- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 12 January 2015 16:16
- Hits: 2505
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
คาดว่าเศรษฐกิจเอเซียแปซิคฟิคมีโอกาสสูงว่าคาด 0.25-0.5% จากต้นทุนน้ำมันดิบที่ลดลง ซึ่งน่าจะดีต่อหุ้นอุปโภคบริโภค วันนี้เลือก ROBINS(FV@B64) เป็น Top pick โดยชื่นชอบหุ้นปันผล มี PER ต่ำ PTTGC(FV@B68), [email protected]) และหุ้น PTT(FV@B394) ที่ยังมี upside หากมีการลอยตัวก๊าซ NGV
สหรัฐมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยล่าช้า จากเงินเฟ้อต่ำมาก
ตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจาก ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้น 2.52 ราย (แม้ชะลอตัวจาก 3.5 แสนรายใน 2 เดือนก่อนหน้า) แต่สอดคล้องกับการจ้างงานภาคเอกชน เพิ่มขึ้น 2.41 ตำแหน่ง (สูงสุดตั้งแต่ มิ.ย. 2557 และมากกว่า 2 แสนราย ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11) ทำให้อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. ลดลงมาที่ 5.6% จาก 5.8% ในเดือนก่อนหน้า และต่ำสุดในรอบ 6 ปีครึ่ง แต่เป็นที่สังเกตว่า อัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวคือ รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมง เพิ่มขึ้น 1.7%yoy (ต่ำสุดตั้งแต่ ต.ค. 2552) และลดลง 0.2% จากเดือน พ.ย. ประกอบกับ อัตราเงินเฟ้อ ที่ยังอ่อนตัวลงเหลือ 1.3% ในเดือน ธ.ค. และเฉลี่ยเพียง 1%ytd ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% จึงทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีโอกาสยืดเวลาการขึ้นดอกเบี้ยออกไป เป็นช่วงปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 จากเดิมที่กำหนดไว้กลางปี 2558 ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นล่าสุดของ นาย Dennis Lockhart (ประธาน Fed สาขา Atlanta) ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้
และสะท้อนได้จากเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย Dollar Index (ดัชนีที่วัดมูลค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับเงินสกุลต่างๆ 6 สกุลหลัก) ลดลง 0.83% หลังจากแข็งค่า 15% ในปี 2557 (จากระดับสูงสุดที่ 92.528 จุด ล่าสุดลงมาอยู่ที่ 91.764 จุด) ซึ่งอาจจะทำให้ การเก็งกำไรในค่าเงินดอลลาร์ลดลง (ขณะที่เงินยูโรเริ่มฟื้นตัวได้หลังจากลงไปทำจุดต่ำสุดในรอบกว่า 9 ปี (ลดลงถึง 10% ในปี 2557) ล่าสุดอยู่ที่ 1.1865 เหรียญฯต่อยูโร) ซึ่งการเริ่มอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ น่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันดิบโลก มีโอกาสลดลงจากนี้ไม่มากนัก (หลังจากที่ปรับลดลงมากว่า 55% นับตั้งแต่กลางปี 2557)
ราคาน้ำมันดิบโลกตกต่ำ น่าจะหนุนเศรษฐกิจโลกได้ราว 0.25-0.5%
การที่ราคาน้ำมันดิบโลกลดกว่า 55% ตั้งแต่ต้นปี 2557 และเริ่มเห็นสัญญาณการลดลงในอัตราลดน้อยถอยลง หลังจากที่บริษัทขุดเจาะ Shale Oil ในสหรัฐประสบปัญหาทางการเงิน และอาจจะทยอยหยุดการผลิตเพิ่มเติม หากราคาน้ำมันดิบยังต่ำในระดับนี้ ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต โดยเช้านี้จะเห็นว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้าเคลื่อนไหวในกรอบแคบ 47-48 เหรียญฯต่อบาร์เรล ในสถานการณ์นี้ถือว่าเป็นปัจจัยกดดันต่อ ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหลัก ๆ ของโลก โดยเฉพาะประเทศสมาชิกในกลุ่ม OPEC ส่งออกน้ำมันในสัดส่วนสูงถึง 85% ของยอดผลิตรวม และหากแยกรายประเทศพบว่ายอดการส่งออกน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนสูง เมื่อเทียบกับรายได้จากการส่งออกรวม เรียงลำดับจากมากไปน้อยคือ อิรัก 99.5% (25%ของ GDP) เวเนซูเอลา 97.7% (20.5%ของ GDP) แองโกลา 96.4% (55%ของ GDP) การ์ตา 94% (46%ของ GDP) คูเวต 90% (57%ของ GDP) ซาอุดิอาระเบีย 87% (43%ของ GDP) อิหร่าน 86%(14.3%ของ GDP) ไนจีเรีย 86% (19%ของ GDP) และเช่นกับประเทศนอก OPEC ได้แก่รัสเซีย พบว่ามีสัดส่วน 54% (13%ของ GDP) ซึ่งประเทศเหล่านี้น่าจะประสบกับภาวะตกต่ำของค่าเงิน จากภาวะะขาดดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัด และ เศรษฐกิจชะลอตัวในที่สุด
ตรงข้าม ถือเป็นปัจจัยหนุนต่อประเทศผู้นำเข้า เนื่องจากทำให้ค่าครองชีพลดลง และอำนาจซื้อได้มากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศในแถบยุโรป พบว่าตุรกีนำเข้าน้ำมันในสัดส่วนสูงถึง 31.2% (7.8% ของ GDP) ตามด้วยสเปน 24.2% (5.6% ของ GDP) เนเธอร์แลนด์ 19% (12% ของ GDP) อิตาลี 14.3% (3.2% ของ GDP) เบลเยี่ยม 10.3% (13% ของ GDP) เยอรมัน 2.7 (9.2% ของ GDP) และ สหรัฐ นำเข้า 23.7% และคิดเป็น 2.5% ของ GDP
เช่นเดียวกับประเทศในกลุ่มเอเซียแปซิฟิคได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ นำโดย สิงคโปร์ นำเข้าสูงถึง 41% และ คิดเป็น 42% ของGDP ตามด้วยอินเดีย 26.2% และ 9.7% ขณะที่ประเทศอื่น ๆ นำเข้าเฉลี่ย 20-25% แต่มีสัดส่วนต่อ GDP แตกต่างกันคือ ไทย 26% ของยอดนำเข้า แต่ 13% ของ GDP ญี่ปุ่น 25.5% และ 4.1% อินโดนีเซีย 22.1% และ 4.1% เกาหลีใต้ 22% และ 8.3% ฟิลิปปินส์ 20.1% และ 5.5% จีน 18.7% และ 2.9% สุดท้ายคือ มาเลเซีย 13.2% และ 7.8% ตามลำดับ
จึงเป็นที่คาดว่าประเทศผู้นำเข้านำมัน จะสามารถลดการขาดดุลการค้า และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ ทั้งนี้จากการศึกษาของ บริษัทที่ปรึกษาในต่างประเทศ (IHS) คาดว่าน่าจะหนุน GDP Growth ในฝั่งเอเซียแปซิฟิคได้ราว 0.25-0.5% โดยประเทศที่นำเข้าในสัดส่วนสูงน่าจะได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ ยกตัวอย่างเช่น GDP Growth ของไทยปี 2558 ที่ ASP ประเมินไว้ที่ 3.5% อาจจะมี upside 0.25-0.5% จากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนุนตลาดเช่นกัน
หุ้นอุปโภคบริโภคควรจะได้ประโยชน์จากต้นทุนน้ำมันที่ลดลง
แม้เศรษฐกิจในประเทศยังชะลอ หรือฟื้นตัวแบบล่าช้า แต่การที่ต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง มิใช่จะสร้าง sentiment เชิงบวกต่อผู้บริโภค ที่มีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่พบว่าต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตและต้นทุนขนส่ง ทั้งนี้เช้านักวิเคราะห์กลุ่มค้าปลีก ASP ได้ออกบทวิเคราะห์ถึงผลประโยชน์ที่ได้รับจากราคาน้ำมันที่ลดลง ติดตามอ่านรายละเอียดใน Industry Update ในเช้านี้ ทั้งในรายงานสรุปว่า ราคาน้ำมันที่ลดลง ส่งผลบวกต่อกลุ่มใน 2 ส่วนหลัก ๆ คือ
?? ต้นทุนโลจิสติกส์ ซึ่งมีการใช้รถขนส่งจำนวนมากในการกระจายสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าไปยังสาขาต่างๆ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการขนส่งส่วนใหญ่จะ Outsource เป็นหลัก ซึ่งในสัญญากำหนดการปรับขึ้น / ลด ค่าขนส่ง ตามราคาน้ำมันในลักษณะขั้นบันได และอาจมี Lag time ในการปรับลดราคาด้วย (น้ำมันที่ใช้อ้างอิงส่วนใหญ่ คือ ดีเซล)
??ค่าไฟฟ้าภายในห้าง จากแนวโน้มค่า FT เดือน ม.ค. – เม.ย. 2558 ที่จะเริ่มปรับลดลงมาราว 0.10 บาท/หน่วย เป็นผลให้ค่าไฟต่อหน่วยโดยรวมจะลดลงจาก 3.96 บาท/หน่วย เหลือ 3.86 บาท/หน่วย หรือลดลง 3% รวมทั้งยังมีโอกาสลดลงอีก ในการพิจารณารอบต่อๆไป (ทุก 4 เดือน)
ทั้งนี้ โดยเบื้องต้นประเมินสัดส่วนของต้นทุนโลจิสติกส์และค่าไฟฟ้าของกลุ่มฯ จะอยู่ที่ราว 2-4% ของยอดขาย ซึ่งหากตั้งสมมติฐาน ตัดลงค่าใช้จ่ายดังกล่าวราว 12% เกิดจากค่าน้ำมันลดลง 20% และค่าไฟลดลง 5% จะส่งผลให้ต้นทุนดำเนินงานของกลุ่มลดลงและฐานกำไรกลุ่มเพิ่มขึ้นจากประมาณการปัจจุบันราว 2-3% ของกำไร และจากการศึกษาพบว่าหุ้นค้าปลีกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจน้อยกว่ากลุ่มอื่น ๆ ขณะที่ราคาหุ้นบางแห่ง เช่น HMPRO ([email protected]) ลดต่ำกว่า Fair Value จนมี upside 20% จึงปรับคำแนะนำเป็นซื้อ แต่ยังให้น้ำหนักกลุ่มเท่ากับตลาด โดยเลือกหุ้น Top pick คือ ROBINS(FV@B64) เนื่องจากมี upside สูงสุด 38% มีค่า PER ต่ำสุดในกลุ่ม ขณะที่ EPS Growth 17%
ต่างชาติยังขายหุ้นไทย แต่เชื่อแรงขายเหลือไม่มาก
วันศุกร์ที่ผ่านมา เงินทุนต่างชาติยังไหลเข้าภูมิภาคแต่เบาบาง โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 แต่ลดลง 56% เหลือราว 218 ล้านเหรียญฯ ทั้งนี้เป็นการซื้อสุทธิสูงสุดในเกาหลีใต้ (ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) ราว 166 ล้านเหรียญฯ แต่ลดลง 14% ตามมาด้วยอินโดนีเซีย สลับมาซื้อสุทธิราว 71 ล้านเหรียญฯ หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 5 วันก่อนหน้า ส่วนที่เหลือขายสุทธิ กล่าวคือ ฟิลิปปินส์สลับมาซื้อสุทธิ ราว 26 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขายใน 7 วันทำการหลังสุด) ส่วนไทย ขายสุทธิราว 26 ล้านเหรียญฯ (870 ล้านบาท, ขายสลับซื้อใน 3 วันหลังสุด) เช่นเดียวกับไต้หวันที่สลับมาขายสุทธิเล็กน้อยราว 19 ล้านเหรียญฯ (ขายสลับซื้อ 3 วันหลังสุด)
ตั้งแต่ต้นปี 2558 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยรวมกว่า 8.1 พันล้านบาท ส่งผลให้ยอดซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปี 2552 ของนักลงทุนกลุ่มนี้ลดลงเหลือราว 3.8 หมื่นล้านบาท ตามมูลค่าตลาด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี(ลดลงจากระดับสูงสุดที่ 3.2 แสนล้านบาท เมื่อต้นปี 2556) ทำให้เชื่อว่า แม้ว่าต่างชาติจะยังไม่กลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยในระยะสั้นนี้ แต่แรงขายกดดันดัชนีก็น่าจะเหลืออีกไม่มากแล้ว
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล