- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 19 November 2014 15:54
- Hits: 1698
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
การเก็งกำไรในหุ้นขนาดเล็กที่ขาดปัจจัยพื้นฐานสนับสนุน หรือราคาสูงเกิดพื้นฐานมาก มีความเสี่ยงสูงขึ้นอย่างมาก แนะนำให้กลับมาเลือกหุ้นที่ราคายังต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน และกำไรเติบโตโดดเด่นซึ่งมีตัวเลือกที่หลากหลาย วันนี้เลือก RS (FV@B 13.20) เป็น Top Pick เนื่องจากปรากฎสัญญาณบวกชัดเจนจากธุรกิจโทรทัศน์ ทำให้นักวิเคราะห์ ASP ปรับเพิ่มประมาณการและ Fair Value
ใกล้สิ้นปี ประเด็นเศรษฐกิจโลกยังคงต้องติดตาม
การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงมีน้ำหนักต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นและยุโรป กล่าวคือ ญี่ปุ่น วานนี้ นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ได้ประกาศว่าจะยุบสภาในวันที่ 21 พ.ย. นี้ เนื่องมาจากคะแนนนิยมต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาลชุดนี้ลดน้อยลง อันเป็นผลมาจากการปรับขึ้นภาษีขายอีก 3% เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งได้ส่งผลให้การบริโภคครัวเรือน และเศรษฐกิจญี่ปุ่น ชะลอตัวลงอย่างมากในช่วง 2Q57 (ติดลบ 0.2%yoy และ 3Q57 ติดลบ 1.2%yoy) ทั้งนี้ยังไม่ได้กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ที่ชัดเจน แต่คาดว่าจะเกิดขึ้นราววันที่ 14 ธ.ค. 2557 พร้อมกันนี้ ได้เลื่อนเวลาการขึ้นภาษีขายอีก 2% เป็น 10% ไปในเดือน เม.ย.2560 (จากเดิมจะขึ้น ต.ค. 2558) และหลังจากนี้จะมีการร่างงบประมาณพิเศษสำหรับปีงบประมาณ 2558 ขึ้นมา เพื่อใช้ร่วมกับมาตรการพิเศษในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และหวังว่าจะเห็นทิศทางที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจญี่ปุ่น หากพิจารณาการขยายตัวทางเศรษฐกิจใน 9M57 เฉลี่ยที่ 0.5%yoy ดังนั้นงวด 4Q57 ต้องขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 2.1%yoy เพื่อให้ทั้งปีขยายตัวได้ 0.9%yoy ตามที่ IMF คาด
ตามมาด้วยเยอรมัน รายงาน ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักวิเคราะห์ เดือน พ.ย. เพิ่มขึ้นที่ระดับ 11.5 (จาก ติดลบ 3.6 ในเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 1 ปี) ซึ่งถือว่าเป็นการคลายความกังวลได้ในระยะสั้น แต่ในภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจยุโรปยังคงมีความเปราะบางอยู่ในอีกหลายประเทศ สะท้อนจากดัชนีชีนำเศรษฐกิจที่สำคัญยังคงอ่อนแอ กล่าวคือ อัตราเงินเฟ้อยุโรป เดือน ต.ค. อยู่ที่ระดับ 0.4%yoy ซึ่งเปลี่ยนแปลงเพียง 0.1% ตั้งแต่ต้นปี และต่ำกว่าเป้าหมาย 2% อยู่มาก รวมถึงอัตราการว่างงานที่สูงถึง11.5%
สวนทางกับ สหรัฐ ที่พบว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย เดือนพ.ย. ปรับตัวขึ้น 4 จุด จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเกือบเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2548 โดยได้รับแรงหนุนจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในระดับต่ำใกล้ 4% และการฟื้นตัวของตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง จากอัตราการว่างงานเดือน ต.ค. ลดลงมาที่ระดับ 5.8%yoy ต่ำสุดในรอบ 6 ปี ขณะที่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือน ต.ค. ปรับตัวขึ้นเพียง 0.2%mom หรือ 1.5%yoy (ซึ่งเพิ่มต่ำสุดตั้งแต่ เดือน ก.พ. และจาก 1.6%yoy ในเดือนก.ย.) ซึ่งสะท้อนต่อแรงกดดันต่อเงินเฟ้อที่ยังมีไม่มากนัก โดยเดือน ต.ค. อยู่ที่ 1.7%yoy หรือเปลี่ยนแปลง 1.3% ตั้งแต่ต้นปีดังนั้นจึงอาจเป็นสาเหตุให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ยังคงยืนดอกเบี้ยต่ำ 0.25% จนถึง 2H58 เช่นเดียวกับอังกฤษ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น 1.3%yoy (จาก 1.2% เดือนก่อนหน้า และเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นปีเพียง 0.8%ytd) เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และ ราคาของเล่นเด็กที่เพิ่มขึ้น เมื่อเข้าใกล้เทศกาลคริสมาสต์ แต่อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมาย 2% จึงทำให้การประชุมครั้งที่ผ่านมาธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ยังคงยืนดอกเบี้ยระดับต่ำ 0.5% ต่อเนื่องเกือบ 7 ปี ภายใต้ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการอ่อนตัวลงของเงินเฟ้อ ตามทิศทางราคาน้ำมันที่ลดลง อาจมีผลต่อมุมมองในการเลื่อนเวลาในการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ และยุโรป สะท้อนจากความเห็นของคณะกรรมการ Fed และ BOE บางท่าน เริ่มมีความเห็นที่แตกต่างไปจากเดิม กล่าวคือ มีคณะกรรมการ Fed 3 จาก 10 ราย (Charles Evans - Fed สาขาชิคาโก, William Dudley - Fed สาขานิวยอร์ก และ Narayana Kocherlakota - Fed Minneapolis) และคณะกรรมการ BOE 7 จาก 9 ราย เห็นว่าควรเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยฯ ครั้งแรกออกไปจากเดิมในช่วง 2H58 ซึ่งอาจจะทำให้ปัจจัยเรื่องดอกเบี้ยผ่อนคลายระยะสั้นเท่านั้น แต่ในที่สุดเชื่อว่าทิศทางดอกเบี้ยยังคงเป็นขาขึ้นตราบที่ตลาดแรงงานฟื้นตัว โดยต้องติดตามรายงาน ผลการประชุม BOE ของวันที่ 6 พ.ย. ในช่วงเย็นวันที่ 19 พ.ย. นี้ และผลการประชุม Fed ครั้งสุดท้ายของปีนี้คือ 16-17 ธ.ค. 2557
ต่างชาติสลับมาซื้อ แต่แนะนำหลีกเลี่ยงหุ้นร้อน
วานนี้นักลงทุนต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคอีกครั้งราว 432 ล้านเหรียญฯ หลังจากที่ขายสุทธิติดต่อกัน 2 วันก่อนหน้า และเป็นการสลับมาซื้อสุทธิในทุกประเทศ กล่าวคือ เกาหลีใต้ สลับมาซื้อสุทธิสูงสุดราว 242 ล้านเหรียญฯ (ขายสุทธิ 2 วันก่อนหน้า) ตามมาด้วยไต้หวันที่สลับมาซื้อสุทธิเช่นกัน ราว 113 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขายสุทธิ 3 วันหลังสุด) ในทิศทางเดียวกับไทย ที่สลับมาซื้อสุทธิราว 44 ล้านเหรียญฯ (1.4 พันล้านบาท, ซื้อสลับขายสุทธิ 3 วันหลังสุด) ส่วนอินโดนีเซียยังซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 แต่ลดลง 45% จากวันก่อนหน้า เหลือราว 20 ล้านเหรียญฯ และสุดท้ายคือฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ราว 14 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้ากว่า 2 เท่าตัว)
ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องอีกครั้งหลังจากเทขายออกมาในช่วงเดือน ก.ย. – ต.ค. ที่ผ่านมา แต่ปริมาณการเข้าซื้อยังคงเบาบาง โดยซื้อสุทธิ 9 จาก 11 วันหลังสุด รวม 6.8 พันล้านบาท หรือเฉลี่ยวันละ 620 ล้านบาทเท่านั้น สวนทางกับทางฝั่งนักลงทุนสถาบันที่เริ่มขายสุทธิออกมาต่อเนื่อง แต่ยังเบาบางเช่นกัน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มนักลงทุนที่ซื้อสุทธิต่อเนื่องในระยะหลังคือ พอร์ตโบรกเกอร์ ที่ซื้อสุทธิต่อเนื่องกันถึง 15 วัน รวม 9.8 พันล้านบาท ทำให้มีความเสี่ยงที่นักลงทุนกลุ่มนี้จะขายทำกำไรออกมากดดันดัชนี
ขณะที่ในวันนี้ สมาคม บล. จะมีการหารือกับ ตลท. เรื่องการออกมาตรการควบคุมหุ้นเก็งกำไร หลังจากที่ กลต. ได้ปรับเกณฑ์การคัดเลือกหุ้นเข้า Turnover List ในวันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าการประชุมในวันนี้น่าจะกดดันหุ้นเล็กที่อยู่นอก SET100 และ ที่อยู่ในตลาด MAI ซึ่งมีมูลค่าซื้อขายที่สูงขึ้นผิดปกติ โดยหุ้นที่อยู่นอก SET100 มักจะมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ราว 10-20% ของมูลค่าตลาดรวม แต่ในช่วง 3 - 4 เดือนหลังสุด มูลค่ากลับสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือน พ.ย. หุ้นนอก SET100 กินสัดส่วนถึง 52% ของมูลค่าซื้อขายรวมของตลาด ขณะที่ในตลาด MAI มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน ตั้งแต่ต้นปีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ราว 600 – 1,000 ล้านบาทต่อวัน แต่มูลค่ากลับพพุ่งสูงขึ้นถึง กว่า 7 พันล้านบาทต่อวันในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา อีกทั้งการที่ดัชนี MAI ให้ผลตอบแทนถึงกว่า 105% นับตั้งแต่ต้นปี ทำให้หุ้นเล็กในกลุ่มนอก SET100 และ หุ้นใน MAI ที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ มีความเสี่ยงอย่างมาก แนะนำหลีกเลี่ยงในระยะสั้น
กลุ่มอสังหาฯ ยังเติบโตดี แนะนำ SPALI, PS, AP, SC
แม้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในงวด 3Q57 ที่ออกมาไม่สดใสนัก ซึ่งฝ่ายวิจัยจำเป็นต้องปรับลดประมาณการกำไรสุทธิตลาดในปี 2557 และ 2558 ลง 3.87% ของประมาณการเดิม โดยคาดว่าจะมีกำไรสุทธิรวม 8.40 แสนล้านบาท คิดเป็น EPS อยู่ที่ 92.83 บาท/หุ้น เติบโต 1.49% YoY อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มฯ ที่ปรับประมาณการฯ ขึ้น คือ กลุ่มอสังหาฯ ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2557 และ 2558 ขึ้น 8.8% และ 10.1% ตามลำดับ โดยแนวโน้มผลการดำเนินงานงวด 4Q57 จะเป็นจุดสูงสุดของปี จากการส่งมอบโครงการคอนโดฯ และแนวราบฯ หลายรายการ รวมทั้งการทยอยรับรู้ Backlog จำนวนมากช่วงปลายปี และยอด Presale ที่คาดว่าในงวด 4Q57 น่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6 หมื่นล้านบาท ตามแผนการเปิดโครงการใหม่ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีทิศทางทรงตัวระดับต่ำ 2% เอื้อต่อการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย และธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขัน ในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น โดยภาพรวมปี 2557 กลุ่มฯ มีกำไรปกติเติบโต 19% YoY อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นในกลุ่มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ค่า PER สูงกว่า 14 เท่า ตัวเลือกในการลงทุนจึงควรใช้ความระมัดระวัง เลือกหุ้นที่มี PER ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และมี Div. Yield สูง หุ้นเด่นที่ฝ่ายวิจัยแนะนำ คือ
SPALI (FV@B 31.96) คาดกำไร 4Q57 สร้างจุดสูงสุดใหม่ ส่วนปี 2558 คาดว่ากำไรยังสามารถเติบโตได้ระดับ 17% เพราะมี Backlog รองรับแล้วในระดับสูง และยังมีประเด็นเข้า SET50 เป็นปัจจัยหนุนระยะสั้น
PS (FV@B 40.52) คาดกำไรปี 2557 เติบโต 12% และปี 2558 อีก 15% โดยมี Backlog สูง 3.9 หมื่นล้านบาทรองรับรายได้ รวมถึงปัจจัยหนุนจากโรงงาน Precast 6-7 ที่จะเปิดใหม่ปลายปีนี้
AP (FV@B 8.10) คาดกำไรปี 2557 เติบโต 20% YoY ส่วนงปี 2558 ตั้งเป้าหมายเติบโต 10% ทั้งยอดรายได้และ Presale
SC (FV@B 4.57) แนวโน้มงวด 4Q57 จะสามารถทำกำไรได้สูงกว่า 3Q57 โดยมีการบันทึกรายได้จากการโอนคอนโดฯ และโครงการแนวราบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการลดลงของค่าใช้จ่ายในการขาย
ปรับเพิ่มประมาณการ RS…ขึ้นค่าโฆษณา หนุนกำไรโตต่อเนื่อง 40%
ผลการดำเนินงานของ RS ในงวด 3Q57 ที่ผ่านมา สามารถสร้างสถิติสูงสุดได้ตามคาด เติบโตกว่าเท่าตัว yoy จากแรงหนุนของลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก ขณะที่แนวโน้มงวด 4Q57 จะเติบโตต่อเนื่องจากงวด 3Q57 โดยได้ทีวีดิจิทัลช่อง 8 และ ทีวีดาวเทียมช่อง 2 เป็นตัวชูโรง รวมทั้งธุรกิจเพลงที่ฟื้นตัวขึ้นตามฤดูกาล หนุนผลกำไรทั้งปีให้เติบโตกว่า 14%
สำหรับกลยุทธ์ธุรกิจปี 2558 นั้น RS ได้เปิดเผยในการประชุมนักวิเคราะห์วานนี้ว่า เตรียมปรับขึ้นค่าโฆษณาช่อง 8 (ซึ่งมีเรทติ้งสูงสุดติดอันดับ 1 ใน 6 ของช่องทีวีดิจิทัลที่มีผู้ชมมากที่สุด) จากการที่ช่อง 8 (สัดส่วน 70% ของรายได้สื่อทีวี) มียอดผู้ชมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ผลิตรายการและเอเยนซี่หลายรายให้ความสนใจลงโฆษณา โดยปรับขึ้นค่าโฆษณาเป็นนาทีละเกือบ 5 หมื่นบาท จากเดิม 2 หมื่นบาทต่อนาที (หรือปรับขึ้นกว่า 1.5 เท่าตัว) มีผลตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป พร้อมกันนั้น ยังเตรียมปรับขึ้นค่าโฆษณาทีวีดาวเทียมช่อง 2 (สัดส่วน 5% ของรายได้สื่อทีวี) เป็นเกือบ 1 หมื่นบาทต่อนาที จากเดิม 1.8 พันบาทต่อนาที ซึ่งการปรับขึ้นค่าโฆษณาดังกล่าว จะช่วยหนุนรายได้สื่อทีวีให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2558 นักวิเคราะห์กลุ่มสื่อ-บันเทิง จึงได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2558-2559 ขึ้นเฉลี่ยปีละเกือบ 40% กำหนด Fair Value ปี 2558 ที่ 13.20 บาท มี upside สูงถึง 39.7% จากราคาปัจจุบัน พร้อมทั้งมี Div. yield สูงถึง 5.3% คงคำแนะนำ ซื้อ และเลือกเป็น Top Pick
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล