก สต๊อกน้ำมันมากนัก เหมือนกับที่เกิดในงวด 4Q57 (TOP, PTTGC, BCP) แต่อาจจะกระทบต่อรายได้ของ PTT, PTTEP แต่อย่างไรก็ตามภายใต้สมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบตลอดปี 2558 เฉลี่ยอยู่ที่ 75 เหรียญฯต่อบาร์เรล อาจจะสูงเกินไป ในเบื้องต้นจึงทำการศึกษาผลกระทบต่อกำไร กล่าวคือ หากราคาน้ำมันดิบดูไบต่ำกว่าสมมุติฐาน ทุกๆ 5 เหรียญฯ จะทำให้กำไรของ PTT และ PTTEP ลดลงรวมราว 1.1 หมื่นล้านบาท (โดยยังไม่ได้รวมผลกระทบจากการบันทึก Inventory Gain / Loss โดยที่ราคาปิด ณ สิ้นปี 2557 อยู่ที่บริเวณ 53-54 เหรียญฯ หากราคาปิดปี 2558 สูงกว่าบริเวณดังกล่าว ก็อาจทำให้เกิดรายการ Inventory Gain ช่วยลดผลกระทบจากการลดลงของประมาณการกำไรได้ แต่หากปิดที่ต่ำกว่า 53–54 เหรียญฯ ก็อาจทำให้ประมาณการกำไรสุทธิลดลงมากกว่าที่คาด) โดยภาพรวมกำไรของทั้งกลุ่ม หากจะเกิดการปรับลดประมาณการลงมา ก็ไม่น่าจะเกิน 4 พันล้านบาท หรือราว 0.2% ของประมาณการกำไรปี 2558 ที่ประมาณไว้ในปัจจุบัน
     หากโดยรวมหากคำนึงถึงผลกระทบจากกลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มพลังงาน และปิโตรเคมีคาดว่าจะกระทบราว 2 หมื่นล้านบาท หรือ ราว 2% ของประมาณการทั้งปี 2558 ที่ 9.57 แสนล้านบาท หรือ คาดว่า EPS จะลดเหลือ 101.58 บาทต่อหุ้น ซึ่งตลาดหุ้นไทยยังมี Expected PER ราว 14.9 เท่า ซึ่งก็เป็นระดับที่ไม่แพงเกิน ยังสามารถเลือกหุ้นที่ PER ต่ำกว่านี้ได้อีกจำนวนมาก

เงินทุนต่างชาติเริ่มชะลอตัว แต่ยังซื้อต่อเนื่องในตราสารหนี้
      วานนี้ นักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาค แต่เบาบางเพียงราว 33 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น และเป็นลักษณะ ซื้อสลับขายและ เบาบางในทุกประเทศ โดยเริ่มจากอินโดนีเซียที่ยังคงขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 และเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า อยู่ที่ราว 73 ล้านเหรียญฯ ตามมาด้วยไต้หวันสลับมาขายสุทธิเล็กน้อยราว 16 ล้านเหรียญฯ (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 5 วันก่อนหน้า) ไทยสลับมาขายสุทธิเช่นกัน ราว 12 ล้านเหรียญฯ (390 ล้านบาท, ขายสลับซื้อสุทธิใน 6 วันหลังสุด) และ ฟิลิปปินส์ ที่สลับมาขายสุทธิเบาบางราว 2 ล้านเหรียญฯ หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 4 วันก่อนหน้า สวนทางกับเกาหลีใต้ที่ยังคงซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 6 ราว 71 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 41% จากวันก่อนหน้า)
      ภาพรวมของนักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสลับขายในตลาดหุ้นไทย แต่เบาบาง ส่วนหนึ่งเชื่อว่านักลงทุนยังไม่เห็นสัญญาณที่ชัดเจน หรือปัจจัยหนุนใหม่ ๆ ซึ่งเป็นไปตามทิศทางเดียวกับตลาดภูมิภาค ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิอีกครั้ง 3 วันติดต่อกัน รวม 5.6 พันล้านบาท หลังจากที่ FED ส่งสัญญาณว่ายังจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในระยะอันใกล้นี้ และ มีส่วนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าแตะระดับ 32.50 บาท

กลยุทธ์การลงทุนก่อนวันสงกรานต์ : RCL, GUNKUL
      ใกล้เข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่เป็นวันหยุดยาวต่อเนื่องกันหลายวัน โดยจากข้อมูลในอดีตพบว่า ช่วงก่อนวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ตลาดหุ้นมักจะเงียบเหงา และมูลค่าการซื้อขายจะไม่มากนัก เนื่องจากนักลงทุนอาจลดพอร์ตการลงทุน หรือถือเงินสดเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากตลาดหุ้นต่างประเทศไม่ได้ปิดทำการ อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณของของตลาดย้อนหลัง 10 ปี ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือน เม.ย. พบว่า ดัชนีตลาดหุ้นให้ผลตอบแทน 1.1% ด้วยความน่าจะเป็น 70% แต่มีหุ้นอีกหลายบริษัทที่มักปรับตัวขึ้น และ ให้ผลตอบแทนชนะตลาด ด้วยความน่าจะเป็นสูงเกิน 70% ดังปรากฏตารางด้านล่าง
      ในภาวะตลาดที่ยังผันผวน และนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น จึงต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน ฝ่ายวิจัยจึงแนะนำเลือกหุ้น Songkran Rally ที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และมีความน่าจะเป็นสูง มี upside สูง และฝ่ายวิจัยแนะนำซื้อ GUNKUL ([email protected]) และ RCL (FV@B 13.1) เป็นต้น

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!