- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 05 January 2015 16:18
- Hits: 1838
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันแรกของปี 2558 คาดดัชนียังผันผวน จากแรงขาย LTF แต่น่าจะเป็นจังหวะสะสมหุ้นปันผล ที่มี PER ต่ำ เลือก STPI(FV@B 30.30) และ AIT(FV@B53) เป็น Top picks
การเมืองต้นปี 2558 อาจจะมีประเด็นร้อน
การเมืองในปี 2558 มีจุดสนใจอยู่ที่ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งแบ่งเป็นส่วนของเนื้อหา และกรอบระยะเวลา กล่าวคือ ในส่วนของเนื้อหาหลัก จะอยู่ในเรื่องการการปฎิรูปการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี, วิธีการเลือกตั้ง, กรอบอำนาจของหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นประเด็นร้อนเป็นช่วงๆ แต่ผลกระทบต่อ SET Index อาจมีไม่มาก
ส่วนเรื่องกรอบเวลา มีอยู่ 2 ช่วงคือ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน (กลางเดือน เม.ย.2558) หากยกร่างไม่ทันกำหนด กรรมาธิการฯ ก็จะหมดสภาพลง และกลับไปเริ่มกระบวนการสรรหา กรรมาธิการฯ ชุดใหม่ และอีกช่วงเวลาหนึ่ง เป็นช่วงที่ สปช. จะลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงปลาย ส.ค. หรือต้น ก.ย.2558 โดยหากรับร่าง ก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่หากไม่รับ ทั้ง สปช. และ ร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องสิ้นสุดไป กระทบต่อกำหนดการเลือกตั้ง
ส่วนในช่วงต้นปี 2558 ประเด็นการเมืองอื่นๆ ที่ต้องติดตามคือ การพิจารณาญัตติถอดถอน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามที่ ปปช. เสนอมา ซึ่งมี 4 ส่วนหลักได้แก่ 1) การถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และ นาย สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาฯ ซึ่งจะเริ่มการพิจารณาในวันที่ 8 ม.ค.2558 2) การถอดถอน น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเริ่มการพิจารณาในวันที่ 9 ม.ค.2558 3) การถอดถอน อดีต สส. – สว. 38 คน และ 4) การถอดถอน ส.ส. กว่า 200 คน (กำลังจะยื่นเรื่องเข้ามา) ทั้งนี้หากมีการถอดถอนนักการเมือง ผลกระทบที่อาจจะตามมามีหลายรูปแบบ ทั้งกระแสต่อต้านทางการการเมือง (เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่ถูกถอดถอน) และ กระบวนการพิจารณา ซึ่งอาจต้องกินระยะเวลานาน และส่งผลกระทบไปสู่การทำงานในด้านอื่นๆ เฉพาะอย่างยิ่งการร่างกฎหมายที่สำคัญของ สนช.กรณีดังกล่าวจึงอาจมีผลกระทบต่อ SET Index ได้เป็นช่วงๆ
ต้นปีจะมีแรงขาย LTF แต่อาจได้แรงหนุนจากซื้อต่างชาติ
ปกติในช่วงต้นปีของทุกปี มักจะมีแรงขายกองทุนหุ้น ประเภทที่ประหยัดภาษี (LTF) ซึ่งครบกำหนด 5 ปีปฏิทิน กล่าวคือ นักลงทุนที่จะกองทุน LTF ที่ครบกำหนด 5 ปีปฏิทินในปี 2558 คือ นักลงทุนที่ได้ซื้อกองทุน LTF ในปี 2554 ซึ่งเม็ดเงินตามราคาทุนอยู่ที่ 22,027 ล้านบาท แต่หากคำนวณตามราคาตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ราว 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งตามสถิติในอดีตพบว่า แรงขาย LTF จะเกิดขึ้นหนักเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของทุกปี เฉลี่ยระหว่าง 35-50% ของยอดเงินที่ครบกำหนด (ที่เหลือยังถูกสะสมเป็นการลงทุนระยะยาว) และเม็ดเงินนี้จะถูกขายหนักในช่วงเดือน ม.ค. แต่หลังจากนั้นแรงขายจะค่อย ๆ ลดลงในช่วงที่เหลือของไตรมาสแรก ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันดัชนีตลาดหุ้นในเดือน ม.ค. ซึ่งเห็นว่าเป็นสถานการณ์ตรงกันข้ามกับช่วงปลายปีของทุกปี ที่จะมีแรงซื้อกองทุน LTF อย่างหนัก ถือเป็นปัจจัยหนุนดัชนีที่สำคัญที่สุดในช่วงเวลานั้น
ตรงกันข้ามกับนักลงทุนต่างชาติ พบว่าในช่วงต้นปีจะมีการซื้อสุทธิมากกว่าการขายสุทธิ โดยหากพิจารณาข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบว่านักลงทุนต่างชาติจะซื้อสุทธิในไตรมาสแรกของทุกปี (ด้วยความน่าจะเป็น 60% สวนทางกับนักลงทุนสถาบันที่จะขายสุทธิด้วยความน่าจะเป็น 60%) ทั้งนี้พบว่ายอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติจะเกิดขึ้นตั้งแต่ ม.ค. และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับในเดือน ก.พ. และ มี.ค. โดยเดือน มี.ค. จะมียอดซื้อสุทธิ ด้วยความน่าจะเป็น 100% (5 ปีย้อนหลังจะซื้อสุทธิทุกเดือนใน มี.ค.) และคาดว่าปี 2558 น่าจะเกิดภาพเหมือนอดีต เพราะในปี 2557 พบว่าต่างชาติได้ขายสุทธิตลาดหุ้นไทยเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันราว 3.6 หมื่นล้านบาท (ปี 2556 ขายสุทธิรวม 1.9 แสนล้านบาท) จึงน่าจะช่วยประคองดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงที่มีแรงขาย LTF ได้บ้าง
วันสุดท้ายปี 2557 ต่างชาติขาย สวนทางกองทุนไทย
วันอังคารที่ 30 ธ.ค. 2557 ซึ่งเป็นวันทำการสุดท้ายของปี พบว่าตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในภูมิภาคยังคงเปิดทำการ (ยกเว้นฟิลิปปินส์ที่ปิดทำการ) นักลงทุนต่างชาติยังซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ราว 192 ล้านเหรียญฯ โดยพบว่าซื้อสุทธิสูงสุดคือ อินโดนีเซีย เป็นพลิกมาซื้อสุทธิราว 201 ล้านเหรียญฯ (หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 9 วันก่อนหน้า) ขณะที่ไต้หวันซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 75 ล้านเหรียญฯ (แต่ลดลง 78%) สวนทางกับเกาหลีใต้ที่ขายสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 80 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 15%) และ ไทยสลับมาขายสุทธิเล็กน้อยราว 4 ล้านเหรียญฯ (146 ล้านบาท)
ขณะที่วันอื่นๆ ในสัปดาห์ ส่วนใหญ่ปิดทำการ ยกเว้นบางวันและบางประเทศคือ 31 ธ.ค. 2557 ไต้หวันเปิดทำการเพียงประเทศเดียว พบว่า ต่างชาติยังซื้อสุทธิราว 75 ล้านเหรียญฯ และ 2 ม.ค. 2558 เปิดทำการ 2 ประเทศคือ เกาหลีใต้ ต่างชาติซื้อสุทธิราว 74 ล้านเหรียญฯ และ อินโดนีเซีย แต่พบว่าขายสุทธิเล็กน้อยราว 3 แสนเหรียญฯ
โดยสรุปปี 2557 นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิตลาดหุ้นไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ราว 3.7 หมื่นล้านบาท (ปี 2556 ขายสุทธิราว 1.9 แสนล้านบาท) สวนทางกับนักลงทุนสถาบันในประเทศ ที่ซื้อสุทธิราว 7.1 หมื่นล้านบาท (ปี 2556 ซื้อสุทธิราว 1.1 แสนล้านบาท) แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าปี 2558 นักลงทุนต่างชาติน่าจะขายน้อยลงๆ หลังจากขายสุทธิติดต่อกันเป็นปีที่ 2 และ ทำให้ต่างชาติมีสัดส่วนการถือครองสุทธิ 32.29% (ประกอบด้วย NVDR 6.45% และถือหุ้นตรง 25.24%) ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 4 ปี
ปี 2558 น่าจะสดใสกว่าปี 2557 แม้อาจผันผวนในช่วงต้นปี
ปี 2557 ที่ผ่านมา SET Index ให้ผลตอบแทน 15.32% (เทียบกับปี 2556 ลดลง 6.7%) นับว่าได้ผลตอบแทนในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นภูมิภาคเอเซีย กล่าวคือ เป็นรองตลาดหุ้นจีน(50.7%) อินเดีย (29.3%) อินโดนีเซีย (24.1%) และฟิลิปปินส์ (22.8%) แต่ตลาดหุ้นไทยผลตอบแทนสูงกว่าตลาดหุ้นไต้หวัน (8.6%) ญี่ปุ่น (7.9%) สิงคโปร์ (6.9%) ฮ่องกง (1.1%) เกาหลีใต้ (-4.3%) และมาเลเซีย (-5.1%) และยังให้ผลตอบแทนชนะตลาดหุ้นสหรัฐ (เฉลี่ย 11%) และตลาดหุ้นยุโรป (เฉลี่ย 1%)
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนชนะ SET ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาล ให้ผลตอบแทนสูงถึง 48.3% ตามมาด้วย ขนส่ง 37.9% รับเหมาก่อสร้าง 34.8% หลักทรัพย์ 30.4% ธนาคารพาณิชย์ 30.1% ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 29.5% อสังหาฯ 23.4% ไอซีที 21.2% ท่องเที่ยว-โรงแรม 20.9% วัสดุก่อสร้าง 17.8% ตรงกันข้าม กลุ่มที่ผลตอบแทนน้อยกว่า SET ได้แก่ กลุ่มเกษตรฯ 13.4% บันเทิง 9.9% ประกันฯ 8.6% ค้าปลีก-ค้าส่ง 8.5% ส่งออกอาหาร 8.2% ยานยนต์ 6.5% พลังงาน -2.4% และ ปิโตรเคมี –24.1%
ขณะที่แนวโน้มปีหน้า 2558 คาดว่าดัชนีเป้าหมาย 1,658 จุด (อิง EPS 103.9 บาทต่อหุ้น หรือ Expected PER 16 เท่า) โดยคาดว่าหุ้นที่จะนำตลาด/ ชนะตลาดน่าจะมาจากกลุ่มดังต่อไปนี้
EPS Growth มากกว่าตลาด ได้แก่ กลุ่มขนส่ง เติบโตถึง 240% (จากการพลิกกลับมากำไรของ THAI) ตามมาด้วย กลุ่มประกันฯ เติบโต 47% หลักๆ มาจาก BLA หลังตั้งสำรองฯ จำนวนมากในปีนี้ กลุ่มปิโตรฯ เติบโต 37% จากฐานที่ต่ำในปีนี้ โดยเฉพาะ PTTGC เติบโตโดดเด่น และกลุ่มชิ้นส่วนฯ เติบโต 28% จาก DELTA เติบโต 17% เป็นต้น
กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงคือ กลุ่มขนส่ง ได้แก่ ผู้ประกอบการเดินเรือคอนเทนเนอร์ (RCL) และสายการบิน (AAV) เป็นต้น
หุ้น PER ต่ำ และเงินปันผลสูง SPALI(FV@B 31.96) PER 8.6 เท่า, Growth 16.8%, AIT(FV@B 53) PER 11.2 เท่า, Growth นอกจากนี้ ยังมีองค์ประกอบด้าน valuation ที่ดี กล่าวคือ มี PER ต่ำเพียง 11 เท่า มี growth ปี 2558 สูงถึง 23% และยังมี upside สูงถึง 56%
หุ้นจ่ายเงินปันผลสูง โดยหุ้นที่จ่ายเงินปันผลปีละ 1 ครั้ง จะให้ผลตอบแทนการลงทุนในช่วง 4–5 เดือนข้างหน้า อยู่ระดับที่สูงกว่าหุ้นที่จ่ายเงินปันผลมากกว่า 1 ครั้งต่อปี นำโดย STPI(FV@B 30.30) เนื่องจากจ่ายปันผล คิดเป็น div yield สูงถึง 4% นอกจากนี้ ยังมีองค์ประกอบด้าน valuation ที่ดี กล่าวคือ มี PER ต่ำเพียง 11 เท่า มี growth ปี 2558 สูงถึง 23% และยังมี upside สูงถึง 57% นอกจากนี้ หุ้นที่จ่ายปันผลมากกว่าปีละ 1 ครั้ง แต่ให้ผลตอบแทนสูง ก็ยังมีความน่าสนใจ ได้แก่ INTUCH (div yield 5.9% จ่ายปันผลปีละ 2 ครั้ง) AIT (div yield 4.7% จ่ายปันผลปีละ 2 ครั้ง) PTTGC (div yield 4.9% จ่ายปันผลปีละ 2 ครั้ง) BECL (div yield 4.5% จ่ายปันผลปีละ 2 ครั้ง)
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล