- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 23 February 2015 15:58
- Hits: 1394
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดหุ้นผ่อนคลาย หลังเจ้าหนี้ยอมยืดหนี้แก่กรีซไป 4 เดือน แม้ยังไม่มีรายละเอียด ขณะที่การประกาศงบ 4Q57 ใกล้สิ้นสุด หลังจากนี้จะเป็นช่วงจ่ายเงินปันผล เลือกหุ้นเด่นมี Div Yield 5% + Upside 30% (STPI, INTUCH, SPALI, TVO และ SRICHA) SPALI (FV@B 31.96) เป็น Top Pick
ตลาดผ่อนคลายลง หลังกรีซได้ยืดหนี้ออกไป 4 เดือน
ตลาดหุ้นโลกน่าจะผ่อนคลายมากขึ้น หลังจากการเจรจาหนี้ ระหว่างกรีซ และเจ้าหนี้ (TROIKA) สามารถหาข้อสรุปเบื้องต้นได้ว่า ทางเจ้าหนี้จะยินยอมยืดเวลาสำหรับความช่วยเหลือทางการเงินให้แก่กรีซออกไปอีกเป็นเวลา 4 เดือน (จากที่กรีซเสนอขอ 6 เดือน) สำหรับหนี้ก้อนเดิมมูลค่าราว 2.4 แสนล้านยูโร ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 28 ก.พ.นี้ (หนี้สาธารณะของกรีซ คิดเป็น 176% ของ GDP)
แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงเช้าวันจันทร์นี้ (ตามเวลาประเทศไทย) ซึ่งคงต้องติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เจ้าหนี้และกรีซ ต้องเห็นชอบร่วมกัน โดยเฉพาะแนวทางการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ และแผนชำระหนี้ให้กับกลุ่มเจ้าหนี้ โดยกรีซจะยังมีทีต่อต้านหรือปฎิเสธแผนรัดเข็มขัด ดังที่นายกรัฐมนตรีกรีซ ได้ยืนกรานไว้ตั้งแต่ต้น
โดยสรุป ข้อเสนอของกรีซ จะต้องได้รับการยอมรับจากทางเจ้าหนี้คือ TROIKA (จะมีรัฐมนตรีคลังของยูโรโซนพิจารณา) ขณะที่เชื่อว่า ประเด็นความเสี่ยงของการเจรจายังมีอยู่และอาจจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้น และเศรษฐกิจโลกตลอดเวลา
ตลาดให้น้ำหนักต่อการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐล่าช้า
นอกจากความผ่อนคลายจากประเด็นของกรีซที่กล่าวข้างต้นแล้ว เชื่อว่าตลาดน่าจะคาดหวังการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐล่าช้าออกไป ทั้งนี้ตลาดน่าจะต้องติดตามการแถลงของนางเจเน็ต เยลเลน ต่อสภาคองเกรสสหรัฐเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มนโยบายการเงิน โดยจะหารือกับวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 24 และ 25 ก.พ. นี้ ตามลำดับ ซึ่งตลาดคาดว่าเยลเลนน่าจะพูดถึงภาคแรงงานที่ยังคงฟื้นตัว หลังจากที่รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร เดือน ม.ค. เพิ่มสูงขึ้น 2.57 แสนราย (ดีกว่าที่ตลาดคาด 2.34 แสนราย) และต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ที่การจ้างงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 แสนราย
ขณะที่ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยในช่วงกลางปีนี้กลับมีแนวโน้มลดลง กล่าวคือผลสำรวจจาก Reuters เมื่อช่วงกลางเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา พบว่านักเศรษฐศาสตร์ 10 จาก 19 คน หรือราว 52% เท่านั้น ที่เชื่อว่า Fed จะเริ่มต้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. ลดลงจากการสำรวจเมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค. อยู่ที่ 65% ทั้งนี้เพราะแม้ตลาดแรงงานสหรัฐจะฟื้นตัวแข็งแกร่ง และอัตราว่างงานมีแนวโน้มจะลดลงได้ถึง 5.5% แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว ทำให้ Fed อาจต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบมากขึ้นก่อนการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในรอบใหม่
และเช่นเดียวกับบรรดา trader ที่คาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะเลื่อนออกไป สะท้อนจาก Fed fund Futures เดือน ธ.ค. ล่าสุดลดลงมาอยู่ที่ 0.505% จาก 0.565% ในสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่มีบางกลุ่มฝ่ายคาดว่า Fed น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ 2 ครั้ง โดยอัตราดอกเบี้ยอาจจะอยู่ที่ 0.75% ในช่วงสิ้นปี 2558 และ 2.125% ในช่วงสิ้นปี 2559 ถือว่าเป็นปัจจัยที่ผ่อนคลายต่อตลาดหุ้นโลก
เงินทุนทุนไกลเข้า TIP อีกครั้ง
วันศุกร์ที่ผ่านมา พบว่าตลาดในภูมิภาคบางแห่งเริ่มกลับมาเปิดทำการอีก และพบว่ากลับมาซื้ออีกครั้ง โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม TIP พบว่าเป็นการสลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 63 ล้านเหรียญฯ (เทียบกับที่ขายสุทธิติดต่อกัน 3 วันก่อนหน้า) ทั้งนี้ประเทศที่มียอดซื้อสุทธิสูงสุด คืออินโดนีเซีย ราว 69 ล้านเหรียญฯ (หลังจากที่ขายในวันก่อนหน้า โดยรวมแล้วซื้อสุทธิ 14 วัน จาก 15 วันหลังสุด) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 ราว 12 ล้านเหรียญฯ (เทียบวันก่อนหน้าซื้อสุทธิเพียง 6 หมื่นเหรียญฯ) สวนทางกับไทย ที่ยังคงขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 6 ราว 18 ล้านเหรียญฯ (591 ล้านบาท, เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า) ส่วนตลาดในเกาหลีใต้ และ ไต้หวัน ยังคงปิดทำการ
เชื่อว่าแรงกดดันจากปัญหาในกรีซน่าจะคลี่คลายลง และ ได้ผ่านพ้นเทศกาลตรุษจีน ไปแล้ว น่าจะทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาในตลาดหุ้นอีกครั้ง หลังจากที่ชะลอการซื้อหุ้นในภูมิภาคในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า รวมถึงขายสุทธิหุ้นไทยออกมา 6 วันติดต่อกัน รวม 5.2 พันล้านบาท (ยอดรวมในเดือน ก.พ. 58 ยังคงเป็นซื้อสุทธิราว 2.6 พันล้านบาท)
เชื่อว่าน้ำหนักทางการเมืองน่าจะกลับมากดดันตลาดอีกครั้ง
ประเด็นทางด้านการเมืองเชื่อว่าน่าจะมีน้ำหนักกดดันดัชนีมากขึ้น แม้ว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญฯ และกำหนดการเลือกตั้งทั่วไป ประเมินในเบื้องต้นเห็นว่าทุกอย่างยังอยู่ในกรอบ และ กระบวนการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ กล่าวคือ ร่างรัฐธรรมนูญน่าจะพร้อมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่เกิน 4 ก.ย. 2558 ยังถือว่าเร็วขึ้นกว่ากรอบเดิมที่กำหนดไว้ในปลายเดือน ก.ย. 2558 และเมื่อโปรดเกล้าฯ ลงมา ก็น่าจะมีการเตรียมการเพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไป เบื้องต้นคาดหมายว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.พ.2559 ทั้งนี้อยู่ภายในใต้สมมติฐานว่าไม่มีการสะดุดลงในขั้นตอนใด หรือต้องไม่มีการจัดทำประชามติ (เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลา 2-3 เดือน)
แต่หากพิจารณา ประเด็นเกี่ยวกับคดีทางการเมือง อันเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าว ล่าสุด อัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องคดีอาญา ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมี อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำเลย ซึ่งศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่วันที่ 19 มี.ค.2558 หากศาลฯ รับฟ้อง กระบวนการในการดำเนินการพิจารณาก็จะเริ่มขึ้น คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 ปี และ ยังต้องประเมินต่อว่า จะมีการฟ้องคดีทางแพ่งจากกรณีดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นประเด็นที่กลับมากดดันดัชนีอีกครั้ง ทำให้ดัชนี 1600-1620 จุด ยังเป็นแนวต้านที่สำคัญ
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล