- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 14 January 2015 17:40
- Hits: 2050
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เงินเฟ้อโลกมีแนวโน้มลดลงตามต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิง น่าจะหนุนให้นโยบายดอกเบี้ยต่ำถูกยืดไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งถือว่าช่วยหนุนกำลังซื้อของผู้บริโภค จึงยังเลือก Top pick ROBINS(FV@B64) และยังชื่นชอบหุ้นปันผล มี PER ต่ำ PTTGC(FV@B68), SPALI([email protected]) และ PTT(FV@B394) ยังมี upside หากลอยตัวก๊าซ NGV
การตัด GDP Growth โลกของ World Bank กระทบ Sentiment ตลาดหุ้น
ความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกล่าช้า โดยเฉพาะปัญหาวิกฤติทางการเงินในยุโรป ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจของรัสเซีย และ ประเทศผู้นำในแถบเอเซีย อย่างญี่ปุ่น (หลังขึ้นภาษีขายอีก 3% เป็น 8% เมื่อเดือน เม.ย. 2557) และจีน (จากผลกระทบของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยหันมาพึ่งพาการบริโภคในประเทศ จากเดิมที่เน้นการส่งออก และการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อ) ได้ส่งผลให้ World Bank เป็นแห่งแรกของปีนี้ ได้ปรับลด GDP Growth โลกในปี 2558 และ 2559 เหลือ 3% และ 3.3% จากเดิม (เมื่อ มิ.ย. 2557) 3.4% และ 3.5% ตามลำดับ ทั้งนี้เป็นการปรับลดดังนี้
ยุโรป ปี 2558 ลดเหลือ 1.1% (จากเดิม 1.8%) และเหลือ 1.6% (จากเดิม 1.9%) ในปี 2559
รัสเซียปี 2558 ติดลบ 2.9% (จากเดิม 0.5%) และ 0.1% ในปี 2559
ญี่ปุ่น ปี 2558 เหลือ 1.2% (จากเดิม 1.3%) และเป็น 1.6% (จากเดิม 1.5%) ในปี 2559
จีนปี 2558 เหลือ 7.1% (จากเดิม 7.5%) และเหลือ 7% (จากเดิม 7.4%) ในปี 2559,
ลาตินอเมริกา ปี 2558 เหลือ 1.7% จากเดิม 2.9% และเหลือ 2.9% จากเดิม 3.5% ในปี 2559 โดย บราซิล ลดเหลือ 1% (จากเดิม 2.7%) และเหลือ 2.5% (จากเดิม 3.1%) ในปี 2559
และไทยลดเหลือ 3.5% (จากเดิม 4.5%) และเหลือ 4% (จากเดิม 4.5%) ในปี 2559
ตรงกันข้ามมีการปรับเพิ่ม ได้แก่ สหรัฐ เป็น 3.2% (จากเดิม 3%) ในปี 2558 และคงที่ 3% ในปี 2559, อินเดียปี 2558 เป็น 6.4% (จากเดิม 6.3%) และ 7% (จากเดิม 6.6%) ในปี 2559
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์หน้า IMF จะมีการปรับลด GDP Growth คาดว่าน่าจะใกล้ กับ World Bank แต่หลังจากนี้แนวโน้มในการปรับลด GDP Growth โลก อาจจะมีไม่มากนัก เนื่องจากข้อมูลในอดีต พบว่าราคาน้ำมันที่ลดลงเฉลี่ย 32%จะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจโลก ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.5% ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนุนต่อประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน เนื่องจากทำให้ค่าครองชีพลดลง และเพิ่มอำนาจซื้อให้มากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศในแถบยุโรป และประเทศในกลุ่มเอเซียแปซิฟิคได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้
การใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำยังจำเป็น ตราบที่เงินเฟ้อต่ำ
ดังที่ได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้ว่าราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลง เป็นปัจจัยกดดันต่อประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหลักของโลก โดยเฉพาะประเทศสมาชิกในกลุ่ม OPEC ที่มีการส่งออกน้ำมันในสัดส่วนสูงถึง 85% ของยอดผลิตรวม รวมทั้งประเทศ Non-OPEC ที่ส่งออกน้ำมันเป็นหลัก ได้แก่ รัสเซีย พบว่ามีสัดส่วน 54% (13%ของ GDP) ซึ่งประเทศเหล่านี้อาจจะประสบกับภาวะค่าเงินตกต่ำจากภาวะขาดดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัด ส่งผลให้เศรษฐกิจประสบภาวะชะลอตัว แต่ในทางตรงกันข้าม กลับเอื้อประโยชน์ให้กับ ประเทศผู้นำเข้านำมันในสัดส่วนที่สูงในการที่จะช่วยลดการขาดดุลการค้าจากต้นทุนนำเข้าที่ลดลง ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการลดลง และทำให้เงินเฟ้อลดลงตามมา เท่ากับเป็นการเพิ่มอำนาจซื้อให้กับประชาชน จึงมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต (การบริโภคของภาคครัวเรือนมีสัดส่วนราว 50-60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชนในประเทศ (GDP)) และช่วยหนุนให้ค่าเงินของประเทศนำเข้า มีแนวโน้มที่แข็งค่าขึ้น
นอกจากนี้ ยังหนุนให้เงินเฟ้อโลกมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งในสหรัฐ เงินเฟ้อต่ำสุดในรอบเกือบ 6 ปี, ยุโรป เงินเฟ้อติดลบ ต่ำสุดในรอบ 5 ปี, ญี่ปุ่น เงินเฟ้อชะลอตัว 4 เดือนติดต่อกัน จีน เงินเฟ้อต่ำสุดในรอบ 5 ปี และล่าสุด อังกฤษ เงินเฟ้อทำสถิติต่ำสุดในรอบ 15 ปี ในภาวะเงินเฟ้อที่ต่ำน่าจะหนุนให้ธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งสหรัฐ และยุโรป ยังใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไปตลอดปี 2558 โดย สหรัฐ และ อังกฤษ น่าจะยืดระยะเวลาการขึ้นดอกเบี้ยออกไปในช่วงปลายปี 2H58 หรือ ต้นปี 2559 ส่วนทางฝั่งเอเซีย น่าจะยืนดอกเบี้ย ณ ระดับปัจจุบัน จนถึงกลางปี 2558 หรือแม้แต่ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่ได้ขึ้นดอกเบี้ยฯ ไปแล้วก่อนหน้า อีก 0.25% (มาเลเซียปรับขึ้นเมื่อเดือน ก.ค.2557 และอินโดนีเซีย ปรับเพิ่มเมื่อเดือน พ.ย. 2557 เนื่องจากรัฐบาล ได้ยกเลิกมาตรการอุดหนุนเชื้อเพลิงในปลายปี 2557) รวมถึงอินเดียที่น่าจะยืนดอกเบี้ยฯ ไว้ที่เดิมที่ เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ถือเป็นปัจจัยหนุนตลาดที่สำคัญอย่างน้อยในระยะ 3-6เดือนข้างหน้า
ต่างชาติซื้อสลับขายเบาบางรายประเทศ ส่วนไทยยังขายต่อเนื่อง
วานนี้นักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคอีกครั้งราว 73 ล้านเหรียญฯ หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 3 วันก่อนหน้า และเป็นการซื้อสลับขายรายประเทศ เริ่มจากเกาหลีใต้ ขายสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 77 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 17% จากวันก่อนหน้า) ตามมาด้วยไทยที่ขายสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 63 ล้านเหรียญฯ (2.1 พันล้านบาท, ลดลง 9%) และอินโดนีเซียขายสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 29 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าตัวจากวันก่อนหน้า) สวนทางกับไต้หวันที่สลับมาซื้อสุทธิอีกครั้งราว 75 ล้านเหรียญฯ (ขายสุทธิ 2 วันก่อนหน้า) และ ฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 แต่ลดลงจากวันก่อนหน้าถึง 93% เหลือเพียงราว 21 ล้านเหรียญฯ
ขณะที่ในตลาดหุ้นไทย ยังถูกนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิกดดันต่อเนื่องรวม 1.2 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ต้นปี 2558 ที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแรงขายน่าจะเริ่มลดน้อยลง หากพิจารณามูลค่าซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ปี 2552 เหลืออยู่อีกเพียงราว 3.4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น (จากยอดสูงสุด 3.2 แสนล้านบาทในปี 2556) ซึ่งเป็นมูลค่าต่ำที่สุดในรอบเกือบ 4 ปี
กลยุทธ์ยังเลือกหุ้นที่ได้ประโยชน์น้ำมันขาลง
ดังที่กล่าวใน Market talk ถึงผลกระทบของราคาน้ำมันที่ลดลง ต่อตลาดหุ้นน่าจะมีทั้งผลบวกและบวก ผลลบที่เห็นชัดเจนคือ ผลกำไรของหุ้นในกลุ่มพลังงาน และ ปิโตรเคมี (คิดเป็น 30% ของกำไรตลาดรวม) ที่อิงกับราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลงอย่างน้อย 3-4 หมื่นล้านบาทใน 4Q57 (จาก stock gain และราคาขายที่ลดลง) ซึ่งนักวิเคราะห์ ASP ได้รวมไว้ในประมาณการกำไรในปี 2557 แล้ว ส่วนในปี 2558 คาดว่าผลกระทบน่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องในงวด 1Q58 และทำให้โดยรวมแล้วกำไรตลาดหุ้นในปี 2557 หดตัวราว 3% จากปี 2558 แต่จะเติบโต 17% ในปี 2558
แต่อย่างไรก็ตรงกันข้าม หุ้นที่ได้ประโยชน์จากน้ำมันลงก็มีเช่นกัน แต่หากวัดเป็นตัวเงินผลกำไรที่เพิ่มคงไม่มากเท่ากับที่สูญเสียข้างต้น เริ่มจากธุรกิจที่ใช้นำมันเป็นต้นทุนหลักน่าจะได้ประโยชน์คือ สายการบิน อาทิ AAV(FV@B6), NOK (แต่ทำสัญญาไว้ 30%-40%) และ THAI([email protected]), (ทำสัญญาไปแล้วกว่า 70%) สายการบินที่ทำการป้องกันความเสี่ยงสัดส่วนที่น้อยจึงมีแนวโน้มจะได้ประโยชน์ในภาวะปัจจุบันมากสุด ทำให้คาดว่ากำไรกลุ่มขนส่งทางอากาศในปี 2558-59 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และ ตามด้วย กลุ่มเดินเรือคอนเทนเนอร์ คือ RCL([email protected]) ซึ่งให้บริการบรรทุกสินค้าประจำเส้นทาง เป็นผู้แบกรับต้นทุนน้ำมันทั้งหมด คิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของต้นทุนรวม แต่ทำสัญญาน้ำมันล่วงหน้าไว้เพียง 25% ของปริมาณขนส่ง ทำให้ภาระต้นทุนน้ำมันลดลงมีน้ำหนักมากพอ ที่จะหักล้าง รายได้ค่าบริการขนส่งสินค้ายังที่ยังชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก ซึ่งน่าจะทำให้ผลกำไรงวด 4Q57 มีแนวโน้มดีต่อเนื่องจากงวด 3Q57 ขณะที่ หุ้นเดินเรือเทกอง ทั้ง TTA และ PSL ได้ประโยชน์น้อยกว่ามาก เพราะ ผลักภาระต้นทุนน้ำมัน เป็นของผู้เช่าเรือเหมาลำตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ประกอบกับปริมาณขนส่งสินค้า โภคภัณฑ์ ทั้งราคาถ่านหิน และราคาสินแร่เหล็ก ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว TTA(FV@B26) และ PSL([email protected]) จึงแนะนำซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว
ส่วนกลุ่มที่ได้ประโยชน์รองลงมา ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก-ส่ง จากต้นทุนขนส่งที่ลดลง เนื่องจากมีการใช้รถขนส่งจำนวนมากในการกระจายสินค้าไปยังสาขาต่างๆ (แม้จะ Lag time เพราะเป็นการขนส่งโดย Outsource) และ ยังได้ประโยชน์จากค่าไฟฟ้าภายในห้างที่ลดลงตาม FT (เดือน ม.ค. – เม.ย. 2558 ปรับลดลงมาราว 0.10 บาท/หน่วย) และคาดว่ายังมีโอกาสลดลง ในเบื้องต้น พบว่า สัดส่วนของต้นทุนโลจิสติกส์และค่าไฟฟ้าของกลุ่มฯ จะอยู่ที่ราว 2-4% ของยอดขาย หากกำหนดให้ตัดลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวราว 12% เกิดจากค่าน้ำมันลดลง 20% และค่าไฟลดลง 5% จะส่งผลให้กำไรสุทธิของกลุ่มจะเพิ่มขึ้นจากประมาณการปัจจุบันราว 2-3% ของกำไร โดยเลือก Top pick ROBINS (FV@B 64) มี upside สูงสุด 36% มีค่า PER ต่ำสุดในกลุ่ม และ EPS Growth อยู่ที่ 17%
ตามมาด้วยกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เนื่องจากต้นทุนพลังงาน เป็นส่วนสำคัญของต้นทุนการผลิต เช่น ธุรกิจกระเบื้อง DCC (FV@B 5.66) พบว่า ต้นทุนเชื้อเพลิงคือ ก๊าซธรรมชาติสูงถึง 30% ของต้นทุนรวม โดยฝ่ายวิจัยชื่นชอบ TASCO (FV@B 80) เนื่องจากใช้น้ำมันดิบเป็นวัตถุดิบโดยตรงในการผลิตยางมะตอย ขณะที่ ปูนซีเมนต์ ต้นทุนพลังงานคิดเป็น 60% ของต้นทุนการผลิตรวม (แบ่งเป็น ถ่านหิน ประมาณ 30% และ ค่าไฟฟ้าประมาณ 30%) แต่อย่างไรก็ตามประโยชน์จะได้รับแตกต่างขึ้นกับ นโยบายการป้องกันความเสี่ยง โดย SCC (FV@B 515) แม้จะได้ประโยชน์จากราคาน้ำมัน แต่อาจถูกหักล้างด้วย stock loss ของธุรกิจปิโตรเคมี
ขณะที่กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง แม้มีสัดส่วนต้นน้ำมันราว 5% ของต้นทุนทั้งหมด (ใช้ในเครื่องจักรหนัก) แต่คาดว่าต้นทุนวัสดุก่อสร้าง ซึ่งคิดเป็น 40% ของต้นทุนทั้งหมด น่าจะมีแนวโน้มลดลงตามต้นทุนเชื้อเพลิงดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตามประโยชน์ที่ได้รับจะมากน้อย ขึ้นกับ โครงสร้างธุรกิจ หากรับงานก่อสร้างรัฐเป็นหลักก็อาจจะได้รับประโยชน์น้อย เช่น UNIQ เนื่องจากตามสัญญา ได้มีดัชนี ที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของค่างานหรือค่า K ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามราคาน้ำมัน หากค่า K ที่คำนวณ ณ เวลาที่ส่งมอบงานแต่ละงวด เทียบกับราคาที่เสนอตอนเซ็นสัญญา ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 4% จากบริษัทรับเหมาก่อสร้างจะต้องคืนส่วนต่างราคาที่ลดลง (ส่วนที่เกินจาก 4% แรก) ให้ภาครัฐ แต่สำหรับบริษัทรับเหมาที่เน้นรับงานจากภาคเอกชนเช่น SEAFCO, PYLON, SYNTEC จะได้รับประโยชน์จากต้นทุนงานก่อสร้างที่ลดลงอย่างเต็มที่ จึงชื่นชอบหุ้น SYNTEC (FV@B 3.37) เนื่องจากมี upside ราว 10%
และ กลุ่มยานยนต์ เนื่องจาก ต้นทุนค่าไฟฟ้าคิดเป็น 3-5% ของยอดขาย ขณะที่ค่าขนส่งสินค้าให้ลูกค้าคิดเป็น 0.5% ของยอดขาย ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดีเซลลดลง 20% และค่าไฟลดลง 5% จะส่งผลให้ต้นทุนรวมของบริษัทในกลุ่มลดลง และมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 2.5-3.5% (กำหนดยอดขายคงที่)
นอกจากนี้ กลุ่มที่ได้ประโยชน์ทางอ้อม ได้แก่ กลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย ผ่านทางค่าวัสดุก่อสร้าง (เหล็ก, ปูน) ที่มีทิศทางลดลงดังกล่าวข้างต้น เพราะภาวะปกติผู้ประกอบการจะปรับขึ้นราคาบ้าน 3-5% ต่อปี ตามต้นทุน แต่อย่างไรก็ตามในภาวะต้นทุนลดลง คาดว่าผู้ประกอบการจะยืนราคาขาย แต่คาดว่า Gross Margin น่าจะมีแนวโน้มขึ้นจากเฉลี่ย 35% ขึ้นเป็ฯสู่ระดับ 36% ขึ้นไป ซึ่งน่าจะ ส่งผลให้กำไรของกลุ่มปี 2558 เพิ่มขึ้นจากเดิม 1% จึงชื่นชอบหุ้น SPALI (FV@B 31.96) และ PS (FV@B 40.52)
และสุดท้ายกลุ่มท่องเที่ยว-โรงแรม คาดว่าต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 3-6% ของรายได้ มีแนวโน้มลดลง ( ERW ซึ่งมีธุรกิจโรงแรมคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 100% จะมีต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงสุดประมาณ 6% ของรายได้ ส่วน MINT และ CENTEL มีธุรกิจหลากหลายมากกว่า โดยธุรกิจโรงแรมคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 50% ของรายได้รวม มีต้นทุนค่าไฟ 3-4% ของรายได้) และ มี ต้นทุน Logistics ไม่มีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของรายได้ แต่น่าจะช่วยลดลงต้นทุนโดยรวม หากกำหนดให้ราคาน้ำมันดีเซลลดลง 20% และค่าไฟลดลง 5% คาดส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานของกลุ่มโรงแรม (โดยหลักมาจากกำไรของ MINT คิดเป็นสัดส่วน 74% ของกำไรจากการดำเนินงานของกลุ่มฯ) เพิ่มขึ้นจากเดิมราว 2% จึงชื่นชอบหุ้น ERW(FV@B6) เนื่องจากเป็นหุ้น turnaround จะพลิกกลับมามีกำไรในปีนี้
โดยรวมหากพิจารณาเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ประโยชน์จากน้ำมันขาลง คาดว่าน่าจะช่วยเพิ่มกำไรสุทธิของตลาดได้ราว 2-3% หรือ ราว 7 พันล้านบาท ถึง 1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 0.75-1.12 บาทต่อหุ้น ซึ่งมีบางส่วนที่ยังเป็นส่วนที่มิได้รวมในประมาณการกำไรตลาดในปี 2558 จึงเป็น upside ที่ยังมีอยู่
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล