- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 06 February 2015 15:14
- Hits: 2146
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เชื่อว่า SET จะยืนเหนือ 1,600 จุด ต้องได้รับแรงหนุนจากหุ้นธนาคารพาณิชย์ และพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าให้ผลตอบแทนน้อยกว่าตลาด โดยยังชื่นชอบ PTT, PTTEP, PTTGC, KBANK, RCL วันนี้เลือก M(FV@B65) เป็น Top pick เห็นยอดขายสาขาเดิมฟื้นตัวเร็วกว่าคาด
ธนาคารโลกยังลดดอกเบี้ยต่อ หนุนตลาดหุ้นโลก
ความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าเป้าหมาย จากผลกระทบของราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลงกว่า 50% จากจุดสูงสุดในปี 2557 ทำให้การใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายยังคงจำเป็นต่อธนาคารกลางโลก โดยวานนี้ ธนาคารกลางเดนมาร์กได้ปรับลดดอกเบี้ยฯ อีก 0.25% เป็นติดลบ 0.75% (เป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 3 สัปดาห์) เนื่องจากกังวลต่อความผันผวนของค่าเงิน (ตรึงกับยูโร) จากที่ยุโรปเตรียมอัดเงินเข้าระบบผ่าน QE
ตามมาด้วย ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ยังคงยืนดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% และคงวงเงินการซื้อพันธบัตร 3.75 แสนล้านปอนด์ (5.67 แสนล้านดอลลาร์) ขณะที่เงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. ยังต่ำเพียง 0.5% (ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และเปลี่ยนแปลงเพียง 0.5% จากต้นปี 2557) ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% อย่างมาก ทำให้เชื่ออังกฤษน่าจะชะลอการใช้ขึ้นดอกเบี้ยฯ ตามแผนเดิมที่กำหนดไว้ว่าขึ้นดอกเบี้ยในเวลาใกล้เคียงกับสหรัฐ
ขณะที่ตลาดแรงงานสหรัฐ แม้ยังมีสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราการว่างงานล่าสุด เดือน ธ.ค. อยู่ที่ระดับ 5.6% (ต่ำสุดในรอบ 6 ปีครึ่ง) ลดลงจาก 5.8% ในเดือน พ.ย. แต่อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นดัชนีบางตัวอาจชะลอตัวบ้าง เช่น จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค. เพิ่มขึ้น 11,000 ราย (สู่ระดับ 278,000 ราย) เทียบกับเฉลี่ย 4 สัปดาห์ ลดลง 6,500 ราย (สู่ระดับ 292,750 ราย) และ การจ้างงานภาคเอกชน (ADP) เดือน ม.ค. เพิ่มขึ้น 213,000 ราย (ต่ำกว่า 2 เดือนก่อนหน้า) ด้วยเหตุนี้จึงคาดว่าสหรัฐน่าจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยฯ เช่นเดียวกับอังกฤษ โดยน่าจะเห็นการขึ้นในช่วง 2H58 ซึ่งในสถานการณ์นี้ถือว่า เป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นโลกได้อีกระยะหนึ่ง
กรีซใกล้เส้นตาย ที่ต้องเลือกจะอยู่หรือออกจากสหภาพยุโรป
เชื่อว่าประเด็นของกรีซ น่าจะเริ่มเข้ามามีน้ำหนักต่อตลาดมากขึ้น เนื่องสัญญาเงินกู้ (วงเงินกว่า 2.4 แสนล้านยูโร มาจาก EFSF 1.45 แสนล้านยูโร, IMF 4.8 หมื่นล้านยูโร และ GLF: Greece Loan Facility 5.29 หมื่นล้านยูโร) ที่ได้รับความช่วยเหลือจาก TROIKA จะครบกำหนดในวันที่ 28 ก.พ. นี้ ขณะที่คาดว่ายอดหนี้คงค้างยังใกล้เคียงกับวันที่ทำสัญญากู้ยืม ดังนั้น เมื่อใกล้ครบกำหนด กรีซจำเป็นต้องเจรจาประนอมหนี้ จะยืดอายุ หรือตัดลดหนี้ เป็นประเด็นที่ยังคงถกเถียงกัน ขณะเดียวกัน ECB ยังยุติสิทธิพิเศษที่เคยให้แก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน เพื่อที่จะใช้พันธบัตรรัฐบาลกรีซ (ที่ได้ rating ต่ำกว่าระดับลงทุน) มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อขอเงินกู้จาก ECB ซึ่งกรีซมีแผนที่จะระดมเงินก้อนใหม่อีกราว 1 หมื่นล้านยูโร เพื่อนำมาจัดสรรให้กับธนาคารในกรีซอย่างน้อย 2 แห่ง ที่กำลังจะขาดสภาพคล่อง
จะเห็นว่า กรีซไม่น่าจะมีทางเลือกมากนัก คือ ยอมรับเงื่อนไขการประนอมหนี้ตาม TROIKA (โดยยังยึดหลักการเดิมคือ ให้ใช้มาตรการรัดเข็มขัดต่อไป) หรือออกจากยุโรป ซึ่งหากเป็นไปตามเงื่อนไขของ TROIKA ตลาดน่าจะคลายความกังวล แต่ตรงกันข้ามหาก กรีซ หลุดจากกลุ่มของสหภาพยุโรป การปรับเปลี่ยนค่าเงิน คงกระทบต่อสหภาพยุโรป และ เศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งอาจจะกลับมากดดันตลาดหุ้นโลกอีกครั้ง
ต่างชาติสลับขายออกมาเบาบาง
วานนี้นักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคอีกครั้ง แต่เบาบางเพียง 40 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 3 วันก่อนหน้า) โดยเป็นการซื้อสลับขายสุทธิบางประเทศ โดยขายสุทธิสูงสุดเกาหลีใต้ 122 ล้านเหรียญฯ (ขายสุทธิ 6 ใน 7 วันหลังสุด) ขณะที่ไทย สลับมาขายสุทธิเบาบางราว 3 ล้านเหรียญฯ (107 ล้านบาท, ซื้อสุทธิ 2 วันก่อนหน้า) และ ฟิลิปปินส์สลับมาขายสุทธิเบาบางเช่นกัน ราว 1 ล้านเหรียญฯ สวนทางกับไต้หวันที่ยังคงซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 แต่ลดลงถึง 76% จากวันก่อนหน้า เหลือราว 79 ล้านเหรียญฯ และสุดท้ายคือ อินโดนีเซียซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5 และลดลงเช่นกันถึง 90% เหลือเพียงราว 7 ล้านเหรียญฯ เชื่อว่าต่างชาติขายหุ้นภูมิ เป็นแค่เหตุการณ์ระยะสั้น เท่านั้น และพบว่าต่างชาติสลับมาขายหุ้นไทยเพียงเบาบาง เมื่อเทียบกับยอดซื้อสุทธิในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้า (ซื้อสุทธิเฉลี่ยกว่า 1.7 พันล้านบาทต่อวัน) ยกเว้นนักลงทุนสถาบันยังคงขายต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 522 ล้านบาท (ขายสุทธิ 7 จาก 9 วันหลังสุด รวม 8.2 พันล้านบาท) ซึ่งเชื่อว่าเป็นแรงขายจากกอง LTF ซึ่งปกติมักจะขายในช่วงต้นปี โดยเฉพาะก.พ. ของทุกปี
การบริโภคครัวเรือนเริ่มฟื้น สะท้อนยอดขายสุกี้ MK ที่ดีขึ้น
เชื่อว่านักลงทุนบางส่วนยังกังวลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยที่อาจจะเป็นไปอย่างล่าช้า และต่ำกว่าคาด หลังจาก 9M57 เติบโตเพียง 0.2% เทียบกับทั้งปี 2557 ที่คาดไว้ 0.8% จึงต้องฝากความหวังไว้ในงวด 4Q57 ต้องเติบโตไม่ต่ำกว่า 2.7% จึงจะทำได้ตามเป้าหมาย โดยเชื่อว่าตลาดยังกังวลต่อการฟื้นตัวของภาคครัวเรือน ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของประเทศ ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และความต้องการโลกชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา
แต่อย่างไรก็ตามจากการทำการสำรวจผลการประเมินงบการเงินในงวด 4Q57 ของอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคครัวเรือน พบว่า สุกี้เอ็มเค หรือ M(FV@B65) มีสัญญานที่ดีขึ้นตามลำดับ กล่าวคือ ยอดขายสาขาเดิม (SSS) ของกลุ่มสุกี้ ซึ่งคิดเป็น 80%ของรายได้รวม ได้กลับมาเติบโตอีกครั้งแม้อัตราเพียง 1% yoy ในเดือน ม.ค. 2558 เทียบกับที่ติดลบเฉลี่ย 5.3% ในช่วง 2Q57-4Q57 (งวด 2Q57 ติดลบ 9% งวด 3Q57 ติดลบ 6% และ งวด 4Q57 ติดลบ 1%) เช่นเดียวกับ ร้านอาหารญี่ปุ่น (ยาโยอิ) ซึ่งมีสัดส่วนราว 15% ของรายได้รวม ฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดด 7% ในเดือน ม.ค.2558 เทียบกับ ติดลบเฉลี่ย 7.7% ในช่วง 2Q57-4Q57 (งวด 2Q57 ติดลบ 5% งวด 3Q57 ติดลบ 8% และ งวด 4Q57 ติดลบ 10%) ในขณะที่ปี 2558 นักวิเคราะห์กลุ่มอาหารของ ASP ประเมินยอดขายสาขาเดิม จะเติบโตในอัตราเฉลี่ยเพียง 1% ซึ่งคาดว่าอาจจะต่ำเกินไป โดยคาดว่ากำไรสุทธิปี 2558 จะเติบโตราว 14.4% (กำหนดให้มีการเปิดสาขาใหม่เพิ่มอีก 62 แห่ง) จึงเชื่อว่าเป็นบริษัทหนึ่งที่มีแนวโน้มจะเพิ่มประมาณและมูลค่า นักวิเคราะห์ ASP จึงปรับคำแนะนำเป็นซื้อ จากเดิม ถือ แม้ราคาหุ้นปัจจุบันจะมี upside 13% และยังไม่รวมเงินปันผลที่คาดว่าจะจ่ายอีก 0.8 บาทต่อหุ้นสำหรับผลการดำเนินงานในงวด 2H57 (ติดตามอ่านรายละเอียดได้ใน Equity Talk วันนี้)
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล