- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 17 March 2015 16:23
- Hits: 1015
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET หลุด 1530 จุด ขาดความเชื่อมั่นล้วน ๆ ขณะที่ตลาดยังให้น้ำหนักต่อการประชุม Fed 17-18 มี.ค. นี้ กลยุทธ์ยังแนะนำหุ้น PER ต่ำ & ปันผลสูง ASK([email protected]), SPALI([email protected]) Top pick คือ HANA(FV@B48) เป็นหุ้น Laggard โดยมี PER 12x & Yield 4.3%
ปัญหาคือนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นไทย
ตลาดหุ้นไทยยังคงอยู่ในภาวะกดดัน โดยเชื่อว่าปัจจัยหลักน่าจะเกิดจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ยังขาดแรงขับเคลื่อนที่ชัดเจน หากพิจารณาดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่สำคัญคือ การบริโภคครัวเรือน (50% ของ GDP) พบว่ายังคงมีแนวโน้มทรงตัว (จากงวด 1Q57 หดตัว –0.5% และค่อยๆ ฟื้นตัวระหว่าง 0.2%-2.2% ในช่วง 2Q57-4Q57) หากพิจารณาปัจจัยชี้นำ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคส่วนบุคคล เดือน ก.พ. ลดลงมาที่ระดับ 79.1 และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 (ก่อนหน้าพบว่าค่อยๆ กระเตื้องขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ค. 2557 ภายหลังการเมืองคลี่คลายลง) ตามมาด้วย ยอดขายรถยนต์นั่ง ยังคงหดตัวมากถึง 11.4%yoy (ยอดขายเพียง 2.34 หมื่นคัน ต่ำสุดในรอบ 3 ปีกว่า) นอกจากนี้ยังพบว่า การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เดือน ม.ค. ราว 5.01 หมื่นล้านบาท ยังคงหดตัว 2% เมื่อเทียบกับ ม.ค. 2557 (ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และสูงสุดอีกครั้งในรอบ 1 ปี จากก่อนหน้านี้ที่แกว่งตัวขึ้น-ลง ) และยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือน ม.ค. แม้ว่ายังติดลบ 8.4%yoy (แต่ติดลบน้อยสุดในรอบ 13 เดือน)
การลงทุนโดยรวมยังคงซบเซา (21% ของ GDP) แม้จะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของภาคเอกชนคือ ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน เดือน ธ.ค. 2557 กระเตื้องขึ้นเล็กน้อย หลังจากทรงตัวมานานราว 9 เดือน แต่ภาครัฐกลับขาดความต่อเนื่องในการเร่งให้เกิดการลงทุนโครงการสาธารณูปโภค 2-3 ล้านล้านบาท ตามแผนที่นำเสนอไว้ ขณะที่การเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2558 เป็นไปอย่างล่าช้า โดยในช่วง 5M58 (ต.ค. 2557-ก.พ. 2558) มีการเบิกจ่ายงบลงทุนได้เพียง 17.92% ของงบลงทุนทั้งหมด 4.49 แสนล้านบาท น้อยที่สุดในรอบ 5 ปีงบประมาณหลังสุด และต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าสิ้นงวดงบประมาณไตรมาส 2 จะต้องเบิกจ่ายงบลงทุนทั้งสิ้น 55%
ขณะที่ภาคส่งออกยังคงชะลอตัว โดยเดือน ม.ค. ส่งออก ติดลบ 2.3%yoy (เทียบกับ ทรงตัว 0% ในปี 2557) ตามภาวะเศรษฐกิจคู่ค้า โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและ จีน โดยรวมทำให้คาดว่าเศรษฐกิจในปี 2558 อาจจะไม่สามารถทำได้ตามประมาณการที่ ASP คาดไว้ 3.5% ตามตารางสมมติฐาน ASP ด้านล่าง
ทั้งนี้ นับว่าสอดคล้องกับถ้อยแถลงของ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่บรรยายในงานสัมมนาวิชาการ เรื่อง "ก้าวข้ามพัฒนาการเศรษฐกิจไทย ด้วยการเพิ่มผลิตภาพ : บริบทของภาคเหนือ" เมื่อ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทย สภาพเหมือน "คนป่วย" ซ้ำซ้อนหลายโรค ตั้งแต่ไข้หวัดใหญ่ กระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวล่าช้า โดยเฉพาะยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ยังเปราะบาง โรค ข้อเข่าเสื่อม เศรษฐกิจไทยเดินหน้าด้วยความลําบาก เพราะขาดแคลนการลงทุนหรือพัฒนาเทคโนโลยีให้ทัดเทียมกับประเทศอื่น และ โรคขาดความมั่นใจ ซึ่งเป็นปัจจัยซ้ำเติมสองโรคข้างต้น ทำให้ ธปท. มีแนวโน้มปรับลดประมาณ GDP Growth ให้เหลือต่ำกว่า 4% จากที่คาดไว้เดิม 4.8%
กลยุทธ์เลือกหุ้น EPS Growth เกิน 20%+Dividend Yield 5%+PER 12x
ในภาวะที่ตลาดหุ้นไทยขาดความเชื่อมั่น SET ปรับตัวลดลงใกล้บริเวณ 1,500 จุด อย่างไรก็ดี ราคาปัจจุบันของหุ้นหลายบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งได้ปรับลดลงจนมี upside ที่น่าสนใจ โดยฝ่ายวิจัยได้ใช้ application “ASP Smart” สามารถคัดกรองหุ้น (Stock Screening) ได้อย่างรวดเร็ว กำหนดให้ค้นหาหุ้นที่มี EPS Growth ปี 2558 สูงกว่า 20%, Expected PER ต่ำกว่า 12 เท่า, ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงกว่า 5% ขึ้นไป ในงวดปี 2558 และมี Upside เมื่อเทียบกับ Fair Value สูงกว่า 20% ซึ่งผลการคัดกรองได้หุ้นที่น่าสนใจออกมา 4 บริษัทได้แก่
SPALI (FV@B 31.96) : ราคาหุ้นมี Upside สูงมากถึง 59% Dividend Yield สูงกว่า 6.4% และ PER ต่ำเพียง 6.3 เท่า สำหรับผลประกอบการปี 2558 คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานจะเติบโต 23% yoy โดยที่เป้าหมายการบันทึกรายได้ของปีนี้มี Backlog รองรับไว้แล้วถึง 80% ทำให้ความเสี่ยงในการลงทุนอยู่ในระดับต่ำมาก ขณะที่ฐานกำไรปี 2559 อาจจะชะลอตัวลงเล็กน้อยเนื่องจากมีคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จลดลง แต่ก็จะกลับไปเติบโตแข็งแกร่งอีกครั้งในปี 2560
ASK (FV@B 30.1) มี Upside สูงเกือบ 40% PER เพียง 9 เท่า และ Dividend Yield สูงมาก 7.7% สำหรับผลการดำเนินงานปี 2558 คาดกำไรสุทธิเติบโตถึง 25.5% yoy จากการวางเป้าธุรกิจเชิงรุกมากขึ้นด้วยการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องรองรับ AEC และการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ในบริเวณที่มีศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจ ขณะที่แนวโน้มการเกิด NPL มีแนวโน้มลดลง เช่นเดียวกับการตั้งสำรองสำหรับผลขาดทุนจากการขายรถยึดคาดว่าจะลดลงเช่นกัน
STPI (FV@B 26) มี Upside สูง 38% PER ต่ำเพียง 8.6 เท่า และ Dividend Yield 5.3% ขณะที่ปัจจัยเชิงพื้นฐานยังคาดหมายว่าผลการดำเนินงานในงวดปี 2558 จะเติบโตในอัตราสูง จาก Backlog โครงการ Ichthys ที่ส่วนที่เหลือเกือบทั้งหมดจะรับรู้รายได้ในปีนี้ บวกกับค่าเร่งงานโครงการ Ichthys ประมาณ 160 ล้านเหรียญฯ จะบันทึกเข้ามาในปีนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตามมีความเสี่ยงอยู่ที่เรื่องของโครงการประมูล LNG Module 6 ที่ถูกเลื่อนออกไป จากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง แต่ STPI ได้พยายามหางานโครงสร้างเหล็กในอุตสาหกรรมอื่นๆ เข้ามาเสริมเช่นกัน
PTTGC (FV@B 67.5) มี Upside สูง 28% PER ต่ำเพียง 8 เท่า และ Dividend Yield 6.2% ทางด้านภาพรวมธุรกิจในปี 2558 ยังคงได้รับปัจจัยหนุนหลักจากปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ที่ยังคงแข็งแกร่งจาก spread ที่อยู่ในระดับสูง ส่วนสายอะโรเมติกส์นั้น Supply ใหม่ในปี 2558 เริ่มทยอยลดลง ทำให้คาดแนวโน้ม Spread น่าจะทรงตัวได้ ส่งผลให้ภาพรวมแนวโน้มกำไรทั้งปี 2558 จะพลิกกลับมาเติบโตสูงถึง 97.8%yoy
ต่างชาติซื้อหุ้นไทยเล็กน้อย ส่วนสถาบันสลับมาขายหนัก
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคติดต่อกันเป็นวันที่ 6 และเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้ากว่า 2 เท่าตัว อยู่ที่ 311 ล้านเหรียญฯ ขายสุทธิสูงสุดยังคงเป็นไต้หวัน ที่ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 254 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 65% จากวันก่อนหน้า) ตามมาด้วยอินโดนีเซียเช่นเดิม ขายสุทธิเป็นวันที่ 6 ราว 58 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 65%) ขณะที่เกาหลีใต้สลับมาขายสุทธิอีกครั้ง ราว 12 ล้านเหรียญฯ (ขายสลับซื้อสุทธิใน 4 วันหลังสุด) และฟิลิปปินส์ขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ราว 9 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 13%) กลับกันกับ ไทยที่ยังคงซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 22 ล้านเหรียญฯ (712 ล้านบาท, เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 12%)
เงินทุนจากต่างชาติยังคงไหลออกจากภูมิภาคต่อเนื่อง แต่ยอดขายยังคงเบาบางและเป็นการขายหนักรายประเทศโดยเฉพาะไต้หวัน ขณะที่ไทยแม้จะซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 แต่ยอดซื้อยังเบาบาง สวนทางกับทางฝั่งนักลงทุนสถาบันที่เทขายออกมาอย่างหนักถึง 2.0 พันล้านบาท (ขายสุทธิในเดือน มี.ค. 58 รวม 5.1 พันล้านบาท) ขณะที่ในตลาดตราสารหนี้ของไทยนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 ราว 1.3 พันล้านบาท กดดันเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยเช้านี้อยู่ที่ระดับ 32.94 บาทต่อเหรียญฯ
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล