- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 23 January 2015 15:57
- Hits: 1767
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดน่าจะได้ Sentiment เชิงบวก หลัง ECB เตรียมอัดฉีดเงินกว่า 1.3 แสนล้านเหรียญฯ หรือ 4% ของ GDP เพิ่มน้ำหนักการลงทุนเป็น 70% จากเดิม 50% แนะนำหุ้นใหญ่ Laggards และ undervalue โดยเลือก SCC(FV@B530) และ KBANK(FV@B300) เป็น Top picks
ตลาดหุ้นโลกกลับมาสดใสอีก...ยุโรปจะอัดฉีด QE มี.ค. นี้
ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) วานนี้ สรุปว่าจะอัดฉีดเงินผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาลและเอกชน (สินทรัพย์ที่อยู่ในระดับน่าลงทุนซึ่งออกโดยรัฐบาลหรือ ตัวแทน ที่ได้รับการรับรองจาก Eurosystem NCBs’ shares) จำนวน 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ซึ่งถือเป็นการทำ QE แบบปลายปิด กำหนดระยะเวลารวมทั้งโครงการ 19 เดือน (เริ่ม มี.ค. 2558 และสิ้นสุด ก.ย. 2559) โดยคิดเป็นเม็ดเงินรวมทั้งสิ้น 1.14 ล้านล้านยูโร (1.3 ล้านล้านเหรียญฯ) ซึ่งใกล้เคียงกับการให้สัมภาษณ์ของโฆษก ECB และนักเศรษฐศาสตร์จาก บลูมเบิร์ก 93% ว่าจะใช้เม็ดเงิน 5-5.5 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน (6-6.35 แสนล้านเหรียญฯต่อปี)
ทั้งนี้เม็ดเงินโดยรวมแล้วคิดเป็น 4 % ของ norm GDP ดังที่กล่าวแล้วเมื่อวานนี้ว่าเม็ดเงินรวมครั้งนี้ 1.3 ล้านล้านเหรียญฯ แม้จะคิดเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของเม็ดเงินที่สหรัฐใช้ QE3 รวมทั้งสิ้น 2.6 ล้านล้านเหรียญฯ แต่กลับใกล้เคียงกันหากคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ขณะที่ญี่ปุ่นใช้วงเงิน QE คิดเป็นราว 38% ของ GDP (1.8 ล้านล้านเหรียญฯ สิ้นปี 2557 ยังไม่รวมปี 2558 อีกเฉลี่ยปีละ 75 ล้านล้านเยนต่อปี หรือ 6.35 แสนล้านเหรียญฯ ต่อปี) และอังกฤษ คิดเป็นราว 22% ของ GDP (6 แสนล้านเหรียญฯ) ซึ่งน่าจะกระตุ้น
ให้เศรษฐกิจยุโรป หลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด (เดือน ธ.ค. เงินเฟ้อติดลบ 0.2% เข้าสู่เงินฝืดเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี) และน่าจะดีต่อตลาดหุ้นทั่วโลก ทั้งนี้หากพิจารณาผลบวกต่อตลาดหุ้น จากการใช้ QE ในอดีตสรุปได้ดังนี้
สหรัฐ :
QE1 (ธ.ค. 2551 – มิ.ย. 2553) วงเงินกว่า 1.7 ล้านล้านเหรียญฯ หนุนให้ตลาดหุ้น S&P500 ฟื้นตัวจากช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่ลงไปต่ำสุด 666 จุด ในช่วงต้นปี 2552 ปรับขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่องถึงระดับ 1,200 จุด หรือกว่า 80% เมื่อสิ้นสุด QE1
QE2 + operation twist (พ.ย. 2553 – ธ.ค. 2555) วงเงินกว่า 1.2 ล้านล้านเหรียญฯ หนุนให้ตลาดหุ้น S&P500 ปรับขึ้นจาก 1,180 จุด ไปเหนือ 1,400 จุด หรือราว 20% เมื่อสิ้นสุดมาตรการ
QE3 : (ก.ย. 2555 – ต.ค. 2557) วงเงินกว่า 1.6 ล้านล้านเหรียญฯ หนุนให้ตลาดหุ้น S&P500 ปรับขึ้นจาก 1,440 จุด ไปเหนือ 2,000 จุด หรือกว่า 40% เมื่อสิ้นสุดมาตรการ
อังกฤษ :
ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน และปรับเพิ่มวงเงินต่อปีขึ้นมาเรื่อยๆ โดยครั้งหลังสุดขึ้นมาอยู่ที่ 3.75 แสนล้านปอนด์ต่อปี ตั้งแต่ ส.ค. 2555 ช่วยให้ตลาดหุ้น FTSE เพิ่มขึ้นจาก 5,635 จุด มาทดสอบที่ 6,800 จุด หรือกว่า 20%
ญี่ปุ่น :
ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน ได้เพิ่มฐานเงินในระบบมาเป็นระยะๆ ครั้งล่าสุดขึ้นมาอยู่ที่ 60-80 ล้านล้านเยนต่อปี ตั้งแต่ ต.ค. 2557 ช่วยให้ตลาดหุ้นนิกเกอิเพิ่มขึ้นจาก 15,650 จุด ขึ้นมาที่ระดับ 17,500 จุด หรือกว่า 12%
เงินทุนไหลเข้าเอเซียต่อเนื่องเป็นวันที่ 4
วานนี้เงินทุนจากต่างชาติยังไหลเข้าภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 โดย ซื้อสุทธิ ลดลง 21% จากวันก่อนหน้า เหลือราว 543 ล้านเหรียญฯ ทั้งนี้ซื้อสุทธิสูงสุดยังคงเป็นไต้หวันเช่นเดิม และ ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4 แต่ลดลง 28% เหลือราว 390 ล้านเหรียญฯ ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 80 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 65% จากวันก่อนหน้า) ส่วนเกาหลีใต้ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 ใกล้เคียงกับวันก่อนหน้าราว 50 ล้านเหรียญฯ และไทยซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 43 ล้านเหรียญฯ (1.4 พันล้านบาท, เพิ่มขึ้นถึง 71% จากวันก่อนหน้า) กลับกันกับอินโดนีเซียที่สลับมาขายสุทธิอีกครั้งราว 20 ล้านเหรียญฯ (ขายสุทธิ 8 ใน 9 วันหลังสุด)
ทั้งนี้ ผลจากการประชุม ECB วานนี้น่าจะยังคงหนุนตลาด และ กระแสเงินทุนไหลเข้าได้ในช่วงสั้น หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่อง รวมถึงหุ้นไทยที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิใน 2 วันหลังสุดรวม 2.2 พันล้านบาท (แต่ยอดรวมตั้งแต่ต้นปี 2558 ยังเป็นขายสุทธิถึง 1.7 หมื่นล้านบาท) นอกจากนี้แรงซื้อจากนักลงทุนสถาบัน ที่สลับมาซื้อสุทธิถึง 3.4 พันล้านบาท ช่วยหนุนดัชนีหุ้นไทยให้ปรับตัวขึ้นแรง วานนี้
การเมืองหลังลงมติถอดถอน น่าติดตามมากขึ้น
ในวันนี้ สนช. จะมีการประชุมเพื่อลงมติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามที่ ปปช. ได้มีการชี้มูลความผิด โดยในช่วงเช้าจะมีการลงคะแนนแบบลับ ในการถอดถอน อดีตประธานรัฐสภาฯ (คุณ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์) และ อดีตประธานวุฒิสภา (นายนิคม ไวยรัชพานิช) ในฐานความผิดเกี่ยวกับการใช้อำนาจควบคุมการประชุม และในช่วงบ่ายของวันนี้ จะมีการลงคะแนนลับ ในการถอดถอน อดีตนายกรัฐมนตรี (คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ในฐานความผิดเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว ดูเหมือนความสนใจหลักจะอยู่ที่การลงมติภาคบ่าย ซึ่งจากการตรวจสอบกระแสข่าวที่เผยแพร่ออกมาตามสื่อต่างๆ ส่วนใหญ่คาดหมายว่า น่าจะมีการลงมติถอดถอน อดีตนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนที่เกิน 3 ใน 5 หรือ 132 เสียงขึ้นไป หากผลออกมาตามที่ถูกคาดหมาย ก็จะทำให้ ผู้ที่ถูกถอดถอนต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง (สิทธิในการเลือกตั้งและลงรับสมัครเลือกตั้ง) เป็นระยะเวลา 5 ปี และหลังจากนี้ยังต้องติดตามอีกว่า ในส่วนของกรณีโครงการรับจำนำข้าว อัยการสูงสุด จะนำขึ้นฟ้องเป็นคดีอาญา เพิ่มขึ้นมาอีกส่วนหนึ่งหรือไม่ ซึ่งจากการติดตามความคืบหน้า ปปช. เปิดเผยว่าคณะทำงานร่วมระหว่าง ปปช. และ อัยการ ได้ลงมติให้ส่งฟ้องคดีอาญาในกรณีดังกล่าวแล้ว
ประเด็นที่ต้องติดตามหลังจากนี้ จะมี 2 ส่วน ได้แก่ การพิจารณาถอดถอน 38 สว. ในกรณีที่ลงชื่อสนับสนุนในการแก้รัฐธรรมนูญ และ แรงกระเพื่อมทางการเมือง ของกลุ่มการเมืองต่างๆ ว่าจะทำให้การเมืองไทยเข้าสู่ภาวะความร้อนแรงอีกครั้งหรือไม่ ซึ่งบรรยากาศดังกล่าว ถือว่าเป็นลบต่อ Sentiment การลงทุนในตลาดหุ้นไทย
เน้นหุ้นใหญ่ที่ยัง Laggards : SCC, KBANK
แม้ประเด็นการเมืองยังมีอยู่ แต่ความคาดหวังว่ากระแสเงินทุนไหลเข้า จากการการอัดฉีดเงินเข้าระบบของ ECB และการตัดลดดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลก (ล่าสุดประเทศเดนมาร์คตัดลดดอกเบี้ยเงินฝากไป 0.15% เป็น -0.35% หลังจากก่อนหน้านี้ อินเดียลดลง 0.25% เหลือ 7.75% แคนนาดา ปรับลด 0.25% เหลือ 0.75% สวิสลดลง 0.25% เป็น -0.75% เป็นต้น) น่าจะหนุน Fund Flow จะกลับมาเข้าตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง หลังจากที่ขายหุ้นไทยต่อเนื่อง 2 ปีที่ผ่านมา แม้ขณะนี้ดัชนีหุ้นไทยจะมี expected PER 15 เท่า อิง กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ในปี 2558 103.9 บาทต่อหุ้น หรือ (EPS Growth) แต่ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน กลยุทธ์การลงทุน จึงแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนจาก เดิม 50% เป็น 70% โดยเน้นหุ้นขนาดใหญ่ที่ยัง Laggards
ทั้งนี้ หากพิจารณาการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาด ตั้งแต่ต้นปี 2558 พบว่า SET ที่ 1560.34 จุดวานนี้ ปรับตัวขึ้นราว 4.18% จากสิ้นปี 2557 แต่พบว่าดัชนี SET50 กลับปรับตัวขึ้นเพียง ราว 3.81% ซึ่งหากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้นใน SET50 พบว่าหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงกว่าตลาดมีทั้งหมด 17 บริษัท แต่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ BAY, TRUE, TOP, CK และ JAS ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 55.87%, 16.22%, 14.88%, 12.87% และ 9.52% ตามลำดับ และให้ผลตอบแทนลำดับรองลงมาคือ IRPC(+9.15%, TMB 7.53%, BGH 6.98%, PS 6.96%, BH 6.38%, TCAP 6.3% BCP 6.3%)
ตรงกันข้ามหุ้นที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าตลาดใน SET50 อีก 33 บริษัท พบว่ามีมากถึง 20 บริษัท ที่ให้ผลตอบแทนติดลบ ซึ่งส่วนใหญ่กระจุกตัวในกลุ่มธนาคารพานิชย์ขนาดใหญ่ได้แก่ SCB, KBANK, KTB และ BBL ที่ปรับตัวลดลง -0.27%, -0.44%, -0.88% และ -3.09% ตามลำดับ ส่วนหุ้นอื่น ๆ ที่ปรับตัวลดลงมากสุดคือ CPF, BJC, DTAC, SCCC, TUF และ PTTEP ลดลง -7.34%, -4.24%, -3.63%, -3.23% -2.32% และ -2.23% ตามลำดับ
ในสถานการณ์นี้จึงขอแนะนำหุ้นทาให้ผลตอบแทนตลาดน้อย แต่ศักยภาพการทำกำไรยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี มี upside สูงได้แก่ SCC(FV@B530) (PER 13.8 เท่า upside 14.2% และ yield 3.23%) KBANK(FV@B300)(PER 10.2 เท่า upside 31.6% และ yield 2.3%)) INTUCH(FV@B113)(PER 15.2 เท่า upside 38.7% และ yield 6.57%) และ TTW([email protected] PER 15.2 เท่า upside 13.8% และ yield 5.94%)
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล