- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 06 May 2014 14:47
- Hits: 3384
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
คาดว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะได้รับ Sentiment เชิงบวกต่อการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่แข็งแกร่ง และยังเน้นหุ้นรายตัวที่มีผลกำไรงวด 1Q57 โดดเด่น IRPC([email protected]), IVL(FV@B26), TUF(FV@B76), BCP(FV@B36) โดยยังเลือก IVL(FV@B26) Top pick
รอติดตามกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัย
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข้อเสนอ และความเห็นเกี่ยวกับทางออกทางการเมือง ได้ถูกนำเสนอออมาจากหลายฝ่าย แต่ดูเหมือนว่าระดับของความชัดแย้งยังคงมีอยู่ต่อไปตามเดิม โดยไม่มีความเห็นของฝ่ายใด ที่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายผู้เห็นต่าง สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในช่วง สัปดาห์นี้มีหลายเรื่องที่สำคัญ และอาจนำไปสู่จุดเปลี่ยนทางการเมือง เริ่มจากประเด็นสำคัญในวันนนี้คือ :
ศาลรัฐธรรมนูญ มีกำหนดนัดไต่สวนพยาน 4 ปาก เพื่อพิจารณาคำร้องเรื่องความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว หรือไม่ หลังจากที่ได้มีการไต่สวนแล้ว ศาลจะมีการนัดฟังคำวินิจฉัยซึ่งต้องติดตามว่าจะเป็นวันที่เท่าใด โดยความเห็นของฝ่ายวิจัยคาดว่าจะห่างจากวันไต่สวนพยานไม่น่าจะเกิน 7 วัน ส่วนแนวทางคำวินิจฉัยมีออกมาหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการยกคำร้อง, วินิจฉัยให้ นายกรัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีเพียงคนเดียว, ให้นายกฯ พ้นจากตำแหน่งพร้อมรัฐมนตรีบางส่วน ตลอดจน ให้นายกฯ และ คณะรัฐมนตรีทั้งชุดพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งระดับของผลกระทบในเชิงของเศรษฐกิจการลงทุน เห็นว่าแนวทางสุดท้ายคือ นายกรัฐมนตรีพร้อม คณะรัฐมนตรีทั้งชุด พ้นจากตำแหน่ง น่าจะมีผลเชิงลบมากที่สุด เนื่องจากทำให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมือง ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะใช้เวลาอีกนานเท่าใดจึงจะได้รัฐบาลจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ และอาจตามมาซึ่งเหตุการณ์อื่นๆ หลายประการ
ป.ป.ช.ชุดใหญ่ จะเริ่มพิจารณาคำร้องเรื่องโครงการจำนำข้าว ซึ่งน่าจะมีผลสรุปออกมาว่าจะมีการชี้มูลความผิดหรือไม่ในอีกไม่นานนัก ส่วนเรื่องการเลือกตั้ง หลังจากที่ กกต. และรัฐบาลได้ข้อสรุปเรื่องวันเลือกตั้งเป็น 20 ก.ค.2557 แล้ว กกต. ก็จะมีการพิจารณาเพื่อเตรียมออกพระราชกฤษฎีกา โดยจะมีการหารือเพื่อนำข้อเสนอของ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาพิจารณาด้วย
เห็นได้ว่าตลอดสัปดาห์นี้ต่อเนื่องถึงสัปดาห์หน้า ประเด็นทางการเมืองจะมีออกมาหลายเรื่องที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังยากที่จะคาดหมายได้ว่า ผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงสำหรับการลงทุน เฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ SET Index ซื้อขายที่ระดับ Current PER สูงกว่า 15 เท่า
สหรัฐฟื้นตัวชัดเจน vs ยุโรปยังฟื้นตัว และมีความเสี่ยง
หลังจากที่ประชุมของ ธนาคารกลางสหรัฐ และ ญี่ปุ่น ยังคงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เดิม ทำให้ตลาดหุ้นขาดปัจจัยหนุนในระยะสั้น ๆ (รายละเอียดดังปรากฏใน Market Talk วันศุกร์ ที่ผ่านมา) แต่ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาการประกาศดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญรายประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น ดังนี้
สหรัฐ : เศรษฐกิจสหรัฐ ยังคงฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง สะท้อนได้จากภาคแรงงานที่อัตราตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร ในเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 288,000 ตำแหน่ง (เพิ่มจากเดือนก่อนหน้า 85,000 ตำแหน่ง และ สูงสุดในรอบ 2 ปี) ตามมาด้วย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในเดือน เม.ย. อยู่ที่ระดับ 54.9 (สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.7 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11) และ ยอดสั่งซื้อใหม่ของภาคโรงงาน ในเดือน มี.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.1%mom (เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน จาก 1.5%mom ในเดือนก.พ.)
ตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทำให้อัตราการว่างงาน ในเดือน เม.ย. ลดลงที่ระดับ 6.3% (เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง และต่ำกว่าเป้าหมายของ FED ที่ 6.5%) ซึ่งเป็นผลมาจากดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจต่างๆเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงต้นงวด 2Q57 แต่อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อยังที่ระดับ 1.7% ยังคงห่างไกลจากเป้าหมายของ FED ที่ 2% ทำให้คาดว่า FED น่าจะยังคงจะใช้มาตรการเข้มงวดทางการเงินต่อไป อีกเดือนละ 1 หมื่นล้านเหรียญฯ (จากผลการประชุม 29-30 เม.ย. ที่ผ่านมา เหลือ 4.5 หมื่นล้านเหรียญฯ ) ซึ่งน่าจะสิ้นสุดภายใน ก.ย.-ต.ค. และคาดว่ายังคงใช้อัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำ 0.25% ต่อเนื่องไปอีกสักระยะ จนกระทั่งต้นปี 2558
สหภาพยุโรป ล่าสุดมีรายงานตัวเลขเงินเฟ้อเดือน เม.ย. 2557 อยู่ที่ 0.7% ต่ำกว่าที่คาดไว้เล็กน้อย (ราว 0.8%) แต่เพิ่มจากเดือนก่อนหน้าที่เพียง 0.5% ซึ่งทำให้ความกังวลว่าสหภาพยุโรปจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดลดน้อยลง แต่อย่างไรก็ตามมาริโอ ดรากี ประธาน ECB แสดงความกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคืองจากปัญหาเงินฝืด (Stagnation) เนื่องจากประชาคมยุโรป (EU) ออกมาปรับคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้และปีหน้าลงเหลือ 0.8% และ 1.2% ตามลำดับ (ต่ำกว่าเป้าหมายที่ ECB วางไว้ที่ 2% อยู่มาก) ส่งผลกระทบต่อประมาณการ GDP Growth ปีหน้าเติบโตเพียง 1.7% เท่านั้น จากเดิมที่คาดไว้ 1.8% นอกจากนี้ ยังกล่าวต่ออีกว่า ECB พร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งออกมาตรการใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน จึงเชื่อว่าโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรปน่าจะยังมี โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ๆ ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรธนาคารพาณิชย์ และ ABS (ABS มีหลักประกันโดยธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กซึ่งธุรกิจส่วนนี้มีการจ้างงานเป็นสัดส่วนราว 70% ของแรงงานในยุโรป ซึ่งมูลค่าในการเข้าซื้อมีมูลค่า 2.1 ล้านล้านเหรียญฯ) อย่างไรก็ตามน่าจะทราบความชัดเจนต่อแผนกระตุ้นเศรษฐกิจใน การประชุมวันที่ 8 พ.ค. นี้
เงินทุนจากต่างชาติยังคงไหลเข้า แม้เบาบางลง
วานนี้แม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะปิดทำการเนื่องจากวันฉัตรมงคล แต่ตลาดหุ้นอื่นๆส่วนใหญ่ในภูมิภาคยังคงเปิดทำการ โดยที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นวันที่ 2 แต่เบาบางเพียง 34 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น (ลดลง 85% จากวันก่อนหน้า) ซึ่งเป็นการซื้อสลับขายเบาบางในทุกประเทศ ซื้อสุทธิสูงสุดคือ อินโดนีเซียซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 26 ล้านเหรียญฯ (วันก่อนหน้าซื้อสุทธิราว 7 ล้านเหรียญฯ) ส่วนฟิลิปปินส์ยังคงซื้อสุทธิเป็นวันที่ 12 ราว 16 ล้านเหรียญฯ (วันก่อนหน้าซื้อสุทธิ 16 ล้านเหรียญฯ) และไต้หวันสลับมาขายสุทธิเล็กน้อย ราว 4 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสุทธิใน 321 ล้านเหรียญฯ ในวันก่อนหน้า) ขณะที่ตลาดในเกาหลีใต้ปิดทำการเนื่องจากเป็นวันเด็ก (วันก่อนหน้าขายสุทธิราว 165 ล้านเหรียญฯ)
ในส่วนของตลาดหุ้นไทย เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 1.7 พันล้านบาท (ลดลง 10% จากวันก่อนหน้า) ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ต่างชาติสลับมาซื้อเล็กน้อยราว 370 ล้านเหรียญฯ หลังจากขายสุทธิอย่างหนักในวันก่อนหน้า (5.2 พันล้านบาท) ทั้งนี้ แม้ในระยะหลังนักลงทุนกลุ่มนี้จะเริ่มชะลอการซื้อลง แต่จากการขายที่เบาบาง และ เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ทำให้เชื่อว่ากระแสเงินทุนจากต่างชาติจะยังคงไหลเข้าภูมิภาค และ ประเทศไทยต่อไป
สต๊อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์
กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานยอดสต๊อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นราว 1.7 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า (สู่ระดับ 399.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ EIA เริ่มรายงานข้อมูลสต๊อคน้ำมันในปี 1982) น้อยกว่าที่คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 2.1 ล้านบาร์เรล เป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องถึง 5 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยมีปัจจัยหนุนมาจากการเปิดท่าส่งออกน้ำมันที่ลิเบีย และ สถานการณ์ในยูเครนที่ยังคงกดดันตลาดได้ ส่วนสต๊อกน้ำมันสำเร็จรูปที่เพิ่ม กล่าวคือ น้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านบาร์เรล (อยู่ที่ 211.6 ล้านบาร์เรล) สวนทางกับที่คาดได้ว่าจะลดลง 1.75 ล้านบาร์เรล ส่วนน้ำมันดีเซล และเชื้อเพลิงอื่น ๆ (heating oil) เพิ่มขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1 ล้านบาร์เรล
การที่สต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ได้กดดันราคาน้ำมันที่ตลาดล่วงหน้า WTI โดยตกลงมาอยู่ที่ 99.30 เหรียญฯต่อบาร์เรล ในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้า Brent ส่งมอบเดือน มิ.ย. ซึ่งราคาตกลงไปอยู่ที่ระดับ 107.61 เหรียญฯต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดูไบอ่อนตัวเล็กน้อยหลังจากแตะระดับสูงสุดที่ 107.1 เหรียญฯต่อบาร์เรล แต่อย่างไรก็ตามนับว่ายังสูงกว่าสมมติฐานของ ASP ที่ประเมินไว้ที่ 100 เหรียญฯต่อบาร์เรล ซึ่งทำให้โอกาสที่นักวิเคราะห์จะปรับเพิ่มประมาณกำไรกำไรของ PTTEP(FV@B360), PTT(FV@B195) มีความเป็นไปได้สูงจึงยังแนะนำซื้อ
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
พบชัย ภัทราวิชญ์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล