- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 28 January 2015 23:35
- Hits: 1665
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
สภาพคล่องทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจากการใช้มาตรการการเงินผ่อนคลาย ช่วยหนุนตลาดหุ้นโลก ยังชื่นชอบหุ้นใหญ่ (SCC(FV@B530) และ KBANK(FV@B300)) วันนี้เลือก Top pick คือ SYNTEC(FV@B 3.85) เพิ่มประมาณการฯ และ Fair Value สะท้อนรายได้ที่เติบโต และเก็งกำไร BLAND (BV@ 2.21) มี PBV ต่ำกว่า 1 เท่า
จับตาการประชุม กนง. วันนี้
วันนี้ ตลาดน่าจะมุ่งความสนใจไปที่การประชุมคณะกรรมนโยบายการเงิน (กนง.) ว่าจะมีการตัดสินใจเกี่ยวกับดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไร หลังจากที่ยืนที่ 2% ต่อเนื่อง 11 เดือน (ปรับลดครั้งสุดท้าย 0.25% เมื่อเดือน มี.ค. 2557) ท่ามกลางความกังวลการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งเป็นผลจากมาตรการ QE ของทั้งยุโรป และญี่ปุ่น กระทบภาคส่งออก หลังจากตัวเลขการส่งออก เดือน ธ.ค. 2557 ขยายตัวเพียง 1.90%yoy ทำให้ทั้งปี 2557 ติดลบ 0.41%yoy (ติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2) (ต่ำกว่าที่ ASP คาดว่าจะขยายตัว 0.8%) ขณะที่การนำเข้า เดือน ธ.ค. 2557 ติดลบ 8.74%yoy ทำให้ทั้งปี 2557 ติดลบ 8.97%yoy (ต่ำกว่าที่ ASP คาดว่าจะติดลบเพียง 5.4%) จึงมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปี 2557 จะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้ 0.8%
รวมทั้งความกังวลต่อเงินเฟ้อที่ชะลอตัว ซึ่งในอดีตไทยเคยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เมื่อเดือน ม.ค. 2552 ซึ่งทำให้ ดอกเบี้ยฯ ถูกปรับลดลงถึง 0.75% มาอยู่ที่ 2% และ ลดลงจากนั้นอีกรวม 0.75% มาอยู่ที่ 1.25% ในเดือน ก.ย. 2552 และหลังจากนั้นอีก 9 เดือน จึงมีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยฯ อีกครั้ง ดังนั้น หากไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดอีกครั้ง ก็ย่อมมีความเป็นไปได้ที่ดอกเบี้ยฯ จะถูกปรับลด เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัย ยังเชื่อว่าเชื่อว่าการลดดอกเบี้ยฯ ในสถานการณ์ปัจจุบัน อาจไม่จำเป็นมากนัก เพราะดอกเบี้ยที่ระดับ 2% ถือว่าต่ำอยู่แล้ว อีกทั้งการการลงทุนภาคเอกชนที่ยังชะลอตัว เหตุปัจจัยหลักน่าจะมาจากการรอความชัดเจนจากการกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ และในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาดเฉพาะอย่างยิ่งยุโรป การทำให้เงินบาทอ่อน ผ่านการลดดอกเบี้ยฯ จึงอาจจะมีส่วนกระตุ้นการส่งออกได้ไม่มากนัก แต่เชื่อว่าตลาดหุ้นอาจจะนำประเด็นนี้มาเป็นประเด็นบวก และ หนุนให้ตลาดหุ้นไทยยังสดใสต่อเนื่อง
ขณะที่ การประชุมของธนาคารกลางของสหรัฐ (Fed) ซึ่งจะทราบผลพรุ่งนี้ตามเวลาไทย คาดว่ายังคงยืนนโยบายดอกเบี้ยต่ำต่อไป และคาดว่านางเยลเลน (ประธาน Fed) ยังคงคำพูดให้เฝ้ารอการขึ้นดอกเบี้ย (patient) หลังจากการประชุมครั้งก่อนหน้า ได้ให้สัญญาว่า Fed จะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม 2 ครั้งแรกของปี หรือจนกระทั่งเดือน เม.ย. ถึงแม้ว่าดัชนีเศรษฐกิจอาจมีความผันผวนบ้างในระยะสั้น แต่โดยภาพรวมแล้วยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัว ซึ่งวานนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. อยู่ที่ระดับ 102.9 (เพิ่มขึ้น 11% จากเดือนก่อนหน้าและเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน ส.ค. 2550) ขณะที่ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน ธ.ค. ทรงตัวจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า
ประเด็นบวกยังหนุนเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 ราว 657 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า) เริ่มจากไต้หวันที่ยังคงซื้อสุทธิเป็นวันที่ 7 ราว 429 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 51% จากวันก่อนหน้า) ตามมาด้วยไทย ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5 ราว 103 ล้านเหรียญฯ (3.4 พันล้านบาท, เพิ่มขึ้น 45% จากวันก่อนหน้า) ขณะที่เกาหลีใต้สลับมาซื้อสุทธิอีกครั้งราว 82 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขายใน 3 วันหลังสุด) และ อินโดนีเซียซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 52 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 17%) สวนทางกับ ฟิลิปปินส์ที่ขายสุทธิเบาบางต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 9 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 38% จากวันก่อนหน้า)
ยังเห็นกระแสเงินทุนไหลเข้าภูมิภาคต่อเนื่อง รวมถึงในประเทศไทยที่ต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิติดต่อกัน 5 วันรวมกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ในระยะสั้นอาจมีการชะลอการซื้อบ้าง แต่เชื่อว่าไม่น่ามีการเทขายหนักออกมาอีกหลังจากนักลงทุนกลุ่มนี้เทขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ที่ผ่านมา ทำให้ยอดซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ปี 2552 ลดลงต่ำสุดในรอบ 4 ราว 2.8 หมื่นล้านบาท (ปัจจุบันอยู่ที่ 3.9 หมื่นล้านบาท) นอกจากนี้ยังมีประเด็นบวกจาก QE ที่ช่วยหนุนตลาดเอเซียต่อเนื่อง
รับเหมาฯ เข้าสู่วัฎจักรขาขึ้น ... ปีทองของ SYNTEC
นับจากปี 2558 เป็นต้นไป น่าจะถือว่าเป็นวัฏจักรขาขึ้นของกลุ่มรับเหมาก่อสร้างอีกครั้ง ทั้งนี้ประเมินจากแผนลงทุนโครงสร้างพื้นบานของรัฐ ที่มีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ หนุนให้งานรับเหมาก่อสร้างโดยรวม ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ขณะที่ผู้ประกอบการเองก็มีความพร้อมสูง เห็นได้จากโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดย ณ สิ้น 3Q57 Net Gearing เฉลี่ยต่ำเพียง 0.86 เท่า หลังจากที่ผู้ประกอบการมีการเตรียมความพร้อมของเงินทุนในหลายรูปแบบเช่น เพิ่มทุนจดทะเบียน (ITD, UNIQ), การรักษาเงินสดไว้โดยการจ่ายหุ้นปันผล (SEAFCO), การขายเงินลงทุนบางส่วนออกไป (CK, SYNTEC) ตลอดจนเตรียมความพร้อมของเม็ดเงินในอนาคตผ่านการแจก Warrant ที่มีราคาใช้สิทธิ์ต่ำกว่าราคาตลาด (NWR)
แม้ว่าราคาหุ้นรับเหมาก่อสร้างหลายบริษัทจะมีค่า PER ที่ค่อนข้างสูง แต่ภาพอุตสาหกรรมที่เห็นการเติบโตที่ชัดเจนในอนาคต บวกกับยังมีตัวเลือกการลงทุนอีกหลายบริษัทที่ยังมี Upside สูง ฝ่ายวิจัยจึงเพิ่มน้ำหนักการลงทุนกลุ่มจาก “เท่ากับตลาด” เป็น “มากกว่าตลาด” ไปตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา และยังคงชื่นชอบ SYNTEC (FV@B 3.85) โดยวานนี้ฝ่ายวิจัยไปปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2558 ขึ้นจากเดิม 14% สะท้อนคาดการณ์รายได้งานก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นจากโครงการคอนโดฯ และ Backlog จำนวนมากในปีนี้ ทั้งยังมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจาก Tax Shield อีกกว่า 500 ล้านบาท ส่งผลให้ Fair Value ขึ้นมาอยู่ที่ 3.85 บาท Upside กว่า 20% (ยังไม่รวม Upside เพิ่มเติมจาก Hidden Asset จำนวนมากที่มีโอกาสรับรู้เป็นกำไรพิเศษ เช่น หุ้น BMCL, ที่ดินที่ไม่ได้ใช้งาน) บวกกับ PER ที่อยู่ในระดับต่ำเพียง 11.3 เท่า จึงเลือกเป็น Top Pick
ตลาดหุ้นได้ sentiment เชิงบวกกับดอกเบี้ยขาลง
วานนี้ฝ่ายวิจัยได้นำเสนอบทวิเคราะห์ ผลบวกของการลดดอกเบี้ย ต่อผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งได้นำเสนอไปแล้ว 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย รถยนต์ และ ค้าปลีก-ค้าส่ง วันนี้จะนำเสนอเพิ่มเติมอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์รองลงมาดังต่อไปนี้
กลุ่มมีเดียส์ แนะนำหุ้นเด่น BEC(FV@B57)
เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาลง แม้ในอดีตหุ้นในกลุ่มจะมีฐานะเงินสดสุทธิ (Net Cash Position) รายรับบางส่วนได้จากดอกเบี้ยรับ แต่ภาพปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ เริ่มจะมีการกู้ยืมเพิ่มมากขึ้น(net borrower) หลังจากเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ทำให้ต้องลงทุนอุปกรณ์ดิจิทัล ค่าใช้จ่ายค่าเช่าโครงข่ายรายเดือน และมีงบลงทุนด้านคอนเทนต์ เพราะการแข่งขันสูงขึ้น จากการมีช่องทีวีดิจิทัลใหม่เกิดมากขึ้น แม้ค่าประมูลใบอนุญาต จะสามารถแบ่งจ่ายให้กสทช. เป็นเวลา 6 ปี ทุกเดือน ก.พ. จนถึงปี 2562 (ตามเงื่อนไขที่กสทช. กำหนด) โดยคาดว่าดอกเบี้ยจ่าย (กับสถาบันการเงิน) อิงกับ MLR หากมีการลดดอกเบี้ย น่าจะช่วยให้ต้นทุนทางการเงินของกลุ่มนี้ลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม หุ้นในกลุ่มส่วนใหญ่ได้ปรับตัวขึ้น สะท้อนข่าวกระแสความนิยมของช่องธุรกิจทีวีดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น จนทำให้ผู้ประกอบการหลายรายสามารถปรับขึ้นอัตราค่าโฆษณาเพิ่มขึ้นราว 1-5 ตัว เหลือเพียง BEC (FV@B57) เพียงบริษัทเดียวที่ยัง Laggard กลุ่ม และเชื่อว่าจะกลับมาเติบโตอีกครั้งในปี 2558 จากการปรับผังรายการช่องทีวีดิจิทัล 2 ช่อง คือ ช่อง 13 (3 Family) ช่อง 28 (3 SD) ตั้งแต่กลางเดือนม.ค. เป็นต้น ขณะที่ช่อง 3 อนาล็อค กับ ช่อง 33 (3 HD) ยังสามารถปรับขึ้นอัตราค่าโฆษณารายการข่าวบางรายการ ตั้งแต่ต้นปีนี้ ฝ่ายวิจัยจึงเลือก BEC(FV@B57) เป็น Top Pick ราคา Laggard ที่สำคัญมี PER ต่ำที่สุด และ ยังมีมี upside 11%
กลุ่มขนส่งทางอากาศ การปรับลดดอกเบี้ย คาดดีต่อกลุ่มสายการบิน
ด้วยลักษณะของธุรกิจที่มีการใช้เงินลงทุนสูง จึงทำให้ผู้ให้บริการสายการบินมีแนวโน้มได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง โดยเฉพาะ THAI ที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูงถึง 4.02 เท่า ขณะที่ AAV มีสัดส่วนเพียง 0.46 เท่า ขณะที่หนี้สินราวครึ่งนึง เป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ซึ่งมีดอกเบี้ยลอยตัวสัดส่วนสูงกว่า 50% ของหนี้สินรวม เช่น กรณี THAI มีหนี้สินที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว 50 % ของหนี้สินที่มีดอกเบี้ยรวมเช่นกัน (จำนวนราว 9.0 หมื่นล้านบาท) ดังนั้นหากมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% คาดว่าส่วน THAI กำไรจะเพิ่มขึ้น 180 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ราว 8.2% จากประมาณการเดิมในปี 2558 ตามลำดับ
ส่วน AAV ณ สิ้นสุดงวด 3Q57 มีหนี้ที่มีดอกเบี้ยลอยตัวราว 6.0 พันล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเป็นหนี้สินของสายการบินไทยแอร์เอเชีย ซึ่งเป็นบริษัทย่อยแห่งเดียวที่ AAV ถือหุ้นอยู่ 55% คำนวณเฉพาะส่วนที่ AAV ถือหุ้นในสายการบินไทยแอร์เอเชีย) ดอกเบี้ยที่ลดลง 0.25% จะส่งผลบวกให้กำไรสุทธิ AAV เพิ่มขึ้น 7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 0.5% จากประมาณการเดิม ยกเว้น AOT น่าจะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลงน้อย เพราะหนี้สินระยะยาวทั้งหมดมีอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (ณ สิ้นสุด 3Q57 ทั้งหมด 3.4 หมื่นล้านบาท) เลือก AAV(FV@B6) เป็น top pick เนื่องจากได้ประโยชน์ในภาวะดอกเบี้ยขาลงแล้วยังได้ประโยชน์น้ำมันขาลงอีก
กลุ่มสื่อสาร เป็น sentiment เชิงบวกเท่านั้น
คาดว่า ผลบวกของดอกเบี้ยขาลง จะเป็นเพียง Sentiment เชิงบวกต่อกลุ่มเท่านั้น โดยจะไม่มีผลกระทบต่อกำไรอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้แม้จะมีการก่อหนี้บางส่วน เพื่อลงทุนในธุรกิจโครงข่าย เนื่องจากค่าเฉลี่ยของกลุ่ม มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนน้อย ณ สิ้นสุด 3Q57 พบว่า ADVANC มี D/E สูงสุดราว 1.12 เท่า, ตามมาด้วย , DTAC D/E 0.73 เท่า TRUE D/E 0.65 เท่า, THCOM มี D/E 0.59 เท่า และ JAS D/E 0.37 เท่า พิจารณาจากโครงสร้างหนี้สินดังกล่าว คาดว่า THCOM, ADVANC, DTAC น่าจะ ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลงมากสุด เพราะมีภาระดอกเบี้ย ที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัวสัดส่วน 50% 60% และ 80% ตามลำดับ ( (ณ สิ้นสุดงวด 3Q57 THCOM ADVANC และ DTAC มีมูลค่าหนี้ที่มีดอกเบี้ยลอยตัวราว 4.0 พันล้านบาท 2.3 หมื่นล้านบาท และ 2.0 หมื่นล้านบาท) ทั้งนี้ หากมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จะช่วยให้ THCOM ADVANC และ DTAC มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นราว 8 , 46.0 และ 40 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 0.4%, 0.1% และ 0.3% จากประมาณการเดิมในปี 2558 ตามลำดับ
ส่วน TRUE และ JAS คาดไม่ได้ประโยชน์ดอกเบี้ยขาลงมากนัก โดยเฉพาะ TRUE เพราะได้ทยอยจ่ายเงินกู้ยืมระยะยาวไปทั้งหมด หลังได้เงินเพิ่มทุนในรอบที่ผ่านมา ทำให้ สิ้นงวด 3Q57 หนี้สินที่มีดอกเบี้ยทั้งหมด มาจากการออกหุ้นกู้ (4.4 หมื่นล้านบาท) และ เช่นเดียวกับ JAS แม้มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย ลอยตัวสัดส่วนราว 70% ของหนี้สินทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าราว 3.5 พันล้านบาท) แต่มีแผนจะระดมทน ผ่านการจัดตั้งกองทุน JASIF มูลค่าอย่างน้อย 5.5 หมื่นล้านบาท (ภาย ก.พ. นี้) จึงมีแนวโน้มที่จะนำเงินที่ได้ระดมทุนไปชำระหนี้สินที่มีดอกเบี้ยทั้งหมด ให้น้ำหนักการลงทุนหุ้นสื่อสารเท่ากับตลาดและเลือก INTUCH(FV@B113) และ AIT(FV@B53) เป็น Top pick เนื่องจาก PER ต่ำสุดในกลุ่มแล้ว ยังมี dividend yield สูงถึง 6.5% และ 4.8% ในปี 2558 ตามลำดับ
กลุ่มโรงแรม ได้ประโยชน์ดอกเบี้ยขาลงน้อย
แม้กลุ่มโรงแรมมีโครงสร้างหนี้สินต่อทุนสุทธิประมาณ 1 เท่า แต่ส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมโดยมีดอกเบี้ยจ่ายคงที่ หรือคิดเป็นสัดส่วน 55% ของภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยทั้งหมด เริ่มจาก MINT น่าจะได้ประโยชน์น้อยสุด เนื่องจากหนี้สินส่วนใหญ่ราว 66% อยู่ในรูปสกุลบาท และในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เกือบ 80% มาจากการออกหุ้นกู้ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ ที่เหลือ 15% เป็นหนี้เงินบาทที่มีดอกเบี้ยลอยตัว (หนี้สินสกุลเงินต่างประเทศ ดอกเบี้ยลอยตัว คิดเป็นสัดส่วน 34% ของหนี้สินทั้งหมด) ดังนั้นหากพิจารณาว่าดอกเบี้ยลดลง 0.25% ส่งผลให้กำไรของ MINT เพิ่มขึ้นน้อยมากไม่ถึง 0.5%
เช่นเดียวกับ CENTEL มีภาระหนี้สินสกุลบาทที่มีดอกเบี้ยลอยตัวคิดเป็นสัดส่วน 40% ของหนี้รวม (4,100 ล้านบาท) หากดอกเบี้ยลง 0.25% จะทำให้กำไรเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1% จากประมาณการเดิม
ยกเว้น ERW บริษัทเดียวในกลุ่มที่จะได้ประโยชน์สูงสุด เนื่องจากมีภาระหนี้สินแบบดอกเบี้ยลอยตัวสูงสุด 93% หรือประมาณ 7800 ล้านบาท ดังนั้นหากดอกเบี้ยลง 0.25% ทำให้กำไรคาดเพิ่มขึ้น 15.6 ลบ สูงสุดในกลุ่ม โดยคิดเป็นสัดส่วน 7-8% ของฐานกำไรที่ต่ำระดับ 200 ล้านบาทในปี 2558
อย่างไรก็ตามเนื่องจากฐานกำไรของกลุ่มโรงแรมส่วนใหญ่กว่า 70% มาจาก MINT ดังนั้นผลกระทบของดอกเบี้ยขาลง จึงไม่ได้ส่งผลให้กำไรกลุ่มเพิ่มขึ้นมากนัก โดยคาดเพิ่มขึ้นไม่ถึง 1% ของฐานกำไรกลุ่มปี 2558 ประมาณ 7 พันล้านบาท หุ้นกลุ่มโรงแรมเลือก ERW(FV@B6) Top pick เพราะเป็นหุ้น Turnaround และ ราคาตลาดมี upside มากสุดราว 25%
กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง/พลังงาน ได้รับประโยชน์น้อยจากดอกเบี้ยขาลง
เนื่องจากบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีหนี้สินสูง อย่างเช่น ITD และ CK มีหนี้สินหลักๆ มาจากการออก หุ้นกู้ ซึ่งได้กำหนดดอกเบี้ยจ่ายคงที่ ขณะที่บริษัทรับเหมาหลายบริษัทมีสถานะเป็น Net Cash เช่น STPI, SRICHA, BJCHI, STEC, SYNTEC จะมีรายได้ดอกเบี้ยรับที่ลดลง หากอัตราดอกเบี้ยพลิกกลับมาเป็นขาลง
และ เช่นเดียวกับ กลุ่มพลังงาน ที่ได้ประโยชน์น้อยมาก เพราะส่วนใหญ่หนี้สินหลักของกลุ่มพลังงานกว่า 85% จะเป็นการออกหุ้นกู้ชนิดต่างๆ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ ดังนั้นหากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวลดลงจึงส่งผลกระทบไม่มีนัยฯต่อประมาณการกำไรของกลุ่มฯ
อุตสาหกรรมเหล็ก ได้ประโยชน์แต่ยังไม่สามารถหักล้างผลขาดทุนได้
เนื่องจากเป็นผู้ผลิตเหล็กต้นน้ำได้แก่ ผู้ผลิตเหล็กแท่งแบน (Slab) และผู้ผลิตเหล็กแท่งยาว (Billet) และต้องซื้อวัตถุดิบมาสต็อกจำนวนมาก นอกเหนือจากต้องลงทุนซื้อเตาเหลอมและปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร ทำให้มีความต้องการเงินกู้ระยะยาว และ เงินทุนหมุนเวียนกิจการสูง บริษัทที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลงมากที่สุด คือกิจการที่โครงสร้างทางการเงินที่มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยอยู่มาก เช่น SSI โดยมี Net Debt อยู่ที่ระดับ 5.1 หมื่นล้านบาท และ มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (DE Ratio) อยู่สูงถึง 11.5 เท่า แต่อย่างไรก็ตามดอกเบี้ยที่ลดลง จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของ SSI ที่เคยอยู่ในระดับสูงถึง 800 ล้านบาท/ไตรมาส ปรับลดลงมาได้ แต่ยังไม่สามารถช่วยฟื้นให้สามารถกลับมามีกำไรได้ จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุน
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล