- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 21 January 2015 15:44
- Hits: 1856
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดหุ้นไทยยังคงแกว่งตัวในกรอบ 1,540-1,524 จุด ตราบที่ยังไม่มีประเด็นใหม่ กลยุทธ์ยังเน้นเลือกเป็นรายหุ้นที่ได้ประโยชน์จากน้ำมันขาลง (SCC) แต่วันนี้แนะนำ MCS([email protected]) เป็น Top pick เป็นหุ้น Turnaround เนื่องจากการขยายการลงทุนในญี่ปุ่น รองรับกีฬาโอลิมปิกปี 2020
IMF ปรับ GDP Growth โลก ใกล้เคียงกับ World Bank
วานนี้ IMF ได้ปรับลด GDP Growth โลก ครั้งแรกของปีนี้ ตามหลังการปรับลดของ World Bank ที่ได้ทำไปก่อนหน้า โดย IMF ได้ปรับลด GDP Growth โลก ทั้งปี 2558 เหลือ 3.5% (จากเดิม 3.8% vs World Bank 3%) และ ในปี 2559 เหลือ 3.7% (จากเดิม 4% vs World Bank 3.3%) โดยเป็นการปรับลดเกือบทุกประเทศ ยกเว้น สหรัฐ และ สเปน ที่ปรับขึ้น
และวานนี้ จีน รายงาน GDP Growth งวด 4Q57 7.3% (ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า) ทำให้ทั้งปี 2557 ขยายตัว 7.4% (สอดคล้องกับเป้าหมายทางการจีน) ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากที่รัฐบาลจีน ได้กระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการปรับลดดอกเบี้ยฯ ในเดือน พ.ย. 0.25% นับเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี และ เช่นเดียวกับ รัฐบาลมาเลเซีย ได้ปรับลดการคาดการณ์ในปี 2558 เหลือ 4.5-5.5% (จากเดิม 6%) เนื่องจากผลกระทบของการบริโภคที่ชะลอตัวลง หลังรัฐบาล ได้ยกเลิกมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันตั้งแต่ปลายปี 2557 และ กระทบจากปัจจัยภายนอก ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการสูงถึง 90% ของ GDP (นำเข้ารวม 75% ของ GDP)
โดยสรุป การปรับลด GDP Growth ทั้ง IMF และ World Bank ได้สะท้อนการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งให้เงินเฟ้อทั่วโลกชะลอตัวลง และต่ำกว่าเป้าหมายเบื้องต้นที่ธนาคารกลางในหลายประเทศกำหนด โดยเฉพาะ ยุโรป ที่ได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืดเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี (เงินเฟ้อ ธ.ค. ติดลบ 0.2%) ดังนั้นจึงคาดว่านโยบายการเงินผ่อนคลายยังคงมีความจำเป็นในทุกประเทศต่อเนื่อง โดยเฉพาะยุโรป ซึ่งตลาดคาดว่าจะมีการใช้ QE ขนาดใหญ่ราว 550 พันล้านยูโร (635 พันล้านเหรียญฯ) หรือ คิดเป็น 4 % ของ GDP ในการประชุมพรุ่งนี้ (ทราบผล 23 ม.ค. ตามเวลาไทย) และสหรัฐ ก็น่าจะเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยฯ ครั้งแรกออกไปในช่วงปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 ล่าช้ากว่าเดิมที่คาดไว้ในช่วง 2H58 ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยหนุนตลาดในระยะ 1-3 เดือนข้างหน้า
ต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อในบางประเทศ
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 และ เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 79% อยู่ที่ราว 277 ล้านเหรียญฯ โดยที่ยอดซื้อส่วนใหญ่ยังคงมาจากไต้หวัน ซึ่งซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 291 ล้านเหรียญฯ ใกล้เคียงกับวันก่อนหน้า และ ตามมาด้วยเกาหลีใต้สลับมาซื้อสุทธิราว 43 ล้านเหรียญฯ (หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 6 วันก่อนหน้า) สวนทางกับ อินโดนีเซีย ที่ยังคงขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 แต่ลดลง 52% เหลือราว 27 ล้านเหรียญฯ ใกล้เคียงกับไทยที่ขายสุทธิเป็นวันที่ 8 แต่ลดลง 18% เช่นกัน เหลือราว 25 ล้านเหรียญฯ (819 ล้านบาท) และสุดท้ายคือฟิลิปปินส์ สลับมาขายสุทธิอีกครั้ง ราว 6 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสุทธิติดต่อกัน 5 วันก่อนหน้า)
เป็นที่น่าสังเกตว่า นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาซื้อสุทธิอีกครั้งในบางประเทศ โดยสรุปตั้งแต่ต้นปี 2558 ที่ผ่านมา พบว่านักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิเพียง 2 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ ราว 362 ล้านเหรียญฯ และ อินเดีย ราว 223 ล้านเหรียญฯ ขณะที่ยังขายสุทธิในประเทศที่เหลือ คือ เกาหลีใต้ขายสุทธิ 847 ล้านเหรียญฯ, ไทย 587 ล้านเหรียญฯ (1.9 หมื่นล้านบาท), ไต้หวัน 455 ล้านเหรียญฯ และอินโดนีเซียขายสุทธิราว 229 ล้านเหรียญฯ เป็นต้น แต่เชื่อว่าต่างชาติน่าจะค่อย ๆ กลับมาเลือกซื้อรายประเทศ ด้วยเหตุผลที่ขายไปมากแล้ว และ ค่าเงินเอเซียที่เริ่มกลับมาแข็งค่าจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ลดลงน่าจะเป็นแรงหนุนที่สำคัญอีกประการหนึ่ง
หุ้นเก็งกำไรคึกคัก vs Trading Alert ทำงาน
มีดัชนีบ่งชี้ว่าตลาดหุ้นไทยมีการเก็งกำไรสูงอีกครั้ง และน่าจะคล้ายภาพที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2557 แม้ว่าตลาดหลักทรัพย์จะมีมาตรการสกัดกั้นหุ้นร้อน ผ่านตาข่าย Trading Alert ก็ตาม สะท้อนได้จากนับตั้งแต่วันแรกที่เปิดซื้อขายปี ตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค. จนถึงวานนี้ รวม 12 วันทำการ พบว่ามูลค่าการซื้อขายรวม 519,251.69 ล้านบาท แต่แยกเป็น มูลค่าการซื้อขายเฉพาะ SET50 ราว 248,274 ล้านบาท หรือประมาณ 48% นั่นหมายที่เหลือเป็นมูลค่าซื้อหุ้นนอก SET50 มีสัดส่วนที่สูงถึง 52% (เทียบกับ 12 วันทำการของปี 2557 มูลค่าซื้อขาย SET50 328,287 ล้านบาท หรือคิดเป็นที่ราว 80% ของมูลค่าซื้อขายรวม) ขณะที่หุ้นนอก SET50 มี Market Cap เพียง 30% ของมูลค่าตลาดรวม (ขณะที่ SET50 มี Market Cap 70% ของมูลค่าตลาดรวม )
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาแยกตามประเภทของนักลงทุน พบว่า นักลงทุนรายย่อยมีสัดส่วนสูงถึง 68% ของปริมาณการซื้อขายรวมในช่วงเวลาดังกล่าว (ที่เหลือเป็นนักลงทุนสถาบัน พอร์ตโบรกเกอร์ และ ต่างชาติ) สะท้อนให้เห็นภาวะการเก็งกำไรของอยู่ในระดับสูง
และ พบว่าขณะนี้ ตลาดหลักทรัพย์ได้ ดักหุ้นร้อน ที่เข้าข่าย Trading Alert ซึ่งในระดับ 1 ต้องวางเงินสดเต็มจำนวน ก่อนการสั่งซื้อหุ้น หรือ Cash Balance แล้วกว่า 46 บริษัท (ไม่รวมกับหุ้นที่ติดบัญชี Cash Balance อยู่เดิมตั้งแต่ปลายปี 2557 อีก 26 บริษัท) โดยล่าสุดหุ้น KC ถูกประกาศใช้มาตรการ Trading alert ระดับ 2 นั่นคือ ถูกห้ามนำไปใช้เป็นหลักประกัน ควบคู่กับการซื้อขายด้วยบัญชี cash balance
นอกจากนี้ การคาดหมายผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนงวดปี 2557 และการให้ข่าวต่างๆ ยังเป็นอีกปัจจัยที่ผลักดันให้พฤติกรรมการเก็งกำไรในหุ้นขนาดกลาง-เล็กกลับมาอีกครั้งตั้งแต่ต้นปี โดยรูปแบบการซื้อขายดังกล่าวเคยเกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือน พ.ย.2557 ซึ่งหลังจากนั้น เดือน ธ.ค. 2557 SET ก็ปรับลงหนักกว่า 6% ดังนั้น นักลงทุนจึงควรระมัดระวังการลงทุน โดยให้เน้นลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ และมีแนวโน้มผลประกอบการที่เติบโต รวมทั้งมีระดับ P/E ที่เหมาะสมไม่สูงมากนัก เนื่องจากจะทนแรงเสียดทานได้ดีกว่าหุ้นขนาดเล็กยามที่ตลาดปรับฐาน
วันนี้เลือก MCS เป็น Top pick เนื่องจาก Turnaround
ผลประกอบการปี 2557 ถือเป็นจุดต่ำสุดของ MCS ซึ่งเป็นผลจากปริมาณคำสั่งซื้อที่เบาบางจากลูกค้าญี่ปุ่น และมีการเลื่อนแผนส่งมอบเหล็กอย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าผลประกอบการจะพลิกฟื้นแรงในปี 2558 และดีต่อเนื่องในระยะยาว ด้วยแรงหนุนจากภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่แนวโน้มดีขึ้น ทำให้ลูกค้ากลุ่มผู้รับเหมาในญี่ปุ่นสั่งออร์เดอร์ทะลักเข้ามาจำนวนมากจนส่งผลให้ยอด Backlog สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.3 แสนตัน ซึ่งเป็นระดับที่สามารถรองรับรายได้ให้กับ MCS ในช่วง 3 ปีข้างหน้า (คาดส่งมอบในปี 2558 ไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นตัน) อีกทั้งยังมีปัจจัยบวกในระยะยาวจากปริมาณงานที่จะเข้ามาเป็นจำนวนมากนับตั้งแต่ปี 2560 เพื่อใช้สำหรับการก่อสร้างสนามกีฬาโอลิมปิกที่ญี่ปุ่น ฝ่ายวิจัยจึงเชื่อว่าผลประกอบการของ MCS จะกลับเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นรอบใหม่อีกครั้ง
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมีเพียงการอ่อนค่าของเงินเยน (ตรงกันข้ามเงินบาทจะแข็งค่าเมื่อเทียบกับเยน) เนื่องจากรายได้หลักมากกว่า 90% ของ MCS อยู่ในสกุลเงินเยน จึงได้รับผลกระทบเชิงลบเมื่อแปลงค่าเงินกลับมาเป็นรูปเงินบาท อย่างไรก็ตาม การขยับราคาขายสำหรับงานรอส่งมอบใหม่ ขึ้นเป็น 2.3 แสนเยน/ตัน เทียบกับ 1.95 แสนเยน/ตัน ในปี 2557 รวมไปถึง MCS มีต้นทุนเหล็กในรูปสกุลเงินเยนอยู่ราว 60% ของต้นทุนรวม (Natural Hedging) จึงคาดว่าอัตราการทำกำไรโดยรวมของ MCS ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ในด้าน Valuation ฝ่ายวิจัยประเมินกำไรจากการดำเนินงานปกติของ MCS ในปี 2558 ที่ 383 ล้านบาท และจากฐานของกำไรที่จะกลับมาอยู่ในระดับสูง และสม่ำเสมออีกครั้งนับจากปี 2558 ฝ่ายวิจัยจึงปรับไปใช้การประเมิน Fair Value โดยอิง PER ที่ 10 เท่า ได้มูลค่าพื้นฐานใหม่ ที่ 7.66 บาท มี Upside 24.6% จึงทำให้ฝ่ายวิจัยปรับคำแนะนำจาก “ถือ” เป็น “ซื้อ”
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล