- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 02 June 2014 15:30
- Hits: 3221
บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
“โรดแมพเศรษฐกิจหนุน Sentiment การลงทุน”
• หุ้นที่เปลี่ยนคำแนะนำทางปัจจัยพื้นฐานวันนี้ : ไม่มี
• ภาพตลาดวันก่อน : ดัชนีปรับขึ้นต่อ 7.22 จุด มาปิดที่ 1415.73 มูลค่าซื้อขาย 6 หมื่นกว่าล้านบาท โดยนักลงทุนเข้าซื้อหุ้นในกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุน โดยเฉพาะตัวที่ราคายัง Laggard นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อ 2.1 พันล้านบาท ส่วนอีก 3 กลุ่มที่เหลือซื้อสุทธิทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในเดือนพ.ค.57 เท่ากับ 3.6 หมื่นล้านบาท และขายสุทธิสะสมใน YTD เท่ากับ 4.1 หมื่นล้านบาท
• ปัจจัยและกลยุทธ์ : ทางคสช.ได้ชี้แจงบทบาท 3 ระยะ (1-สร้างความสงบ & ฟื้นฟูประเทศ, 2-สร้างธรรมนูญปกครองชั่วคราว ตั้งสภาปฏิรูปและสภานิติบัญญัติ และ 3-เลือกตั้งทั่วไป ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในระยะ 2-3 ประมาณ 1 ปีหรือมากกว่า) และโรดแมพด้านเศรษฐกิจในภาพกว้าง และจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมต่อในสัปดาห์นี้ ซึ่งคาดว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวดีขึ้นใน 2H57 และเติบโตในอัตราที่สูงขึ้นในปี 58 โดยกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจของคสช.ในระยะแรก คือ กลุ่มที่อิงกับการอุปโภคบริโภคและลงทุนในประเทศ(Domestic Play)
ส่วนกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับนักลงทุนต่างชาติต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว เพราะนักลงทุนต่างชาติบางกลุ่มต้องการเห็นความชัดเจนทางการเมือง และนโยบายหลังการปฏิรูปของไทยก่อนตัดสินใจนำเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่เข้ามา อย่างไรก็ดี เม็ดเงินในโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนที่รอการอนุมัติจาก BOI ก็มิใช่น้อย โดยมีกว่า 7 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าได้รับอนุมัติและเดินหน้าลงทุน ก็จะช่วยผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจไทย สำหรับความกังวลกับการชุมนุมทางการเมืองนั้นผ่อนคลายลง หลังจากไม่มีความรุนแรงในช่วงหลายวันที่ผ่านมา แต่ก็เป็นปัจจัยที่หลายฝ่ายยังติดตามอย่างใกล้ชิด ปัจจัยภายนอกเป็นบวกเล็กๆ โดยเศรษฐกิจโลกอยู่ในแนวโน้มฟื้นตัวต่อในช่วงที่เหลือของปีนี้ ในทางปัจจัยพื้นฐาน เรายังคงให้เลือกซื้อลงทุนในหุ้นปัจจัยพื้นฐานแข็งแรง ความสามารถในการทำกำไรดี และเติบโตได้ในระยะกลาง-ยาว โดยหุ้น Top Picks ของเดือนมิ.ย.57 เป็น BBL, CPN, MINT,QH, STPI ส่วน Dark Horse เป็น KTB, THRE สำหรับการลงทุนตามรอบโดยใช้วิเคราะห์ทางเทคนิคมีกลยุทธ์ คือ โดยหลักเป็นการซื้อตามค่าบวก แนวต้านระยะสั้น 1420-1430, 1450+/- จุด สำหรับหุ้นพื้นฐานที่น่าสนใจวันนี้ เป็น QH
Fundamental Pick
QH แนะนำซื้อปิด 3.38 บาท ราคาพื้นฐาน 3.60 บาท
• คาดการณ์ว่ายอดขายปี 57 จะเติบโตได้ 5%YoY โดยเป็นผลจากการเปิดโครงการใหม่ 25โครงการ มูลค่า 22.3 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 56 ที่เปิดขาย 18 โครงการ มูลค่า 19.9พันล้านบาท และบริษัทได้เพิ่มงบลงทุนซื้อที่ดินเป็น 7 พันล้านบาท จากเดิม 4.6 พันล้านบาทเพื่อเปิดขายโครงการปี 58 ซึ่งเรามองว่าเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่บริษัทซื้อที่ดินเก็บไว้ในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา ทำให้แรงกดดันด้านต้นทุนที่ดินจะน้อยลง เพราะเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวและมีการเปิดเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ เพิ่ม ราคาที่ดินก็จะปรับสูงขึ้นไปอีก ในด้านมูลค่าหุ้นยังต่ำและน่าจูงใจ โดยถ้าไม่นับเงินลงทุนในพอร์ตแล้ว ราคาหุ้นปัจจุบันของ QH ซื้อขายที่ P/E เพียง 2.4 เท่าของธุรกิจเฉพาะที่อยู่อาศัย แนะนำซื้อ ให้ราคาพื้นฐาน 3.60 บาท
ปัจจัยต่างประเทศและโภคภัณฑ์
-/+ สหรัฐ : ตัวเลขเศรษฐกิจ Mixed แต่ค่อนไปทางบวก
- ยอดการใช้จ่ายผู้บริโภคสหรัฐร่วงลง 0.1% ในเดือนเม.ย. จากระดับเดือนมี.ค.ที่ขยายตัว 1%เนื่องจากผลกระทบจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นอย่างรุนแรง
+ รอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกนรายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคช่วงท้ายเดือนพ.ค.ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 81.9 จากก่อนหน้านี้ที่ 81.8 โดยรายงานระบุว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอในช่วงไตรมาสแรกไม่ได้มีผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคมากนัก
+ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เขตชิคาโกปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 65.5 ในเดือนพ.ค. จากระดับ 63ในเดือนเม.ย. ทำสถิติเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน และขยายตัวสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้จะลดลงสู่ระดับ 61 เนื่องจากมียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้น
• ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวในกรอบแคบ
• ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 16,717.17 จุด เพิ่มขึ้น 18.43 จุด หรือ +0.11% ดัชนีNASDAQ ปิดที่ 4,242.62 จุด ลดลง 5.33 จุด หรือ -0.13% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 1,923.57 จุดเพิ่มขึ้น 3.54 จุด หรือ +0.18%
• สัญญาน้ำมั้นดิบอ่อนลงเล็กน้อย
• สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค.ปรับตัวลง 87 เซนต์ ปิดที่ 102.71 ดอลลาร์/บาร์เรลสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ค.ที่ตลาดลอนดอน ลดลง 56 เซนต์ ปิดที่ 109.41ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาทองคำ COMEX ร่วงลงราว 0.9%
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค.ร่วงลง 11.1ดอลลาร์ หรือ 0.88% ปิดที่ 1246 ดอลลาร์/ออนซ์ ทั้งนี้นักลงทุนลดการถือครองทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยหลังมีข้อมูลบ่งชี้ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีของสหรัฐ
ปัจจัยในประเทศและหลักทรัพย์
+ คสช.ชี้แจงบทบาท 3 ระยะ และโรดแมพด้านเศรษฐกิจ เพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจปี 58 เติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 4%
• พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ชี้แจงถึงบทบาทของคสช. โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
* ระยะแรก มีหัวหน้าคสช. เป็นหัวหน้าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างความสงบและความปรองดองในชาติ
* ระยะที่สอง จะมีการออกธรรมนูญการปกครองเป็นการชั่วคราว จากนั้นจะมีการตั้งคณะรัฐมนตรี ภายใต้กฎอัยการศึก และมีการตั้งสภาปฏิรูปในชุดต่างๆ อาทิ ปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปกระบวนการทุจริต เป็นต้น และจะมีการตั้งสภานิติบัญญัติ
* ระยะที่สาม จะกำหนดให้มีการเลือกตั้ง เพื่อกลับสู่การเป็นประชาธิปไตยอย่างเป็นธรรมและสมบูรณ์
ทั้งนี้ ในระยะที่สองและสาม ยังไม่ได้กำหนดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงใด ขึ้นอยู่กับบรรยากาศทางการเมือง และความปรองดองของคนในชาติ แต่ในเบื้องต้นประเมินไว้ที่ประมาณ 1 ปี
• โรดแมพด้านเศรษฐกิจของคสช. 9 ข้อ ประกอบด้วย
1.จะเน้นการบริหารระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ซึ่งจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาคเอกชนเป็นหลัก
2.ให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นไปอย่างเสรี
3.ส่งเสริมนโยบายการค้าเสรี
4.ลดบทบาทรัฐวิสาหกิจที่ภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้
5.ขจัดอุปสรรคการค้าต่างประเทศเพื่อให้คล่องตัว
6.สนับสนุนการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม
7.ไม่ก่อหนี้เกินตัวและรักษาวินัยการคลัง
8.ขจัดความไม่เป็นธรรมในระบบพ่อค้าคนกลาง
9.แก้ไขปัญหาแรงงานอย่างบูรณาการ
• 5 นโยบายเร่งด่วน ได้แก่ 1.การแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระแก่ชาวนาในโครงการจำนำข้าว 2.เร่งแก้ไขปัญหาการขอใบอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมที่ล่าช้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน 3.เน้นเบิกจ่ายงบลงทุนปี 57 ที่ยังค้างท่ออยู่ ซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณ 7 พันล้านบาท 4.เริ่มกระบวนการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ระบบรถไฟรางคู่ และรถไฟฟ้าสายต่างๆ ในเขตกทม.และปริมณฑล 5.เร่งจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 58 ให้แล้วเสร็จก่อนเดือนก.ย. นี้
• เร่งทำงบประมาณปี 58 ให้ใช้ได้ทันเวลา สำนักงบประมาณเปิดเผยว่าจะจัดทำยุทธศาสตร์งบประมาณปี 58 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ก.ค.นี้ และจัดทำร่างเพื่อเสนอฝ่ายนิติบัญญัติหรือคสช.ในวันที่ 29 ก.ค.57 เพื่อให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 58 มีผลบังคับใช้ทันวันที่ 1 ต.ค.57 ทั้งนี้สมมติฐานในการจัดทำร่างงบประมาณรายจ่ายปี 58 ได้คาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 58 ไว้ที่ 4% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไป 2.3% โดยภาพรวมงบประมาณรายจ่ายยังคงใกล้เคียงปี 57 ที่เป็นการขาดดุลในช่วง 2-2.5 แสนล้านบาท และมีสัดส่วนงบลงทุน 17.5% ของรายจ่ายเท่ากับปีก่อน รวมทั้งจะมุ่งสู่เป้าหมายงบประมาณสมดุลในปี 60
• นโยบายที่คสช.ให้ทำควบคู่ไปกับนโยบายเร่งด่วน ได้แก่ 1.ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและขจัดปัญหาการทุจริต 2.ปฏิรูปโครงสร้างภาษีอย่างเป็นธรรม 3.ทบทวนโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเน้นให้มีการจัดเก็บภาษีจากคนที่มีรายได้สูงมากขึ้น และดึงผู้มีรายได้เข้ามาในระบบมากขึ้น 4.ส่งเสริมการค้าชายแดน ผ่านการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5.ส่งเสริมและพัฒนาสินค้าขั้นกลางและขั้นปลายเพื่อการส่งออกให้มากขึ้น 6.ทบทวนกองทุนนอกงบประมาณต่างๆ เช่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุนสตรี โดยหากเป็นกองทุนที่ไม่เป็นประโยชน์ก็พร้อมที่จะทบทวน และ 7.ส่งเสริมให้มีการดูแลเกษตรกรชาวนาอย่างเป็นระบบ (ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ,ไทยโพสต์)
ความเห็น Retail Research : คาดว่ามาตรการของคสช.จะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่อิงกับการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ เช่นธนาคารพาณิชย์, ค้าปลีก, อาหาร, สื่อสาร, รับเหมาก่อสร้าง, วัสดุก่อสร้าง, นิคมอุตสาหกรรม,ที่พักอาศัยเป็นต้น ซึ่งเราได้ประมวลหุ้นเด่นในแต่ละกลุ่มดังกล่าว ไว้ดังนี้
* ธนาคารพาณิชย์ : BBL, KBANK, KTB
* ค้าปลีก & อาหาร : BIGC, CPALL, HMPRO, GLOBAL, MC, ROBINS, CPF, M, MINT
* สื่อสาร : ADVANC, DTAC, INTUCH
* รับเหมาก่อสร้าง & วัสดุก่อสร้าง : SCC, SCCC, TMT, CK, STEC, SYNTEC, SEAFCO
* นิคมอุตสาหกรรม : HEMRAJ, AMATA, ROJNA
* ที่พักอาศัย & ให้เช่าพื้นที่ : SPALI, QH, AP, CPN
• สำหรับกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากเข้าไตรมาส 2-3 เป็น Low season ของธุรกิจ และเป็นช่วงที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ แต่คาดว่าเมื่อปัญหาการเมืองสงบลงการปฏิรูปเดินหน้าไปได้ด้วยดี ก็จะเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญใน 4Q57 และ 1Q58 ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว หุ้นเด่นในกลุ่มนี้เป็น AOT, CENTEL, MINT
• กลุ่มส่งออก มีการฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก และได้รับผลดีจากเงินบาทอ่อน กลุ่มที่เด่นใน SET จะเป็นอิเลคทรอนิกส์ และธุรกิจเกษตรส่งออก หุ้นที่น่าสนใจ คือ DELTA, KCE, CPF,GFPT, TUF ส่วนยานยนต์และชิ้นส่วน ต้องใช้เวลาในการสร้างสมดุลของอุปทาน & อุปสงค์ถึงสิ้นปี 57 และคาดว่าจะกลับเข้าสู่การเริ่มเติบโตได้ตั้งแต่ปี 58 ในเชิงกลยุทธ์เป็นลักษณะทยอยซื้อสะสมเพื่อลงทุนยะยาว หุ้นเด่น คือ SAT, STANLY, AH (หมายเหตุ : โดยปกติแล้ว 2Q จะเป็นช่วง Low season ของกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน เนื่องจากมีวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ โรงงานจะใช้เวลาดังกล่าวปิดซ่อมบำรุง ดังนั้นผลประกอบการ 2Q จะอ่อนลงเมื่อเทียบ QoQ และมักจะเป็นไตรมาสที่มีกำไรจากการดำเนินงานปกติต่ำที่สุดในปี)
• เศรษฐกิจไทย : เดือนเม.ย.ยังซบเซาและเปราะบางจากหนี้สินภาคครัวเรือนที่สูง ทำให้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยอาจไม่ลดลงในช่วงนี้
• ธปท.ระบุว่าภาพรวมเศรษฐกิจในเดือนเม.ย.57 “ทรงตัว” จากเดือนก่อนหน้า ผลจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ทฏฑรงตัวตามการใช้จ่ายภาคครัวเรือน-ธุรกิจที่ซบเซาเพราะกังวลกับสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้งหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวในระดับสูง
* ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัว 3.9%YoY โดยการผลิตยานยนต์ยังลดลงจากฐานที่สูงในปีก่อน แม้คำสั่งซื้อต่างประเทศเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่เพียงพอที่จะชดเชยคำสั่งซื้อในประเทศที่ลดลง,การผลิตกุ้งแปรรูปลดลงเพราะขาดแคลนวัตถุดิบ, การผลิตเบียร์ลดลงเนื่องจากผู้ผลิตลดสต็อกตามอุปสงค์ที่ลดลง
* ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัว 0.8%YoY ตามการใช้จ่ายสินค้าคงทนที่ลดลงและการใช้จ่ายสินค้าไม่คงทนที่โดยรวมทรงตัว (ภาระหนี้สินครัวเรือนที่สูงทำให้ระมัดระวังการใช้จ่าย และราคาสินค้าเกษตรสำคัญลดลงกระทบกำลังซื้อของครัวเรือน)
* ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัว 4.7%YoY เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการลงทุนออกไปเพื่อรอความชัดเจนทางเศรษฐกิจและการเมือง
* ส่งออกสินค้าโดยรวมฟื้นตัวได้ช้า โดยหลักเป็นกลุ่มสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปแต่ในส่วนสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น มูลค่าการส่งออกเม.ย.57 หดตัว 0.9%YoY และลดลง MoM
* สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อ (เฉลี่ยเคลื่อนที่ 3 เดือน) เพิ่มขึ้น MoM ทั้งในแนวราบ และอาคารชุด แต่ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยที่ซื้อก่อนหน้าแล้วมาโอนกรรมสิทธิ์ในเดือนนี้ ส่วนยอดขายที่พักอาศัย (Presales) และการเปิดโครงการใหม่ชะลอตัวลงในเดือนเม.ย.
* ภาคท่องเที่ยวดีขึ้น (+7.6%MoM, saar) หลังประกาศยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เมื่อวันที่19 มี.ค.57 แต่ปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติยังลดลง 1.7%YoY หลักๆ เป็นการลดลงของนักท่องเที่ยวจีน มาเลเซีย รัสเซีย และญี่ปุ่น
* เสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาอาหารสำเร็จรูปและราคาพลังงาน ดุลการค้าเกินดุลจากการนำเข้าที่หดตัว ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลไปต่างประเทศของบริษัทต่างชาติ ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลจากทั้งการลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ โดยรวมดุลการชำระเงินเกินดุลในเดือนเม.ย.57 (ที่มา : ธปท.)
• ความเห็น Retail Research : คาดว่าเศรษฐกิจในเดือนพ.ค.57 จะยังซบเซาแต่มีโอกาสกระเตื้องขึ้นใน 1-2 เดือนจากนี้ไป หลังจากคสช.ให้มีการเร่งจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวให้กับเกษตรกร ซึ่งจะจ่าย 9 หมื่นล้านบาทภายในมิ.ย.57 เร่งกระตุ้นการใช้จ่ายและลงทุนของผู้บริโภค & ภาครัฐ จัดทำงบประมาณปี 58 (ขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท) ให้ทันใช้ตามปกติรวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งส่วนนี้ทำให้มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยใน 2H57 และปี 58 จะเติบโตได้ดีขึ้น ซึ่งในส่วนของธปท.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 57 จะเติบโตได้ 2.7% (โดยเริ่มกลับมาเติบโตเป็นบวกได้ตั้งแต่ 2Q57)
• อย่างไรก็ดี ในด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย R/P 1 วัน ซึ่งกนง.จะมีประชุมกันวันพุธที่ 18 มิ.ย.57 เราคาดว่ามีโอกาสที่คณะกรรมการฯ จะคงไว้ที่ 2.00% ก่อน เนื่องจากภาระหนี้สินภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยปัจจัยที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีในช่วงนี้ คือ การฟื้นฟูความเชื่อมั่นผู้บริโภคและผู้ประกอบการให้ดีขึ้น ซึ่งในส่วนของคสช.กำลังดำเนินการอยู่ และเห็นผลบวกในระยะสั้นมาก โดยสะท้อนเข้ามาในดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่แกว่งขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติต้องรออีกระยะหนึ่ง เมื่อมีความคืบหน้าเรื่องการฟื้นฟู การปฏิรูปประเทศและแก้ไขกฎหมายต่างๆ เดินหน้าไปได้ด้วยดี ก็จะช่วยดึงความเชื่อมั่นและการลงทุนกลับมาได้
• กลยุทธ์การลงทุน เรายังคงให้คำแนะนำเลือกซื้อลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี ฐานะการเงินแข็งแกร่งมีแนวโน้มเติบโตได้ในระยะยาว แม้ว่าในปีนี้อาจมีผลประกอบการชะลอตัวไปบ้างก็ตาม ซึ่งหุ้นTop Picks ของเดือนมิ.ย.57 เป็น BBL, CPN, MINT, QH, STPI
• โผรายชื่อรัฐมนตรีกระทรวงหลักๆ • แหล่งข่าวกล่าวว่าคสช.จะคลอดคณะรัฐมนตรีหลังจัดแถวข้าราชการเสร็จ ป้องกันคลื่นใต้น้ำโดยจ่อดึง จ่อดึงพล.อ.อนุพงษ์คุมกระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.ประจิน จั่นตองดูแลกระทรวงคมนาคม ส่วนทีมเศรษฐกิจมีชื่อม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุลคุมกระทรวงการคลัง, ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นั่งกระทรวงพาณิชย์, ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ดูกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งนี้อาจตั้งรัฐมนตรีไม่ครบทุกกระทรวง โดยจะมอบให้ปลัดกระทรวงเป็นผู้รับนโยบายสานงานต่อในกระทรวงที่ไม่ได้แต่งตั้งรัฐมนตรี (ที่มา : สรุปจากเดลินิวส์)
ความเห็น Retail Research : นับว่ารายชื่อรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจตามโผดังกล่าวข้างต้น เป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับด้านความรู้ความสามารถ รวมทั้งมีประสบการณ์ในการบริหารประเทศมาแล้ว จึงน่าจะเป็นที่ยอมรับและช่วยสานงานด้านเศรษฐกิจให้เป็นไปตามโรดแมพที่ตั้งไว้ อย่างไรก็ตาม คงต้องรอการประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งว่าผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งกระทรวงที่สำคัญ จะเป็นไปตามโผนี้หรือไม่
• 3 มิ.ย.นี้ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจคสช.จะเสนอที่ประชุมให้พิจารณาตรึงราคาน้ำมันดีเซล ราคาก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน และVAT ไว้ที่เดิมก่อน จนกว่าจะปรับโครงสร้างด้านพลังงานและภาษีแล้วเสร็จ
• พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) รองหัวหน้าคสช.ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจเตรียมเสนอให้คสช.พิจารณาในการประชุมร่วมวันที่ 3 มิ.ย.57 ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรต่อไปก่อน และให้ยกเลิกการเพิ่มราคาก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน0.50 บาท/ลิตรที่มีผลตั้งแต่ 1 มิ.ย.57 ลงมาเป็นราคาก่อนปรับที่ 22.63 บาทต่อลิตร โดยจะตรึงราคาไว้ไปจนกว่าการปรับโครงสร้างพลังงานจะแล้วเสร็จ รวมทั้งให้คงใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ที่ 7% ออกไปอีก 1 ปี ถึงสิ้นก.ย.58 จากเดิมอัตราภาษีดังกล่าวจะหมดอายุสิ้นก.ย.57(ที่มา : เดลินิวส์ & ASTV ผู้จัดการรายวัน & มติชน)
• ราคากุ้งลดลงเป็นเพราะผู้นำเข้ากดราคาในช่วงที่ต้องการซื้อจำนวนมาก ไม่เกี่ยวกับรัฐประหาร...อุตสาหกรรมกุ้งส่งออกยังซบเซา แต่ผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น CPF, TUF มีกำไรจากผลิตภัณฑ์อื่นที่ดีขึ้นมากเข้ามาชดเชย และทำให้ผลประกอบการเติบโตได้
• อธิบดีกรมประมงกล่าวว่าจากที่มีกระแสข่าวราคากุ้งปรับลดลงเพราะสหรัฐไม่นำเข้ากุ้งจากไทยเนื่องจากมีการรัฐประหาร ทางกรมฯได้สอบถามไปยังนายอดิศร พร้อมเทพ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร) ประจำสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรฯ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. พบว่าไม่เป็นความจริง โดยการค้าขายกุ้งระหว่างไทยกับสหรัฐยังเป็นไปตามปกติ ส่วนที่ราคาปรับลดลงเป็นทุกประเทศ ทั้งอินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย โดยน่าจะเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดของผู้นำเข้าสหรัฐที่ต้องการกดราคากุ้งในช่วงที่ต้องมีคำสั่งซื้อจำนวนมาก (ที่มา : มติชน)
แข็งแกร่งในปีนี้ ยังคงแนะนำซื้อ CPF และTUF
ความเห็น Retail Research : ราคากุ้งที่อ่อนตัวลงในช่วงนี้นับเป็นลบเพิ่มเติม เนื่องจากในปัจจุบันปริมาณผลผลิตกุ้งยังต่ำกว่าช่วงปกติหลังมีโรคระบาด EMS ซึ่งส่งผลกระทบมากว่า 1 ปีแล้ว ปริมาณและมูลค่าส่งออกกุ้งของไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันมูลค่าการส่งออกของไทยให้ฟื้นตัวช้า ทั้งนี้มูลค่าส่งออกกุ้ง ปู กั้ง และล็อบเสตอร์ของไทยคิดเป็นประมาณ 0.7-1.0% ของมูลค่าส่งออกรวมในช่วงก่อนมีโรคระบาด EMS แต่หลังจากมีโรคระบาดแล้วลดลงเหลือ 0.3-0.5% เท่านั้น โดยมูลค่าส่งออกใน 1Q57 อยู่ในเกณฑ์ต่ำที่ 0.3%ของมูลค่าส่งออกรวม นับว่าธุรกิจกุ้งยังซบเซาอยู่มาก
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ทาง DBSV ทำการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน เช่น CPF และ TUF มีผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นที่มีราคาและมาร์จิ้นดีในปีนี้เข้ามาชดเชย คือ หมู ไก่ และทูน่า เป็นต้น ทำให้กำไรสุทธิของทั้งสองบริษัทนี้สามารถขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี เราจึงคงคำแนะนำซื้อ CPF ราคาพื้นฐาน 33 บาท และซื้อ TUF ราคาพื้นฐาน 84บาท
นักวิเคราะห์ : อาภาภรณ์ แสวงพรรค : Tel 7829 [email protected]