WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
      เชื่อว่า EPS Growth ปี 2558 ที่น่าจะสูงถึง 35% น่าจะมีน้ำหนักในการขับเคลื่อน SET Index ที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ ช่วงการปรับฐานของตลาดที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ควรถือเป็นโอกาสเลือกหุ้นพื้นฐานดีที่กำไรเติบโตสูง และมี Upside จาก Fair Value มาก เข้าพอร์ต วันนี้เลือก MCS (FV@B 9.19) เป็น Top Pick

ตลาดจะถูกขับเคลื่อนด้วย EPS Growth แรงขึ้นตามลำดับ
      งวดปี 2557 บริษัทจดทะเบียนรายงานผลประกอบการมีกำไรต่อหุ้น (EPS) อยู่ที่ 76.72 บาท ลดลง 16.24% YoY นับเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าความคาดหมาย และทำให้ฐานกำไรงวดปี 2557 อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้สาเหตุประการหนึ่งมาจากการบันทึกด้อยค่าสินค้าคงเหลือ (Inventory Loss) ของกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าโภคภัณฑ์เฉพาะอย่างยิ่งน้ำมัน แต่สำหรับแนวโน้มในปี 2558 ประเมินว่าบริษัทจดทะเบียนไม่น่าจะต้องเผชิญกับการบันทึกด้อยค่าสินค้าคงเหลือเหมือนปีที่ผ่านๆ มา ขณะที่ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมก็มีแรงกระตุ้นในการเติบโตของกำไรที่ชัดเจนมากขึ้นทั้งในกลุ่มขนส่ง, Media, ประกันฯ, ICT ตลอดจนวัสดุก่อสร้าง บนฐานดังกล่าวคาดว่า EPS บริษัทจดทะเบียนจะอยู่ที่ราว 103.65 บาท/หุ้น (มีความเสี่ยงอาจต้องปรับลดลงประมาณ 2% ในอนาคต) เติบโต 35% YoY ซึ่งถือเป็นการเติบโตในระดับสูง แม้ส่วนหนึ่งจะเกิดขึ้นเพราะฐานกำไรปี 2557 ต่ำกว่าคาดก็ตาม ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เชื่อว่าทิศทางของ SET Index น่าจะถูกขับเคลื่อนด้วย EPS Growth ด้วยน้ำหนักที่มากขึ้นตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตามก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น การปรับฐานราคาของ SET Index ก็น่าจะเกิดขึ้นได้ก่อน เนื่องจากระดับค่า Current PER ของตลาดยังสูงกว่า 18 เท่า ขณะที่ยังไม่มี Fund Flow ที่มากพอเข้ามาสนับสนุน
ในช่วงการปรับฐานราคาของ SET Index ที่กำลังเกิดขึ้น นักลงทุนควรมองเป็นโอกาสในการปรับพอร์ต หรือคัดกรองหุ้นที่มีความโดดเด่นในเรื่องการเติบโตของผลประกอบการ และยังมีราคาที่ต่ำกว่า Fair Value ที่นักวิเคราะห์ ทำไว้เก็บเข้าในพอร์ต ซึ่งมีตัวเลือกที่โดดเด่นหลายบริษัท เช่น MCS (FV@B 9.19) ซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพลิกฟื้น(Turnaround) รอบใหญ่ของผลประกอบการ, HANA (FV@B 48) คาดหมาย EPS Growth ที่ระดับประมาณ 24% ขณะที่ฐานะการเงินแข็งแกร่งจ่ายเงินปันผลได้ต่อเนื่อง, VNG (FV@B 10.25) ที่อยู่ภายใต้ภาวะที่ความต้องการสินค้าสูงขึ้น สวนทางกับต้นทุนการผลิตที่ลดต่ำลง และ SPALI (FV@B 31.96) ซึ่ง EPS Growth 23% ค่า PER 6 เท่า และ Dividend Yield 6.7% ต่อปี เป็นต้น

การเบิกจ่ายงบจ่ายลงทุนภาครัฐยังต่ำกว่าเป้าฯ คาดหวังดีขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือ
      สำนักงบประมาณ รายงานการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ (1 ต.ค. 2557) จนถึง 13 มี.ค. 2558 เบิกจ่ายแล้วรวมกว่า 1.17 ล้านล้านบาท ของงบประมาณรวม 2.575 ล้านล้านบาท หรือ 45.6% (ต่ำกว่าเป้าหมายที่ คสช.กำหนดไว้ที่ 51.2%) ทั้งนี้ การเบิกจ่ายดังกล่าวแบ่งเป็นงบประจำ 1.06 ล้านล้านบาท (จากวงเงินรวมทั้งสิ้นราว 2.13 ล้านล้านบาท) หรือ 49.53% และงบลงทุน 1.14 แสนล้านบาท (จากวงเงินรวมทั้งสิ้นราว 4.49 แสนล้านบาท) หรือ 25.35% ทั้งนี้ ในส่วนของงบลงทุน มีโครงการที่ลงนามในสัญญาแล้ว 1.48 แสนล้านบาท หรือ 33% ความคืบหน้าแบ่งเป็น ลงนามในสัญญาแล้ว 3%, ประกวดราคาแล้ว 45.5%, อยู่ระหว่างประกวดราคา 39.4%, อยู่ระหว่างจัดทำร่าง TOR และราคากลาง 12.1% ที่เหลือคาดว่าจะลงนามได้ในงวดไตรมาส 2 งบเงินงบฯ ราว 4 พันล้านบาท กับงบฯ ผูกพัน 2 .9 หมื่นล้านบาท และลงนามในไตรมาส 3 วงเงินงบฯ 3 พันล้านบาท กับงบฯ ผูกพัน 2.9 หมื่นล้านบาท
ทางด้านโครงการที่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนที่สุด คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) มูลค่า 28,786 ล้านบาท มีกำหนดเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้างในวันที่ 3 เม.ย. 2558 นี้ ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ได้มีการแก้ไขสัญญาก่อสร้างไปเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลได้เห็นชอบและเพิ่มงบประมาณให้อีกกว่า 8 พันล้านบาท ส่วนงานประมูลโครงการใหญ่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อไปคือ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-แก่งคอย มูลค่า 1.42 หมื่นล้านบาท จะมีการเปิดขายซองประกวดราคาในเดือน มี.ค. 2558 นี้ ซึ่งทางด้านกระทรวงคมนาคมได้เตรียมของบประมาณปี 2559 เพิ่มขึ้นจากปี 2558 อีก 1.77 แสนล้านบาท เพื่อเตรียมรองรับแผนการลงทุนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก
       การเบิกจ่ายงบประมาณถือเป็นหัวใจหลักประการหนึ่งของการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ซึ่งจากตัวเลขการเบิกจ่ายดังกล่าวข้างต้น ยังถือว่าต่ำกว่าเป้าหมาย ทั้งนี้ตลาดฯคาดหวังว่าน่าจะเห็นการเร่งเบิกจ่ายในช่วงเวลาที่เหลือของปีงบประมาณ (ประมาณ 7 เดือน เศษ) เพื่อที่จะเห็นเม็ดเงินลงทุนถูกอัดฉีดเข้ามาสู่ระบบ และเป็นแรงกระตุ้นจักรกลทางเศรษฐกิจตัวที่เหลือต่อไป

ตลาดยังให้น้ำหนักต่อถ้อยแถลงของ Fed
     ตลาดยังคงให้น้ำหนักการประชุม Fed ในระหว่างวันที่ 17-18 มี.ค. (รู้ผลวันที่ 19 มี.ค. ตามเวลาไทย) ซึ่งคาดว่ามี 2 ส่วนหลักๆ ที่ตลาดจับตามอง ได้แก่ 1. Fed ยกเลิกคำว่า “Patient” หรือไม่? โดยผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์บลูมเบิร์ก 90% คาดว่า Fed จะยกเลิกคำว่า “Patient” ในการประชุมครั้งนี้ 2. Fed จะส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไร? (แม้ว่า Fed จะยังคงยืนดอกเบี้ยฯ ในการประชุมครั้งนี้และในเดือน เม.ย.) นักเศรษฐศาสตร์บลูมเบิร์กส่วนใหญ่ 45% ของผู้ตอบทั้งหมด 66 ราย คาดว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยฯ ในเดือน มิ.ย. ตามมาด้วย 32% คาดว่าจะขึ้นเดือน ก.ย. และ 12% คาดว่าจะขึ้นเดือน ก.ค. สอดคล้องกับความเห็น นาย John Williams (Fed ซานฟรานซิสโก), นาย Richard Fisher (Fed ดัลลัส), นาย Jame Bullard (Fed เซนต์หลุยส์) ที่คาดว่าจะ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยฯ ระหว่างเดือน มิ.ย. – ก.ย. ขณะที่ ส่วนที่เหลือคาดว่าจะล่าช้าไปจนกระทั่ง เดือน มี.ค. 2559 คล้ายกับความเห็นของ นาย Charles Evans (Fed ชิคาโก)แต่

     อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาดัชนีชี้นำที่สำคัญของเศรษฐกิจ พบว่าเกิดความขัดแย้งกัน แม้ว่าตลาดแรงงานจะแข็งแกร่ง สะท้อนจากอัตราการว่างงานลดลงที่ระดับ 5.5% (จาก 5.7% ในเดือนก่อนหน้า) แต่ ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. หดตัว 0.6%mom (+2%yoy vs +4% yoy ในเดือน ม.ค.) เป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 (เดือน ม.ค. -0.8%mom และ ธ.ค. 2557 - 0.9%mom) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสภาพอากาศหนาวเย็นกว่าปกติ แต่ไม่รุนแรงเท่ากับปีก่อนหน้า รวมทั้ง เงินเฟ้อ เดือน ม.ค. ติดลบ 0.1% (จาก 0.8% ในเดือน ธ.ค. ซึ่งติดลบอีกครั้งในรอบ 5 ปี) โดยรวมจึงทำให้นักเศรษฐศาสตร์อย่างน้อย 3 ราย เริ่มปรับลด GDPงวด1Q58 อยู่ระหว่าง 1.5-2% เทียบกับ 2.5%yoy ในงวด 4Q57
    โดยสรุป ภายใต้ปัจจัยขับเคลื่อนที่ยังไม่เป็นไปในทางเดียวกัน บวกกับประเทศผู้นำเศรษฐกิจหลัก ๆ ของโลก ทั้งญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และจีน ยังไม่ได้ฟื้นตัวที่แข็งแกร่งพอ ฝ่ายวิจัยจึงคาดว่า Fed น่าจะเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยฯ ไปเป็นปลายปี หรือต้นปี 2559 มากกว่าจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กดดันตลาดอยู่ในขณะนี้

สถาบันยังคงขายหนักต่อเนื่อง สวนทางต่างชาติ
     วานนี้ นักลงทุนต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคอีกครั้ง ราว 431 ล้านเหรียญฯ (หลังจากที่ขายสุทธิติดต่อกัน 6 วันก่อนหน้า) โดยยอดซื้อสุทธิส่วนใหญ่มาจากเกาหลีใต้ที่สลับมาซื้อสุทธิอีกครั้งอย่างหนักราว 403 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขายสุทธิใน 5 วันหลังสุด,และเป็นยอดซื้อสุทธิสูงสุดตั้งแต่ต้นปี 2558) ตามมาด้วยไทย ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 60 ล้านเหรียญฯ (2.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวจากวันก่อนหน้า) และไต้หวันสลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 29 ล้านเหรียญฯ (ขายสุทธิติดต่อกัน 2 วันก่อนหน้า) สวนทางกับอินโดนีเซียที่ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 แต่ลดลง 11% เหลือราว 52 ล้านเหรียญฯ และสุดท้ายคือฟิลิปปินส์ขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ใกล้เคียงกับวันก่อนหน้า ราว 9 ล้านเหรียญฯ

    ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาซื้อหุ้นในภูมิภาคอีกครั้ง แต่เป็นการเลือกซื้อรายประเทศ ขณะที่ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นไทยเป็นวันที่ 3 สวนทางกับฝั่งนักลงทุนสถาบัน ที่ยังคงขายสุทธิอย่างหนักราว 2.2 พันล้านบาท (รวมตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. 2558 ขายสุทธิ 7.3 พันล้านบาท) รวมถึงพอร์ตโบรกเกอร์ที่ยังคงขายสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 801 ล้านบาท และเชื่อว่าแรงขายจากนักลงทุนทั้ง 2 กลุ่มนี้ยังคงมีอยู่ ทำให้ในระยะสั้นดัชนีหุ้นไทยน่าจะยังมีความผันผวนสูงต่อไป

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!