- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 15 January 2015 16:10
- Hits: 1757
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ราคาสินค้าในประเทศทยอยปรับลดลง น่าจะดีต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศ วันนี้เลือก RCL (FV@B 11.80) เป็น Top Pick เพราะนอกจากจะได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงแล้ว ยังมีแรงขับเคลื่อนจาก Howe Robinson Index ที่ขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี และยังชื่นชอบหุ้นปันผลมี PER ต่ำ PTTGC(FV@B68), SPALI([email protected]) และ PTT(FV@B394) มีประเด็นบวก หากลอยตัวก๊าซ NGV
RCL รับปัจจัยบวก 2 เด้ง ทั้งรายได้ฟื้นตัว และต้นทุนน้ำมันลดลง
ธุรกิจเดินเรือคอนเทนเนอร์ ส่อแววเริ่มฟื้นตัวชัดเจนตั้งแต่งวด 1Q58 หลังจากที่ ดัชนี Howe Robinson Index (ดัชนีค่าระวางเรือคอนเทนเนอร์) ในวันที่ 14 ม.ค. 58 ปรับเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 2.2% (ปรับตัวสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่า 1%) มาอยู่ที่ 556 จุด ซึ่งนับจุดสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยหุ้นกลุ่มเรือคอนเทนเนอร์ของไทยมีรายเดียวคือ RCL ที่ได้รับผลบวกดังกล่าว นอกจากนี้ ทางด้านต้นทุนมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่งวด 4Q57 จากราคาน้ำมันดินในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงแรง เนื่องจากบริษัทแบกรับภาระต้นทุนน้ำมันทั้งหมด (20% ของต้นทุนรวม) ขณะที่ซื้อสัญญาน้ำมันล่วงหน้าไว้เพียง 25% ของปริมาณขนส่ง โดยรวมจึงคาดว่ากำไรของ RCL 4Q57 จะทรงตัวจากงวด 3Q57 แม้เข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาล และคาดจะเห็นการฟื้นตัวในงวด 1Q58 เป็นต้นไป และเห็นผลที่ชัดเจนในงวด 2Q58 ซึ่งเป็นช่วงพีคของฤดูกาล ทั้งนี้ภายใต้ประมาณการปัจจุบัน คาดกำไรปี 2557 ที่ 226 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนในปีก่อน และคาดเติบโต 59% yoy ในปี 2558 จึงแนะนำ “ซื้อ” RCL([email protected]) และเลือกเป็น Top Pick
ตลาดเริ่มกังวลกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังยอดค้าปลีกสหรัฐชะลอตัว
ตลาดหุ้นสหรัฐกลับเริ่มกังวลต่อยอดค้าปลีก หลังจากตัวเลขเดือน ธ.ค. หดตัว 0.9%mom หรือขยายตัวเพียง 3.2%yoy ชะลอตัวจาก 4.7% ในเดือน พ.ย. ซึ่งเป็นการขยายตัวในระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 2557 อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ได้จากการสำรวจของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed Beige Book) สิ้นสุดปี 2557 พบว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังมีสัญญาณการฟื้นตัวในระดับปานกลาง ตามการใช้จ่ายภาคครัวเรือน (70% ของ GDP) ในทุกเขต ยกเว้นเมือง Kansas และ New York ที่ยอดค้าปลีกชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า และ คาดว่า การใช้จ่ายของภาคครัวเรือน จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ตามราคาน้ำมันที่ลดลงเฉลี่ย 55% เมื่อเทียบกับต้นปี 2557 เนื่องจาก สหรัฐ เป็นผู้นำเข้าน้ำมันราว 23.7% ของยอดนำเข้ารวม (2.5% ของ GDP) น่าจะได้ประโยชน์จากต้นทุนที่ลดลง นอกจากนี้ตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. ลดลงที่ระดับ 5.6% (จาก 5.8% ในเดือนก่อนหน้า และต่ำสุดในรอบ 6 ปีครึ่ง) ซึ่งสอดคล้องกับวานนี้ World Bank ได้ปรับเพิ่ม GDP Growth สหรัฐ ในปี 2558 เป็น 3.2% (จากเดิม 3%)และคงประมาณการปี 2559 ไว้ที่ 3%
แต่อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงกดดันตลาด สะท้อนจาก World Bank ได้ปรับลด GDP Growth โลก ในปี 2558 เหลือ 3% (จากเดิม 3.4%) และในปี 2559 เหลือ 3.3% (จากเดิม 3.5%) ทำให้มีแนวโน้มว่า Fed อาจเลื่อนเวลาการขึ้นดอกเบี้ยล่าช้าออกไปในช่วงสิ้นปี 2558 หรือต้นปี 2559 (จากเดิมที่คาดไว้ในช่วงกลางปี 2558) ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นในช่วงสั้นๆ นี้
กระทรวงพาณิชย์ทยอยปรับลดสินค้า 5% หลายรายการ
ดังที่ได้นำเสนอมาก่อนหน้านี้ว่า การที่ราคาน้ำมันโลกลดลงส่งผลดีต่อประเทศที่นำเข้าน้ำมันดิบซึ่งรวมถึงประเทศไทย ด้วย เนื่องจากทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงและต้นทุนการผลิตลดลง และส่งผลดีต่อหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันเป็นต้นทุนหลัก ได้แก่ ธุรกิจสายการบิน ซึ่งต้นทุนน้ำมันคิดเป็น 30-40% ของต้นทุนรวม และกลุ่มเดินเรือคอนเทนเนอร์ ซึ่งให้บริการบรรทุกสินค้าประจำเส้นทาง เป็นผู้แบกรับต้นทุนน้ำมันทั้งหมด คิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของต้นทุนรวม ส่วนกลุ่มที่ได้ประโยชน์ในลำดับถัดมา ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก-ส่ง กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเป็นลำดับต้นๆ ของประชาชน
ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ได้เปิดเผยว่าขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการสินค้าที่ได้รับผลดีจากราคาน้ำมันที่ลดลง ให้ปรับราคาสินค้าลงเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5% โดยจะนำร่องลดราคาวันที่ 16 ม.ค. นี้ เริ่มต้นที่น้ำมันหล่อลื่น และถัดมาก็จะเป็นสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง และปิโตรเคมี อาทิ เม็ดพลาสติก กระเบื้องมุงหลังคา เหล็ก ปูนซีเมนต์
ทั้งนี้ การที่ราคาวัสดุก่อสร้างพื้นฐานลดลง ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างได้รับประโยชน์ค่อนข้างชัดเจน เนื่องจากต้นทุนวัสดุก่อสร้างคิดเป็นกว่า 40% ของต้นทุนทั้งหมด โดยเฉพาะผู้รับเหมาที่เน้นรับงานจากภาคเอกชน (SEAFCO, PYLON, SYNTEC) จะได้รับประโยชน์จากต้นทุนงานก่อสร้างที่ลดลงอย่างเต็มที่มากกว่าผู้รับเหมาที่รับงานจากภาครัฐ (UNIQ) เป็นหลัก (เนื่องจากบริษัทรับเหมาก่อสร้างจะต้องคืนส่วนต่างราคาที่เกินจาก 4% แรก ให้ภาครัฐ) โดยฝ่ายวิจัยชื่นชอบหุ้น SYNTEC (FV@B 3.37) เนื่องจากยังมี upside ราว 14%
ขณะที่ ผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากต้นทุนค่าก่อสร้าง ในกลุ่มของวัสดุก่อสร้าง (เหล็ก, ปูน) และต้นทุนค่าพลังงาน (น้ำมัน, ไฟฟ้า) ปรับลดลง ขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามปกติในอัตรา 3–5% ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนที่ดินเปล่า ซึ่งถือเป็นต้นทุนในการพัฒนาหลักที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้หากพิจารณาประโยชน์ที่จะได้รับจากการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมัน แยกรายผลิตภัณฑ์ กล่าวคือ สินค้าในโครงการแนวราบ (บ้านเดี่ยว–ทาวเฮ้าส์) และคอนโดมิเนียม จะเห็นว่ามีน้ำหนักและรูปแบบที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ในส่วนของสินค้าในโครงการแนวราบ น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์สูงสุด เนื่องจากเป็นการทำงานระหว่างผู้รับเหมาก่อสร้างรายกลาง-รายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของโครงการจะเป็นผู้จัดซื้อวัสดุก่อสร้างเอง อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่ระยะเวลาที่ใช้ในการก่อสร้างโครงการแนวราบค่อนข้างสั้น ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนต้นทุนได้เร็ว สำหรับโครงการคอนโดมิเนียม ประเมินว่าประโยชน์ที่ได้รับน่าจะน้อยกว่าโครงการแนวราบ เพราะในการก่อสร้างส่วนใหญ่ จะเป็นการทำสัญญาจ้างเหมากับผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ และมีการกำหนดราคาค่าก่อสร้างที่ชัดเจนอยู่แล้ว อีกทั้งระยะเวลาที่ใช้ในการก่อสร้างโครงการก็มักจะใช้เวลายาวนานกว่า การปรับต้นทุนจึงทำได้ยากกว่า แต่ประโยชน์ประการหนึ่งที่ได้ก็คือ โอกาสที่จะต่อรองสำหรับการประมูลการก่อสร้างโครงการใหม่ๆ ที่อาจจะได้ต้นทุนที่ต่ำลง แต่ผลที่เกิดขึ้นต่อผลประกอบการจะเห็นเมื่อโครงการที่ประมูลใหม่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และได้โอนฯ ให้ลูกค้า (รับรู้รายได้เมื่อโอนฯ) สำหรับภาพรวมของกลุ่มอุตสาหกรรมปกติมีค่าเฉลี่ย Gross Margin ที่ระดับ 34-36% เป็นไปได้ที่ช่วงราคาน้ำมันที่อยู่ระดับต่ำ จะทำให้ Gross Margin ปรับขึ้นไปอยู่ที่กรอบบนบริเวณ 36% หรือสูงกว่าเล็กน้อย และน่าจะส่งผลให้กำไรของกลุ่มปี 2558 ปรับเพิ่มขึ้นระดับ 1% โดยในกลุ่มนี้ ฝ่ายวิจัยชื่นชอบหุ้น SPALI (FV@B 31.96) และ PS (FV@B 40.52) นอกจากนี้ฝ่ายวิจัยยังได้ปรับเพิ่มคำแนะนำในหุ้น LH (FV@B 10.09) เนื่องจากราคาหุ้นที่ปรับลดลงทำให้ Total Yield ที่คาดหวังปรับขึ้นเป็น 16.8%
กลุ่มค้าปลีก-ส่ง ได้ประโยชน์ต่อเนื่องจากต้นทุนขนส่งที่ลดลง เนื่องจากมีการใช้รถขนส่งจำนวนมากในการกระจายสินค้าไปยังสาขาต่างๆ (แม้จะ Lag time เพราะเป็นการขนส่งโดย Outsource) และยังได้ประโยชน์จากค่าไฟฟ้าภายในห้างที่ลดลงตาม FT (เดือน ม.ค. – เม.ย. 2558 ปรับลดลงมาราว 0.10 บาท/หน่วย) และคาดว่ายังมีโอกาสลดลง ในเบื้องต้นพบว่าสัดส่วนของต้นทุนโลจิสติกส์และค่าไฟฟ้าของกลุ่มฯ จะอยู่ที่ราว 2-4% ของยอดขาย หากกำหนดให้ตัดลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวราว 12% เกิดจากค่าน้ำมันลดลง20% และค่าไฟลดลง 5% จะส่งผลให้กำไรสุทธิของกลุ่มจะเพิ่มขึ้นจากประมาณการปัจจุบันราว 2-3% ของกำไร โดยชื่นชอบ ROBINS (FV@B 64) เนื่องจากมี upside สูงสุด 36% มีค่า PER ต่ำสุดในกลุ่ม และ EPS Growth อยู่ที่ 17%
กลยุทธ์ยังเน้นหุ้นที่ได้ประโยชน์น้ำมันขาลง และหุ้นปันผล
การปรับลดลงของราคาน้ำมัน แม้โดยภาพรวมจะไม่ได้เป็นผลบวกต่อกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน เนื่องจากโครงสร้างกำไรของบริษัทจดทะเบียนมีองค์ประกอบกว่า 30% ที่มาจากกลุ่มพลังงาน และ ปิโตรเคมี ซึ่งฝ่ายวิจัยได้สะท้อนภาพลบดังกล่าวผ่านการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนไปแล้วในช่วงปลายปี 2557 ที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Sectors) ที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการปรับลดลงของราคาน้ำมัน โดยอย่างน้อยที่สุดก็จะมีผลทำให้ต้นทุนการดำเนินงานเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนด้านพลังงานปรับลดลง อันจะทำให้ประสิทธิภาพการทำกำไรที่วัดผ่าน Net Profit Margin ของผู้ประกอบการปรับตัวดีขึ้นอยู่ในช่วงประมาณ 2 – 3% ส่งผลทำให้กำไรบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นราว 7 พันล้านบาท – 1 หมื่นล้านบาท คิดเป็น EPS 0.75–1.12 บาท/หุ้น ในการกำหนดกลยุทธ์การลงทุน คงคำแนะนำให้นักลงทุนถือหุ้นโดยถือหุ้น 50% ของเงินลงทุน โดยเลือกหุ้นใน 2 Themes หลักคือ
1. กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากน้ำมันขาลง ซึ่งฝ่ายวิจัยได้อธิบายรายละเอียดของแต่ละกลุ่มที่ได้ประโยชน์ไว้แล้วในรายงาน Market Talk ฉบับวานนี้นักลงทุนสามารถติดตามอ่านได้ ทั้งนี้หากสรุปลงมาเป็นรายหุ้นที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง , ราคาหุ้นยังต่ำกว่า Fair Value และ เป็นหุ้นที่ฝ่ายวิจัยแนะนำซื้อได้แก่ AAV(FV@B6), RCL([email protected]), ROBINS (FV@B 64) SYNTEC (FV@B 3.37)
2. หุ้นปันผลที่ยัง laggards ถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากหลังประกาศผลประกอบการงวดปี 2557 ในช่วงปลายเดือน ก.พ. – ต้น มี.ค.2558 ก็จะเป็นฤดูกาลของการประกาศจ่ายเงินปันผล ซึ่งมักจะมีการขึ้นเครื่องหมาย XD กันในช่วงเดือน เม.ย. – พ.ค.2558 ดังนั้น จึงเท่ากับว่านักลงทุนที่ซื้อหุ้น ณ ปัจจุบัน ก็จะมีช่วงเวลาการถือหุ้นอีกเพียง 4 เดือน ก็จะได้รับสิทธิเงินปันผลดังกล่าว หุ้นปันผลที่จะหัผลตอบแทนสูงกว่าปกติ ควรเป็นหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลปีละ 1 ครั้ง และให้ Dividend Yield ไม่น้อยกว่า 4% ที่น่าสนใจ คือ STPI(FV@B 30.30), SPALI (FV@B 31.96) และ PS (FV@B 40.52), ASK(FV@B 24.90), TMT(FV@B 12.18)
ต่างชาติขายเบาบาง ส่วนพอร์ตโบรกขายหนัก
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 264 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวจากวันก่อนหน้า) ขายสุทธิสูงสุดคือไต้หวัน สลับมาขายสุทธิราว 194 ล้านเหรียญฯ (ขายสลับซื้อ 3 วันหลังสุด) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ ขายสุทธิเป็นวันที่ 3 ลดลงจากวันก่อนหน้าเล็กน้อย 14% เหลือราว 67 ล้านเหรียญฯ ส่วนอินโดนีเซียขายสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 50 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 69% จากวันก่อนหน้า) และไทย ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ลดลงถึง 98% จากวันก่อนหน้า เหลือ 1 ล้านเหรียญฯ (37 ล้านบาท) กลับกัน ฟิลิปปินส์ยังคงซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4 ราว 47 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า)
ทั้งนี้ คาดว่าแรงขายจากต่างชาติในตลาดหุ้นไทยเหลืออยู่เพียงเบาบางแล้ว หลังจากที่ขายสุทธิออกมาต่อเนื่องส่งผลให้มูลค่าซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ปี 2552 เหลืออยู่อีกเพียงราว 3.4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น (ยอดต่ำที่สุดในรอบเกือบ 4 ปี และเคยสูงสุดที่ 3.2 แสนล้านบาท ในปี 2556) ขณะที่วานนี้มีแรงขายจากนักลงทุนอีกกลุ่ม คือพอร์ตโบรกเกอร์ที่ขายสุทธิราว 1.2 พันล้านบาท ในระยะสั้นเชื่อว่าอาจะมีแรงขายกดดันดัชนีเพิ่มเติมจากนักลงทุนกลุ่มนี้ หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี 2558 ราว 4.2 พันล้านบาท ก่อนขายสุทธิออกมาในช่วง 2 วันหลังสุด
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล