- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 09 February 2015 17:11
- Hits: 1465
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET ยืนเหนือ 1,600 จุด ได้อีกครั้ง ลุ้น 1640-1645 จุด คาดว่า หุ้นพลังงาน และปิโตรเคมี (PTT, PTTEP, PTTEP) ยังนำตลาด และวันนี้ยังเลือก M(FV@B65) เป็น Top pick เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของยอดขายสาขาเดิมชัดเจนขึ้น
ตลาดแรงงานสหรัฐสะดุด มีโอกาสเลื่อนขึ้นดอกเบี้ยเป็นปลายปี 2558
ท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในสหรัฐ เริ่มเห็นการชะลอตัวในตลาดแรงงาน สะท้อนจากการรายงานตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก สิ้นสุด 31 ม.ค. ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า เพิ่มขึ้น 11,000 ราย เทียบกับที่ลดลงติดต่อกันหลายสัปดาห์ก่อน และเช่นเดียวกับ การจ้างงานภาคเอกชน (ADP) เดือน ม.ค. ที่เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัว คือ เพิ่มขึ้น 213,000 ราย เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่า 2 เดือนก่อนหน้า และล่าสุดพบว่า การจ้างงานนอกภาคเกษตร (non-farm payroll) ชะลอตัวเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้น 3.29 แสนตำแหน่งใน ธ.ค. 2557 เหลือ 2.57 แสนตำแหน่ง ในเดือน ม.ค. 2558 ส่งผลให้อัตราการว่างงานสิ้นเดือน ม.ค. กระเตื้องขึ้นจาก 5.6% ในเดือน ธ.ค. 2557 เป็น 5.7% ทำให้ความหวังที่จะเห็นการจ้างงานเต็มที่ (full employment rate) ถูกเลื่อนออกไป
และเช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่ำกว่าเป้าหมายโดยเดือน ธ.ค. อยู่ 0.8% ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลง และ ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น (ทำให้สินค้านำเข้าราคาต่ำลง) นับว่าลดลงต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน ล้วนเป็นปัจจัยที่น่าจะทำให้ Fed ทบทวนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะแผนการขึ้นดอกเบี้ยที่คาดไว้กลางปีนี้ออกไป อย่างไรก็ตามติดตาม สรุปผลรายงานนโยบายการเงินครึ่งหลังของปี 2557 สภาครองเกรส ในวันที่ 24- 25 ก.พ.และผลการประชุม Fed ครั้งถัดไป 18-19 มี.ค. 2558 ซึ่งคาดว่า Fed จะพูดถึงการประมาณการตัวเลขอัตราการว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงการคาดว่าจะมีการยกเลิกคำว่า patient หรือไม่ แต่เชื่อว่าปัจจัยกดดันทางด้านตลาดแรงงาน และเงินเฟ้อ ดังกล่าวข้างต้น ยังทำให้ Fed ต้องใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินไปอีกระยะ ซึ่งน่าจะมีน้ำหนักเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นโลก
ธปท. มีโอกาสลดดอกเบี้ยฯ หาก GDP/เงินเฟ้อ ต่ำกว่าเป้าหมาย
ท่ามกลางการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกล่าช้า โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลัก ๆ ของไทย ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจในปี 2557 อาจเติบโตเพียงเล็กน้อย 0.8% (คาดการณ์โดย ASP) ขณะที่ 9 เดือนแรกเติบโตเพียง 0.6% แสดงว่า งวด 4Q57 จะต้องขยายตัวไม่ต่ำกว่า 2.7% และเป็นไปได้ว่าในปี 2558 อาจจะขยายตัวได้ต่ำกว่า 3.5% อันเป็นผลกระทบจากการชะลอตัวของการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก
ทั้งนี้หากปรับลดสมมติฐาน การส่งออก ลงทุกๆ 0.5%(จากเดิม 3.5%) และปรับลดการนำเข้าโดยรวม เหลือ 4.13% (จากเดิม 4.3%) ตามสมมติฐานราคาน้ำมันดิบเดิมลงราว 25% (จาก 97 เหลือ 70 เหรียญฯ/บาร์เรล) ขณะที่ยังกำหนดให้ตัวแปรอื่นๆ คงที่ พบว่า GDP growth จะลดลงเฉลี่ยราว 0.2-1.3% รายละเอียดดังตารางด้านล่าง
ขณะที่ เงินเฟ้อเดือน ม.ค. ที่ติดลบ 0.41% และ ฝ่ายวิจัย ASP คาดว่าน่าจะมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่องอีกหลายเดือนข้างหน้า ( เทียบกับฐานเงินเฟ้อที่สูงในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557) ดังนั้นจึงเชื่อว่า ธปท. น่าจะต้องกลับมาให้น้ำหนักต่อประเด็นนี้มากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยฯ ลงในการประชุมครั้งถัดไปราวช่วง 2H58 ทั้งนี้แม้ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จะไม่ค่อยเห็นด้วยกับการลดดอกเบี้ย แต่จากการให้สัมภาษณ์ในสื่อต่างประเทศ (CNBC) ล่าสุด ได้เปิดช่องไว้ว่า หากเศรษฐกิจในปี 2558 ไม่เป็นไปตามที่ ธปท. คาดว่าจะเติบโตที่ 4.8% จะมีแนวโน้มจะปรับลดดอกเบี้ยลงได้ รวมถึง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล (รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ) สนับสนุนแนวคิดในการลดดอกเบี้ยอยู่แล้ว เพราะเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ ได้มากกว่านโยบายการคลัง หรือ การลงทุนภาครัฐที่ล่าช้ามาก สะท้อนจากการเบิกจ่ายภาครัฐใน ม.ค. ทำได้เพียง 12% ของงบลงทุนทั้งปี ขณะที่ต้องเร่ง เร่งเบิกจ่ายให้ได้ 30% ภายในเดือน มี.ค.นี้
หุ้นพลังงานยังนำตลาด PTTEP, PTTGC ยัง laggards
คาดว่ายังมีหลายปัจจัยที่กดดัน ทางด้านการผลิตน้ำมันในสหรัฐ ดังที่เคยนำเสนอไปใน Market Talk เมื่อสัปดาห์ก่อน ทั้งการตัดลดงบลงทุน (Capex) ในอุตสาหกรรมสำรวจและขุดเจาะน้ำมันของหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ (Royal Dutch Shell Plc., Chevron, British Petroleum) แท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐที่ปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง และความเข้มงวดมากขึ้นของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อในอุตสาหกรรมพลังงาน
และยิ่งไปกว่านั้น การหยุดงานประท้วงของสหภาพแรงงานโรงกลั่นน้ำมัน (USW) ยังคงยืดเยื้อและขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นอีก โดยโรงกลั่นน้ำมันของ BP ที่ตั้งอยู่ในรัฐอินเดียน่า 1 แห่ง และอีก 1 แห่ง ที่เป็นบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) กับ Huskey Energy ในรัฐโอไฮโอ ได้ตัดสินใจหยุดงานประท้วงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เมื่อรวมกับที่หยุดไปก่อนหน้า 9 แห่ง ทำให้ล่าสุดมีโรงกลั่นน้ำมันรวม 11 แห่ง ที่ต้องหยุดการผลิต กระทบกับกำลังการกลั่นน้ำมันถึง 13% ของทั้งประเทศ
ทั้งนี้ การประท้วงดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 แล้ว (นับตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค. เป็นต้นมา) โดยการประท้วงหยุดงานครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของคนงานโรงกลั่นน้ำมันทั่วประเทศ และเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2523 ซึ่งหากยังไม่สามารถหาทางออกได้ เชื่อว่า การปิดโรงกลั่นน่าจะลุกลามไปมากกว่านี้ เนื่องจาก USW มีสมาชิกเป็นคนงานอยู่ในโรงกลั่นน้ำมันถึง 65 แห่งทั่วสหรัฐ กำลังการผลิตน้ำมันคิดเป็นกว่า 64% ของทั้งประเทศ
โดยสรุปเชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้ น่าจะทำให้ supply น้ำมันที่ล้นตลาดอยู่ค่อยๆ ลดลงในระยะต่อไป และจะหนุนราคาน้ำมันดิบโลกขึ้นไปยืนเหนือ 60 เหรียญฯต่อบาร์เรล และแตะ 70 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล อีกครั้ง ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐานของนักวิเคราะห์กลุ่มพลังงานของ ASP ที่ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบดูไบใน 6 เดือนแรกของปีนี้เฉลี่ยจะอยู่ที่ 65 เหรียญฯ และ เฉลี่ย 85 เหรียญฯ ในช่วง 6 เดือนหลังของปีนี้ (และราคาน้ำมันดิบในระยะยาวกำหนดไว้ที่ เฉลี่ย 75 เหรียญฯ ในปี 2558 เป็นต้นไป) ดีต่อหุ้นปิโตรเลี่ยมขั้นต้นทั้ง PTT(FV@B398) PTTEP(FV@B134) และยังแนะนำสะสมต่อไป PTTGC (FV@B68)
ยังมีเงินทุนไหลเข้าเอเซียต่อเนื่อง
วันศุกร์ที่ผ่านมา พบว่านักลงทุนต่างชาติ ได้สลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคอีกครั้งราว 614 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขายสุทธิใน 3 วันหลังสุด) โดยที่เป็นการซื้อสุทธิในทุกประเทศ นำโดยเกาหลีใต้ ที่สลับมาซื้อสุทธิสูงสุดราว 378 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขายสุทธิใน 4 วันหลังสุด) ตามมาด้วยอินโดนีเซียที่ยังคงซื้อสุทธิเป็นวันที่ 6 ราว 94 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นจากที่ซื้อสุทธิเพียง 7 ล้านเหรียญฯ ในวันก่อนหน้า) ขณะที่ไต้หวันซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 แต่ลดลง 27% เหลือราว 57 ล้านเหรียฯ ใกล้เคียงกับไทยที่สลับมาซื้อสุทธิราว 54 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขายใน 3 วันหลังสุด) และสุดท้ายคือ ฟิลิปปินส์สลับมาซื้อสุทธิราว 31 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขายสุทธิใน 3 วันหลังสุด)
สำหรับตลาดหุ้นไทย นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิต่อเนื่องถึง 10 จาก 13 วันหลังสุด รวมกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท ทำให้ยอดรวมตั้งแต่ต้นปี 2558 พลิกมาเป็นซื้อสุทธิราว 1.7 พันล้านบาท และเชื่อว่าในระยะสั้น เม็ดเงินจากต่างชาติจะยังคงไหลเข้าภูมิภาคต่อเนื่อง เมื่อการใช้นโยบาย QE ที่กำหนดไว้ในเดือน มี.ค. เริ่มมีผลใช้จริง
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล