- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 19 January 2015 16:15
- Hits: 2019
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ท่ามกลางความผันผวนค่าเงินโลก แต่ค่าเงินเอเซียกลับแข็งค่า เพราะได้ประโยชน์ต้นทุนน้ำมันนำเข้าที่ลดลง โดยวันนี้เลือก SCC(FV@B530) เป็น Top pick นักวิเคราะห์ปรับเพิ่ม Fair Value อีก 15 บาท สะท้อนธุรกิจปิโตรเคมีขาขึ้น โดยราคาหุ้นปัจจุบันมี Upside 16% และ มี Dividend Yield ปี 2558 อีก 3.29%
ค่าเงินโลกผันผวน แต่เป็นผลกระทบจากการปรับตัวของสวิสฟรังก์
ค่าเงินโลกผันผวนอีกครั้งหนึ่ง หลังจากปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสวิส ได้ยกเลิกการตรึงค่าเงินไว้กับสกุลยูโร ที่ 1.2 ยูโรต่อสวิสฟรังก์ เชื่อว่าน่าจะเป็นลดความเสี่ยงจากการอ่อนค่าของเงินยูโร จากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และ การใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดคาดหมายว่าจะมีการอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ (น่าจะทราบความชัดเจนในการประชุมรอบถัดไปคือ 22 ม.ค. ที่จะถึงนี้) ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินสวิสฟรังก์แข็งค่าอย่างรวดเร็วจาก 1.2 ยูโรต่อสวิสฟรังก์ เหลือ 1.006 ยูโรต่อสวิสฟรังก์ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (หรือในช่วงเวลาเพียง 1 วัน) หรือ เงินยูโรอ่อนค่า 17% และเช่นเดียวกัน ได้ดันให้ค่าเงินสกุลคู่ค้าอย่างดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่า 12.5% เมื่อเทียบกับสวิสฟรังก์ในช่วงวันเดียวเช่นกัน (หลังจากที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสวิสฟรังก์ราว 12% ในปี 2557)
ปัจจัยหนุนค่าเงินสวิสฟรังก์ที่แข็งค่า ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากเศรษฐกิจที่แนวโน้มฟื้นตัวที่ดีกว่าสหภาพยุโรป สะท้อนได้จาก GDP Growth ได้ฟื้นตัว (เป็นบวก) ต่อเนื่อง 19 ไตรมาส หลังจากเกิดวิกฤตหนี้สาธารณะในปี 2551-2552 (อัตราการว่างงานลดลงจากเฉลี่ย 3.7% ในปี 2552 เหลือเฉลี่ย 3% ในปี 2556 และ 2557) ทั้งนี้การที่สวิสเป็นประเทศนำเข้านำมัน 10% ของยอดนำเข้ารวม (หรือคิดเป็น 4%GDP) ทำให้ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง แต่อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินสวิสฟรังก์เมื่อวันศุกร์น่าจะถือว่าเป็นการปรับตัว (rebalance) ให้สอดคล้อง กับพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ หลังจากที่ถูกบิดเบือนจากการตรึงค่าเงินในช่วงที่ผ่านมา
ผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินสวิสฟรังก์ แน่นอนน่าจะเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคในประเทศ เพราะทำให้ต้นทุนหลักของสินค้ามีราคาถูกลง อีกทั้งเกิดประโยชน์ต่อสินค้านำเข้ารองเช่นกัน ซึ่งได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์น้ำมัน เครื่องจักรอุตสาหกรรม อัญมณีรถยนต์และอุปกรณ์ เครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ พลาสติก และ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
ตรงกันข้ามสินค้าส่งออกจะได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากสินค้าส่งออกจะแพงขึ้นในสายตาผู้ซื้อ ทั้งสินค้าที่ส่งออกของสวิสฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยา (ส่งออกสุทธิ) เครื่องจักรอุตสาหกรรม (ส่งออกสุทธิ) นาฬิกา อัญมณี (ส่งออกสุทธิ) เคมีภัณฑ์ (ส่งออกสุทธิ) เครื่องจักรไฟฟ้า (นำเข้าสุทธิ) ผลิตภัณฑ์น้ำมัน (นำเข้าสุทธิ) และ พลาสติก (นำเข้าสุทธิ) เป็นต้น
เช่นเดียวกับ การปรับของตลาดหุ้นสวิส น่าจะเกิดจากการปรับฐานของหุ้นที่ได้ประโยชน์-เสียประโยชน์ต่อ จากการเปลี่ยนแปลงค่าเงินสวิสฟรังก์ ซึ่งหลังจากนี้ตลาดหุ้นก็น่าจะปรับตัวตามพื้นฐานของบริษัทเช่นกัน
ผลผลิตน้ำมันเกินความต้องการโลก มีแนวโน้มลดลง
ดังที่กล่าวข้างต้นถึงค่าเงินโลกผันผวน จากผลกระทบของการยกเลิกการลอยตัวของเงินสวิสฟรังก์ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลคู่ค้าหลัก 5 ประเทศ (สวิสฟรังก์เป็น 1 ใน 5 สกุลหลัก) มีแนวโน้มทรงตัว โดย Dollar Index แกว่งอยู่ในกรอบ 92 – 92.65 จุด สวนทางกับเงินยูโร ที่ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ล่าสุดอยู่ที่ 1.1559 เหรียญฯต่อยูโร หรือ อ่อนค่า 15% นับจากต้นปี 2557 ตรงข้ามกับค่าเงินในภูมิภาคเอเซียมีแนวโน้มที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยเฉพาะเงินบาทของไทยนับตั้งแต่ต้นปีแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์อย่างมีนัยฯ กว่า 1.2% ส่วนหนึ่งน่าจะได้ประโยชน์ต้นทุนนำเข้าน้ำมันที่ลดลง
ค่าดอลลาร์ที่ชะลอการแข็งค่า เชื่อว่ามีส่วนทำให้ ราคาน้ำมันดิบดูไบเริ่มฟื้นตัว จากบริเวณ 43 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ขึ้นมาที่ 45 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ตลาดหุ้นเกือบทั่วโลกปรับตัวบวกขึ้นในวันศุกร์ทีผ่านมา นำโดยหุ้นในกลุ่มน้ำมันและปิโตรเลียม และ เช้านี้พบว่า ตลาดหุ้นออสเตรเลีย บวกขึ้นได้เกินกว่า 1% นำโดยหุ้นในกลุ่มน้ำมัน และถ่านหิน โดยเชื่อว่าราคาน้ำมันดิบโลกที่บริเวณ 43 - 45 เหรียญฯ ต่อ บาร์เรล น่าจะเป็นจุดต่ำสุดแล้ว เนื่องจากเป็นราคาที่ต่ำกว่าจุดคุ้มทุนของผู้ประกอบการขุดเจาะน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ซึ่งจากผลสำรวจโดย Baker Hughes Inc. (BHI) พบว่า มีแท่นขุดเจาะกว่า 200 แห่ง ต้องหยุดการขุดเจาะเป็นการชั่วคราว ในรอบ 6 สัปดาห์ที่ผ่านมานับตั้งแต่ OPEC ประกาศคงกำลังการผลิตน้ำมันดิบ ทำให้เหลือแท่นขุดเจาะเพียง 1,366 แห่งซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ทำการเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2530 และส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐหดหายไปกว่า 6 หมื่นบาร์เรลต่อวัน เชื่อว่าในท้ายที่สุด น่าจะทำให้ supply น้ำมันที่เกินความต้องการค่อยๆ ลดลง ซึ่งทำให้ราคาหุ้นพลังงานมีแนวโน้มฟื้นตัวในลักษณะเดียวกัน
เงินทุนไหลออกต่อเนื่องทั้งในหุ้นและตราสารหนี้ไทย
วันศุกร์ที่ผ่านมา พบว่าเงินทุนยังคงไหลออกจากภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 โดยขายสุทธิราว 666 ล้านเหรียญฯ และเพิ่มขึ้น 53%จากวันก่อนหน้า ) ทั้งนี้เป็นการขายสุทธิในทุกประเทศเช่นเดิม กล่าวคือ ยังขายสุทธิสูงสุดเกาหลีใต้ และ ต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ด้วยมูลค่าขายที่เพิ่มขึ้น 73% อยู่ที่ 321 ล้านเหรียญฯ ตามมาด้วยไต้หวัน ขายสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 265 ล้านเหรียญฯ และเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า ส่วนไทยขายสุทธิเป็นวันที่ 6 แต่ลดลง 45% เหลือราว 53 ล้านเหรียญฯ (1.7 พันล้านบาท) และสุดท้ายคืออินโดนีเซีย ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ลดลง 47% เช่นกัน เหลือราว 26 ล้านเหรียญฯ ส่วนตลาดในฟิลิปปินส์ยังคงปิดทำการเป็นวันที่ 2
เป็นที่สังเกตว่า นักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิตลาดหุ้นไทย 9 วันจาก 10 วันหลังสุด รวมกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท สวนทางกับทางฝั่งสถาบันที่ซื้อสุทธิ 7 จาก 10 วันหลังสุด รวม 8.4 พันล้านบาท เช่นเดียวกับตลาดตราสารหนี้ก็ถูกเทขายออกมาเช่นกัน โดยขายสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 2.9 พันล้านบาท (วันก่อนหน้าขายสุทธิราว 3.6 พันล้านบาท) ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากความผันผวนของค่าเงินหลังจากที่ธนาคารกลางสวิสได้ยกเลิกมาตรการตรึงค่าเงินสวิสฟังส์ไว้กับเงินยูโร ดังกล่าวข้างต้น
SCC หุ้นเด่น ปิโตรเคมีขาขึ้น + ต้นทุนน้ำมันลดลง
แม้ผลประกอบการ 4Q57 ของ SCC อาจออกมาไม่โดดเด่นมากอย่างที่เคยคาดไว้ก่อนหน้านี้ (คาดไว้ที่ 7.4 พันล้านบาท ลดลง 10%YoY) เนืองจากได้รับผลกระทบจาก Stock loss ในธุรกิจปิโตรเคมีราว 2.5-3 พันล้านบาท แต่หากมองถึงแนวโน้มธุรกิจในอนาคต จะพบว่าทุกธุรกิจหลักของ SCC มีการเติบโตที่โดดเด่นจาก Spread เฉลี่ยของ Polyolefin-Naphtha ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 100 เหรียญฯ/ตัน จะช่วยเพิ่มกำไรให้กับ SCC ได้ถึง 6,000 ล้านบาท ขณะที่อุปทาน Olefin ใหม่ที่จะมาจากอุตสาหกรรม Shale Oil คาดว่าจะลดลง จากปัญหาราคาน้ำมันดิบตกต่ำ จะช่วยยืดวัฏจักรขาขึ้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีออกไปอีกอย่างน้อยถึงปี 2561
ขณะที่ ธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ ซึ่งประเมินว่าจะมีการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นจากปกติราว 10 ล้านตันในช่วง 8 ปีข้างหน้า (กำลังการผลิตปูนซีเมนต์ใหม่ๆ ในอาเซียนของ SCC กว่า 6.3 ล้านตัน ก็จะทยอยออกมาตั้งแต่ 2Q58 ไปจนถึง 2Q60) สำหรับธุรกิจกระดาษก็จะมีกำลังการผลิตใหม่ 4 แสนตัน/ปี จากโรงกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่ขอนแก่น ฝ่ายวิจัยคาดว่าปี 2558 SCC จะมีกำไรสุทธิเติบโตกว่า 26%YoY อยู่ที่ 40,455 ล้านบาท
ฝ่ายวิจัยมีการปรับเพิ่ม Fair Value ของ SCC ขึ้นจาก 515 บาท เป็น 530 บาท สะท้อน วัฏจักรขาขึ้นของธุรกิจปิโตรเคมีที่ยาวนานขึ้นทำให้ราคาหุ้นปัจจุบันมี Upside 16% และให้ Dividend Yield ปี 2558 อีก 3.29% นอกจากนี้ SCC ยังได้รับอานิสงค์จากราคาน้ำมันที่ ลดลงซึ่งจะส่งผลดีโดยรวมต่อธุรกิจรวม ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมรายใหญ่ของประเทศ จึงเลือกเป็น Top pick (ติดตามอ่านได้จาก Equity Talk เช้านี้)
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล