- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 13 January 2015 15:25
- Hits: 1768
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลง นอกจากลดขาดดุลการค้า ยังเพิ่มอำนาจซื้อของผู้บริโภค จึงยังแนะนำหุ้นค้าปลีกที่มี upside สูงสุด คือ ROBINS(FV@B64) โดยยังชื่นชอบหุ้นปันผล มี PER ต่ำ PTTGC(FV@B68), SPALI([email protected]) และ PTT(FV@B394) ยังมี upside หากลอยตัวก๊าซ NGV
น้ำมันที่ลดลง หนุนค่าเงินเยนแข็งค่ามากสุดในเอเซีย
ดังที่กล่าวไปแล้ววานนี้ถึงแนวโน้มราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลง ถือเป็นปัจจัยบวกต่อประเทศผู้นำเข้าอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศที่นำเข้านำมันในสัดส่วนที่สูง เริ่มจากต้นทุนนำเข้าที่ลดลง จะช่วยลดภาวะขาดดุลการค้า ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการลดลง และทำให้เงินเฟ้อลดลงตามมา เท่ากับเป็นการเพิ่มอำนาจซื้อให้กับประชาชน จึงมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตกว่าคาด ขณะที่การบริโภคของภาคครัวเรือนมีสัดส่วนราว 50-60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชนในประเทศ (GDP)
ที่สำคัญ ภาระขาดดุลการค้าที่ลดลง จะช่วยหนุนให้ค่าเงินของประเทศนำเข้า มีแนวโน้มที่แข็งค่าขึ้น ที่เห็นชัดเจนสุดในขณะนี้คือ เงินเยน (ญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมัน 25.5% ของมูลค่านำเข้ารวม และคิดเป็น 4.1% ของ GDP) แข็งค่าขึ้น 1.8 % นับจากปลายปี 2557 ขณะที่ค่าเงินประเทศนำเข้าอื่น ๆ อยู่ในทิศทางแข็งค่าเช่นกันแต่ในอัตราที่น้อยกว่า 1% (เงินรูเปียะห์ของ อินโดนีเซีย แข็งค่า 1% จากจุดต่ำสุดเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา) ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกระยะสั้น ที่อาจจะหนุนให้ต่างชาติเริ่มกลับมามองหาตลาดหุ้นในประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพการเติบโต พร้อมกับค่าเงินที่มีแข็งค่าหรือมีเสถียรภาพมากขึ้น
สะท้อนจากการรายงาน ตัวเลขขาดดุลการค้าญี่ปุ่นใน เดือน พ.ย. พบว่าอยู่ที่ 7.6 พันล้านเหรียญฯ ลดลง 500 ล้านเหรียญฯ จากเดือนก่อนหน้า และเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 29 และน่าจะลดลงต่อเนื่องอย่างน้อยในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นอีกสำคัญประการหนึ่ง นอกเหนือแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ที่คาดว่ายังเกิดขึ้นต่อเนื่องในปี 2558 โดยเฉพาะเงินภาษีขาย ที่สามารถจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น (ขึ้นภาษีขายอีก 3% เป็น 8% เมื่อ 1 เม.ย. 2557) รวมถึงแผนที่จะยืด เวลาในการจัดเก็บภาษีขายอีก 2% เป็น 10% ออกไปอีก 18 เดือน ราวกลางปี 2559 และการปรับลดภาษีนิติบุคคลในปีงบประมาณ 2558 ลง 2.5% (จาก 35% ในปัจจุบัน) ซึ่งล้วนมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น (คาดว่าจะหนุน GDP ได้ราว 0.7%) โดยภาพรวมน่าจะส่ง sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น และตลาดหุ้นเอเซีย
แรงซื้อจากสถาบันในประเทศ ยังหนุนดัชนีต่อเนื่อง
วานนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิตลาดหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 แต่มูลค่าลดลง 44% เหลือราว 122 ล้านเหรียญฯ ทั้งนี้พบว่า ยอดซื้อทั้งหมดมาจากฟิลิปปินส์เพียงประเทศเดียว กล่าวคือซื้อสุทธิราว 301 ล้านเหรียญฯ (ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2, เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าที่ซื้อสุทธิเพียง 26 ล้านเหรียญฯ) สวนทางกับประเทศที่อขายสุทธิประเทศที่เหลือทั้งหมด กล่าวคือ เกาหลีใต้สลับมาขายสุทธิราว 93 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสุทธิ 2 วันก่อนหน้า) ตามมาด้วยไทยที่ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 69 ล้านเหรียญฯ (2.3 พันล้านบาท, เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า) ขณะที่ไต้หวันขายสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 11 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 41%) และสุดท้ายคือ อินโดนีเซียสลับมาขายสุทธิราว 5 ล้านเหรียญฯ (ขายสลับซื้อ 3 วันหลังสุด)
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่ตกต่ำยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่อง รวมถึงในตลาดหุ้นไทย ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปี 2558 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิออกมารวมกว่า 1.0 หมื่นล้านบาท สวนทางกับสถาบัน และ พอร์ตโบรกเกอร์ที่ซื้อสุทธิตั้งแต่ต้นปีรวมกว่า 5.3 และ 4.2 พันล้านบาท โดยหากพิจารณาข้อมูลในอดีตพบว่า นักลงทุนสถาบันเป็นผู้ซื้อสุทธิในเดือน ม.ค. ใน 3 ปีหลังสุด และจะขายสุทธิออกมาใน เดือน ก.พ. และ มี.ค. ทำให้เชื่อว่าในระยะสั้นอาจมีแรงซื้อเข้ามาจากสถาบันพยุงดัชนีไว้
ต้นทุนน้ำมันที่ลดลง ช่วยหนุนกำไรอย่างน้อย 2-3%
แม้เศรษฐกิจในประเทศยังชะลอ หรือฟื้นตัวแบบล่าช้า แต่การที่ต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง มิใช่จะสร้าง Sentiment เชิงบวกต่อผู้บริโภค ที่มีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่พบว่าต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตและต้นทุนขนส่ง ทั้งนี้จากการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์ ASP แต่ละกลุ่มฯ สรุปได้ดังนี้ คือ
กลุ่มที่ได้ประโยชน์โดยตรง
- กลุ่มค้าปลีก-ส่ง ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง มีผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์ปรับลดลง เนื่องจากมีการใช้รถขนส่งจำนวนมากในการกระจายสินค้าไปยังสาขาต่างๆ (แต่การปรับลดต้นทุนค่าขนส่งดังกล่าวอาจมี Lag time เนื่องจากการขนส่งส่วนใหญ่เป็น Outsource) รวมทั้งค่าไฟฟ้าภายในห้าง จากแนวโน้มค่า FT เดือน ม.ค. – เม.ย. 2558 ที่จะเริ่มปรับลดลงมาราว 0.10 บาท/หน่วย เป็นผลให้ค่าไฟต่อหน่วยโดยรวมจะลดลงจาก 3.96 บาท/หน่วย เหลือ 3.86 บาท/หน่วย หรือลดลง 3% รวมทั้งยังมีโอกาสลดลงอีก ในการพิจารณารอบต่อๆไป จากการประเมินเบื้องต้น พบว่า สัดส่วนของต้นทุนโลจิสติกส์และค่าไฟฟ้าของกลุ่มฯ จะอยู่ที่ราว 2-4% ของยอดขาย ซึ่งหากตั้งสมมติฐานตัดลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวราว 12% เกิดจากค่าน้ำมันลดลง 20% และค่าไฟลดลง 5% จะส่งผลให้ต้นทุนดำเนินงานของกลุ่มลดลงและฐานกำไรกลุ่มเพิ่มขึ้นจากประมาณการปัจจุบันราว 2-3% ของกำไร โดยหุ้นเด่นในค้าปลีก (รับผลกระทบจากเศรษฐกิจน้อยกว่าหุ้นอื่นๆ) ได้แก่ ROBINS มี upside สูงสุด 36% มีค่า PER ต่ำสุดในกลุ่ม และ EPS Growth อยู่ที่ 17%
- กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากราคาน้ำมันที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องถึงต้นทุนพลังงานอื่นๆไม่ว่าจะเป็น ถ่านหิน ค่าไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ ให้ปรับตัวลดลงตาม โดยธุรกิจที่น่าจะได้รับประโยชน์ชัดเจนคือธุรกิจกระเบื้อง (DCC) เพราะโครงสร้างต้นทุนมีส่วนของก๊าซธรรมชาติสูงถึง 30% ของต้นทุนการผลิต แต่การปรับเปลี่ยนราคาก๊าซธรรมชาติจะมี Lag time จากราคาน้ำมันประมาณ 6 เดือน จึงคาดว่าจะเห็นผลประโยชน์ที่ชัดเจนใน 2Q58 เช่นเดียวกับ TASCO ซึ่งใช้น้ำมันดิบเป็นวัตถุดิบโดยตรงในการผลิตยางมะตอย สำหรับธุรกิจปูนซีเมนต์มีองค์ประกอบของต้นทุนพลังงานประมาณ 60% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด โดยแบ่งเป็น ถ่านหิน ประมาณ 30% และ ค่าไฟฟ้าประมาณ 30% ซึ่งแต่ละบริษัทจะมีนโยบายในการซื้อถ่านหินที่แตกต่างกันไป โดยสัดส่วนระหว่างการซื้อแบบ Spot และการทำสัญญาระยะยาว จะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ ส่วนค่าไฟฟ้า ก็จะขึ้นกับค่า Ft ซึ่งมีแนวโน้มปรับลดลงในอนาคต อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธุรกิจปูนซีเมนต์จะได้รับผลบวกจากราคาพลังงานที่ลดลง แต่แรงกดดันจากหน่วยงานรัฐที่ต้องการให้ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ปรับลดราคาขายปูนซีเมนต์ลง ก็จะทำให้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่เต็มที่
- กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง น่าจะได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลงเช่นกัน แม้ว่าโครงสร้างต้นทุนงานก่อสร้าง จะมีองค์ประกอบของน้ำมันไม่เกิน 5% ของต้นทุนทั้งหมด ซึ่งใช้ในส่วนของเครื่องจักรหนัก แต่ราคาวัสดุก่อสร้างที่ได้รับอานิสงค์จากต้นทุนพลังงานที่ลดลงตามราคาน้ำมัน น่าจะทำให้สัดส่วนต้นทุนที่เป็นวัสดุก่อสร้าง (เหล็ก และปูน ) ซึ่งคิดเป็น 40% ของต้นทุนทั้งหมด มีแนวโน้มปรับตัวลดลงมา โดยเชื่อว่าจะเริ่มเห็นผลบวกชัดเจนขึ้นในช่วง 2Q58 เป็นต้นไป หลังบริษัทรับเหมาก่อสร้างใช้สต็อกวัสดุก่อสร้างต้นทุนเก่าหมดลง อย่างไรก็ตาม สำหรับบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่เน้นรับงานภาครัฐเป็นหลัก เช่น UNIQ ซึ่งจะมีตัวเลขดัชนีที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของค่างานหรือค่า K ซึ่งจะมีบางองค์ประกอบที่เปลี่ยนแปลงไปตามราคาน้ำมัน จะไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่นัก เพราะหากค่า K ที่คำนวณ ณ เวลาที่ส่งมอบงานแต่ละงวด เทียบกับราคาที่เสนอตอนเซ็นสัญญา ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 4% จากบริษัทรับเหมาก่อสร้างจะต้องคืนส่วนต่างราคาที่ลดลงในส่วนที่เกินจาก 4% แรก ให้กับภาครัฐ แต่สำหรับบริษัทรับเหมาที่เน้นรับงานจากภาคเอกชนเช่น SEAFCO, PYLON, SYNTEC จะได้รับประโยชน์จากต้นทุนงานก่อสร้างที่ลดลงอย่างเต็มที่
- กลุ่มยานยนต์ ต้นทุนค่าไฟฟ้าคิดเป็น 3-5% ของยอดขาย ขณะที่ค่าขนส่งสินค้าให้ลูกค้าคิดเป็น 0.5% ของยอดขาย ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดีเซลลดลง 20% และค่าไฟลดลง 5% จะส่งผลให้ต้นทุนรวมของบริษัทในกลุ่มลดลง และมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 2.5-3.5% แต่อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงแรง ไม่ได้เป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อรถเพื่อทดแทนการเดินทางในรูปแบบเดิม แต่อาจส่งผลให้ผู้ที่มีความต้องการจะซื้อรถอยู่แล้ว ตัดสินใจง่ายขึ้น เนื่องจากมีเงินเหลือเพื่อผ่อนค่างวดมากขึ้น
กลุ่มที่ได้ประโยชน์ทางอ้อม
- กลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย ได้ประโยชน์ทางอ้อม ผ่านทางค่าวัสดุก่อสร้าง (เหล็ก, ปูน) ที่มีทิศทางลดลงตามราคาน้ำมัน ซึ่งในภาวะปกติผู้ประกอบการจะมีการขึ้นราคาบ้าน 3-5% ต่อปี ตามภาวะเงินฟ้อ เพื่อเป็นการผลักภาระไปให้แก่ผู้บริโภค ทำให้ Gross Margin ในอดีตทรงตัวที่ระดับ 34-36% มาโดยตลอด อย่างไรก็ตามในช่วงที่ภาวะน้ำมันเป็นขาลง ผู้ประกอบการมีพฤติกรรมไม่ปรับลดราคาขายบ้านลงตาม ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ Gross Margin ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 36% ขึ้นไป และส่งผลให้กำไรของกลุ่มปี 2558 ปรับเพิ่มขึ้นระดับ 1% นอกจากนั้นกลุ่มอสังหาฯ ยังได้รับประโยชน์ทางอ้อมในด้านการขนส่งวัสดุก่อสร้างและค่าไฟฟ้าอีกด้วย
- กลุ่มท่องเที่ยว-โรงแรม ต้นทุนค่าไฟฟ้าของกลุ่มโรงแรมคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3-6% ของรายได้ (โดย ERW ซึ่งมีธุรกิจโรงแรมคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 100% จะมีต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงสุดประมาณ 6% ของรายได้ ส่วน MINT และ CENTEL มีธุรกิจหลากหลายมากกว่า โดยธุรกิจโรงแรมคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 50% ของรายได้รวม มีต้นทุนค่าไฟ 3-4% ของรายได้) ส่วนต้นทุน Logistics คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของรายได้ ดังนั้นหากกำหนดให้ราคาน้ำมันดีเซลลดลง 20% และค่าไฟลดลง 5% คาดส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานของกลุ่มโรงแรม (โดยหลักมาจากกำไรของ MINT คิดเป็นสัดส่วน 74% ของกำไรจากการดำเนินงานของกลุ่มฯ) เพิ่มขึ้นประมาณ 2% แต่อย่างไรก็ตาม การที่ต้นทุนน้ำมันที่ปรับตัวลดลง น่าจะดีต่อสายการบินทุกแห่ง รวมถึงรถยนต์ โดยสารในประเทศ ที่สามรถปรับลดราคาค่าโดยสารลง สร้าง Sentiment เชิงบวกต่อการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล