- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 09 December 2020 14:23
- Hits: 14006
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน 9-12-2020
ความสนใจวันนี้ อยู่ที่การประกาศมาตรการดูแลค่าเงินบาทโดย ธปท. ซึ่งถือว่าจะมีผลกระทบโดยตรงต่อ SET Index ซึ่งอยู่ในภาวะที่ถูกขับเคลื่อนด้วย Fund Flow โดยหากมาตรการแรงเกินไปก็จะทำให้เกิดแรงขายทำกำไร แต่เบาไปก็จะไม่ได้ผล กลยุทธ์วันนี้ให้ปรับพอร์ตโดยลดน้ำหนัก STA เหลือ 5% และเข้าลงทุนใน BAM หุ้น Top Pick เลือก BAM, KBANK และ SCC
ให้ความสำคัญกับมาตรการดูแลค่าเงินบาท ของ ธปท.
วันนี้นักลงทุนน่าจะให้น้ำหนักกับการประกาศมาตรการของ ธปท. ในการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป ทั้งนี้เมื่อ 20 พ.ย.63 ได้มีการออกมาตรการออกมาชุดหนึ่งซึ่งเน้นไปที่การกระตุ้นให้เงินไหลออกไปลงทุนในต่างประเทศ แต่ไม่ได้มีมาตรการในการชะลอการไหลเข้าของเงิน ผลที่เกิดขึ้นหลัง 20 พ.ย.63 ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงในระยะสั้น ก่อนที่จะกลับมาแข็งค่าใหม่และกำลังทดสอบบริเวณ 30 บาท/USD ส่วนมาตรการที่จะประกาศวันนี้ต้องติดตามดูว่าจะมีแนวทางในการสกัดการไหลเข้าของเงินหรือไม่ หากมีก็ถือเป็นสัญญาณเชิงลบต่อทิศทาง Fund Flow และหากมีความรุนแรงก็อาจทำให้เห็นการขายทำกำไรใน SET Index ได้ ส่วนประเด็นอื่นที่ต้องติดตามต่อเนื่อง ได้แก่สถานการณ์การติดเชื้อ Covid-19 ในประเทศที่กลับมาเป็นความกังวล หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นก็อาจทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวทำได้ยากขึ้น ทิศทางของ SET Index วันนี้อาจต้องระวังเรื่องการพักฐานระยะสั้น เนื่องจากเป็นวันซื้อขายสุดท้ายก่อนวันหยุดยาว และมีเรื่องของการรอดูมาตรการ ธปท. พอร์ตการลงทุนวันนี้ให้ลดน้ำหนัก STA ลงจาก 10% เหลือ 5% และให้เข้าลงทุนเพิ่มใน BAM หุ้น Top Pick เลือก BAM, KBANK และ SCC
มูลค่าซื้อขายสะสมสุทธิหุ้นไทยของต่างชาติเทียบกับค่าเงินบาท
ที่มา: ฝ่ายวิจัย ASPS
ครม. เห็นชอบคนละครึ่งเฟส 2 + เพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการ ตามคาด
ที่ประชุม ครม.วานนี้มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นการบริโภคครัวเรือนตามที่ ศบศ. เสนอในช่วงก่อนนี้ตามคาด และ ASPS นำเสนอ อาทิ มาตรการคนละครึ่งเฟส 2 และการเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ดังตาราง)
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วง 4Q63-1Q64
ที่มา: ASPS รวบรวม
ดังที่ ASPS นำเสนอเมื่อวานนี้ คือ เศรษฐกิจในงวด 1Q64 น่าจะมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคครัวเรือน ชะลอลง Qoq อย่างเห็นได้ชัด คือ มีวงเงินจากที่รัฐคาดจะใส่เข้าระบบราว 5.6 หมื่นล้านบาท หรือ 0.3% ของ GDP (ตารางครึ่งล่าง) ซึ่งน้อยกว่าวงเงินในงวด 4Q63 ที่มีจำนวนถึง 1.92 แสนล้านบาท หรือ 1.1% ของ GDP (ตารางครึ่งบน)
วงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่น้อยลงในงวด 1Q64 ข้างต้น อาจส่งผลให้แรงส่งของเศรษฐกิจในช่วงต้นปี 2564 แผ่วลงมาได้
ASPS ประเมินว่าภาครัฐอาจมีความจำเป็นต้องออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่เศรษฐกิจจะสูญเสียแรงส่งไป โดย ASPS เชื่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ภาครัฐจะมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ (G) และการลงทุนภาครัฐ (I) ภายหลังในปี 2563 ชะลอตัวไป จากการมุ่งเน้นออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยสร้าง Sentiment เชิงบวกต่อหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง เช่น (STEC, CK) และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง (SCC, SCCC, TPIPL) เป็นต้น
รอดูมาตรการ บริหารจัดการค่าเงินบาทของ ธปท.
วันนี้ ASPS ให้น้ำหนักธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเผยมาตรการดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่า เพราะหากพิจารณาตั้งแต่ต้นเดือน-ปัจจุบัน (MTd) เงินบาทยังแข็งค่าราว 0.42% ล่าสุด แกว่งบริเวณ 30.1-30.2 บาท จากเดือน มี.ค.63 อยู่บริเวณ 33-34 บาท หลังจากล่าสุด ธปท. ออกมาตรการดูแลค่าเงินบาทมาเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา (ดังตาราง)
มาตรการดูแลค่าเงินบาทของ ธปท. ในปี 2562-2563
ที่มา: ASPS รวบรวม
โดยประเด็นสำคัญที่ตลาดให้น้ำหนักการแข็งค่าเงินบาทเพราะล่าสุด ใกล้แตะ 30 บาท และมีความกังวลจะหลุด 30 บาท ??? ซึ่งกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออก
ASPS ทำสถิติการแกว่งตัวของค่าเงินบาท/ดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2534 จนถึงปัจจุบัน (ดังรูป) คือ พบว่า เงินบาทเคยหลุด 30 บาท/ดอลาร์ รวมทั้งหมด 5 ครั้ง ครั้งแรกคือ ปลายปี 2553 ,และรอบล่าสุด คือ ปลายปี 2562 โดยเป็นที่สังเกตุว่า จะแกว่งตัวต่ำกว่า 30 บาทเพียง 1-4 เดือน (ดังรูป) และเกือบทุกครั้ง ธปท. จะมีการส่งสัญญาณและออกมาตรเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท
โดยรวมสรุปรอบนี้เช่นกัน ASPS เชื่อว่า ธปท.จะมีการออกมาตรการ ซึ่งต้องรอดู รายละเอียดมาตรของ ธปท. ที่จะออกมาใหม่ในวันนี้จะมีทิศทางอย่างไร ?? และ จะเน้นไปที่การส่งเสริมให้เงินทุนไหลออก (Capital Outflow) หรือ สกัดกั้นเงินทุนไหลเข้า (Capital Inflow) และมีระดับแรงมากกว่าหรือน้อยกว่าในรอบก่อนหน้า ??? เพราะหากพิจารณาตั้งแต่ปี 2562-ล่าสุด ธปท. ประกาศมาตรการชะลอแข็งค่าเงินบาทรวม 3 ครั้ง (1 ใน 3 ครั้งเป็นมาตรการสกัดกั้นเงินทุนไหลเข้า Capital Inflow) โดยรวมพบว่า หลังประกาศมาตรการเงินบาทอ่อนค่าเฉลี่ยราว 0.5%)
ค่าเงินบาท/ดอลลาร์รายเดือนตั้งแต่ปี 2534-2563
ที่มา: ASPS รวบรวม
Fund Flow ยังทำงานต่อ แต่มีความเสี่ยงสูงขึ้นช่วงวันหยุดยาว
วานนี้ต่างชาติยังซื้อหุ้นไทยต่อเนื่อง ด้วยปริมาณสูงถึง 6.6 พันล้านบาท หนุนให้ตลอด 1 เดือน ที่ผ่านมา 4.63 หมื่นล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งที่กดดันให้ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจนใกล้ระดับ 30 บาท/เหรียญ
และหากไปเปรียบเทียบกับความสัมพันธ์ Fund Flow กับ ค่าเงินบาท ย้อนหลัง 15 ปี พบว่า เวลา Fund Flow ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยด้วยปริมาณมากทีไร มักจะกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเสมอ อย่างไรก็ตามตลอด 15 ปี ที่ผ่านมา จะสังเกตได้ว่าค่าเงินบาทเคยแข็งค่าต่ำกว่า 30 บาท/หุ้น เพียง 5 ครั้ง และเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้นก็กลับมาอ่อนค่าในระยะเวลาถัดไปเสมอ
มูลค่าซื้อขายสะสมสุทธิหุ้นไทยของต่างชาติเทียบกับค่าเงินบาท
ที่มา: ฝ่ายวิจัยฯ ASPS
ดังนั้นค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจนใกล้ระดับ 30 บาท/เหรียญ (ซึ่งถือว่าแข็งค่ามากเมื่อเทียบกับในอดีต) อาจจะได้เห็นมาตรการควบคุมค่าเงินจาก ธปท. ที่เข้มข้นขึ้น เพื่อสกัดการแข็งค่าของค่าเงิน บวกกับใกล้ช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลคริสมาสต์ ซึ่งมูลค่าการซื้อขายหุ้นมักจะเบาบางลง ทั้ง 2 ถือเป็นอุปสรรคในระยะสั้นต่อ Fund Flow ที่โหมเข้ามาในช่วงนี้ แต่ ระยะยาวยังเชื่อว่า มีช่องว่างให้ Fund Flow ไหลเข้าได้อีก
กลยุทธ์เน้นเลือกหุ้นขนาดใหญ่ได้แรงหนุนจาก Fund Flow และแนวโน้มกำไรฟื้นตัวเด่นตามภาพรวมเศรษฐกิจ อย่าง SCC KBANK BAM เป็น Top pick
RESEARCH DIVISION
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส
_________
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน และทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web