- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 28 November 2014 15:13
- Hits: 1978
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
คาดการเก็งกำไรหุ้นกลาง-เล็กน่าจะลดน้อยลง หลังทางการมีมาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรระยะสั้น ทำให้ SET 1,600 จุด ยังผ่านยาก จึงยังเน้นรายหุ้น ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายภาครัฐ เลือก SAMTEL (FV@B27) เป็น Top pick
เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นในยุโรป การกระตุ้นรอบใหม่อาจเลื่อนเป็นปีหน้า
ยุโรปมีสัญญาณฟื้นตัว ทำให้ความคาดหวังต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่อาจจะถูกยืดออกไป ท่ามกลางความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกล่าช้า โดยเฉพาะภาวะถดถอยของเศรษฐกิจยุโรป แต่อย่างไรก็ตามล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวบ้าง สะท้อนจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสำคัญบางประการ เดือน พ.ย. ได้แก่ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในสหภาพยุโรป กลับมาฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สอดคล้องกับรายประเทศที่ได้รายงานไปก่อนหน้า ได้แก่ เยอรมัน (ใหญ่สุดในยุโรป) พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ฟื้นตัวเป็นครั้งแรก หลังจากลดลงต่อเนื่องใน 6 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 เดือน และล่าสุด ยังพบการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน โดยจำนวนคนว่างงานของเยอรมัน เดือน พ.ย.ลดลง 14,000 ราย ส่งผลให้ ขณะที่อัตราว่างงานอยู่ที่ 6.6% (ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์) และเช่นเดียวกับฝรั่งเศส ที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ เพิ่มขึ้นอีกครั้งและเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน
อย่างไรก็ตามพบว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงอ่อนตัวต่อเนื่อง คือเดือน พ.ย. เยอรมัน อ่อนตัวลงมา
ที่ 0.6%yoy (ต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี) และของสเปน (อันดับ 4 ในยุโรป) ติดลบ 0.4%yoy (ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน) ซึ่งอาจจะกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อยุโรป เดือน พ.ย. ที่จะมีการรายงานในวันที่ 28 พ.ย. นี้ ซึ่งตามการสำรวจของบลูมเบิร์กคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 0.3%yoy (จาก 0.4%yoy ในเดือนก่อนหน้า)
สัญญาณการฟื้นตัวของประเทศยักษ์ใหญ่ในยุโรป น่าจะทำให้ความคาดหวัง ต่อการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมระยะสั้น ลดน้อยลง และธนาคารกลางยุโรป (ECB) น่าจะรอดูผลของการเพิ่มเม็ดเงินอัดฉีดผ่านการเข้าซื้อ covered bonds ใน 3 ประเทศ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี และแผนการที่จะซื้อ ABS ในประเทศ โปรตุเกส และกรีซ ที่กำหนดไว้ใน 4Q57 อีกครั้ง ซึ่ง คงต้องติดตามผลการประชุมของ ECB ในวันที่ 4 ธ.ค. นี้ ว่าจะมีผลออกมาอย่างไร
ญี่ปุ่นยังคงเผชิญกับภาวะชะลอตัว เช่นเดียวกับญี่ปุ่น พบว่า อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. เพิ่มขึ้นเพียง 2.9%yoy ชะลอตัวต่ำสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 2557 (เฉลี่ย 2.7% จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน) แต่
ยังสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ 2% ส่วนหนึ่ง
น่าเป็นผลมาจากการอ่อนตัวลงของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน หลังจากการขึ้นภาษีขาย 3% เป็น 8% เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และ ราคาน้ำมันดิบโลกที่อ่อนตัวลงสู่ระดับ 70 เหรียญฯ ต่อ บาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 4 ปี ขณะที่เดือน ต.ค. ที่ผ่านมา BOJ ได้ประกาศเพิ่ม วงเงิน QE อีก 15-20 ล้านล้านเยนต่อปี เป็น 80 ล้านล้านเยนต่อปี (จากเดิม 60-70 ล้านล้านเยนต่อปี vs เป้าหมาย 101 ล้านล้านเยนต่อปี) หรือราว 12,500-15,000 ล้านเหรียญฯ ต่อเดือน ซึ่งถือว่าได้สะท้อนผ่านการปรับขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมาแล้ว ราว 11%
OPEC คงกำลังการผลิต..น้ำมันลงต่ำสุดรอบ 4 ปี สะท้อนราคาหุ้น PTTEP แล้ว
สุดท้ายตลาดก็ต้องผิดหวังกับผลการประชุมของ OPEC ที่ให้คงการผลิตน้ำมันดิบไว้ที่ระดับเดิม (เทียบกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายแรกคาดว่า OPEC จะลดกำลังการผลิตลง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จาก 30 ล้านบาร์เรล/วัน แต่อีกกลุ่มคาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง) เนื่องจากซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มปฏิเสธไม่ลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงตามข้อเสนอของเอกวาดอร์และเวเนซุเอลา โดยให้เหตุผลว่าปัญหา oversupply หลักๆ มาจาก non-OPEC โดยเฉพาะสหรัฐที่โหมกำลังการผลิตจาก Shale Gas และ Shale Oil สู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ทศวรรษ ขณะที่ demand เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่า เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ฉะนั้น OPEC จึงไม่มีแนวความคิดที่จะพยุงราคาน้ำมันโดยการลดการผลิต ซึ่งมองในมุมกลับอาจจะส่งผลต่อสหรัฐเอง เนื่องจากราคาที่ต่ำจะทำให้น้ำมันที่ผลิตจาก Shale Gas และ Shale Oil สูญเสียความสามารถในการแข่งขันได้เพราะมีต้นทุนการผลิตสูง และจะช่วยลดแรงกดดันต่อ OPEC ในระยะยาว
ด้วยเหตุนี้จึงกดดันให้ราคาน้ำมันดิบโลกวานนี้ปรับลดลงแรง โดยทำจุดต่ำสุดใหม่ในรอบ 4 ปี ลงมาอยู่ที่ 68.85 เหรียญฯต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม การลดลงมาอย่างรุนแรงของราคาน้ำมันดิบโลก น่าจะส่งผล sentiment เชิงลบต่อผู้ประกอบการน้ำมัน โดยเฉพาะ PTTEP และ PTT ทั้งนี้จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าหากมีการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันในระยะยาวลงทุกๆ 5-11 เหรียญฯต่อบาร์เรล จะส่งผลให้มูลค่าพื้นฐานของ PTT ปรับตัวลดลง 7-12 บาทต่อหุ้น เหลือ 399.62-393.73 บาท จาก Fair Value ปี 2558 เดิมอยู่ที่ 405 บาท (ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบโลกที่ 90 เหรียญฯ) จะเห็นว่ามี upside จำกัด (โดยยังมิได้คำนึงถึงผลบวกจากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้ Fair Value เพิ่มขึ้นเกือบ 50 บาท) จึงแนะนำให้สลับไปลงทุนใน PTTEP เนื่องจากผลกระทบของราคาน้ำมันดิบที่ลดลงทุก 5-10 เหรียญฯต่อบาร์เรล แม้จะส่งผลให้ Fair Value หายไปจากสมมติฐานเดิม (ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบโลกที่ 90 เหรียญฯ) ประมาณ 8-16 บาท เหลือ 172-163.5 บาท แต่ยังมี upside 15-20% ซึ่งยังเป็นระดับที่น่าซื้อสะสมลงทุนข้ามปี
ต่างชาติยังซื้อหุ้นไทยแต่เบาบาง
เงินทุนยังคงไหลเข้าภูมิภาคต่อเนื่อง โดยวานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 8 และเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวจากวันก่อนหน้า อยู่ที่ 649 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสุทธิ 24 จาก 26 วันหลังสุด) ซื้อสุทธิสูงสุดคือ ฟิลิปปินส์ที่ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 407 ล้านเหรียญฯ (ยอดซื้อสุทธิสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี) ตามมาด้วยไต้หวัน ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 8 ราว 223 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้ากว่าเท่าตัว) ส่วนอินโดนีเซียยังคงซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5 และเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเช่นกัน อยู่ที่ 45 ล้านเหรียญฯ และ ไทย ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ราว 6 ล้านเหรียญฯ (211 ล้านบาท, เพิ่มขึ้น 93%) สวนทางกับเกาหลีใต้ที่สลับมาขายสุทธิราว 42 ล้านเหรียญฯ หลังจากที่ซื้อสุทธิติดต่อกัน 7 วันก่อนหน้า
ในส่วนของตลาดหุ้นไทย นักลงทุนต่างชาติยังเข้าซื้อสุทธิเบาบาง แม้ว่าเป็นการซื้อต่อเนื่องถึง 15 จาก 18 วันหลังสุด แต่มียอดซื้อสุทธิสะสมเพียง 1.0 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยวันละ 550 ล้านบาท เท่านั้น ในส่วนของกลุ่มนักลงทุนสถาบันยังคงซื้อสุทธิ สลับขายเบาบางต่อเนื่อง โดยในเดือนที่ผ่านมามียอดซื้อสุทธิสะสมราว 6.2 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิ 8 จาก 19 วัน) แสดงให้เห็นว่า แรงขายจากทางฝั่งสถาบันมีไม่มากนัก และ น่าจะมีแรงซื้อกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปีจากกองทุน LTF
มาตรการสกัดหุ้นเก็งกำไร อาจทำให้ SET ลดความร้อนแรง
จากสภาพตลาดที่มีการเก็งกำไรหุ้นขนาดกลาง–เล็กกันอย่างกว้างขวาง กลายเป็นประเด็นที่ทางการเริ่มเป็นห่วง และเตรียมหามาตรการลดความร้อนแรงลง ทั้งนี้หากพิจารณาข้อมูลที่นักวิเคราะห์เชิงปริมาณของ ASP ได้สรุปล่าสุดพบว่า มูลค่าการซื้อขายแต่ละวันที่สูงเฉลี่ย 4-5 หมื่นล้านบาท พบว่ากว่า 52% เป็นหุ้นนอก SET100 แต่เป็นที่สังเกตว่าหุ้นนอก SET100 มีมูลค่าตลาดรวม (Market capitalization) เพียง 20.8% เท่านั้น และหากพิจารณาหุ้นนอก SET 50 พบว่ามูลค่าซื้อขายเพิ่มเป็น 65.4% ของมูลค่าซื้อขายแต่ละวัน ขณะที่มูลค่าตลาดรวม (Market capitalization) เพียง 28.9% เท่านั้น
และเช่นเดียวกับการซื้อขายในหุ้น MAI (ปัจจุบันมี 109 บริษัท จาก 8 อุตสาหกรรมหลัก ซึ่งผลกำไรกว่า 40% กระจุกตัวในอุตสาหกรรม และอีก 38% อยู่ในกลุ่มพลังงานทดแทน) โดยพบว่ามูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันขณะนี้ได้สูงถึง 9 พันล้านบาท เทียบกับช่วงต้นปี 2557 เฉลี่ยต่ำกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งทำให้ market cap เพิ่มขึ้น 160% เป็น 3.8 แสนล้านบาท ในช่วงเวลา 11 เดือน
ขณะที่ผลตอบแทนจากต้นปีจนถึงปัจจุบันพบว่า MAI เฉลี่ยสูงถึง 120% หุ้นนอก SET100 52% และ SET เพียง 23% ซึ่งทำให้ค่า Current P/E ของหุ้นใน MAI สูงถึง 60 เท่า ขณะที่หุ้นเกิน SET100 อยู่ที่ 22-23 เท่า และ SET 17 เท่า สะท้อนถึงความแพงมากขึ้น
จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นการยืนยันถึงภาวะเก็งกำไรที่ร้อนแรงและทำให้ทางการพยายามหามาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไร ล่าสุด ก.ล.ต. ทำการปรับปรุงเกณฑ์คำนวณ Turnover List ใหม่ และจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันนี้ (28 พ.ย. 2557) ดังนี้คือ (1) ไม่กำหนดจำนวนหลักทรัพย์ที่ติดเกณฑ์ Turnover List ใน SET และ Mai จากเดิมที่มีการกำหนดจำนวนไว้ (2) กรณีที่หุ้นแม่ใน SET และ Mai ติด Turnover List ให้ warrant ของบริษัทนั้น ติด Turnover List ควบคู่ไปด้วย และ (3) ปรับปรุงสูตรการคำนวณให้ไม่ซับซ้อน แต่ให้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกับของเดิม
ขณะที่ ตลาดหลักทรัพย์ ได้ออกมาตรการคุมหุ้นเก็งกำไร คือ ให้นำหุ้นที่ติด Trading Alert เข้าเกณฑ์ Cash Balance ทันที 3 สัปดาห์ ซึ่งหากยังมีการซื้อขายผิดปกติและติด Trading Alert ครั้งที่ 2 หุ้นดังกล่าวจะถูกขยายเวลาติดเกณฑ์ Cash Balance อีก 3 สัปดาห์ รวมถึงไม่สามารถนำหุ้นเป็นหลักประกันได้ และถ้าหากถูก Trading Alert เป็นครั้งที่ 3 หุ้นดังกล่าวจะไม่สามารถซื้อขายแบบ Net Settlement ได้ภายใน 1 วัน อย่างไรก็ตาม มาตรการจะดังกล่าวจะต้องผ่านการเห็นชอบจาก กลต. ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในช่วงต้นปี 2558 ซึ่งน่าจะกดดันให้การเก็งกำไรหุ้นเล็กลดความร้อนแรงลง
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์มาราพร กี้วิริยะกุล