- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 16 January 2015 15:05
- Hits: 1666
บล.ฟินันเซีย ไซรัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
SET ลบเป็นโอกาสในการเลือกซื้อ แล้วเน้นถือเพื่อรอรอบขึ้น!!
กลยุทธ์ : FSS คาดว่า SET ยังอยู่ในช่วงแกว่งผันผวนและมีโอกาสปรับลงต่อ ดังนั้นเราจึงแนะนำให้รอซื้อเฉพาะช่วงตลาดปรับลง ซึ่งเราคาดว่ากรอบการปรับลงจะไม่ลึกนักและยังมีลุ้นแรงซื้อกลับเข้ามาหนุนได้อยู่ ช่วง SET เป็นลบจึงถือเป็นโอกาสในการเลือกหุ้นทยอยเข้าซื้อได้
หุ้นเด่นทางเทคนิค : TUF, AMATA, GLOW(short)
แนวโน้ม : ถึงแม้ว่าเมื่อวานนี้ SET จะเริ่มแกว่งทรงตัวด้านบวกได้อีกครั้ง หลังปรับย้อนลงแรงวันก่อนหน้า แต่ในช่วงท้ายวันก็ยังมีแรงขายกดดันให้ดัชนีปรับตัวลงมาเหลือปิดบวกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่เช้านี้ยังได้รับปัจจัยลบจากการร่วงลงแรงของตลาดหุ้นสหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนตื่นตระหนกต่อข่าวที่ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ตัดสินใจยกเลิกเพดานการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินฟรังก์สวิสเมื่อเทียบกับยูโร รวมทั้งข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐและผลประกอบการที่ย่ำแย่ของธนาคารในสหรัฐด้วย ส่งผลให้ตลาดหุ้นในเอเชียเช้านี้ส่วนใหญ่กลับมาเคลื่อนไหวด้านลบ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ SET ที่ก่อนหน้านี้ดีดตัวขึ้นมาพอควรแล้ว และช่วงหลังเริ่มมีแรงขายกดดันให้ดัชนีแกว่งตัวผันผวนมากขึ้น เริ่มมีจังหวะปรับพักฐานลงได้ อย่างไรก็ตาม FSS คาดว่ากรอบการปรับลงจะไม่ลึกมากนักและยังลุ้นโอกาสกลับไปแกว่งขึ้นรอบใหม่ได้ในช่วงถัดไป ดังนั้นเราจึงยังแนะนำให้เลือกหุ้นเข้าซื้อได้ในช่วง SET ลบ
แนวรับ 1522-1520 , 1515-1510 , 1505 จุด
แนวต้าน 1526-1528 , 1532-1538 จุด
Fund Flow เมื่อวานนี้กระแสเงินทุนไหลออกจากภูมิภาคมากที่สุดในรอบสัปดาห์ที่ US$435 ล้าน โดยเป็นการขายออกในทุกประเทศยกเว้นฟิลิปปินส์ซึ่งปิดทำการ ขายมากที่สุดที่เกาหลีใต้ US$185.3 ล้าน ไต้หวัน US$103 ล้าน และไทย US$96 ล้าน ตลาดหุ้นในภูมิภาคได้รับแรงกดดันหลัง SNB ประกาศยกเลิกเพดานอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินฟรังก์สวิสเทียบกับยูโรที่ 1.20 และปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ -0.75% จาก -0.25% ด้วย แนวโน้มกระแสเงินทุนน่าจะยังคงไหลออกจากความกังวลต่อตลาดเงินขณะที่ผลดำเนินงานกลุ่มธนาคารในสหรัฐประกาศออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด
ข่าว/หุ้นเด่นมีประเด็น
(+) ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) ยกเลิกการตรึงค่าเงินสวิสฟรังก์ไว้กับยูโร และลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับ -0.75% จาก -0.25% การที่สวิสตรึงค่าเงินกับเงินยูโร (ตั้งแต่ ก.ย. 2011) ทำให้ในช่วงที่ที่ผ่านมา SNB ต้องแทรกแซงอย่างหนักโดยการซื้อดอลลาร์และยูโรเพื่อขายสวิสฟรังก์จนทำให้งบดุลของ SNB สูงเกือบเท่า GDP ขณะที่ยูโรกำลังจะยิ่งอ่อนค่าเพราะ ECB จะต้องเพิ่ม QE ในอนาคต และ Fed กำลังจะขึ้นดอกเบี้ย ทุนสำรองของสวิสจะยิ่งเสียหาย การยกเลิกการตรึงค่าเงินกับยูโรทำให้สวิสฟรังก์แข็งค่าขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อราคา Commodity รวมถึงทองคำและน้ำมัน เพราะช่วยลดแรงกดดันการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ แต่เป็นลบกับเศรษฐกิจของสวิส ซึ่งพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันการลดดอกเบี้ยของ SNB ให้ติดลบมากขึ้นเพื่อป้องกันเงินไหลเข้า น่าจะช่วยให้กระแสเงินบางส่วนที่ไม่มีที่ไปไหลเข้าตลาดหุ้นเอเชียในระยะถัดไป อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นซึ่งอ่อนไหวมาก จะผันผวนตามตลาดเงินไปก่อน
(+) สมาคมนักวิเคราะห์เผยโบรกปรับเป้า SET สิ้นปีนี้ลงเป็น 1,670 จุด จากเดิม 1,698 จุดซึ่งสำรวจเมื่อ ต.ค. 2014 บนคาดการณ์ EPS Growth ปีนี้ 15% (เดิมคาด 14.1%) ขณะที่ปรับ EPS growth ปี 2014 ลงเหลือ 2.5% (เดิม 8.5%) ส่วน GDP Growth ปี 2014 ปรับลงเป็น 0.9% (เดิม 1.6%) และปี 2015 เป็น 3.8% (เดิม 4.3%) ปรับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบโลกปีนี้ลงเป็น US$66.1/บาร์เรล จากเดิม US$90.5/บาร์เรล และคาดปี 2016 เฉลี่ย US$71.9/บาร์เรล กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีถูกกระทบมากสุด แต่กลุ่มที่ได้รับผลบวกคือกลุ่มค้าปลีก ขนส่ง และสถาบันการเงินรายย่อย ประเด็นบวกต่อการลงทุนยังคงเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล
(-) PTTEP แนวโน้มผลประกอบการ 4Q14 แย่กว่าคาดมาก อาจขาดทุนสุทธิถึง 1.77 หมื่นล้านบาท (ก่อนหน้านี้เราคาดมีกำไรสุทธิ 5.3 พันล้านบาท -65% Q-Q, -28% Y-Y) เพราะการด้อยค่าของโครงการมอนทาราและ Oil Sand ที่แคนาดาอาจสูงถึง 3.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะฉุดให้กำไรสุทธิทั้งปี 2014 เหลือเพียง 2.82 หมื่นล้านบาท หดตัวถึง 50% Y-Y เราปรับกำไรสุทธิปีนี้ลงอีก 8% เป็นเติบโต 47% จากฐานต่ำปีก่อน หลังปรับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบปีนี้ลงอีก US$5 เป็น US$65/บาร์เรล และปรับเป้าหมายปี 2015 ลงเหลือ 115 บาทจาก 128 บาท ยังแนะนำเพียงถือ ส่วนการที่ สปช. ไม่เห็นด้วยที่จะเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 นั้น ยังไม่ถึงกับเป็นลบต่อ PTTEP เพราะยังมีเวลาพิจารณาใหม่และเป็นอำนาจของรัฐบาลที่จะทำได้หากเห็นควร แต่หากไม่มีสัมปทานใหม่ ประเทศจะขาดแคลนพลังงาน และปริมาณการผลิตของ PTTEP จะลดลงในระยะยาว
ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวลงเป็นวันที่ 5 ติดต่อกันหลังราคาน้ำมันยังร่วงลงรวมถึงผลประกอบการของธนาคารใหญ่ในสหรัฐฯออกมาต่ำกว่าคาด
ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปเมื่อคืนพุ่งขึ้นแรงหลังธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ยกเลิกมาตรการควบคุมสกุลเงินสวิสฟรังก์ที่ผูกกับยูโรซึ่งตลาดคาดว่ายูโรโซนจะได้รับประโยชน์จากการอ่อนค่าของค่าเงิน
ส่วนตลาดหุ้นเอเชียเช้านี้ปรับตัวในแดนลบตามตลาดหุ้นสหรัฐฯจากราคาน้ำมันที่ร่วงรวมถึงผลประกอบการของธนาคารใหญ่สหรัฐฯที่น่าผิดหวัง
ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอีกเล็กน้อย ล่าสุดเคลื่อนไหวในกรอบ 32.66-32.77 บาท/ดอลลาร์
น้ำมันดิบในตลาด NYMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. ปิดที่ 46.25 ดอลลาร์/บาร์เรล ร่วงลง 2.23 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาระหว่างสัปดาห์ค่อนข้างอ่อนแอซึ่งสร้างความกังวลด้านอุปสงค์ ขณะที่อุปทานยังคงล้นตลาด
ทองคำในตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. ปิดที่ 1,264.80 ดอลลาร์/ออนซ์ พุ่งแรง 30.30 ดอลลาร์/ออนซ์ สูงสุดในรอบ 4 เดือนหลังธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ยกเลิกเพดานอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินสวิสฟังก์กับยูโร ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
16 ม.ค. - ฟิลิปปินส์: ตลาดการเงินปิดทำการ Special Holiday
- สหรัฐ: อัตราเงินเฟ้อ (ธ.ค.)
- ยูโรโซน: อัตราเงินเฟ้อ (ธ.ค.)
19-23 ม.ค. - ไทย: กลุ่มธนาคารทยอยประกาศผลประกอบการปี 2014
19 ม.ค. - สหรัฐ: ตลาดการเงินปิดทำการ Martin L. King Day
20 ม.ค. - ไทย: ยอดขายรถ (ธ.ค.)
- จีน: 4Q14 GDP, ยอดค้าปลีก (ธ.ค.) Fixed asset investment (ธ.ค.)
- ยูโรโซน: ZEW Survey Expectations (ม.ค.)
21 ม.ค. - ญี่ปุ่น: BOJ Monetary Policy Statement
- สหรัฐ: Housing starts, Building permit (ธ.ค.)
22 ม.ค. - ยูโรโซน: ECB ประชุม, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (ม.ค.)
23 ม.ค. - ไทย: ดุลการค้า (ธ.ค.), ลงมติคดีถอดถอน “นิคม-สมศักดิ์-ยิ่งลักษณ์”
- จีน: HSBC China Manufacturing PMI (ม.ค.)
- เกาหลีใต้: 4Q14 GDP
- สหรัฐ: ยอดขายบ้านเก่า (ธ.ค.)
- ยูโรโซน: Markit Eurozone Composite PMI (ม.ค.)
Contact person : Somchai Anektaweepon
Research Dept. Tel: 02-646-9967, 02-646-9852