- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 26 June 2020 19:38
- Hits: 5151
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน 26-6-2020
MARKET TALK
กลยุทธ์การลงทุน
พิจารณาจากการปรับลดประมาณการ GDP Growth รวมถึงมาตรการที่ ธปท. ขับเคลื่อนออกมา เชื่อว่าหุ้น Bank มีโอกาส Underperform ในช่วงเวลาจากนี้ ส่วนกลุ่มที่มีโอกาสทำกำไรน่าจะเป็นกลุ่มรับเหมาฯ โดยจากนี้ไปน่าจะเห็นการขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่มากขึ้น แนะนำแบ่งเงินจาก DIF 5% มาลงทุน SEAFCO หุ้น Top Pick เลือก INTUCH และ SEAFCO
เลี่ยง Bank ชั่วคราว ... ขยับเข้ารับเหมาก่อสร้าง
พิจารณาจากการปรับลดประมาณการ GDP Growth ปี 2563 ของ ธปท. จาก -5.3% มาเป็น -8.1% พบว่าองค์ประกอบที่ถูกปรับลดลงมากเป็นเรื่องของการบริโภคภาคครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออก ซึ่งทั้ง 3 องค์ประกอบมีอิทธิพลต่อเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน และเมื่อพิจาณาประกอบกับมาตการต่างๆ ที่ ธปท.ขับเคลื่อนออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินแล้ว ทำให้เกิดความกังวลว่าปัญหาเรื่อง NPL อาจกลับมาสร้างแรงกดดันต่อหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์อีกรอบ และด้วยจุดเด่นในเรื่อง Dividend Yield ที่อ่อนลง น่าจะทำให้ราคาหุ้น Underperform ตลาดฯ ส่วนกลุ่มที่น่าสนใจพิจารณจากฐานในเรื่องการปรับคาดการณ์ GDP Growth น่าจะเป็นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และ วัสดุก่อสร้าง โดยเชื่อว่าน่าจะเห็นการขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ออกสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น หุ้นที่เด่นได้แก่ SEAFCO สำหรับพอร์ตการลงทุนจำลองวันนี้ แนะนำให้แบ่งเงินที่พักไว้ใน DIF ออกมา 5% เพื่อเข้าลงทุนใน SEAFCO พร้อมกันนี้เลือกหุ้น SEAFCO เป็น Top Pick ควบคู่กับ INTUCH โดยทั้ง 2 บริษัทนอกจากมีจุดเด่นเฉพาะตัวแล้ว ยังเป็นหุ้นที่ให้ Dividend yield สูง
แนวโน้มกำไร บจ.งวด 2Q63 ยังไม่ดี แต่ก็ไม่แย่กว่า 1Q63 มากนัก ตัวแปรอยู่ที่กลุ่มพลังงาน
ประเด็นการเร่งตัวขึ้นของผู้ติดเชื้อ COVID-19 ระยะที่ 2 ที่ยืดเยื้อ อาจส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจให้ชะลอตัวนานกว่าที่คาดไว้ สะท้อนได้จากสถาบันชั้นนำของโลกอย่าง IMF ออกมาปรับลดตัวเลขเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลง รวมทาง Fed หรือ ธปท. เล็งเห็นความเสี่ยงโดยออกมาตรการต่างๆ ที่เข้มข้นขึ้น เริ่มจากแทรกแซงการจ่ายปันผลรวมถึงการซื้อหุ้นคืนของ ธ.พ. ประเด็นดังกล่าวถือเป็นความท้าทายต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนในช่วงที่เหลือของปี
ในเบื้องต้นฝ่ายวิจัยทำการวิเคราะห์กำไรบริษัทจดทะเบียนจาก 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก พบว่า มีถึง 4 อุตสาหกรรมที่กำไรไตรมาสที่ 2 มีโอกาสลดลง ทั้ง QoQ และ YoY แต่มีกลุ่มน้ำมันและปิโตรฯ มีโอกาสเติบโต QoQ แต่ลดลง YoY ดังนี้
4 กลุ่มหลักที่กำไรอาจลดลง ทั้ง QoQ และ YoY คือ
เริ่มจากกลุ่มค้าปลีก ยอดขายลดลงอย่างมีนัยฯ จากการปิดสาขาในหลายบริษัทในช่วงปิดเมือง กลุ่มขนส่งทางอากาศ ขาดรายได้เนื่องจากมีการปิดสนามบินตลอดไตรมาสที่ 2 กลุ่ม ICT มีกำไรลดลงจากกำลังการซื้อที่หายไป รวมถึงมีการปิดสาขาในห้างสรรพสินค้าชั่วคราว และกลุ่มธ.พ. รายได้จากดอกเบี้ยมีโอกาสลดลง เนื่องจากในไตรมาสที่ 2 ทางธปท. มีการลดดอกเบี้ยนโยบายไป 2 ครั้ง 0.5%
กลุ่มน้ำมันและปิโตรฯ มีโอกาสเติบโต QoQ แต่ลดลง YoY คือ
กลุ่มน้ำมันและปิโตรฯ น่าจะเป็นกำลังหลักในการหนุนกำไรบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 2 ให้เติบโต QoQ ได้ แม้ประสิทธิภาพในการทำกำไรอาจจะยังไม่เท่ากับภาวะปกติ แต่คาดว่าจะเติบโต QoQ ได้จาก 2 ปัจยจัย คือ 1. ได้แรงหนุนจากการพลิกกลับมาเป็น Stock Gain จากที่ไตรมาสแรกกลุ่มต้องรับภาระ Stock Loss กว่า 3 หมื่นล้านบาท 2. มี FX Gain จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกว่า 5.6% จากช่วงปลายไตรมาสแรกถึงปัจจุบัน ทั้ง 2 ส่วนหนุนให้กำไรของกลุ่มพลังงานงวด 2Q63 มีโอกาสเพิ่มขึ้นจากงวด 1Q63 (งวด 1Q63 กำไรกลุ่มพลังงานขาดทุน 2.08 หมื่นล้านบาท)
สรุปคือ กำไรบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 2 มีโอกาสเพิ่มขึ้น QoQ แต่ลดลง YoY แต่ภาพรวมครึ่งปีแรก บริษัทจดทะเบียนอาจทำกำไรได้ไม่ถึง 40% ของประมาณการปี 2563 ที่ฝ่ายวิจัยประเมิน 6.88 แสนล้านบาท (EPS63F เท่ากับ 64 บาท/หุ้น) แสดงว่าในช่วงที่เหลือของปี บริษัทจดทะเบียนจะต้องทำกำไรเกินกว่า 60% ของประมาณการ ถือเป็นระดับที่ท้าทาย และเป็นความเสี่ยงต่อ SET Index ที่ปัจจุบันซื้อขายกันบน P/E เกินกว่า 20 เท่า
หุ้น Bank สหรัฐปรับเพิ่มขึ้นแรง หลัง Fed ผ่อนคลายข้อกำหนด Volcker Rule
ตลาดหุ้นวานนี้แกว่งตัวผันผวน โดยตลาดหุ้นสหรัฐ ดัชนี Dow Jones ช่วงเปิดตลาดลดลงไปราว 240 จุด (ลดลงเกือบ 1%) จากความกังวลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับยุโรป หลังสหรัฐระบุกำลังพิจารณาขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากยุโรป (EU) วงเงินประมาณ 3.1 พันล้านเหรียญ เนื่องจากสหรัฐเชื่อว่ายุโรปให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ผลิตอากาศยาน ซึ่งทำให้ผู้ผลิตอากาศยานสัญชาติสหรัฐได้รับผลกระทบ
แต่ในช่วงเวลาต่อมา ดัชนี Dow Jones ฟื้นตัวขึ้นมากว่า 500 จุด (หรือ 2%) จนสุดท้ายปิดตลาดที่ +300 จุด (+1.2%) เนื่องจากได้รับแรงหนุนของคณะกรรมการประกันเงินฝากของสหรัฐ (FDIC) ที่ได้ผ่อนคลายข้อกำหนดของ Volcker Rule ส่งผลให้ธนาคาพาณิชย์ (ธ.พ.) สหรัฐสามารถลงทุนได้หลากหลายขึ้น เช่น ลงทุนในกองทุนร่วมลงทุน (Venture capital) ประเด็นดังกล่าวเป็น Sentiment บวกต่อหุ้นกลุ่มธ.พ. สหรัฐ ปรับเพิ่มขึ้น 3-4%
อย่างไรก็ตามช่วงเช้ามืดวันนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) รายงานผลการทดสอบภาวะวิกฤติ (Stress tests) ของ ธ.พ. สหรัฐ ซึ่งพบว่า ธ.พ. สหรัฐ มีฐานะการเงินเพียงพอ แต่ผลการวิเคราะห์ความอ่อนไหวเพิ่มเติมกรณีไวรัส COVID-19 นอกเหนือไปจากการทำ Stress tests แบบปกติ (Additional sensitivity analysis) ซึ่งรวมกรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบตัว U (U-shaped) พบว่ากลุ่ม ธ.พ. สหรัฐขาดทุนจากการปล่อยกู้ ส่งผลให้ Fed ออกข้อกำหนดห้าม ธ.พ. สหรัฐซื้อหุ้นคืนในงวด 3Q63 และกำหนดเพดานการจ่ายเงินปันผลงวด 3Q63 ให้ไม่เกินค่าเฉลี่ยกำไรย้อนหลัง 4 ไตรมาส
อย่างไรก็ตามความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึง SET index ASPS คาดจะยังมีอยู่ โดยในระยะถัดไปยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่พร้อมทำให้มีโอกาสเกิดการ take profit อาทิ สงครามการค้าสหรัฐ-จีน, สหรัฐ-ยุโรป รวมถึง 2nd wave Covid-19 หลายประเทศที่มีอยู่
และในสัปดาห์หน้า ให้น้ำหนักการรายงานดัชนีเศรษฐกิจต่างๆของทั่วโลก ได้แก่ GDP งวด 1Q63 (ประมาณการครั้งที่ 2) ของสเปน และอังกฤษ, ดัชนี PMI ภาคการผลิตของญี่ปุ่น, ยุโรป, อังกฤ, สหรัฐ เดือน มิ.ย. 2563 โดยส่วนใหญ่คาดออกมาฟื้นตัว, รายงานการประชุม Fed งวด เดือน มิ.ย. 2563 และรายงานภาวะตลาดแรงงานสหรัฐ (ดังตาราง)
การปรับลด GDP Growth เป็นสัญญาณลบ สำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ... หลีกเลี่ยงชั่วคราว
ผลประชุม กนง. กลางสัปดาห์ที่ผ่านมาแม้จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5%(ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์) แต่ยังไม่ได้ปิดโอกาสสำหรับการลดอัตราดอกเบี้ยฯ อีกในอนาคต ASPS คาดการประชุมที่เหลืออีก 4 ครั้งมีโอกาสลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งราว 0.25%
ประเด็นสำคัญคือ ในรอบนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2563 ลงเหลือ -8.1%yoy(ต่ำกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งที่ GDP หดตัว 5.9%yoy ในปี 2541) จากเดิมคาด -5.3% โดย ASPS ตั้งข้อสังเกตผ่านการปรับลดสมมุติฐานคาด GDP (ดังตาราง)
(-) ปรับลดคาดการณ์สมมติฐานสำคัญ อาทิ การบริโภคครัวเรือน, ลงทุนเอกชน และภาคการค้าระหว่างประเทศ (X&M) รวมกันทั้งหมดคิดราว 78% ของ GDP
(+) ปรับเพิ่มการบริโภครัฐ(G) สัดส่วนราว 16.1% ของ GDP เป็น 3.8%yoy จากเดิม 2.6% และคงสมมติฐาน ลงทุนรัฐ สัดส่วนราว 5.9% ของ GDP ที่เดิม 5.8%
โดยรวมจะเห็นได้ว่าการปรับลดสมมติฐานหลักๆสำคัญของ ธปท. ดังกล่าวข้างต้น (ส่งออก, การบริโภคครัวเรือน และลงทุนเอกชน ASPS เชื่อว่า ธปท. ได้ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโดยมีโอกาสชะลอตัวแรง และตีความถึงแนวโน้ม NPL แต่ละกลุ่มในอนาคตอาจจะเร่งตัวขึ้น , ภาระหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นงวด 4Q62 ที่อยู่ในระดับสูงราว 80% ของ GDP และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากอัตราว่างงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต ฯลฯ
โดยรวมสรุป คำแนะนำหุ้น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ น้ำหนักการลงทุน “น้อยกว่าตลาด” จากความกังวลเศรษฐกิจชะลอตัว และความน่าสนใจด้าน Div. Yield ในปี 2563 เริ่มลดลง หลังจาก ธปท. สั่งให้ ธ.พ. งดจ่ายปันผลระหว่างกาล (ปี 2562 เกือบทุก ธ.พ. มีการจ่ายเงินปันระหว่างกาล ยกเว้น KTB และ TISCO จ่ายปีละครั้ง) และห้ามซื้อหุ้นคืน (ปัจจุบันไม่มีธนาคารใดมีโครงการซื้อหุ้นคืน) แนะนำ หลีกเลี่ยงชั่วคราว
แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องมาจาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ... เลือกรับเหมาฯ SEAFCO
จากประเด็น ธปท.มีการปรับลดและปรับเพิ่มคาดการณ์แนวโน้มฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2563 ดัง Paragraph ด้านบน ASPS ตั้งข้อสังเกตุว่ายังมีฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ ธปท. คาดยังขยายตัวได้ในปีนี้ คือ การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ และการลงทุนภาครัฐ
โดย ASPS เชื่อว่า Theme การลงทุนหุ้นจะยังอยู่กับกระแสการลงทุนภาครัฐ โดยจะเห็นกระแสรัฐบาลเดินหน้าเร่งแผนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้า อาทิ
รถไฟฟ้าสายสีส้ม(ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (งานโยธาสายสีส้มตะวันตก และงานเดินรถตลอดทั้งเส้น) มูลค่าราว 9.6 หมื่นล้านบาท หลังจาก ครม. อนุมัติไปเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะออกหลักเกณฑ์ TOR ภายใน ก.ค. 63 และเปิดให้เอกชนยื่นประมูล ต.ค. และคาดจะสรุปผลการประมูลได้ภายในสิ้นปี
รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้เตาปูน-ราษบูรณะ วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท กำหนดเปิดประมูลงานโยธาภายในเดือนก.ย.นี้ และคาดจะรู้ผลประมูลได้ภายในสิ้นปี
โครงการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ EEC 3 จังหวัด ชลบุรี, ระยอง, ฉะเชิงเทรา หลังจากรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรือมาบตพุด และสนามบินอู่ตะเภา สถานะได้ผู้ชนะหรือเซ็นสัญญาแล้ว และอยู่ระหว่างจัดทำแผนธุรกิจ ฯลฯ
โดยรวม ASPS ประเมิน Sentiment เชิงบวกต่อหุ้นในกลุ่มรับเหมา CK, STEC โดยฝ่ายวิจัยชื่นชอบ SEAFCO และกลุ่มนิคมอุตสหกรรม อาทิ AMATA, WHA, FPT
นอกจากนั้นยังมีกระแสงานประมูลในส่วนงานโทรคมนาคม เริ่มทยอยกลับมาเช่นกัน จากการรวบรวมของฝ่ายวิจัยในกลุ่มที่แจ้งรับงานใหม่ผ่านระบบตลาดฯ (ITEL, ICN, ALT) พบว่า ในส่วน ICN, ITEL งวด 2Q63 มีการประกาศรับงานใหม่ต่อเนื่อง ดีขึ้นชัดเจนจากงวด 1Q63 ซึ่งไม่มีงานใหม่เลย โดยฝ่ายวิจัยชอบ INSET(FV@B>4.18) จากจุดเด่นที่หุ้นที่แทบไม่ตอบรับข่าวบวกเลย ขณะที่ Valuation ปัจจุบันยังถูกกว่ากลุ่มมาก มี PER’63 เพียง 11.5 เท่า ขณะที่ ALT และ ITEL ซื้อขายเฉลี่ย 21.7 เท่า มูลค่าพื้นฐานอิง PER 16 เท่า ที่ 4.18 บาท ยังมี Upside สูงถึง 39.3% แนะนำ ซื้อ
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน และทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web