WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
     ยังขาดปัจจัยชี้นำจากในประเทศ และตลาดกลับให้น้ำหนักต่อการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐเร็วขึ้น กดดันดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวลง แต่ระดับ Expected PER 14.7 เท่า น่าสนใจ และน่าเป็นโอกาสสะสมหุ้น PER ต่ำ และเงินปันผลสูง ยังชื่นชอบ AIT(FV@B 53, XD 21 เม.ย.) และเลือก SALEE(FV@B12) เป็น Top pick แนวโน้มเติบโตสดใสตามลูกค้าข้ามชาติอย่าง Johnson, P&G, Nevia ที่จะก้าวสู่ AEC

ต่างชาติยังซื้อไทย สวนทางสถาบันที่ขายหนัก
     ต่างชาติได้ชะลอการซื้อหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่อง โดยวานนี้มียอดขายสุทธิเป็นวันที่ 2 แต่ลดลง 56% จากวันก่อนหน้า เหลือราว 192 ล้านเหรียญฯ โดยยังคงขายสุทธิหนักในตลาดไต้หวันเป็นวันที่ 2 ราว 269 ล้านเหรียญฯ แต่ลดลง 19% จากวันก่อนหน้า เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย ที่ขายสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 37 ล้านเหรียญฯ และเพิ่มขึ้นถึง 76% สวนทางกับเกาหลีใต้ที่สลับมาซื้อสุทธิอีกครั้ง ราว 68 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขายสุทธิ 3 วันหลังสุด) ตลาดหุ้นไทยยังคงซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 5 ราว 35 ล้านเหรียญฯ (1.1 พันล้านบาท, เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าที่ซื้อสุทธิเพียง 118 ล้านบาท) และ สุดท้ายคือ ฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 11 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 70% จากวันก่อนหน้า)
เป็นที่สังเกตว่า ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิในไทยต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 รวมกว่า 4.6 พันล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับสถิติในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา พบว่าเดือน มี.ค. ของทุกปี ต่างชาติจะซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทย ทั้งนี้ สวนทางกับนักลงทุนสถาบันที่วานนี้ยังขายสุทธิออกมาอย่างหนักถึง 3.2 พันล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลในอดีต พบว่านักลงทุนกลุ่มนี้มักจะเป็นผู้ขายสุทธิออกมาในเดือน มี.ค. ราว 3 ปีจาก 5 ปีหลังสุด

ตลาดสหรัฐกลับมากังวลว่าจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นเป็นกลางปีนี้
      แม้ว่า การแถลงผลงานของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ต่อสภาครองเกรส เมื่อวานนี้วันที่ 24 -25 ก.พ. มีข้อสรุปออกไปในลักษณะที่จะ ไม่ เร่งรีบที่จะขึ้นดอกเบี้ยฯ โดยจะยังคงดอกเบี้ยฯ นโยบายที่เดิมต่อเนื่องในการประชุม 2 ครั้งถัดไป (เดือน มี.ค. และ เม.ย.) แต่อย่างไรก็ตาม การให้สัมภาษณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ และบุคคลสำคัญใน FED ได้กลับมากดดันตลาดหุ้นโลกอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวานนี้หลังจากที่ประธาน FED หลายแห่ง ออกมาแสดงความเห็นถึงโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น เป็นช่วงกลางปี 2558 หรือราวเดือน มิ.ย. – ก.ย. ได้แก่ นาย John Williams (Fed ซานฟรานซิสโก) ประธาน Fed หลายสาขา, นาย Richard Fisher (Fed ดาลัส), นาย Jame Bullard (Fed เซนต์หลุยส์) ด้วยเหตุผลหลัก คือ ตลาดแรงงานมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด และ ทำให้อัตราการว่างงานเดือน ก.พ. ลงมาอยู่ที่ระดับ 5.5% (จาก 5.7% ในเดือนก่อนหน้า) และคาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงมาที่ 4.5-5% ซึ่งถือว่าเป็นระดับการจ้างงานเต็มที่ ณ สิ้นปีนี้ และคาดหมายว่าเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย 2% ในอีก 2 ปีข้างหน้า ตามราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป (เงินเฟ้อ เดือน ม.ค. ติดลบ 0.1% จาก 0.8 ในเดือน ธ.ค. ซึ่งติดลบอีกครั้งในรอบ 5 ปี)


ความกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดดังกล่าวข้างต้น หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักของโลก โดยเฉพาะเมื่อวานนี้วันเดียวพบว่า Dollar Index ดีดตัวขึ้นกว่า 1% ขึ้นมาทำ new high ในรอบกว่า 12 ปี ที่ระดับ 98.555 ส่งผลให้เดือน มี.ค. Dollar Index แข็งค่าขึ้นถึง 3.5% และนับตั้งแต่ต้นปี Dollar Index เพิ่มขึ้น 9.2% สวนทางกับเงินภูมิภาคต่างๆ ที่อ่อนค่าลงนับตั้งแต่ต้นปีเช่นกัน อาทิ ยูโร อ่อนค่าลงถึง 11.5%, เยน อ่อนค่า 2.1%, ปอนด์อังกฤษ อ่อนค่า 1.5%, หยวน อ่อนค่า 1% เช่นเดียวกับภูมิภาคที่เงินอ่อนค่าเช่นกัน คือ รูเปียห์อินโดนีเซีย อ่อนค่า 6.4%, ริงกิตมาเลเซีย อ่อนค่า 6.1% ขณะที่เงินบาทไทยแข็งค่าช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. แต่เดือน มี.ค. กลับมีทิศทางอ่อนค่าลง 1.14% นอกจากนี้ ยังเป็นแรงกดดันต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างทองคำให้ปรับลดลงอย่างรุนแรงกว่า 10% นับตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ราคาน้ำมันดิบโลกก็ยังคงแกว่งตัวออกด้านข้าง รวมทั้งยังกดดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐวานนี้ปรับตัวลงแรง ส่งผลให้เดือน มี.ค. ตลาดหุ้นสหรัฐกลับมา Underperform เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นยุโรป โดยตลาดหุ้น S&P 500 ลดลง 2.9% และ DJIA ลดลง 2.6%

ยังขาดปัจจัยชี้นำ vs กนง. อาจยืนดอกเบี้ยฯ ที่ 2%
นอกจากปัจจัยภายนอก ที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นเอเซีย รวมถึงตลาดหุ้นไทยแล้ว ภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังขาดปัจจัยชี้นำชัดเจน และการประชุมของ กนง. ต่อการกำหนดทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ในวันนี้ อาจจะไม่มีอะไรแตกต่างจากที่ตลาดคาด โดยหากพิจารณาผลสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักฯ ส่วนใหญ่ต่างคาดหมายว่า กนง. จะยืนดอกเบี้ยนโยบายที่ 2%(ตามที่รายงานไปใน Market Talk วานนี้) แต่อย่างไรก็ตามฝ่ายวิจัย ASP ยังไม่ตัดประเด็นนี้ และ เชื่อว่ายังมีโอกาสที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยฯ ราว 0.25-0.5% ภายในปีนี้ เนื่องจากในช่วงนี้จนถึงสิ้นปี 2558 กนง. กำหนดการประชุมที่จะมีขึ้นอีก 5 ครั้ง ด้วยเหตุผลเดิมๆ ที่เชื่อว่าสภาพคล่องในระบบการเงินของไทยที่ยังอยู่ในระดับสูงถึง 4.5 แสนล้านบาท (ณ สิ้นปี 2557 ใช้ยอดเงินฝาก–สินเชื่อ) โดยหากพิจารณาดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 1 ปี พบว่าได้ลดลงเล็กน้อยจาก 2% สิ้นเดือน ก.พ. เหลือ 1.96% ในปัจจุบัน (แต่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรที่มีอายุ 5 ปี ยังคงยืนที่ 2.4% ต่อเนื่อง) ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อของไทย ที่ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 (ม.ค. ติดลบ 0.41% และ ก.พ. ติดลบ 0.52%) ทำให้ผลตอบแทนที่แท้จริงเพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์นี้น่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง ตราบที่ราคาน้ำมันดิบโลกยังต่ำในระดับปัจจุบันหรือต่ำราว 50% จากระดับสูงสุดในปี 2557
นอกจากนี้ เชื่อว่าการใช้มาตรการผ่อนคลายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรป ที่จะเริ่มอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. เดือนละ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน (ตลอดทั้งโครงการมูลค่ารวม 1.14 ล้านล้านยูโร หรือ 1.3 ล้านล้านเหรียญฯ หรือราว 4% ของ GDP) และ แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของประเทศในภูมิภาคเอเซีย ภายหลังจากอัตราเงินเฟ้อชะลอตัว โดยก่อนหน้านี้มีจีน และอินเดียได้นำร่องลดดอกเบี้ยไปแล้ว น่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้สภาพคล่องทางการเงินโลกกระเตื้องขึ้นต่อเนื่อง

ความเสี่ยงต่อการปรับลดกำไรตลาดปีนี้ไม่น่าเกิน 1-2%
ตลาดหุ้นที่ปรับฐานจนทำให้ Expected PER ปี 2558 ลดลงมาเหลือ 14.78 เท่า (จาก current PER 21 เท่าในปี 2557) เนื่องจากคาดว่ากำไรสุทธิตลาดในปี 2558 จะอยู่ที่ 9.58 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.5% จากปี 2557 แต่เมื่อคำนวณกำไรตลาดต่อหุ้น (EPS Growth) โดยคำนึงถึงหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทจดทะเบียน คาดว่า EPS Growth จะอยู่ที่ 34.5% (EPS เพิ่มจาก 88.76 บาท ในปี 2557 เป็น 103.65 บาทในปี 2558) ซึ่งจะทำให้ Expected PER ปี 2558 แต่ละกลุ่มลดลงจากปี 2557 โดยเรียงลำดับจากน้อยไปมาก 10 ลำดับแรก ดังปรากฏในตาราง ถัดไป
Expected PER vs EPS Growth ปี 2558 (โดยฝ่ายวิจัย ASP)


เชื่อว่าคำถามที่นักลงทุนยังมีความสงสัยและอาจจะไม่เชื่อมั่นต่อกำไรสุทธิดังกล่าว ทำให้ทีมกลยุทธ์ ASP ได้ทำการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์พื้นฐาน เพื่อทราบถึงความเสี่ยงที่อาจมีผลทำให้ประมาณการกำไรรายกลุ่มฯ ดังกล่าวข้างต้นไม่สามารถเป็นไปตามคาดการณ์ ซึ่งจะทยอยเขียนลงใน Market Talk ทุกวันให้ครบทุกกลุ่ม โดยในวันนี้ขอเริ่มจากกลุ่มสถาบันการเงิน และประกัน ก่อน
ธนาคารพาณิชย์ ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้กำไรไม่สามารถเป็นไปตามเป้าหมายได้นั้นเกิดจากปัจจัยเรื่องดอกเบี้ยฯ หากยังมีโอกาสลดลงจากปัจจุบันเชื่อว่าจะกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำกำไร คือในส่วนของ NIM และกำไรสุทธิปี 2558 โดยอ้างอิงจากงบการเงิน ณ สิ้นปี 2557 ได้แก่ สินเชื่อสุทธิ เงินฝาก ตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม เงินให้สินเชื่อและเงินกู้ยืมระหว่างธนาคาร (Interbank loan and liabilities) พบว่าทุกๆ 25bp ที่อัตราดอกเบี้ยลดลงจะทำให้คาดการณ์ NIM ลดลง 1.11bp จากคาดการณ์ปัจจุบันที่ 3.137% มาที่ 3.126% และทำให้คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2558 ของกลุ่มฯ ปรับตัวลดลง 0.67% จากคาดการณ์ปัจจุบันที่ 2.25 แสนล้านบาท หรือน่าจะหายไปราว 1.55 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้คาดว่า ธ.พ. ที่จะได้รับผลกระทบสูงสุดกรณีอัตราดอกเบี้ยปรับตัวลดลงคือ KTB, BBL และ TCAP เนื่องจากมีโครงสินเชื่อที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวในสัดส่วนที่สูงกว่าโครงสร้างแหล่งเงินทุนที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว
  หรือในอีกมุมหนึ่ง หากไม่ได้มีสัดส่วนโครงสร้างสินเชื่อ โครงสร้างเงินฝากและเงินกู้ยืมเป็นดังกล่าวข้างต้น แต่มีสถานภาพในตลาดเงินเป็นผู้ให้กู้ยืมสุทธิเป็นจำนวนมาก ก็จะได้รับผลกระทบในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยเป็นทิศทางขาลง ส่วน ธ.พ. ที่จะได้รับผลบวกมากที่สุดคือ BAY, KKP และ TISCO ด้วยเหตุผลที่ตรงข้ามกับที่กล่าวมา
ตรงข้ามกลุ่มเช่าซื้อ พบว่ากรณีอัตราดอกเบี้ยลดลง ทุกๆ 25bp จะทำให้คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2558 ของกลุ่มฯ เพิ่มขึ้น 0.78% จากคาดการณ์ปัจจุบัน โดยผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุด 3 ลำดับแรกคือ ASK, GL และ MTLS ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ มีการพึ่งพาหนี้สิน ถูกกำหนดเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวเป็นจำนวนมาก (ส่วนที่เป็นฐานต้นทุน ลดลง) เทียบกับสินเชื่อ (ส่วนที่เป็นรายได้ดอกเบี้ย) ซึ่งมีสัดส่วนที่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ในปริมาณสูงเช่นกัน (รายได้ไม่ได้ลดตามดอกเบี้ยที่ลง) ยกเว้นบริษัทบางบริษัท ที่มิได้มีโครงการเงินดังกล่าว จึงไม่ได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ชัดเจน เช่น IFS แต่ก็ไม่ได้มีนัยฯ เพราะแม้จะมีสัดส่วนของหนี้สินที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวจำนวนมาก (ต้นทุนการเงิน ลดลงตามดอกเบี้ยตลาด) แต่พบว่าทางด้านสินเชื่อ มีส่วนที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวเช่นกัน (รายได้ดอกเบี้ยรับลดลง ตามดอกเบี้ยที่ลงเช่นกัน) แต่สินเชื่อ (ดอกเบี้ยลอยตัว)มีสัดส่วน ที่น้อยกว่าด้านหนี้สิน จึงส่งผลกระทบต่อคาดการณ์ NIM และกำไรสุทธิปี 2558 ของ IFS ไม่มากนัก ผลบวกกลุ่มนี้จึงไม่สามารถหักล้างผลลบจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ได้
กลุ่มประกัน เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยงในภาวะดอกเบี้ยขาลง เช่นเดียวกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จากการศึกษาบริษัทจดทะเบียน 4 แห่ง (แบ่งประกันวินาศภัย 1 แห่งคือ BKI ประกันชีวิต 1 แห่ง คือ BLA ประกันภัยต่อ 1 แห่ง คือ THRE และประกันชีวิตต่อ 1 แห่ง คือ THREL) สามารถแยกพิจารณาผลกระทบได้ดังนี้


กลุ่มธุรกิจประกันชีวิต จะได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจประกันวินาศภัย กล่าวคือ กลุ่มประกันชีวิตจะมีเบี้ยรับรวมที่มีอายุยาวนานกว่า (Duration) เมื่อเทียบกับประกันวินาศภัยที่มีเบี้ยประกันภายรับเป็นปีต่อปี ดังนั้น เมื่ออัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง บริษัทฯ ประกันชีวิตจะต้องเผชิญกับ interest rate risk ในด้านหนี้สินคือเบี้ยประกันชีวิตรับ ที่จะต้องคำนวณเปรียบเทียบมูลค่าของหนี้สินด้านการประกันชีวิตตาม GPV (Gross premium valuation) ซึ่งใช้อัตราดอกเบี้ยตามราคาตลาดหรือ spot rate (benchmark อ้างอิงจากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาว 10 ปี) เปรียบเทียบกับ NPV (Net premium valuation) ซึ่งคำนวณโดยใช้อัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ทำสัญญา ทั้งนี้หากพบว่า GPV สูงกว่า NPV จะทำให้บริษัทประกันชีวิตต้องกันสำรองเบี้ยประกันชีวิตเพิ่มขึ้นให้เท่ากับ GPV สะท้อนได้จากการที่ BLA ต้องบันทึกค่าใช้จ่ายสำรองเบี้ยฯ เพิ่มขึ้นกว่า 5 พันล้านบาทในปี 2557 เนื่องจาก yield curve ที่ shift ลงมาถึง 1% กว่าในช่วงเวลาดังกล่าว
ส่วนทางด้านฝั่งสินทรัพย์ ที่เกิดจากการนำเงินที่ได้จากเบี้ยประกันรับไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน ซึ่งมีทั้งเงินลงทุนระยะสั้น และระยะยาว สำหรับเงินระยะสั้น เป็นการลงทุนในพันธบัตรและตราสารหนี้ในกลุ่มเพื่อค้า (ผ่าน P/L)และเผื่อขาย ซึ่งต้องรับรู้ผลกำไร-ขาดทุน ตามราคาตลาด (mark-to-market) เช่นในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงนั้น จะส่งผลให้เงินลงทุน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หรือ ตรงกันข้ามเงินลงทุนจะลดลงหากดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนต่างหรือกำไร/ขาดทุน ต้องบันทึกผ่านงบกำไรขาดทุนแบบเบ็ดเสร็จ (comprehensive income) ที่แสดงไว้ต่อจากงบกำไรขาดทุน และต้องรับรู้ผ่านส่วนของผู้ถือหุ้น) แต่อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ บริษัทประกันชีวิต จะลงทุนในตราสารระยะสั้นน้อยคือไม่เกิน 10% ของเงินลงทุน ที่เหลือส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นประเภทที่จะถือจนครบกำหนด (Held to maturity) ซึ่งจะต้องแสดงไว้ที่ราคาทุนเสมอ ดังนั้นจึงไม่ได้รับผลบวก/ผลกระทบจากการ mark-to-market ทั้งในช่วงดอกเบี้ยขาลงหรือกลับเป็นขาขึ้น
ขณะที่ทางด้าน Reinvestment risk โดยทั้งบริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัย จะได้รับผลกระทบเท่าเทียมกันจากการที่เงินลงทุนที่ครบกำหนดในแต่ละปี โดยจะต้องนำไปลงทุนที่ครบกำหนดไปหาผลตอบแทนที่คาดว่าจะลดลงในกรณีที่ดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง หรือ ทางตรงกันข้าม ดังนั้น จึงเห็น ROI จากพอร์ตพันธบัตรและตราสารหนี้ที่ลดลงในกรณีที่ดอกเบี้ยลด ซึ่งเป็นแหตุผลทำให้ บริษัทประกันที่มีพอร์ตเงินลงทุนในตราสารทุนขนาดใหญ่มากๆ และยังมิได้รับรู้กำไรจำนวนมหาศาล เช่น BKI และ BLA มักจะทำการขายหุ้น เพื่อรับรู้กำไร (realize) ในกรณีที่ผลการดำเนินงานจากธุรกิจการรับประกันตกต่ำลงมากๆ เช่น กรณี BKI เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 ทำให้บริษัทฯ ต้องจ่ายเคลมมาก จึงขายหุ้นทำกำไรออกมามาก จึงทำให้ผลการดำเนินงานได้รับผลกระทบไม่มากนัก และ เช่นเดียวกับ BLA ในปี 2557 ได้รับผลกระทบจากการตั้งสำรองเบี้ยฯ ดังกล่าวตอนต้น จึงมีการขายหุ้นทำกำไรออกมากว่า 1 พันล้านบาทในงวด 4Q57
สำหรับ THRE, THREL ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยขาลงค่อนข้างจำกัด โดย THRE จะเห็นผลกระทบน้อยกว่า THREL เพราะเน้นการรับประกันต่อด้านวินาศภัย (แต่ก็ต้องจัดทำงบการเงินรวมกับ THREL เข้ามาอยู่ดี) ขณะที่ THREL แม้เน้นรับงานประกันภัยต่อด้านชีวิต แต่เนื่องจากระยะหลังเน้นการออกผลิตภัณฑ์ด้านการประกันสุขภาพ (มากกว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ประเภท whole life) โดยร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์กับบริษัทประกันชีวิตอื่นๆ (Non-conventional products) จึงทำให้ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย แต่ในส่วนของธุรกิจการลงทุนทั้ง THRE, THREL จะได้รับผลกระทบในด้าน Reinvestment risk เช่นเดียวกับ BLA และ BKI


โดยสรุป หากดอกเบี้ยลดลง 0.25% น่าจะทำให้มีโอกาสที่จะเห็นกำไรของกลุ่มประกันที่ศึกษา 4 บริษัท มีแนวโน้มทำกำไรต่ำกว่าประมาณการราว 1,000 ล้านบาท หรือ ต่ำกว่าประมาณการเดิม 5% ล้านบาท ว่าจะกระทบต่อตลาดน้อย เพราะกำไรกลุ่มประกันคิดเป็นเพียง 2% ของกำไรรวมของตลาด และ ผลกระทบน่าจะน้อยกว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีสัดส่วน 25.6% ของไรตลาดรวม ผลกระทบจากดอกเบี้ยที่ลดลง 0.25% อาจจะทำให้กำไรกลุ่มธนาคารพาณิชย์หายไป 1.55 หมื่นล้านบาท หรือ 0.67% โดยรวมแล้ว หากพิจารณาผลกระทบของทั้ง 2 กลุ่มแล้ว คาดว่าจะกดดันกำไรตลาดไม่เกิน 1.7% ของประมาณการเดิม จาก 103.65 บาท เหลือ 101.88 บาทต่อหุ้น เท่านั้น อย่างไรก็ตามตัวเลขนี้ยังมิใช่ข้อสรุปสุดท้าย จึงขอให้ติดตาม ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากกลุ่มอื่น ๆที่จะพูดถึงในวันพรุ่งนี้คือ พลังงาน สื่อสาร และ ค้าปลีก เป็นต้น

ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!