- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 30 May 2014 15:27
- Hits: 2951
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ดัชนี ที่เกิน 1,400 จุด (Expected P/E 14.35 เท่า) ยืนยาก ตราบที่ต่างชาติยังขายหุ้นไทยต่อเนื่อง แนะนำให้เลือกหุ้นที่มีเงินปันผลสูง ธุรกิจยังมีการเติบโตได้ภายใต้เศรษฐกิจชะลอตัว โดยเลือก SCC(FV@B 520) และ BTS(FV@B 11.2) Top picks
ต่างชาติขายสุทธิมากกว่าคาด และน่าจะยังเห็นการขายต่อเนื่อง
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 แต่ลดลง 40% จากวันก่อนหน้าเหลือราว 172 ล้านเหรียญฯ โดยยังคงซื้อหลัก ๆ ในไต้หวัน ที่ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 6 ราว 147 ล้านเหรียญฯ แต่ลดลง 39% จากวันก่อนหน้า ตามมาด้วย เกาหลีใต้ซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 12 ราว 75 ล้านเหรียญฯ ลดลง 42% และ ฟิลิปปินส์สลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 11 ล้านเหรียญ (จากขายสุทธิติดต่อกัน 3 วันก่อนหน้า) ตรงกันข้ามกับตลาดหุ้นไทย ยังคงขายสุทธิเป็นวันที่ 8 ราว 61 ล้านเหรียญฯ (2.0 พันล้านเหรียญฯ ลดลง 28% จากวันก่อนหน้า) ส่วนตลาดในอินโดนีเซียปิดทำการ
แรงขายจากต่างชาติยังคงกดดันตลาดหุ้นไทยหลังจากที่ 8 วันหลังสุด นักลงทุนกลุ่มนี้เทขายออกมา 3.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งทำให้ต่างชาติมีฐานะขายสุทธิ 3.8 หมื่นล้านบาทนับจากต้นปีจนถึงวานนี้ และหากนับตั้งแต่ที่ fund flow ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยเมื่อ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา พบว่าต่างชาติมียอดขายสุทธิ 2.6 พันล้านบาท (จากที่เคยมียอดซื้อสุทธิสูงสุดเกือบ 3 หมื่นล้านบาท) ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนที่เป็นผู้ซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีการประกาศกฎอัยการศึกเป็นต้นมาคือนักลงทุนสถาบัน และรายย่อย โดยซื้อสุทธิราว 9.3 พันล้านบาท และ 1.9 พันล้านบาทตามลำดับ เชื่อว่าในระยะสั้น นักลงทุนต่างชาติจะยังคงเป็นผู้ขายกดดันตลาดหุ้นไทยต่อไป
แผนกระตุ้นเศรษฐกิจโลกลดลง หลังเงินเฟ้อญี่ปุ่นขึ้น 3.1% ทะลุเป้าหมาย
จากผลการขึ้นภาษีการขาย (Consumption Tax) 3% เป็น 8% เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา กระตุ้นให้อัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่น เดือน เม.ย. ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 3.4%yoy (เพิ่มขึ้นเป็นระดับสูงสุดในรอบ 23 ปี และสูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 1.6%) สูงกว่าเป้าหมายของ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ที่ 2% และหลุดจากช่วงเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะเงินฝืดมาเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตามราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น แต่อัตราค่าแรงยังชะงักอยู่ น่าจะกดดันการบริโภคภาคครัวเรือนอย่างมากในช่วงที่เหลือของปีนี้ (ภาคครัวเรือนคิดเป็น 60% ของ GDP) จึงมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วง 2Q57 จะชะลอตัวจากไตรมาสแรกอย่างมาก
ทั้งนี้คาดว่า BOJ มีแผนจะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อชดเชยผลกระทบจากการขึ้นภาษีขาย แต่มุ่งไปที่การปรับลดอัตราภาษีบริษัท ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 35.6% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วที่ 25%
ด้วยเหตุนี้อาจจะทำให้ดับฝันของนักลงทุนในตลาด ที่คาดการณ์กันในวงกว้างว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) น่าจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบแรงๆ เช่น QE ในช่วงที่เหลือของปีนี้ (จากการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์โลกของ Bloomberg พบว่า 75% เชื่อว่าจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ) แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่า BoJ ก็น่าจะยืนดอกเบี้ยระดับต่ำต่อไป 0.25% เนื่องจากผลกระทบจากการขึ้นภาษีขายฯ ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา น่าจะกดดันกำลังซื้อของประชาชน และน่าจะกดดัน GDP ชัดเจนในงวด 2Q57 เป็นต้นไป
ผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะสั้น หลังเงินเฟ้อสูงคือ เงินเยนได้กลับไปมีทิศทางแข็งค่า หลังจากที่อ่อนค่ามาเป็นเวลานานเกือบ 2 ปี โดยอ่อนค่ามากกว่า 34% (จาก 78.39 เยน ก.ย. 2555 ต่อ ดอลลาร์ มาแตะระดับสูงสุดปีนี้ที่ 105.13 เยน) ซึ่งระยะสั้นเป็นไปได้ที่ค่าเงินเยนจะหลุด 101.61 เยน ต่อดอลลาร์ ซึ่งโดยรวมน่าจะกดดันให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังอยู่ในภาวะผันผวนต่อไป
ขณะที่สหรัฐ จากการรายงาน GDP Growth งวด 1Q57 (ทบทวนครั้งที่ 2) เติบโตเพียง 2%yoy เป็นการปรับลดจากประมาณการครั้งแรกเล็กน้อยที่ 2.3%yoy และลดลงจาก 2.6%yoy ในงวด 4Q5 เนื่องจากการปรับลดสต็อกสินค้าคงคลังภาคเอกชนเหลือเพียง 4.9 หมื่นล้านเหรียญฯ จาก 8.74 หมื่นล้านเหรียญฯ 6 ซึ่งเป็นผลกระทบจากอากาศหนาวเย็นผิดปกติในช่วงเดือน ธ.ค. 2556 - ก.พ. 2557 อย่างไรก็ตามคาดว่าในไตรมาสถัด ๆ ไป เศรษฐกิจสหรัฐจะมีแนวโน้มการฟื้นตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรก และน่าจะ ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3.1%yoy ในแต่ละไตรมาส เพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐ เติบโตได้ 2.8% ตามที่ IMF คาดไว้
ทั้งนี้ จากการรายงานดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจล่าสุด พบว่าตลาดแรงงานยังคงแสดงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 24 พ.ค. ปรับตัวลง 27,000 ราย (ต่ำกว่าคาด 18,000 ราย) เช่นเดียวกับภาคอสังหาฯ ที่ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนเม.ย.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4%mom
พัฒนาการในเชิงบวกนี้น่าจะตอกย้ำว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ยังคงทำการลดปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตรต่อเนื่องเดือนละ 1 หมื่นล้านเหรียญฯ ไม่เปลี่ยนแปลง และจนกว่าจะสิ้นสุดราวเดือน ก.ย. นี้ และหลังจากนี้น่าจะมีการพิจารณาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป ซึ่งต้องติดตามความชัดเจนจากผลการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 17-18 มิ.ย. ถือเป็นอีกตลาดที่หมดแรงกระตุ้นทำให้ดัชนีน่าจะอยู่ในภาวะผันผวนเช่นกัน
ตลาดหุ้นผันผวนหันไปลงทุนหุ้นปันผล
หลังจากที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวอันเนื่องมาจากปัญหาการเมืองตั้งแต่งวด 4Q56 ต่อเนื่อง 1Q57 กดดัน GDP Growth ช่วงเวลาดังกล่าวเหลือเพียง 0.6%yoy และ -0.6%yoy ตามลำดับ และส่งผลให้ฝ่ายวิจัยต้องปรับลดกำไรปี 2557 ลง เหลือ 98.14 บาทต่อหุ้น (จากเดิม 100.96 บาทต่อหุ้น) พร้อมกับปรับลดดัชนีเป้าหมายสิ้นปี 2556 อยู่ที่ 1,374 จุด อิง Expected P/E 14 เท่า (จากเดิมที่เคยอิง 14.5 เท่า เนื่องจากขาดแรงซื้อจากต่างชาติ) ทำให้ดัชนีน่าจะมีความผันผวนสูง ภายใต้การไหลออกของกระแสเงินทุนต่างชาติยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ดัชนียืนเหนือ 1,400 จุดยาก กลยุทธ์การลงทุนควรเลือกหุ้น Dividend Yield สูง (เนื่องจากใกล้เข้าสู่ช่วงจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล) โดยแบ่งเป็นหลายทางเลือก