- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 17 November 2014 16:15
- Hits: 1499
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
กำไรงวด 9M57 ที่ทำได้เพียง 68.23% ของประมาณการทั้งปีทำให้ต้องปรับลดประมาณการกำไรลงทั้งปี 2557 และ 2558 ส่งผลให้ค่า PER ณ สิ้นปี 2557 สูงถึง 16.97 เท่า การปรับขึ้นต่อของ SET Index จึงเกิดขึ้นยาก แต่แรงซื้อจากนักลงทุนในประเทศ ยังพยุงให้ SET Index ทรงตัวอยู่ได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เลือก PTTGC(FV@B75) เป็น Top pick มีจุดเด่น P/E ต่ำ และ Div Yield เฉลี่ย 5% ต่อปี
3Q57 บริษัทจดทะเบียนมีกำไร 1.92 แสนล้านบาท ลดลง 6.3% YoY
ฝ่ายวิจัยรวบรวมข้อมูลผลประกอบการ 3Q57 พบว่า 82% ของบริษัทจดทะเบียนรวม มียอดกำไรสุทธิอยู่ที่ 1.92 แสนล้านบาท ลดลง 6.3% YoY ส่วนงวด 9M57 มีกำไรสุทธิ 5.96 แสนล้านบาท ลดลง 2.22% ซึ่งถือเป็นฐานกำไรที่ต่ำกว่าความคาดหมายเมื่อเทียบกับประมาณการเดิมทั้งปี 2557 ของฝ่ายวิจัยที่คาดว่ากำไรจะเติบโต 7.7% YoY และสัดส่วนกำไรงวด 9M57 ที่ทำได้เพียง 68.23% ของประมาณการกำไรสุทธิทั้งปี ด้วยสาเหตุดังกล่าว ทำให้ฝ่ายวิจัยต้องพิจารณาปรับลดประมาณการกำไรสุทธิงวดปี 2557 ลง โดยจากการรวบรวมตัวเลขการปรับประมาณการหุ้นรายตัวของนักวิเคราะห์ พบว่าจนถึงล่าสุดได้ปรับลดประมาณการกำไรงวดปี 2557 ลงไปแล้ว 3.38 หมื่นล้านบาทหรือลดลง 3.87% ของประมาณการเดิม โดยคาดว่าจะมีกำไรสุทธิรวม 8.40 แสนล้านบาท คิดเป็น EPS อยู่ที่ 92.83 บาท/หุ้น เติบโต 1.49% YoY สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ถูกปรับลดประมาณการกำไรมากที่สุดได้แก่ พลังงาน, ปิโตรเคมี, ขนส่ง, ค้าปลีก และ วัสดุก่อสร้าง แต่ก็มีบางกลุ่มที่ถูกปรับเพิ่มประมาณการเช่นกัน ได้แก่ กลุ่ม ธนาคารพาณิชย์, อสังหาริมทรัพย์, เหล็ก และ อาหาร เป็นต้น
สำหรับประมาณการงวดปี 2558 ฝ่ายวิจัยได้ทำการปรับปรุงประมาณการเช่นกัน โดยปรับลดลงจากประมาณการเดิม 1.29% หรือ 1.27 หมื่นล้านบาท ฐานกำไรใหม่อยู่ที่ 9.71 แสนล้านบาท คิดเป็น EPS ที่ 107.30 บาท/หุ้น เติบโต 15.59% YoY โดยกลุ่มที่มีการปรับปรุงประมาณการส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดิมที่มีการปรับลดประมาณการปี 2557 ดังกล่าวมาข้างต้น
การปรับลดประมาณการกำไรดังกล่าวส่งผลทำให้ค่า PER ของตลาดหุ้นไทยปรับสูงขึ้น โดยที่ SET Index ปัจจุบันจะมีค่า PER ณ สิ้นปี 2557 สูงถึง 16.97 เท่า ขณะที่ PER ณ สิ้นปี 2558 อยู่ที่ 14.68 เท่า ซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของ PER ตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลก ซึ่ง PER ระดับสูงดังกล่าว จะเป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อตลาดทำให้การปรับตัวขึ้นไปเกิดขึ้นได้ยากลำบาก แต่อย่างไรก็ตามการปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2557 ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นเช่นกัน เนื่องจากได้ Sentiment เรื่องแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นแรงหุ้น ส่วนดัชนีเป้าหมายปี 2558 หากกำหนดบนฐาน PER ช่วง 15.5 – 16 เท่า จะได้เป้าหมายสิ้นปีที่ 1663 – 1717 จุด
กลยุทธ์การลงทุนในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นอยู่บน PER ที่สูงกว่าปกติ นักลงทุนควรที่จะจัดพอร์ตโดยเน้นไปที่หุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง มี Downside ต่ำ และ สามารถทนต่อแรงกดดันหากเกิดแรงขายได้ โดยหุ้นเด่นยังเลือก PTTGC (FV@B 75) ซึ่งนอกจากมีคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว ยังให้ Dividend Yield เฉลี่ย 5% ต่อปีอีกด้วย
เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น กดดันตลาดหุ้นโลก
ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว สะท้อนจากการรายงาน GDP Growth งวด 3Q57 ในหลายประเทศ มีทิศทางชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เริ่มจาก ยุโรป (ขนาดเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก) รายงาน GDP Growth 3Q57 ขยายตัว 0.8%yoy (ทรงตัวจาก 2Q57 vs 1Q57 โต 1%) นั่นคือในงวด 4Q57 ต้องขยายตัวไม่ต่ำกว่า 0.7% จึงจะทำให้ภาพรวมทั้งปี 2557 มีอัตราการเติบโต 0.8% ตามที่ IMF คาดไว้ ทั้งนี้พบว่า ประเทศที่ชะลอตัว ได้แก่ ของเยอรมัน (ยักษ์ใหญ่สุดในยุโรป) งวด 3Q57 ขยายตัว 1.2% (vs 2Q57 โต 1.4% และ 1Q57 โต 2.4%) ตามมาด้วย อิตาลี หดตัวอย่างต่อเนื่องใน 3Q57 ติดลบ 0.4%yoy (vs 1H57 ติดลบ 0.3%) แต่สวนทางกับ ฝรั่งเศส ที่กลับมาขยายตัว 0.4%yoy (จาก 2Q57 โต 0% และ 1Q57 0.8%) และ กรีซ ขยายตัว 1.4%yoy (vs 2Q57 ติดลบ 5.5% และ ติดลบ 7.4% ในงวด 1Q57)
ตามมาด้วยเศรษฐกิจญี่ปุ่น งวด 3Q57 หดตัวต่อเนื่อง โดยติดลบ 1.2%yoy (vs 2Q57 ติดลบ 0.2% และ 1Q57 ขยายตัว 2.9%) อันเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากการขึ้นภาษีขายอีก 3% เมื่อ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่ในการประชุมวันที่ 18-19 พ.ย. คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) น่าจะคงนโยบายอัดฉีดเม็ดเงินด้วยวงเงิน 80 ล้านล้านเยนต่อปีต่อไป เพื่อดูความก้าวหน้าของนโยบายการเงินที่ได้ประกาศใช้ไปเมื่อ 31 ต.ค. ทั้งนี้จะมีการพิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขึ้นภาษีขายอีก 2% ใน ต.ค. 2558 ว่า ญี่ปุ่นจะพร้อมรับมือการชะลอตัวของการบริโภคครัวเรือน (60% ของ GDP) หรือไม่
เช่นเดียวกับฝั่งเอเซีย นำโดย มาเลเซีย GDP Growth งวด 3Q57 ขยายตัว 5.6%yoy ชะลอตัวจาก 2Q57 ที่ขยายตัว 6.5% และ 6.2% ในงวด 1Q57
อย่างไรก็ตาม วันนี้จะมีการรายงาน GDP Growth ของไทยเช่นกัน โดย ASP คาดว่าในงวด 3Q57 จะขยายตัว 2.7%yoy (ดีกว่า 2Q57 ที่ขยายตัวเพียง 0.4% และ 1Q57 ที่ติดลบ 0.5%) แต่หากไม่เป็นไปตามที่คาด ก็จะทำให้ทั้งปี 2557 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่า 1.5%yoy ซึ่งคาดว่าน่าจะมาจาก ภาคส่งออกสินค้าและบริการ (70% ของ GDP) มีแนวโน้มต่ำกว่าประมาณการ โดยงวด 9M57 ติดลบ 0.8%yoy เทียบกับที่ ASP คาดว่าในปี 2557 จะขยายตัวได้ 1% นั่นคืออีก 3 เดือนที่เหลือของปี 2557 ต้องขยายตัวไม่ต่ำกว่า 2.8% ซึ่งเป็นไปได้น้อย เนื่องจากคู่ค้าหลักของไทย ยังประสบภาวะชะลอตัว ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ทั้งนี้ การฟื้นตัวอย่าล่าช้าของเศรษฐกิจไทย บวกกับอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเพียง 1.48% ในเดือน ต.ค. (1.3% จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน) อาจทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย โดย กนง. จะต้องยืดระยะเวลาในการใช้ดอกเบี้ยนโยบายต่ำต่อไป ซึ่งจากเดิมที่ ASP เคยคาดว่า กนง. น่าจะขึ้นดอกเบี้ยในครึ่งหลังของปี 2558 ในอัตรา 0.75-1% (จากปัจจุบันที่ 2.00%) แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน อาจจะทำให้โอกาสขึ้นดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 0.25-0.5% เท่านั้น
เริ่มเห็นแรงซื้อจากสถาบันอีกครั้ง
ศุกร์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติพลิกมาขายสุทธิหุ้นภูมิภาคเป็นวันแรก ราว 166 ล้านเหรียญฯ หลังจากที่ซื้อสุทธิติดต่อกันถึง 14 วันก่อนหน้า โดยยอดขายหลักเกิดจากการขายสุทธิในเกาหลีใต้ ที่สลับมาขายสุทธิอีกครั้งถึง 236 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขายใน 4 วันหลังสุด) ขณะที่อินโดนีเซียสลับมาขายสุทธิเล็กน้อยราว 19 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสุทธิติดต่อกัน 4 วันก่อนหน้า) สวนทางกับ ไต้หวัน ที่ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 84 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 40% จากวันก่อนหน้า) ขณะที่ ฟิลิปปินส์ และ ไทย ซื้อสุทธิเบาบางใกล้เคียงกัน ราว 3 และ 2 ล้านเหรียญฯ ตามลำดับ (ลดลงจากวันก่อนหน้า 79% และ 82% ตามลำดับ)
แม้ว่าต่างชาติจะพลิกมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคหลังจากที่ซื้อสุทธิต่อเนื่อง 14 วันก่อนหน้า แต่ยอดการขายยังถือว่าเบาบาง และเป็นการเลือกสลับซื้อขายเป็นรายประเทศ ขณะที่ในตลาดหุ้นไทย แม้ว่าต่างชาติยังซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 แต่กลับเบาบางลงเหลือเพียง 73 ล้านบาท ขณะที่เริ่มเห็นแรงซื้อจากทางฝั่งสถาบันกลับเข้ามาอีกครั้ง โดยซื้อสุทธิราว 1.1 พันล้านบาท (ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2, รวมตั้งแต่ต้นปี 2557 ซื้อสุทธิ 4.8 หมื่นล้านบาท) และน่าจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดหุ้นไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้