- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 24 November 2014 16:45
- Hits: 1478
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
แม้ตลาดหุ้นไทยยังขาดปัจจัยชี้นำที่ชัดเจน แต่เชื่อว่ายังได้รับ Sentiment เชิงบวก จากที่จีนตัดลดดอกเบี้ยนโยบายลงน่าจะช่วยเพิ่ม Money Supply ในตลาดเอเซีย ขณะที่กลยุทธ์การลงทุนยังเน้นถือเงินสดส่วนใหญ่ และเลือกลงทุนรายหุ้น โดยยังเลือก RS (FV@B 13.20) เป็น Top pick
จีนตัดลดดอกเบี้ยนโยบายสร้าง surprise ตลาด
วันศุกร์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีน (PBOC) สร้างความแปลกใจให้กับตลาด ด้วยการประกาศลดดอกเบี้ยฯ คือ ลดดอกเบี้ยเงินฝาก 1 ปี ลง 0.25% อยู่ที่ระดับ 2.75% และลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.4% อยู่ที่ระดับ 5.6% นับเป็นการลดครั้งแรกในรอบ 28 เดือน มีผลทันทีตั้งแต่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่ยังคงอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย (RRR) 20% ทั้งนี้ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ (เงินเฟ้อล่าสุดอยู่ที่ 1.6% ในเดือน ต.ค.) สะท้อนจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจล่าสุดชะลอตัว เช่น ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น (มาร์กิต) เดือน พ.ย. อยู่ที่ 50 ซึ่งถือเป็นระดับที่มีการขยายตัวน้อยที่สุด
การตัดลดดอกเบี้ยนโยบาย ถือเป็นการเพิ่ม Money Supply ในระบบ ซึ่งเท่ากับเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดหุ้น ซึ่งน่าจะสร้างความเชื่อมั่นตลาดในลักษณะเดียวกับที่ญี่ปุ่น ที่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาด โดยการอัดฉีด QE เพิ่มขึ้น 20 ล้านล้านเยนต่อปี เป็น 80 ล้านล้านเยนต่อปี มีผลตั้งแต่เดือน ต.ค. ที่ผ่านมา
และเช่นเดียวกัน ตลาดน่าจะรอคอยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากยุโรป ในการประชุมครั้งสุดท้ายในปีนี้ ซึ่งมีกำหนดการประชุมของคณะกรรมการยุโรป (ECB) 4 ธ.ค. นี้ ทั้งนี้หลังจากไม่มีการประกาศนโยบายการเงินเพิ่มเติมในการประชุมรอบเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา (โดยยังคงดอกเบี้ยฯต่ำ 0.05% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และเข้าซื้อ covered bonds ใน 3 ประเทศหลักคือ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี รวมทั้งมีแผนเข้าซื้อ ABS ในประเทศ โปรตุเกส และกรีซ ที่กำหนดไว้ในงวด 4Q57)
ขณะที่สหรัฐ แม้คาดว่าจะเห็นทิศทางการใช้นโยบายการเงินตึงตัว หลังจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง สะท้อนจากอัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่องและลงสู่ระดับ 5.8% ในเดือน ต.ค. (ต่ำสุดในรอบ 6 ปี) แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยฯ ครั้งแรกอาจไม่เกิดขึ้นเร็วอย่างที่คาดในช่วง 2H58 เนื่องจากยังพบว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงชะลอตัว โดยเดือน ต.ค. อยู่ที่ระดับ 1.7%yoy (เปลี่ยนแปลงเพียง 1.3% นับแต่ต้นปี) ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนุนให้กับตลาดในระยะสั้นได้เช่นเดียวกัน
เงินทุนไหลเข้าเบาบางลง ส่วนสถาบันสลับมาซื้อหนัก
กระแสเงินทุนต่างชาติยังคงไหลเข้าภูมิภาคต่อเนื่อง โดยวันศุกร์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 แต่ลดลงถึง 73% เหลือราว 207 ล้านเหรียญฯ โดยเป็นการซื้อเกือบทุกประเทศ เริ่มจากไต้หวันซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 แต่ด้วยมูลค่าซื้อที่ลดลง 67% เหลือราว 119 ล้านเหรียญฯ ตามมาด้วย เกาหลีใต้ที่ซื้อเป็นวันที่ 4 ราว 327 ล้านเหรียญฯ ลดลง 77% อินโดนีเซีย สลับมาซื้อสุทธิราว 20 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสุทธิ 8 จาก 10 วันหลังสุด) และเช่นเดียวกับไทยที่สลับมาซื้อสุทธิเช่นกัน ราว 1 ล้านเหรียญฯ (45 ล้านบาท, ซื้อสลับขาย 3 วันหลังสุด) สวนทางกับฟิลิปปินส์ที่สลับมาขายสุทธิราว 7 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสุทธิติดต่อกัน 6 วันก่อนหน้า)
ทั้งนี้แรงซื้อจากต่างชาติในตลาดหุ้นภูมิภาคเริ่มลดลง ขณะที่ยังเป็นการซื้อสลับขายตลาดหุ้นไทย เป็นรายวันด้วยปริมาณเบาบางเช่นเดิม โดยพบว่าต่างชาติมียอดซื้อสะสมตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย. 57 ที่ผ่านมาเพียง 6.9 พันล้านบาทเท่านั้น (เดือน ก.ย. 57 ซื้อสุทธิ 2.1 หมื่นล้านบาท และ ขายสุทธิ 1.6 หมื่นล้านบาทในเดือน ต.ค. 57 โดยที่ยอดรวมในปี 2557 ยังเป็นขายสุทธิ 1.3 หมื่นล้านบาท) ขณะที่กลุ่มนักลงทุนสถาบันสลับมาซื้อสุทธิอีกครั้งราว 2.3 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสลับขายใน 4 วันหลังสุด แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในระยะสั้นจะยังมีแรงซื้อจากกองทุน LTF เข้ามาพยุงดัชนีจนถึงสิ้นปีนี้
SET ยังทรงตัวด้วย LTF กลยุทธ์ให้เลือกหุ้นพื้นฐานดี + P/E ไม่สูง
ในระยะสั้นเชื่อว่าตลาดหุ้นไทย อาจจะยังขาดปัจจัยหนุนที่สำคัญ นอกเหนือจากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศ ที่เกิดจากความต้องการลงทุนระยะยาวเพื่อประหยัดภาษี ซึ่งจากการศึกษาพบว่าโดยปกติแรงซื้อราว 70% ของยอดซื้อกองทุน LTF ทั้งปี จะมากระจุกตัวอยู่ในไตรมาสสุดท้ายของปี (เป็นค่าเฉลี่ย 4 ปีย้อนหลัง ยกเว้นปี 2555 ที่เฉลี่ยต่ำกว่า 50%) ทั้งนี้ปัจจัยที่เชื่อว่าจะเข้ามากดดันตลาดหุ้นน่าจะเป็นเรื่องของการจัดเก็บภาษีประชาชนเพิ่มเติม ทั้งภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน และภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT จากปัจจุบันที่เก็บอยู่ 7% โดยมีเป้าหมายจะเก็บเพิ่มอีก 3% เป็น 10% ครั้งเดียวในปีหน้า หรือจะทยอยจัดเก็บทีละ 1% ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปี ซึ่งแน่นอนว่าการจัดเก็บ VAT จะกระทบต่อเงินในกระเป๋าประชาชนตรง ๆ และกระทบกำลังซื้อในระยะสั้นๆ หรือในช่วงที่มีการปรับตัว แต่อย่างไรก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการจัดเก็บภาษีที่ยุติธรรม เพราะเป็นการจัดเก็บตามการใช้จ่ายของประชาชน กล่าวคือ หากมีการใช้จ่ายมาก ก็จ่ายภาษีมาก ตรงกันข้ามหากมีการใช้น้อย ก็จ่ายภาษีน้อย แต่แน่นอนว่าผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค (BIGC, MAKRO, CPALL, HMRPO เป็นต้น) จะได้ผลกระทบโดยตรง เพราะคาดว่าราคาขายสินค้าจะถูกปรับเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกับการขึ้น VAT ซึ่งในที่สุดจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ทั้งนี้ ภาพที่สะท้อนได้ชัดเจน คือ การจัดเก็บ Sale tax ในญี่ปุ่น ที่เพิ่งมีการปรับขึ้น 3% เป็น 8% ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ผลที่ตามมาคือ เศรษฐกิจญี่ปุ่นประสบภาวะชะลอตัวหลังจากนั้นทันที กล่าวคือ GDP Growth งวด 2Q57 และงวด 3Q57 หดตัว 0.2%yoy และหดตัว 1.2%yoy เทียบกับเติบโต 2.9% ในงวด 1Q57 ซึ่งหากมีการจัดเก็บภาษี VAT อีก 3% ครั้งเดียวในปี 2558 คาดว่าอาจจะทำให้ GDP Growth ของไทย เติบโตต่ำกว่า 3.5% ใน 2558 (เป็นประมาณการของ ASP) แต่ก็น่าจะดีกว่าปี 2557 ที่คาดว่าจะเติบโตต่ำกว่า 1%
กลยุทธ์การลงทุนยังเน้นเลือกหุ้นเป็นรายตัวที่มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง พร้อมกับมีเงินปันผล โดยยังคงชื่นชอบหุ้น RS ซึ่งประสบความสำเร็จในการก้าวเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิตอล สามารถขยับอัตราค่าโฆษณาเข้าใกล้ผู้ประกอบการฟรีทีวี อย่าง ช่อง 5 และ ช่อง 9 แล้ว
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล