- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 26 February 2015 15:48
- Hits: 1241
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดยังขาดแรงขับเคลื่อนที่ชัดเจน ขณะที่กำไรตลาดปี 2557 มีแนวโน้มต่ำกว่าคาดมาก ทำให้ EPS Growth ปี 2557 อาจติดลบกว่า 13.9% แต่ปี 2558 จะกลับมาเติบโตกว่า 30% และทำให้ Expected PER ตลาดลงมาอยู่ที่ 15.35 เท่า (ลดลงจาก 20 เท่าในปี 2557) กลยุทธ์ยังเน้นหุ้นปันผลเด่น และ PER ต่ำ (SPALI ([email protected]), STPI([email protected])) และหุ้น Turnaround เลือก M(FV@B70) เป็น Top pick
ปัจจัยภายนอกผ่อนคลาย และรอ EU อัดฉีดเงินในเดือน มี.ค. นี้
ระยะสั้น เชื่อว่าความกังวลว่ากรีซที่จะต้องเผชิญกับปัญหาผิดชำระหนี้ระยะสั้น และอาจจะต้องหลุดพ้นจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปน่าจะผ่อนคลายลง หลังจากเจ้าหนี้ยอมรับข้อเสนอของกรีซในการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในสิ้นเดือน ก.พ. 2558 ออกไปอีก 4 เดือน พร้อมกับมีแผนยกเครื่องเศรษฐกิจใหม่ที่อาจจะหย่อนยานกว่าแผนเดิม แต่อย่างไรก็ตามกรีซจะต้องเสนอแผนการปฎิรูปที่มีรายละเอียดชัดเจนมากกว่าภายใน เม.ย. นี้ เนื่องจากปี 2558 กรีซมีหนี้ครบกำหนดที่ต้องชำระ มูลค่าถึง 2.25 หมื่นล้านยูโร (2.54 หมื่นล้านเหรียญฯ) หรือคิดเป็นราว 12% ของ GDP โดยแบ่งเป็นหนี้ที่ต้องชำระให้ IMF 8.7 พันล้านยูโร สหภาพยุโรป 6.7 พันล้านยูโร ส่วนที่เหลือเป็นของเจ้าหนี้รายอื่นๆ ซึ่งหลังจากนี้เจ้าหนี้จะต้องมีการประชุมเพื่อหาข้อสรุปกันอีกครั้ง ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่กลับมากดดันตลาดอีกครั้ง
ขณะที่การแถลงนโยบายของนางเจเน็ต เยลเลน ประธาน Fed ต่อวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร เป็นเวลา 2 วัน ทำให้เชื่อมั่นว่าการขึ้นดอกเบี้ยของ FED น่าจะเกิดขึ้นใน 4Q58 เพราะหากพิจารณาจากถ้อยคำแถลงของนางเยลเลน จะยังคงใช้คำว่า ‘Patience’ เพื่อติดตามและเฝ้าดูการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก่อนการขยับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวตามตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง และอัตราการว่างงาน ล่าสุดเดือน ม.ค. อยู่ที่ 5.7% ต่ำสุดในรอบเกือบ 7 ปี แต่ก็ยังต่ำกว่าระดับที่ Fed พึงพอใจ นอกจากนี้ปัญหาเงินเฟ้อยังต่ำกว่าเป้าหมายมาก โดยประธาน Fed ระบุว่า จะไม่เร่งรีบต่อการขึ้นดอกเบี้ยฯ อย่างน้อยในการประชุม 2 อีกครั้งหน้าคือ เดือน มี.ค. และ เม.ย. อย่างแน่นอน
และการสำรวจแนวโน้ม Fed Fund Futures ของ CME Group ซึ่งล่าสุด ได้ประเมินว่าการขึ้นดอกเบี้ยฯ ของ FED น่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกราวเดือน ต.ค. ปี โดยมีผู้ตอบสูงถึง 69% ของจำนวนผู้ตอบ ซึ่งนับว่าล่าช้ากว่าการสำรวจครั้งก่อนที่ สรุปว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกจะเกิดในเดือน ก.ย. โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามสนับสนุนถึง 63% แต่อย่างไรก็ตามรอบนี้ ผู้ที่สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย เดือน ก.ย. ลดลงเหลือ 48% เท่านั้น
ขณะที่เดือน มี.ค. 2558 สหภาพยุโรปน่าจะเริ่ม ประกาศใช้ QE ตามแผนที่กำหนดไว้ว่าจะอัดฉีดเงินเข้าระบบเดือนละ 6 หมื่นล้านยูโร ต่อเนื่องจนถึงเดือน ก.ย. 2559 รวมเป็นเงิน 1.14 ล้านล้านยูโร (1.3 ล้านล้านเหรียญฯ) หรือคิดเป็น 4.2% ของ nominal GDP ซึ่งประเทศนี้น่าจะหนุนสภาพคล่องโลกให้กระเตื้องขึ้นเหมือนทุกครั้งที่มีการประกาศใช้ QE ดังเช่นในสหรัฐ อังกฤษ และ ญี่ปุ่น ซึ่งพบว่า money supply เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1.5%, 1.52% และ 0.93% ตามลำดับ ในระหว่างปีที่มีการใช้ QE ซึ่งถือเป็นอานิสงค์ต่อตลาดหุ้นโลก รวมถึงเอเซีย และไทย ดังที่กล่าวแล้วว่าประเทศไทย ได้เข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อติดลบ ครั้งแรก ม.ค. 2558 ที่ราว 0.41% เป็นครั้งแรกในรอบ 64 เดือน เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยนโยบาย 2% (ดอกเบี้ยสุทธิเป็นบวก 2.4%) ทำให้คาดว่ามีโอกาสที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะทบทวนการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้น โดยคาดว่ามีโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25-0.5% ตลอดปี 2558 (หลังจากที่ยืนดอกเบี้ยนโยบาย 2 นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2557) คงต้องติดตามผลการประชุม กนง. 11 มี.ค. ที่จะถึงนี้
กำไรตลาดปีนี้จะกลับมาเติบโตโดดเด่น...ปี 2557 ต่ำกว่าคาดมาก
เชื่อว่าปัจจัยกดดันตลาดที่เกิดจากผลประกอบการในงวด 4Q57 ตกต่ำกว่าคาด น่าจะสะท้อนในตลาดหุ้นพอสมควรแล้ว โดย สิ้นสุดเมื่อวานนี้ (24 ก.พ. 2558) พบว่า บริษัทจดทะเบียนได้ทยอยรายงานผลประกอบการปี 2557 แล้วราว 40% ของทั้งตลาด ในเบื้องต้นฝ่ายวิจัยประเมินว่ากำไรสุทธิของตลาดฯ งวด 4Q57 จะอยู่ที่ราว 1.1 แสนล้านบาท ลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อน (ธ.ค. 2557) ว่าจะอยู่ที่ 1.95 แสนล้านบาท หรือลดลงราว 47% และลดลง 37% เมื่อเทียบกับงวด 4Q56 (yoy) ส่งผลให้ประมาณการกำไรทั้งปี 2557 อยู่ที่ 7.2 แสนล้านบาท ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ 8.1 แสนล้านบาท หรือลดลง 13.8% ทั้งนี้ สาเหตุจากผลการดำเนินงานที่ตกต่ำเกิดจากหลายกลุ่มฯ คือ
กลุ่มพลังงาน นักวิเคราะห์ได้มีการปรับลดกำไรปี 2557 ลงถึง 43% ไปตั้งแต่การทำ Earning Preview ก่อนหน้านี้ โดยหลักๆ มาจากบริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่มคือ
PTT ปรับลดประมาณการปี 2557 ลงกว่า 44% โดยผลการดำเนินงานงวด 4Q57 ที่รายงานออกมาขาดทุนสุทธิ 2.66 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงที่คาดเกิดจากผลของการขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน และ spread ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์ลดลง รวมทั้งการรับรู้ขาดทุนจากการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ของกลุ่ม PTT กว่า 3.67หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามคาดว่าปี 2558 กำไรจะพลิกกลับมายืนเหนือ 1 แสนล้านบาท จากการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งในส่วนของราคาขายก๊าซ LPG หน้าโรงแยกก๊าซฯ และการปรับเพิ่มราคาขายปลีก NGV
PTTEP ปรับลดประมาณการปี 2557 ลงถึง 62% โดยผลการดำเนินงานงวด 4Q57 ที่รายงานออกมาขาดทุน 2.44 หมื่นล้านบาท จากราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมปรับตัวลดลง ต้นทุนการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ ของโครงการมอนทารา และเคเคดีออยแซนด์ มูลค่ารวมสูงถึง 3.3 หมื่นล้านบาท แต่เชื่อว่าในครึ่งหลังของปี 2558 จะฟื้นตัวตามราคาน้ำมันที่จะทยอยฟื้นตัว และจะไม่มีการบันทึกค่าใช้จ่ายพิเศษในระดับสูงเหมือนปี 2557
BANPU ปรับลดประมาณการปี 2557 ลง 12% โดยผลการดำเนินงานงวด 4Q57 ลดลงเหลือ 65 ล้านบาท จากการบันทึกผลขาดทุน Hedging ถึง 1.1 พันล้านบาท และกำไรจากโรงไฟฟ้า BLCP ที่ลดลงเหลือราว 81 ล้านบาท ขณะที่แนวโน้มกำไรปกติปี 2558 ดีที่สุดเพียงประคองตัวเท่านั้นจากโรงไฟฟ้าหงสาที่จะเริ่มทยอยรับรู้รายได้ช่วงกลางปีนี้
กลุ่มเหล็ก ปรับลดประมาณการกำไรปี 2557 ลงถึง 37% หลักๆ มาจาก
TSTH ผลประกอบการงวด 3Q57/58 (ต.ค.-ธ.ค. 57) ขาดทุนมากกว่าที่ฝ่ายวิจัยคาดมาก จากปริมาณขายเหล็กเส้น และเหล็กลวดลดลงตามการชะลอตัวของภาคก่อสร้างในประเทศ ทำให้ผลประกอบการปี 57/58F มีโอกาสแย่กว่าคาดถึง 3 เท่า แนวโน้มผลประกอบการระยะถัดไปคาดว่ายังไม่สดใส จากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ยังปรับลงต่อเนื่อง และความเสี่ยงในการนำเข้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตจากจีน
BSBM ประกอบการงวด 4Q57 พลิกมาเป็นขาดทุนครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส ตกต่ำกว่าที่ฝ่ายวิจัยคาด เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กประเภททรงยาวในประเทศยังอยู่ในภาวะซบเซาตามภาคก่อสร้าง ฉุดภาพรวมทั้งปี 2557 แย่กว่าคาดถึง 70% รวมทั้งมีโอกาสปรับประมาณการปี 2558 ลง จากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ยังปรับลงต่อเนื่อง และการนำเข้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตจากจีน
กลุ่มปิโตรเคมี มีการปรับลดประมาณการกำไรปี 2557 ลงถึง 38% หลักๆ มาจาก
PTTGC ปรับลดประมาณการปี 2557 ลงกว่า 30% โดยผลการดำเนินงานงวด 4Q57 ขาดทุนสุทธิสูงถึง 4.9 พันล้านบาท เป็นผลจากการขาดทุนสต๊อกน้ำมันและผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์รวม NRV สูงถึง 1.58 หมื่นล้านบาท แต่คาดว่าปี 2558 จะกลับมาเติบโตได้เกือบเท่าตัวจากปี 2557 หนุนโดยค่าการกลั่นที่คาดจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น และ Spread สายโอเลฟินส์ ที่ยังอยู่ในระดับสูงมาก
IVL ปรับลดประมาณการปี 2557 ลงถึง 50% โดยผลการดำเนินงานงวด 4Q57 ขาดทุนสินค้าคงเหลือสูงถึง 2.4 พันล้านบาท แต่คาดว่ากำไรปี 2558 จะพลิกกลับมาเติบโตกว่าเท่าตัวจากปี 2557 ตามปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนวัตุดิบลดลง
กลุ่มส่งออกอาหาร ประมาณการกำไรปี 2557 คาดว่าจะลดลง 8% หลักๆ มาจาก
CPF ปรับลดประมาณการปี 2557 ลงถึง 28% จากแนวโน้มกำไร 4Q57 ที่คาดว่าจะอ่อนตัวตามฤดูกาล จากราคาขายสุกรและไก่เฉลี่ยงวด 4Q57 ลดลง รวมทั้งปริมาณขายลดลงเช่นกัน แต่ปี 2558 คาดกำไรจะเติบโตถึง 37% yoy จากการขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น และต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังทรงตัวในระดับต่ำ
KSL ปรับลดประมาณการปี 2557 ลง 34% โดยผลการดำเนินงานงวด 4Q56/57 ลดลงต่ำกว่าคาด จากราคาขายน้ำตาลดิบที่ตกต่ำ และปริมาณขายไฟฟ้าลดลงจากงวดก่อนหน้า แต่แนวโน้มกำไรสุทธิปี 2557/58 คาดว่าจะเติบโต ถึง 23.2 % yoy จากราคาน้ำตาลตลาดโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัว บวกกับแนวโน้มปริมาณขายเอทานอลเพิ่มขึ้น และการขยายสัญญาขายไฟฟ้าให้ EGAT เพิ่มขึ้นอีก 10 MW เป็น 50 MW ซึ่งจะรับรู้รายได้เต็มที่ในปี 2557/58
กลุ่มเกษตร ประมาณการกำไรปี 2557 คาดว่าจะลดลง 8.6% หลักๆ มาจาก GFPT ซึ่งรายงานผลการดำเนินงานงวด 4Q57 ลดลงมากกว่าคาดถึง 17% เนื่องจากปริมาณส่งออกเนื้อไก่ลดลง 13%qoq หลังพ้นฤดูกาลส่งออกอาหารไปแล้ว รวมทั้งราคาในประเทศเฉลี่ยงวด 4Q57 ลดลง 3.9% qoq แต่คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2558 จะเติบโตถึง 46.4% yoy จากแนวโน้มปริมาณการส่งออกเนื้อไก่ที่สูงขึ้นจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังทรงตัวระดับต่ำต่อเนื่อง
กลุ่มยานยนต์ มีการปรับลดประมาณการกำไรปี 2557 ลง 11% มาจาก STANLY ปรับลดกำไรปี 2557/58 ลงจากเดิม 19% หลังผลประกอบการช่วง 6 เดือนแรก (1H57/58) ที่หดตัวแรง ตามตลาดรถยนต์ที่ชะลอตัวตามนโยบายรถยนต์คัดแรก และเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าแนวโน้มผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุดแล้ว คาดกำไรปี 2558/59 เติบโตสูง 32% yoy จากออเดอร์ในมือและอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2558 ที่จะฟื้นตัวจากแผนการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ของค่ายต่างๆ รวมทั้งประสิทธิภาพการทำกำไรที่ดีขึ้น
กลุ่มบันเทิง ผลประกอบการปี 2557 ลดลงจากประมาณการเดิม 0.4% เกิดจาก MCOT และ RS ที่รายงานผลประกอบการงวด 4Q57 ต่ำกว่าคาด เนื่องจากรายได้รับชะลอตัวตามเศรษฐกิจ ขณะที่มีต้นทุน digital TV ที่เพิ่มขึ้น (MCOT ยังสูญเสียรายได้สัมปทานจาก TRUE Vision)
ส่วนที่เหลือ ผลการดำเนินงานเป็นไปตามคาด เช่น กลุ่มค้าปลีก โดยพบว่ายอดขายสาขาเดิม (SSSG) ยังคงอ่อนตัว ตามมาด้วย กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ส่วนใหญ่เป็นไปตามคาด ยกเว้น SENA ที่ปรับเพิ่มประมาณการปี 2557-2558 ขึ้นจากเดิมปีละ 15% เนื่องจากการโอนฯคอนโดฯ และแนวราบได้สูงกว่าคาดการณ์ ส่งผลให้รายได้รวมปี 2557 สูงกว่าเป้าหมาย และในปี 2558 ยังเติบโตต่อเนื่อง จากแผนการเปิดโครงการใหม่มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ขนส่งทางอากาศ คาดว่าผลประกอบการกลุ่มอาจจะตกต่ำกว่าคาด ซึ่งเกิดจาก THAI ที่คาดว่าจะต้องมีการตั้งสำรองฯ การด้อยค่าสินทรัพย์เพิ่ม 1 หมื่นล้านบาทในปี 2558 ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการ THAI ติดลบในปี 2558 อีกปีหนึ่งจากก่อนหน้าที่คาดว่าจะพลิกมาเป็นบวก
ภายใต้ประมาณการกำไรปี 2557 ใหม่ที่ 7.2 แสนล้านบาท จะหดตัวลง 9% จากปี 2556 (กำไรสุทธิปี 2556 อยู่ที่ 7.88 แสนล้านบาท) ขณะที่ปี 2558 คาดว่า กำไรสุทธิ มีแนวโน้มจะเพิ่มจากประมาณการเดิม 9.45 แสนล้านบาท จะมีอัตราการเติบโตสูงถึง 31% (กำไรสุทธิต่อหุ้นหรือ EPS น่าจะอยู่ที่ 103.68 บาท ซึ่งทำให้ดัชนีตลาดหุ้นปัจจุบันมี Current PER ที่สูง 19.2 เท่า แต่หากใช้ประมาณการกำไรปี 2558 คาดว่าจะมี Expected PER ราว 15.36 เท่า ซึ่งยังเป็นระดับที่ไม่สูงมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่ม TIP กล่าวคือ อินโดนีเซีย Expected PER ราว 15.9 เท่า และ ฟิลิปปินส์ Expected PER สูงถึง 19.7 เท่า กลยุทธ์การลงทุนยังเน้นไปที่หุ้นพื้นฐาน PER ต่ำ เงินปันผลสูง และ ยังมีศักยภาพการเติบโต ตามที่นำเสนอไปใน market talk วานนี้
ต่างชาติเทขายหุ้นไทยอย่างหนัก สวนทางกับภูมิภาค
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคติดต่อกันเป็นวันที่ 4 ราว 503 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 6%) ซื้อสุทธิสูงสุดคือไต้หวัน ที่ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 12 ราว 457 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 17%) ขณะที่ เกาหลีใต้ซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 3 และเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้ากว่าเท่าตัว อยู่ที่ราว 159 ล้านเหรียญฯ ส่วนอินโดนีเซียซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4 ราว 62 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นถึง 88% จากวันก่อนหน้า) และฟิลิปปินส์ ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 10 และเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 39% อยู่ที่ 17 ล้านเหรียญฯ ตรงข้ามกับไทย ที่ยังคงขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 9 ราว 163 ล้านเหรียญฯ (5.3 พันล้านบาท, วันก่อนหน้าขายสุทธิเพียง 546 ล้านบาท)
ปัจจัยภายในประเทศยังคงกดดันตลาดหุ้นไทย และ กระแสเงินทุนต่อเนื่อง โดยวานนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิออกมาถึง 5.3 พันล้านบาท ซึ่งเป็นยอดขายสุทธิสูงสุดในรอบกว่า 2 เดือน ซึ่งเชื่อว่าในระยะสั้นปัจจัยกดดันในประเทศจะยังกดดันตลาดหุ้นไทยต่อไป ขณะที่แรงขายจากกลุ่มสถาบันในประเทศยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และน่าจะทำให้ดัชนีมีความผันผวนสูงในระยะนี้
กลยุทธ์ปลอดภัยเลือกหุ้นปันผล + PER ต่ำ + upside สูง: STPI, SPALI
ท่ามกลางสภาพคล่องโลกที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับเงินเฟ้อตกต่ำทั่วโลก ทำให้การใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายยังจำเป็นอย่างน้อยตลอดปี 2558 ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยหนุนตลาดที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ แต่อย่างไรก็ตามอาจจะไม่สามารถหักล้างปัจจัยอื่น ๆ ได้เช่น ผลประกอบการงวด 4Q57 ที่ออกย่ำแย่ในหลายกลุ่ม เช่น หุ้นพลังงาน ปิโตรเคมี และ เหล็ก ปัญหาการเมืองที่ดูเหมือนจะยังมีการเคลื่อนไหวอยู่ แม้ภาพรวมรัฐบาลทหารยังคุมอยู่ได้ก็ตาม ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนท่ามกลางตลาดผันผวน จึงควรเลือกหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโต ร่วมกับด้าน Valuation คือ มีค่า Expected P/E ต่ำ Dividend Yield สูง และมี Upside จากมูลค่าพื้นฐานมากพอสมควร
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล