- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 24 December 2014 16:57
- Hits: 1614
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
หุ้นน้ำมันมีแนวโน้มฟื้นตัวตามราคาน้ำมันดิบโลก และแรงหนุนจาก LTF และ Window Dressing ทำให้ดัชนียังคงแกว่งในเชิงบวก กลยุทธ์การลงทุน ยังเลือก AIT(FV@53) และ PTTGC(FV@B68) ซึ่งมี Div Yield 4.3 และ 6.1% ตามลำดับ เป็น Top Picks
การตัดลด GDP Growth โลกน่าสิ้นสุดในปี 2557
ปี 2557 ถือเป็นอีกปีหนึ่งที่เศรษฐกิจโลกประสบปัญหา ทำให้มีการตัดลด GDP Growth หลายครั้ง เริ่มจากวิกฤติการเมืองในรัสเซีย ตามมาด้วยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล่าช้าในยุโรป ญี่ปุ่น และจีน รวมถึงความกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในกลางปี 2558 หลังจากที่มีการตัดลด QE ไปเสร็จสิ้นในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามในปี 2557 ได้รับแรงหนุนจาก 2 ประเทศหลักคือ สหรัฐ พบว่า GDP Growth งวด 3Q57 อยู่ที่ 2.7%yoy และงวด 9M57 เฉลี่ย 2.4%yoy ขณะที่ทั้งปี 2557 IMF คาดไว้ 2.2% ซึ่งอาจจะต่ำไป สะท้อนจากการบริโภคภาคครัวเรือน (70% ของ GDP) ที่มีแนวโน้มใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลเฉลิมฉลอง และราคาน้ำมันที่ลดลงราว 50% ตั้งแต่ต้นปี 2557 และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคครัวเรือน เดือน พ.ย. เพิ่มขึ้น 0.6%mom (สูงสุดในรอบ 3 เดือน) น่าจะเกิดจากรายได้ที่แท้จริงปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 6 เดือน ตามราคาน้ำมันที่ลดลง ขณะที่อังกฤษ แม้ GDP Growth งวด 3Q57 ขยายตัวเพียง 2.6%yoy และงวด 9M57 เฉลี่ยเพียง 2.5%yoy เทียบกับที่ IMF คาดการณ์ปี 2557 ไว้ 3.2% จึงอาจจะมีความเป็นไปได้น้อย ทั้งนี้เป็นผลจากการชะลอตัวของภาคส่งออกเป็นหลัก
และการที่ราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลงมากสุดถึง 50% จากตันปี 2557 จนต่ำสุดในเดือน ธ.ค. 2557 แม้จะกดดันผู้ผลิตและสำรวจน้ำมันโลก อย่างกลุ่ม OPEC และรัสเซีย เป็นต้น แต่ในอีกมุมหนึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค เพราะต้นทุนเชื้อเพลิงที่ลดลง จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง เป็นผลให้ราคาสินค้าและเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง นั่นหมายถึงเงินในกระเป๋า หรือกำลังซื้อผู้บริโภคจะเพิ่มมากขึ้น และในลักษณะเดียวกันอาจจะทำให้ธนาคารกลางเกือบทุกแห่งของโลกน่าจะยืดการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย หรือ ดอกเบี้ยต่ำต่อไป โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีปัญหา เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน ส่วนสหรัฐ และอังกฤษ อาจจะต้องยืดเวลาการขึ้นดอกเบี้ยไปเป็นครึ่งหลังของปี 2558 หรือต้นปี 2559 จากเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงกลางปี 2558 ซึ่งยังถือเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจและตลาดหุ้นโลกในปี 2558
ทั้งนี้ผลการศึกษาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลงดังกล่าวจะช่วยหนุน GDP Growth โลกราว 0.7% ในปี 2558 (ภายใต้สมมติฐานที่ว่า ความยืดหยุ่นของการใช้จ่ายของผู้บริโภค ต่อการลดลงของราคาน้ำมัน จะมีมากกว่าการเพิ่มขึ้นในฝั่งของผู้ผลิต หรือผู้ประกอบการ) ด้วยเหตุนี้ทำให้โอกาสการปรับลด GDP Growth โลกในปี 2558 น่าจะมีน้ำหนักน้อยลง ตรงกันข้าม อาจปรับเพิ่มประมาณการ GDP Growth ที่คาดไว้ 3.8% ซึ่งแตกต่างจากปี 2557 มีการตัดลด GDP Growth ลง 4 จนเหลือ 3.3% ในขณะนี้
ราคาน้ำมันดิบโลกมีสัญญาณฟื้นตัว
ราคาน้ำมันดิบโลกวานนี้ยังคงแกว่งตัวในกรอบแคบ ๆ แต่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด โดยหากพิจารณาน้ำมันดิบดูไบ ล่าสุดอยู่ที่ 57.4 เหรียญฯต่อบาร์เรล กระเตื้องขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ 55 เหรียญฯต่อบาร์เรล เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่าน่าจะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และมีโอกาสจะฟื้นตัวในงวด 1H58 โดยน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 60-65 เหรียญฯ แต่ในช่วง 2H58 น่าจะมีโอกาสฟื้นตัวเหนือ 80 เหรียญฯ อีกครั้ง ทั้งนี้ปัจจัยหนุนในระยะสั้น ๆ เกิดจาก
แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2558 มีแนวโน้มจะดีกว่าคาด ดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก และตามมาด้วยจีน (ผู้บริโภคน้ำมันอันดับ 2 ของโลก) และเยอรมัน (ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดใน EU)
ปัญหา oversupply น่าจะค่อย ๆ ลดลง สะท้อนจากที่บริษัทผู้ผลิตน้ำมันโลก เริ่มตัดลดงบประมาณในการลงทุนในการผลิตและสำรวจน้ำมัน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในปัจจุบันได้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของผู้ผลิต Non-OPEC
สต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐสัปดาห์ที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าจะลดลง 2.5 ล้านบาร์เรล เทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่ลดลง 8.5 แสนบาร์เรล ซึ่งช่วยชะลอการตกต่ำของราคาน้ำมันดิบในระยะสั้น ๆ
โดยสรุปเชื่อว่าผู้ประกอบการปิโตรเลียมขั้นต้น ทั้ง PTT และ PTTEP ราคาหุ้นน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไป จึงแนะนำให้ทยอยซื้อสะสมลงทุนระยะยาวเพื่อรับเงินปันผลเฉลี่ยเกินกว่า 4%
ต่างชาติขายเบาบาง ขณะที่กองทุนยังซื้อต่อเนื่อง
วานนี้นักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคอีกครั้ง แต่เบาบางเพียง 108 ล้านเหรียญฯ (เทียบกับที่ซื้อสุทธิ 2 วันก่อนหน้า) โดยที่ยังคงเป็นการสลับซื้อขายสุทธิเบาบางรายประเทศ เริ่มจากเกาหลีใต้ที่ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 114 ล้านเหรียญฯ และเพิ่มขึ้น 72% ตามมาด้วยไทย ขายสุทธิเป็นวันที่ 2 เช่นกัน แต่ลดลงถึง 53% เหลือราว 19 ล้านเหรียญฯ (613 ล้านบาท) และอินโดนีเซียที่ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 แต่ลดลง 44% เหลือราว 16 ล้านเหรียญฯ สวนทางกับ ไต้หวันที่ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 41 ล้านเหรียญฯ แต่ลดลง 70% จากวันก่อนหน้า และสุดท้ายคือ ฟิลิปปินส์ ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 แต่เบาบางเพียง 2.7 แสนเหรียญฯ เท่านั้น (วันก่อนหน้าซื้อสุทธิถึง 155 ล้านเหรียญฯ)
โดยภาพรวม นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิเบาบาง และน่าจะชะลอการ ซื้อ-ขาย ในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากใกล้วันหยุดยาวในช่วงเทศกาลคริสมาส และ วันขึ้นปีใหม่ 2558 ขณะที่กลุ่มนักลงทุนสถาบันยังซื้อสุทธิราว 1.3 พันล้านบาท คาดว่ามาจากแรงซื้อกองทุน LTF (โดยกองทุนซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 รวม 2.5 หมื่นล้านบาท) ซึ่งจะแรงพยุงดัชนีหุ้นไทยได้จนถึงสิ้นปีนี้
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล