- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 09 January 2015 17:15
- Hits: 1760
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ยังแนะนำหุ้น PTT เป็น Top pick เพราะยังมี upside ที่จะเพิ่มจากการลอยตัวก๊าซ NGV หลังจากลอยตัว LPG และยังชื่นชอบหุ้นปันผล+PER ต่ำคือ STPI (FV@B 30.30), AIT (FV@B53) และหุ้นได้ประโยชน์ราคาน้ำมันต่ำคือ RCL ([email protected])
มีสัญญาณบ่งบอกว่าราคาน้ำมันใกล้จุดต่ำสุด
เชื่อว่าราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลงต่ำกว่า 50 เหรียญฯ/บาร์เรล ใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว เนื่องจากเป็นระดับราคาที่ต่ำกว่าจุดคุ้มทุนของกลุ่มผู้ผลิต Shale oil ในสหรัฐฯ (ต้นทุนเฉลี่ย 70 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล) และล่าสุดมีการเปิดเผยว่าผู้ผลิต Shale oil 37 ราย จากทั้งหมด 38 ราย กำลังเผชิญกับปัญหาขาดสภาพทางการเงินอย่างหนัก และอาจเข้าสู่ภาวะล้มละลายได้ และเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมามีการเปิดเผยว่ามีบริษัท WBH Energy LP ซึ่งเป็นบริษัทผลิต Shale oil รายเล็กในรัฐเท็กซัส ได้ยื่นขอความคุ้มครองการเรียกชำระหนี้ต่อศาล ภายใต้ Chapter 11 (เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการที่ได้รับความเห็นชอบจากศาล) เพราะเผชิญกับปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน หลังจากที่ราคาขายน้ำมันต่ำกว่าต้นทุนอย่างมาก และ เป็นเวลาต่อเนื่องมานาน 6 เดือน ทำให้งบการเงิน ในส่วนทุนติดลบ 20 ล้านเหรียญฯ (มีหนี้สินรวมสูงถึง 30 ล้านเหรียญฯ ทำให้สินทรัพย์รวมอยู่เพียง 10 ล้านเหรียญฯ) และเจ้าหนี้ ปฏิเสธการปล่อยเงินกู้ตามเงื่อนไขเพิ่มเติม จึงทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ตามสัญญาได้
นักวิเคราะห์พลังงานในต่างประเทศ คาดว่าบริษัทที่เข้าข่ายล้มละลายและจะต้องยื่นขอความคุ้มครองจากศาลฯ ภายใต้ Chapter 11 เช่นเดียวกับบริษัท WBH Energy LP น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนับจากนี้ ซึ่งน่าจะทำให้ปริมาณผลิต Shale oil กว่า 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน น่าจะค่อยๆ ลดลงนับจากนี้ และเนื่องจากอุตสาหกรรมต้องการใช้เงินลงทุนสูงในการขุดเจาะ (capital intensive) ซึ่งการลงทุนต้องพึ่งพิงการกู้ยืมเป็นส่วนใหญ่ ทำให้บริษัทผลิตน้ำมันหลายแห่งเริ่มชะลอการลงทุนหรือตัดงบทุนใหม่ อาทิ Continental Resources Inc. และ Halliburton ซึ่งน่าจะช่วยลดแรงกดดันต่อปริมาณผลิตน้ำมันเกิดความต้องการในระยะกลาง และระยะยาวลง
โดยสรุปปัจจัยด้านปริมาณผลิตที่กำลังมีปัญหาน่าจะช่วยลดแรงกดดันต่อราคาน้ำมันดิบโลก ทำให้เชื่อว่าราคาน้ำมันเริ่มมี downside risk จำกัด ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการปิโตรเลียมขั้นต้น โดยเฉพาะ PTTEP ราคาหุ้นปัจจุบันลดลงค่อนข้างมากจนมี Downside จำกัดแล้ว จึงแนะนำให้ทยอยสะสม PTTEP(FV@B140) เนื่องจากมี upside สูงกว่า 27% รวมทั้งมี PER ต่ำเพียง 9 เท่า และคาดหวังDiv yield กว่า 5% ส่วน PTT(FV@B394) ยังน่าสนใจอยู่ ภายหลังรัฐยอมให้มีการลอยตัวก๊าซฯ LPG ทำให้ PTT ไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนเหมือนในอดีต และยังมีปัจจัยบวกที่คาดว่ายังมีอีก แต่ยังไม่ได้รวมไว้ในประมาณการ คือโอกาสการปรับเพิ่มขึ้นราคาขาย NGV อีก 3 บาทต่อกก. ซึ่งจะช่วยเพิ่ม Fair Value ให้ PTT อีก 24 บาท ซึ่งจะทำให้ Fair Value ใหม่เพิ่มเป็น 418 บาท หรือมี upside ราว 23% นอกจากนี้ ยังมีโอกาสจะบันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้น BCP และการนำบริษัทลูก SPRC และ GPSC เข้าจดทะเบียนใน SET
ตลาดแรงงานและค้าปลีกยุโรป ยังฟื้นตัวแข็งแกร่ง
ท่ามกลางราคาน้ำมันที่ลดลงกว่า 50% ตั้งแต่ต้นปี 2557 ถึงแม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต และ ส่งออกน้ำมันหลัก ๆ ของโลก เช่น ซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น แต่ในฝั่งผู้บริโภคแล้ว ถือว่าเป็นปัจจัยบวก เนื่องจากทำให้เงินในกระเป๋าผู้บริโภคเพิ่มขึ้น สามารถกระตุ้นกำลังซื้อได้ สะท้อนจากล่าสุด ยอดค้าปลีกในยุโรป เดือน พ.ย. เพิ่มขึ้น 0.6%mom (ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2) หรือเพิ่มขึ้น 1.5%yoy แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยล่าสุด คณะกรรมการยุโรป คาดว่าเงินเฟ้อ ในเดือน ธ.ค. จะติดลบ 0.2% (จาก 0.3% ในเดือนก่อนหน้า และต่ำสุดในรอบ 5 ปี) ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต้องออกมาตรการผ่อนคลายการเงินอย่างชัดเจน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้ลดลดดอกเบี้ยฯ เหลือ 0.05% ในเดือน ก.ย. 2557 และเม็ดเงิน TLTROs ที่ผ่านไปทั้ง 2 รอบ มีเพียงครึ่งหนึ่งของที่คาดไว้ ขณะที่ปัจจุบันได้เข้าซื้อABS จากโปรตุเกส และกรีซ และ Covered Bonds จาก อิตาลี ฝรั่งเศส และสเปน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินยูโร ให้ตกต่ำสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง อย่างไรก็ตามต้องติดตามความชัดเจนจากการประชุม ECB ในวันที่ 22 ม.ค. นี้
ขณะที่สหรัฐ พบว่า ตลาดแรงงานฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งล่าสุด จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สิ้นสุด 3 ม.ค. ลดลง 4,000 ราย อยู่ที่ 294,000 ราย และเฉลี่ย 4 สัปดาห์ ลดลง 250 ราย อยู่ที่ 290,500 ราย (ต่ำกว่า 300,000 รายต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 17) สอดคล้องกับการจ้างงานภาคเอกชน จาก ADP เดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้น 241,000 ตำแหน่ง (เพิ่มขึ้น 6% จากเดือนก่อนหน้า และสูงสุดตั้งแต่ เดือน มิ.ย. 2557) แต่อย่างไรก็ตามปัญหาล้มละลายของผู้ประกอบการขนาดเล็กในแหล่งผลิตน้ำมันในรัฐเท๊กซัส อาจจะเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจที่สำคัญที่ทำให้ธนาคารสหรัฐอาจจะต้องใช้นโยบายการเงินเข้มงวดล่าช้าออกไป และอาจจะต้องรอคอยจนกว่าจะแน่ใจถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มั่นคง โดยรวมจึงคาดว่า Fed อาจจะต้องยืดเวลาการขึ้นดอกเบี้ยไปเป็นครึ่งหลังของปี 2558 หรือต้นปี 2559 จากเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงกลางปี 2558 ซึ่งยังถือเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจและตลาดหุ้นโลกในปี 2558
ต่างชาติสลับมาซื้อเล็กน้อย แต่ตลาดยังขาดปัจจัยหนุน
วานนี้นักลงทุนต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคอีกครั้งราว 490 ล้านเหรียญฯ หลังจากที่ขายสุทธิติดต่อกัน 3 วันก่อนหน้า โดยเป็นการซื้อสลับขายรายประเทศ กล่าวคือ ซื้อสุทธิสูงสุดในตลาดไต้หวัน ซึ่งได้สลับมาซื้อสุทธิราว 285 ล้านเหรียญฯ (ขายสุทธิ 3 วันก่อนหน้า) ตามมาด้วย เกาหลีใต้สลับมาซื้อสุทธิเช่นกันราว 191 ล้านเหรียญฯ (หลังจากที่ขายสุทธิติดต่อกัน 2 วันก่อนหน้า) และ ไทยสลับมาซื้อสุทธิราว 37 ล้านเหรียญฯ (1.2 พันล้านบาท, ขายสุทธิติดต่อกัน 4 วันก่อนหน้า) กลับกันกับ ฟิลิปปินสี่สลับมาขายสุทธิราว 12 ล้านเหรียญฯ (ขายสลับซื้อใน 6 วันหลังสุด) และอินโดนีเซียที่ขายสุทธิเป็นวันที่ 5 ใกล้เคียงกัน ราว 11 ล้านเหรียญฯ (วันก่อนหน้าขายสุทธิเพียง 2 แสนเหรียญฯ)
ทั้งนี้การที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นแรงนอกจากแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติแล้ว ยังมีแรงซื้อจากกลุ่มสถาบันในประเทศถึง 4.7 พันล้านบาท และพอร์ตโบรกเกอร์อีกราว 660 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่าเงินทุนจากต่างชาติที่ไหลเข้าเป็นเพียงการพักการขายตามภูมิภาคเท่านั้นหลังจากที่เทขายออกมาอย่างหนักในช่วงต้นสัปดาห์ เงินทุนจากต่างชาติน่าจะยังไม่ไหลกลับเข้ามาในระยะสั้นนี้เนื่องจากขาดปัจจัยหนุน
กลยุทธ์การลงทุนเน้นหุ้น 50% เลือกหุ้นปันผลและได้ประโยชน์น้ำมันขาลง
ณ ดัชนีปิดที่ 1,521.62 จุด วานนี้มีค่า Expected PER ปี 2558 อยู่ที่ 14.7 เท่า ซึ่งใกล้เคียงกับตลาดหุ้นในภูมิภาค (อินโดนีเซีย 14.9 เท่า มาเลเซีย 15.3 เท่า ฟิลิปปินส์ 18.3 เท่า) กำหนดให้ EPS Growth ปี 2558 ขยายตัว 16.8% เทียบกับปี 2557 หดตัว 3% และ กำหนดให้ GDP Growth ปี 2558 ที่ 3.5% ขึ้นจาก 0.8% ในปี 2557 (เทียบกับ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ที่ 5.5%, 5.2% และ 6.3% ตามลำดับ ) จึงยังคงให้น้ำหนักการลงทุน 50% ของเงินลงทุน ที่เหลือให้กระจายไปถือเงินสด (40%) และ ทองคำ (10%) โดยหุ้นทีแนะนำจะกระจายตัวในกลุ่มต่อไปนี้
กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันขาลง คือ ผู้ประกอบการขนส่ง โดยเฉพาะผู้ประกอบการเดินเรือคอนเทนเนอร์ RCL (FV@B 11.8) เนื่องจากมีการ Hedging ราคาน้ำมันล่วงหน้าไว้เพียง 25% ของปริมาณขนส่ง ทำให้ต้นทุนน้ำมันของ RCL ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และผู้ประกอบการสายการบิน AAV (FV@B 6) มีการทำ Hedging ไว้ราว 30%-40% ของต้นทุนรวม จึงได้ประโยชน์เช่นกัน
หุ้น Div. Yield สูง โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
หุ้นที่จ่ายเงินปันผลปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากลงทุนถือหุ้นเพียง 4 – 5 เดือน หากคิดผลตอบแทนเงินปันผลเป็นอัตรารายปี (Annualize) จะสูงถึงกว่า 10% อาทิ STPI (FV@B 30.30) นอกจาก Div. Yield สูง 4% และ P/E ต่ำเพียง 9 เท่าแล้ว ราคาหุ้นยังอาจได้อานิสงส์จากการเซ็นสัญญารับค่าเร่งงาน ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตามรายได้ที่สูงขึ้น ASK (FV@B 24.9) โดดเด่นด้วย Div. Yield สูงเกินกว่า 7% และ P/E ต่ำมากเพียง 8 เท่า ขณะที่ผลการดำเนินงานจะเติบโตมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากสินเชื่อรถบรรทุกที่จะเพิ่มมากขึ้นตามการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งแผนขยาย 3 สาขาเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากขึ้น AP (FV@B 8.1) Div. Yield สูง 4.7% และ P/E ต่ำเพียง 7.5 เท่า โดยมีโอกาสปรับเพิ่มประมาณการในอนาคต เนื่องจากผลกำไรปี 2557 สูงกว่าประมาณการ และปี 2558 มีแผนการเปิดโครงการใหม่เพิ่มขึ้น และ Backlog รอโอนฯ จำนวนมาก
หุ้นที่จ่ายปันผลมากกว่าปีละ 1 ครั้ง แต่ให้ผลตอบแทนสูง อาทิ INTUCH (FV@B 113) (div yield 5.8% จ่ายปันผลปีละ 2 ครั้ง) AIT (FV@B 53) (div yield 4.7% จ่ายปันผลปีละ 2 ครั้ง) PTTGC (FV@B 68) (div yield 4.1% จ่ายปันผลปีละ 2 ครั้ง) BECL (FV@B 45) (div yield 4.1% จ่ายปันผลปีละ 2 ครั้ง) SPALI (FV@B 31.96) (div yield 4.8% จ่ายปันผลปีละ 2 ครั้ง)
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล