- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 08 January 2015 15:56
- Hits: 1956
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
การลอยตัว LPG ส่งผลให้ Fair Value ของ PTT เพิ่มขึ้น 20 บาท เป็น 395 บาท upside เกือบ 20% จึงเลือกเป็น Top pick และยังชื่นชอบหุ้นปันผล & PER ต่ำ STPI (FV@B 30.30), AIT (FV@B53) หุ้นได้ประโยชน์ราคาน้ำมันต่ำ RCL ([email protected])
ลอยตัว LPG บวกต่อ PTT Fair Value เพิ่มขึ้น 20 บาท เป็น 395 บาท
วานนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติให้ปรับโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) หน้าโรงแยกก๊าซฯ เพื่อให้สะท้อนต้นทุนตลาดโลก จากปัจจุบันที่ราคาไว้ถูกตรึงไว้ที่ 333 เหรียญฯต่อตัน (ราว 10.7 บาทต่อกิโลกรัม) ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดโลก (แม้ปัจจุบันได้ลดลงจากกว่า 600 เหรียญฯ มาที่ 450 เหรียญฯต่อตัน) ขณะที่ทางด้านฝั่งผู้ใช้ ได้แก่ ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจปิโตรเคมีทั่วไป (ไม่รวม PTTGC ซึ่งยังคงยึดสัญญาการซื้อขายระยะยาว กับ PTT ตามเดิม) จะกำหนดให้ใช้ราคาขายเป็นราคาเดียวกันทั้งหมด โดยจะใช้วิธีคำนวณแบบเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักเป็นตัวกำหนดราคาตั้งต้นของก๊าซ LPG ของผู้ใช้ทุกกลุ่ม ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. เป็นต้นไป
การปรับราคาหน้าโรงแยกก๊าซฯ ส่งผลบวกต่อ PTT เพราะที่ผ่านมาขายในราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิตก๊าซ LPG จากโรงแยกก๊าซอยู่ที่ราว 500 เหรียญฯต่อตัน (หรือราว 16.1 บาทต่อกิโลกรัม) ซึ่งเช้านี้ นักวิเคราะห์ ASP ได้ปรับเพิ่มสมมติฐานราคาขาย LPG หน้าโรงแยกก๊าซฯ เป็น 500 เหรียญฯต่อตัน ซึ่งจะส่งผลให้กำไรในปี 2558-2559 จะเพิ่มขึ้นราว 11.1% และ 10.3% จากเดิม ตามลำดับ และเพิ่ม Fair Value ขึ้นอีก 20 บาทต่อหุ้น อยู่ที่ 395 บาท ซึ่งใช้เป็น Fair Value ใหม่ของปี 2558 อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นบวกที่จะเพิ่ม Fair Value ในอนาคตได้อีก คือ โอกาสที่จะปรับเพิ่มราคาขายปลีก NGV ได้อีก 3 บาทต่อกิโลกรัม (เท่ากับต้นทุนของ PTT) ภายใต้นโยบายของรัฐปัจจุบัน ที่ต้องยกเลิกการอุดหนุนราคาก๊าซทั้งหมด จะทำให้ Fair Value ของ PTT เพิ่มขึ้นได้อีกราว 24 บาทต่อหุ้น อยู่ที่ 419 บาท ซึ่งฝ่ายวิจัยจะรวมในประมาณการและ Fair Value หลังจากที่รัฐบาลมีการประกาศแผนการปรับเพิ่มราคา NGV ชัดเจนอีกครั้ง จึงแนะนำให้ทยอยสะสม PTT เพื่อรอรับประเด็นบวกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
คิดราคาเป็นรายวินาที่ กลุ่ม ICT ก็ยังน่าลงทุน
จากประเด็นวานนี้ที่ กสทช. มีคำสั่งให้ค่ายมือถือเริ่มกำหนดอัตราค่าโทรศัพท์มือถือตามจริงเป็นวินาทีอย่างน้อย 1 แพ็คเกจ ภายใน 1 มี.ค. 58 และทยอยปรับใช้กับทุกโปรโมชั่นภายใน 1 ปี ฝ่ายวิจัยคาดจะกระทบผลประกอบการค่ายมือถือไม่มาก โดยคาดจะเริ่มเห็นผลกระทบตั้งแต่ปี 2559 เพราะแพ็คเกจส่วนใหญ่คาดจะเปลี่ยนไปคิดค่าโทรใหม่ตามเกณฑ์วินาทีในปีหน้า ทั้งนี้แม้เกณฑ์การนับคิดค่าโทรเป็นรายวินาทีอาจทำให้ปริมาณเวลาใช้โทรที่ค่ายมือถือนำมาคำนวณรายได้ลดลง (เดิมเศษของนาทีที่ใช้จะถูกปัดเศษเป็น 1 นาที) แต่ค่ายมือถือยังมีโอกาสได้ส่วนชดเชยจากการปรับเพิ่มอัตราค่าใช้บริการต่อวินาทีที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง กสทช. ระบุว่าอัตราค่าบริการ เมื่อคำนวณเป็นต่อวินาที ของแพ็คเกจใหม่จะสูงกว่า ต่ำกว่า หรือเท่ากับอัตราแพ็คเกจเดิมก็ได้ โดยให้ขึ้นอยู่กับกลไกลตลาดเป็นสำคัญ เพียงแต่ห้ามเกินราคาค่าโทรขั้นสูงที่ กสทช. กำหนด 0.99 บาทต่อนาที (ปัจจุบันค่ายมือถือมีอัตราค่าโทรศัพท์ต่อนาทีอยู่ที่ราว 0.42-0.53 บาท อิงข้อมูล ADVANC DTAC ซึ่งยังต่ำกว่าประกาศราคาค่าโทรศัพท์ขั้นสูงข้างต้น) ประเด็นดังกล่าวจึงน่าจะสร้างเพียง Sentiment เชิงลบต่อราคาหุ้นในระยะนี้ มากกว่าผลกระทบต่อกำไร จึงถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับสะสมหุ้น Top Picks ในกลุ่ม อาทิ ADVANC (FV@B285) ซึ่งมีประเด็นบวกโอกาสชนะประมูลคลื่น 1800 MHz ที่จะเปิดประมูลในปีนี้ ซึ่งจะช่วยปิดจุดอ่อนให้ ADVANC นำคลื่นมาพัฒนาเป็นบริการ 4G เทียบเคียงคู่แข่งอีก 2 ราย รวมถึงบริษัทแม่ ADVANC อย่าง INTUCH (FV@B113) ซึ่งยังมี Upside สูงและ Div Yield โดดเด่น
ราคาน้ำมันตกต่ำ กดดันเงินเฟ้อให้ลดลงทั่วโลก
การลดลงของราคาน้ำมันดิบโลกกว่า 50% ตั้งแต่ต้นปี 2557 ส่งผลให้เงินเฟ้อทุกประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยเฉพาะประเทศที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล่าช้ากว่าที่คาดอย่างยุโรป ให้มีความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืดมากขึ้นทุกขณะ ล่าสุด คณะกรรมการจากธนาคารกลางยุโรป คาดว่า เงินเฟ้อยูโรโซน เดือน ธ.ค. จะติดลบ 0.2%yoy และนักเศรษฐศาสตร์จากบลูมเบิร์ก คาดว่าจะติดลบ 0.1% (จากระดับ 0.3% ในเดือน พ.ย.) ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด รวมถึงอัตราว่างงาน เดือน พ.ย. ยังคงอยู่ในระดับสูง 11.5% (ทรงตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4) โดยเยอรมันมีอัตราการว่างงานที่ลดลง อยู่ที่ระดับ 6.5% (ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์) สวนทางกับอิตาลี ที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นที่ระดับ 13.4% จาก 13.3% ในเดือนก่อนหน้า (สูงสุดเป็นประวัติการณ์)
ดังนั้น จึงเกิดความคาดหวังว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนเพิ่มเติม หลังจากที่ได้เริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างชัดเจนตั้งแต่เดือน ก.ย.2557 โดยการปรับลดดอกเบี้ยฯ เหลือ 0.05% และการอัดฉีดเงินผ่านโครงการ TLTROs ผ่านไป 2 รอบ ซึ่งมีเม็ดเงินออกมาเพียงครึ่งหนึ่งของที่คาดไว้ ล่าสุดอยู่ในช่วงเข้าซื้อ ABS จากโปรตุเกส และกรีซ และ Covered Bonds จาก อิตาลี ฝรั่งเศส และสเปน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินยูโร ให้ตกต่ำสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง อย่างไรก็ตามต้องติดตามความชัดเจนจากการประชุม ECB ในวันที่ 22 ม.ค. นี้
ขณะที่สหรัฐ ดัชนีเศรษฐกิจสดใส โดยการจ้างงานภาคเอกชน จาก ADP เดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้น 241,000 ตำแหน่ง (เพิ่มขึ้น 6% จากเดือนก่อนหน้า และสูงสุดตั้งแต่ เดือน มิ.ย. 2557 และรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ในระหว่างวันที่ 16-17 ธ.ค. 2557 ยังคงย้ำในเรื่องการอดทนเฝ้าติดตาม (patient) การขึ้นดอกเบี้ยฯ ครั้งแรกของสหรัฐ ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นก่อนเดือน เม.ย. แน่นอน เนื่องจากเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอ่อนตัวลง เดือน ธ.ค. อยู่ที่ 1.3% (เปลี่ยนแปลงเพียง 1% ตั้งแต่ต้นปี และ ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% อย่างมาก) ดังนั้นจึงคาดว่า Fed อาจจะต้องยืดเวลาการขึ้นดอกเบี้ยไปเป็นครึ่งหลังของปี 2558 หรือต้นปี 2559 จากเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงกลางปี 2558 ซึ่งยังถือเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจและตลาดหุ้นโลกในปี 2558
เช่นเดียวกับในฝั่งเอเซีย น่าจะยืนดอกเบี้ย ณ ปัจจุบัน จนถึงกลางปี 2558 หรือแม้แต่ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่ได้ขึ้นดอกเบี้ยฯ ไปแล้วก่อนหน้า อีก 0.25%(มาเลเซียปรับขึ้นเมื่อเดือน ก.ค.2557 และอินโดนีเซีย ปรับเพิ่มเมื่อเดือน พ.ย. 2557) เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นตามการยกเลิกมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันของภาครัฐ แต่คาดว่าหลังจากนี้ เงินเฟ้อน่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามราคาน้ำมันโลกที่ลดลง รวมถึงอินเดียที่น่าจะยืนดอกเบี้ยฯ ไว้ที่เดิมที่ เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ
ต่างชาติชะลอการขาย แต่ตลาดยังขาดปัจจัยหนุน
แม้ว่าวานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 แต่ปริมาณการขายลดลง 60% เหลือราว 431 ล้านเหรียญฯ เนื่องจากยอดขายลดลงในทุกประเทศ โดยเกาหลีใต้ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 แต่ลดลง 35% เหลือราว 216 ล้านเหรียญฯ ขณะที่ไต้หวันขายสุทธิเป็นวันที่ 3 และยอดขายลดลงถึง 76% เหลือราว 136 ล้านเหรียญฯ ตามมาด้วยไทย ขายสุทธิเป็นวันที่ 4 ราว 81 ล้านเหรียญฯ (2.7 พันล้านบาท, ลดลง 33%) และ อินโดนีเซีย ขายสุทธิเป็นวันที่ 4 แต่เบาบางเพียง 2 แสนเหรียญฯ (ลดลงถึง 99% จากวันก่อนหน้า) สวนทางกับฟิลิปปินส์ที่สลับมาซื้อสุทธิอีกครั้งราว 2 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขายใน 5 วันทำการหลังสุด)
ตลาดหุ้นไทยยังคงถูกนักลงทุนต่างชาติเทขายอย่างต่อเนื่อง รวมตั้งแต่ต้นปี 2558 ต่างชาติมียอดขายสุทธิสะสมรวม 8.5 พันล้านบาท ในระยะสั้นยังเชื่อว่าเงินทุนจากต่างชาติจะยังไม่ไหลกลับเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากยังขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆ แต่อย่างไรก็ตามในตลาดตราสารหนี้ นักลงทุนกลุ่มนี้กลับซื้อสุทธิเพิ่มอีกราว 6.2 พันล้านบาท รวมตั้งแต่ต้นปี 2558 มียอดซื้อสุทธิรวม 1.5 หมื่นล้านบาท
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล