WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
     การตีความ Fed จะยืดการขึ้นดอกเบี้ยฯ และการเดินหน้าประมูล 4G น่าจะสร้าง Sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทย ซึ่งปัจจุบัน มี Expected PER 14.7 เท่า แนะนำสะสม Laggards ในกลุ่มอสังหาฯ ธนาคารพาณิชย์ และสื่อสาร และยังเลือกหุ้น Turnaround MCS (FV@B 9.19) เป็น Top Pick

ตลาดผ่อนคลาย FED ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยภายในกลางปีนี้แน่นอน
      สรุปว่าผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ระหว่างวันที่ 17-18 มี.ค. ได้มีเปลี่ยนแปลงจากครั้งที่ผ่านมาคือ ให้ยกเลิกคำว่า  “patient” ตามที่ตลาดคาด แต่มิได้หมายความว่าจะรีบเร่งขึ้นดอกเบี้ย โดยจะพิจารณาข้อมูลทางเศรษฐกิจในการประชุมในรอบถัดไป ทั้งนี้เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐในปัจจุบันมีการเติบโตระดับปานกลาง โดยดัชนีเศรษฐกิจที่ Fed ให้ความสำคัญคือ อัตราเงินเฟ้อต้องเข้าใกล้เป้าหมาย 2% มากกว่านี้ (เทียบกับเดือน ม.ค. ติดลบ 0.1%) และตลาดแรงงงานยังต้องฟื้นตัวต่อเนื่อง พร้อมได้คาดว่าอัตราการว่างงานน่าจะสามารถลดลงมาที่เฉลี่ย 5% ได้ภายในสิ้นปี 2558 (เดือน ก.พ. อยู่ที่ 5.5%)
ขณะเดียวกัน Fed ได้ปรับลด GDP Growth ในปี 2558 เหลือ 2.3-2.7% (จากเดิม 2.6-3.0% ต่ำกว่า IMF คาดไว้ 3.6%) และในปี 2559 เหลือ 2.3-2.7% (จากเดิม 2.5-3.0% ต่ำกว่า IMF คาดไว้ 3.3%) แต่เพิ่มปี 2560 เล็กน้อย อยู่ที่ 2.0-2.4% (จากเดิม 2.0-2.3%) ซึ่งน่าจะเป็นสัญญานว่า Fed ไม่น่าจะดอกเบี้ยฯ ที่รวดเร็วภายในกลางปีนี้ ตามที่นักเศรษฐศาสตร์บางค่ายคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า เนื่องจากมีความเป็นไปได้น้อยที่เงินเฟ้อจะเร่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
  เช่นเดียวกับผลการสำรวจ Fed funds futures (จาก CME Group data) พบว่านักเศรษฐศาสตร์กลับมาให้น้ำหนักในการขึ้นดอกเบี้ยฯ ครั้งแรกเป็นในเดือน ต.ค. ถึง 60% ที่เหลือ 39% คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย ในเดือน ก.ย. สวนทางกับการสำรวจครั้งก่อนส่วนใหญ่ 59% คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. ทั้งนี้ได้มีการคาดการณ์กันว่าอัตราดอกเบี้ยฯ สิ้นปี 2558 ดอกเบี้ยฯ จะอยู่ที่ 0.625% และเพิ่มเป็น 1.875% ในปี 2559 และ 3.125% ในปี 2560 ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของฝ่ายวิจัยว่า การขึ้นดอกเบี้ยฯ ครั้งแรก จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 ประเด็นนี้จึงน่าจะช่วยทำให้ตลาดหุ้นโลกผ่อนคลายลง ในระยะสั้น

ต่างชาติสลับมาขายตลาดหุ้นไทยหลังจากซื้อติดต่อกัน 3 วัน
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 560 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 30% จากวันก่อนหน้า) โดยซื้อสุทธิสูงสุดคือ ไต้หวันที่ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 354 ล้านเหรียญฯ (วันก่อนหน้าซื้อสุทธิเพียง 29 ล้านเหรียญฯ) ตามมาด้วย เกาหลีใต้ ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 เช่นกัน แต่ลดลง 34% เหลือราว 266 ล้านเหรียญฯ และฟิลิปปินส์สลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อย ราว 3 ล้านเหรียญฯ (ขายสุทธิติดต่อกัน 3 วันก่อนหน้า) สวนทางกับ ไทยที่สลับมาขายสุทธิอีกครั้ง ราว 31 ล้านเหรียญฯ (1 พันล้านบาท, หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 3 วันก่อนหน้า) ใกล้เคียงกับอินโดนีเซียที่ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 8 แต่ลดลง 41% เหลือราว 31 ล้านเหรียญฯ
ทั้งนี้ แม้ต่างชาติจะเลือกขายสุทธิหุ้นไทยออกมา แต่ปริมาณการขายยังเบาบาง และเป็นการขายสุทธิเพียง 3 วันจาก 11 วันหลังสุดในขณะที่นักลงทุนต่างชาติเลือกซื้อสุทธิในประเทศเพื่อนบ้านอีกครั้ง เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติยังมีฐานะ ซื้อ สลับขาย ตราบที่ตลาดหุ้นไทยังขาดปัจจัยชี้นำที่ชัดเจน

ตลาดพลิกฟื้น แนะนำหุ้น Laggards
      วานนี้ ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวได้แรงกว่า 18 จุด หลังจากที่แกว่งตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.พ. เป็นต้นมา โดยผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (ytd) SET ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 2.3% ถือว่า underperform กว่าตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเซีย เช่น ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นกว่า 11.3% จีน เพิ่มขึ้น 10.6% อินเดีย เพิ่มขึ้น 4.1% อินโดนีเซีย เพิ่มขึ้น 3.6% ฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 7.3% เป็นต้น
และพิจารณการเปลี่ยนแปลงหุ้นรายกลุ่มในตลาดหุ้นไทย พบว่า กลุ่มที่ให้ผลตอบตอนชนะตลาด มักเป็นกลุ่มฯ ขนาดกลาง เช่น ธุรกิจการเงิน, ชิ้นส่วนฯ, วัสดุก่อสร้าง โรงพยาบาล เป็นต้น ตรงข้ามกับกลุ่มขนาดใหญ่ที่ยังให้ผลตอบแทนใกล้เคียง หรือน้อยกว่าตลาด อาทิ พลังงาน, สื่อสาร, ธนาคารพาณิชย์ ค้าปลีก เป็นต้น (ดังที่แสดงในภาพด้านล่าง) ทั้งนี้เนื่องจากตลาดหุ้นไทยยังขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆ จึงน่าจะเป็นเหตุที่ทำให้ SET ยังไม่สามารถขยับขึ้นไปได้ไกลนัก อย่างไรก็ดี จากการที่ตลาดเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว ประกอบกับการที่ดัชนีและราคาหุ้นปรับลดลงมาค่อนข้างมาก จนทำให้ระดับ Expected PER ลงมาอยู่ที่ 14.8 เท่า จึงเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการสะสมหุ้นใหญ่พื้นฐานแกร่ง และมีปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามาหนุน โดยเฉพาะในกลุ่มสื่อสาร ที่ได้ประเด็นเรื่องการประมูล 4G ดังที่จะได้กล่าวในย่อหน้าถัดไป เป็นตัวเร่ง

ประมูล 4G อาจช่วยหนุนตลาดระยะสั้น
      วานนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจ และ สังคม ให้เดินหน้า 4G ให้แล้วเสร็จใน ส.ค. 2558 ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนตลาดระยะสั้น แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณา คลื่นความถี่ที่คาดว่าจะนำออกมาประมูลเป็นคลื่น 1,800 จำนวน 25 เมกะเฮิร์ต (เป็น DPC บริษัทย่อยของ ADVANC และ ของ TRUE Move ที่ครบกำหนดและคืนสัมปทานให้ภาครัฐ) ซึ่งหากให้ประมูลใบอนุญาต 2 ใบๆ ละ 12.5 เมกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งก็อาจจะน้อย หากเทียบกับในต่างประเทศมักจะใช้ขั้นต่ำที่ 20 เมกะเฮิร์ตซ์ ซึ่ง คณะกรรมการชุดดังกล่าว ให้ทาง กสทช ไปดำเนินการหาคลื่นความถี่ที่ยังเหลืออยู่มาประมูลเพิ่มเติม ซึ่งในเบื้องต้น คาดว่าจะเป็นคลื่นความถี่ของ 2300 เมกะเฮิร์ตซ์
เป็นที่สังเกตว่ามีใบอนุญาต 2 ใบ แต่ผู้ประกอบการ 3 ราย ซึ่งคงต้องลุ้นกันว่าใครจะเป็นผู้ชนะ ทั้งนี้หากพิจารณาในด้าน กระแสเงินสดจากการดำเนินงานและ เงินสดในมือแล้ว คาดว่า ADVANC น่าจะมีความพร้อมมากสุด และยังชื่นชอบ ADVANC มากที่สุด รายละเอียดเกี่ยวกับตัวเลขทางการเงิน คือ
  ADVANC(FV@B285) มีเงินสดสุทธิในมือ 1.4 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 โดยมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในปี 2557 6.28 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 7.17 หมื่นล้านบาท ในปี 2558 เทียบกับเงินลงทุนราว 3.6 หมื่นล้านบาทในปี 2557 และ คาดว่าจะเพิ่มเป็น 4 หมื่นล้านบาทในปี 2558 ขณะที่มี net gearing 0.49 เท่า ในปี 2557
  DTAC(FV@B97) มีเงินสดสุทธิในมือ 5.8 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 โดยมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในปี 2557 2.83 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3.06 หมื่นล้านบาท ในปี 2558 เทียบกับเงินลงทุนราว 1.9 หมื่นล้านบาทในปี 2557 และคาดว่าจะลดลงเหลือ 1.2 หมื่นล้านบาทในปี 2558 ขณะที่มี net gearing 0.85 เท่า ในปี 2557
  TRUE(FV@B12) มีเงินสดสุทธิในมือ 6.6 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 โดยมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในปี 2557 ติดลบ 3.64 พันล้านบาท แต่คาดว่าจะเพิ่มเป็น 4.6 หมื่นล้านบาท ในปี 2558 และ 2.5 หมื่นล้านบาทในปี 2559 เทียบกับเงินลงทุนราว 2.14 หมื่นล้านบาทในปี 2557 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3.03 หมื่นล้านบาทในปี 2558 ขณะที่มี net gearing 0.5 เท่า ในปี 2557
  หากมีการประมูล 4G น่าจะส่งผลเชิงบวกต่อ ADVANC เพราะปัจจุบันถือว่าเป็นรายเดียวที่ไม่มีบริการ 4G เหมือนคู่แข่งตันที่ให้บริการไปแล้วก่อนหน้า แม้ยังไม่มีใบอนุญาตอย่างเป็นทางการก็ตาม โดยยังชื่นชอบ ADVANC และ INTUCH(FV@B113) เลือก เป็น Top pick

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!