- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 18 June 2020 22:44
- Hits: 7139
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน 18-6-2020
กลยุทธ์ลงทุนรายวัน
วานนี้ SET ปรับตัวขึ้น ตอบรับตัวเลขเศรษฐกิจ US ที่มีแนวโน้มฟื้นตัว โดย ณ. สิ้นวัน SET ปิดที่ 1,376.18 (+9.05 จุด) มูลค่าการซื้อขาย 7.2 หมื่นล้านบาท (เทียบกับวันก่อนหน้า 6.8 หมื่นล้านบาท)
โดยนักลงทุนต่างชาติ ขายหุ้นไทย 1,861 ลบ. (นักลงทุนสถาบันซื้อ 2,083 ลบ.) ส่วนตลาด TFEX นักลงทุนต่างชาติเปิด Short Futures ที่ 11,020 สัญญา)
CPF (ราคาเป้าหมาย 40.2 บาท) คาดกำไร 2Q63 ยังแข็งแกร่งและเติบโตได้ดีเมื่อเทียบ YoY เนื่องจากปัจจุบันราคาหมูในเวียดนามสูงกว่าช่วง 2Q62 มากกว่า 60% อีกทั้งราคาไก่และหมูในไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังจากผ่อนคลาย Lockdown ซึ่งคาดว่าจะทำให้ภาคการบริโภคในประเทศค่อยๆฟื้นตัวในช่วงถัดไป
ตัวเลขเศรษฐกิจฟื้น แต่ COVID-19 ระลอกสองยังต้องจับตา : ภาพรวมตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงแกว่งตัวผันผวนทั้งแดนบวกสลับลบ ตอบรับปัจจัยต่างๆ โดยแรงหนุนหลักในระยะสั้นยังอยู่ที่ตัวเลขเศรษฐกิจของหลายประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นภายหลังการทยอยปลด Lockdown แต่อย่างไรก็ดีภาพความกังวลต่อการเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระยะที่สองในกรุงปักกิ่งของจีน และหลายรัฐฯในสหรัฐฯที่เร่งตัวขึ้น ยังเป็นประเด็นที่จำกัดการปรับตัวขึ้นเช่นกัน ดังนั้นคงต้องติดตามความเคลื่อนไหวของ COVID-19 ระลอกสองเป็นสำคัญ รวมถึงรอปัจจัยใหม่ที่จะเข้ามากระทบตลาดในช่วงถัดไป ส่วนสำหรับวันนี้แนะติดตามการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BoE Meeting) คาดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.1% ตามเดิม แต่อาจจะมีการปรับเพิ่มวงเงินโครงการ QE ขึ้นสู่ระดับ 7.45 แสนล้านปอนด์ จากเดิมที่ระดับ 6.45 แสนล้านปอนด์ เพื่อช่วยกระตุ้นสภาพคล่องในตลาดมากยิ่งขึ้น
Investment Strategy :
วันนี้คาด SET แกว่ง sideway ในกรอบแนวรับ 1,360 ต้าน 1,385 จุด แนะหุ้นที่แนวโน้มกำไรฟื้นตัว โดย ATO Picks วันนี้แนะนำ “CPF, PSL, GPSC” และระมัดระวัง “กลุ่มธนาคาร” จากแนวโน้ม ROE ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เสี่ยงต่อตลาดปรับลดประมาณการ
มีหุ้น : รอดัชนีกลับมายืนเหนือระดับ 1385 จุด ค่อยสะสมเพิ่มใหม่อีกครั้ง
ไม่มีหุ้น : รอซื้อตามกรณีดัชนีทะลุ 1385 จุด หรือรอย่อตัวลงมาแตะ 1340/1323 จุด ใช้เป็นจังหวะเก็งกำไร
KTC
บีบลดดอกบัตรเครดิต'KTC'ผลกระทบมากสุด 'มงคล'ปัดขายหุ้น/MTC-SAWAD-AMANAH ไม่กระทบ (ข่าวหุ้น)
ความเห็น : เราคาดว่ามีโอกาสที่แบงก์ชาติ จะขอปรับลดดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล ลง 1-2% เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ โดย KTC จะได้รับผลกระทบมากกว่า aeonts จากสัดส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตที่ 70% เป็น revolving ในขณะที่ด้าน personal loan ทาง Aeonts จะได้รับผลกระทบมากกว่า เนื่องจากมีสัดส่วน personal loan ถึง 2 ใน3 ของพอรต์สินเชื่อทั้งหมด
รฟม. เปิดแผนประมูลระบบราง CK-STEC-SEAFCO-BEM เฮ! (ทันหุ้น)
ความเห็น : โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก 1.2 แสนล้านบาท จะเปิดประมูลแบบ PPP Net Cost คาดจะเปิดประมูลได้ในเดือน มิ.ย. – ก.ค. นี้ และ สายสีม่วงใต้ 1 แสนล้านบาท แบบ PPP Gross Cost จะเปิดประมูลตามมา แนะนำเก็งกำไรใน CK (เป้าหมาย 24 บาท) และ STEC (เป้าหมาย 20 บาท) จากจะจับมือกับ BEM และ BTS เข้าร่วมประมูล
Energy Absolute (EA)
ราคาอ่อนลงมาแล้ว เริ่มน่าสนใจ
TP Revision
ราคาหุ้นสะท้อนการเลื่อนส่งมอบ EV-car ปีนี้ไปแล้ว แต่ฐานกำไรยังแกร่งมาก
ซึ่งบนแผนการส่งมอบใหม่ในปีนี้ของบริษัท เราได้ปรับประมาณการกำไรลงมา 9% เป็น 6.5 พัน ลบ. และพบว่ารายได้การขาย EV-car จะมีผลเพียง 1% ต่อประมาณการรายได้ใหม่ของเราในปีนี้ ดังนั้นเรามองว่า downside จึงจำกัดแล้ว และด้วยฐานกำไรจากโรงไฟฟ้าที่แข็งแกร่ง บนราคาเหมาะสมใหม่ที่ลดลง 9% เป็น 43.50 บาท/ หุ้น อิง P/E 24.7 เท่าตามเดิม ยังคงเหลือ upside 9% เราคงคำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร”
โดนผลกระทบ COVID-19 เช่นกัน
ราคาหุ้นเดินปรับตัวลง 10% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากประเด็นความล่าช้าของโครงการในอนาคตของบริษัท ได้แก่ (1) โครงการส่งรถยนต์ EV-car ซึ่งได้ถูกเลื่อนออกไปจาก 2Q63 เป็นไตรมาส 4/63 และลดเป้าส่งมอบเพียง 180 คันปีนี้ เนื่องจากปัญหา COVID-19 ขณะที่ออร์เดอร์ที่เหลือ 4,800 คัน ต้องไปทยอยส่งมอบปีหน้า (2) โครงการ PCM เลื่อนมา 1 เดือนจะ COD ในเดือน มิ.ย. นี้ (3) โรงงานผลิตแบตเตอรี่ เฟส 1 ก็เลื่อนจากกลางปี 63 ไปไตรมาส 4/63 และ (4) เรือไฟฟ้าอยู่ระหว่างทดสอบ จะเริ่มให้บริการกลางปี ส่วนแผนการจะลงทุน 40% (เป็นเงิน 1.5 พัน ลบ.) ใน NEX เพื่อทำธุรกิจรถยนต์โดยสาร ยังต้องรอ กลต. ผ่อนผันการทำ Tender offer (Whitewash) และ รอผู้ถือหุ้น NEX ประชุมวิสามัญ อนุมัติวันที่ 10 ก.ค. นี้
ปรับประมาณการกำไรปีนี้ลง 9% แต่กำไรยังโตได้ +8% YoY
จากความล่าช้าของโครงการ EV-car กว่าแผนเมื่อต้นปีของบริษัท เราจึงปรับประมาณการรายได้ลง 3,000 ลบ. (จากสมมติฐานส่งมอบ 2500 คัน เป็น 180 คัน ดูตารางหน้า 2) ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่างๆยังตามเดิม ส่งผลให้ประมาณการกำไรปี 2563 ถูกทอนลง 9% เป็น 6.5 พัน ลบ. ขยายตัว +8% YoY ผลักดันจากธุรกิจโรงกลั่นไบโอดีเซลที่ราคาขาย B100 ฟื้นตัว ซึ่งเมื่ออิงกับ P/E เป้าหมาย 24.7 เท่าตามเดิม (อิง P/E เฉลี่ย 3 ปี 29.0 เท่า และ ให้ส่วนลดอีก 15% จาก ความเสี่ยงของโครงการใหม่ๆ) จะได้ราคาเหมาะสมใหม่ปี 2563 ที่ 43.50 บาท/ หุ้น เหลือ upside 9% เราจึงคงคำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” ตามเดิม
ความเสี่ยง
ความล่าช้าของการส่งมอบรถยนต์ EV-car จะส่งผลต่อรายได้รวมในปีนี้ 1% และ 15% ในปี 2564 (ตามประมาณการใหม่) ดังนั้น การล่าช้าอีกหรือไม่ในปี 2563 นั้น แทบจะไม่มีผลต่อประมาณการกำไรปีนี้แล้ว
Kasikornbank (KBANK TB)
แนวโน้มกำไรอ่อนตัว
ลดคำแนะนำเป็น “ขาย” ปรับลดราคาเป้าหมายเหลือ 80 บาท
เราปรับลดคำแนะนำ KBANK จาก “ถือ” เป็น “ขาย” และลดราคาเป้าหมายลงเหลือ 80 บาทจาก 100 บาท (P / BV ปี 63 ที่ 0.46 เท่า และ ROE 7.6%) เนื่องจากผลประกอบการที่อ่อนแอ เราเชื่อว่าเป้าหมาย P/BV ของเราที่ระดับต่ำกว่า 0.5 เท่านั้นถือว่าเหมาะสม เนื่องจาก ROE ของธนาคารจะยังคงอยู่ต่ำกว่า 5.0% สำหรับปี 63-65 การคาดการณ์ผลประกอบการของเราต่ำกว่าคาดการณ์ของ Bloomberg 41-46% เราคาดว่าตลาดจะปรับลดคาดการณ์กำไรหลัง KBANK ปรับเป้าหมายทางการเงินหลังประกาศผลประกอบการ 2Q20 ในเดือน ก.ค. นี้
กำไรปี 63-65 กระทบ 1.07 หมื่นล้านบาท/ปีจาก NPL ที่จะเกิดขึ้น
เรากังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินทรัพย์ของ KBANK เนื่องจากสินเชื่อภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมีมูลค่า 4 แสนล้านบาท (20% ของสินเชื่อรวม) เราประเมินว่าผลประกอบการของ KBANK จะได้รับผลกระทบ 1.07 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 63-65 บนสมมติฐานว่า 20% ของสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจะกลายเป็น NPLs และมีหลักประกัน 50% (รูปที่ 3) ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยแสดงให้เห็นว่ามูลค่าของเงินให้สินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้และสินเชื่อภายใต้การเลื่อนการชำระหนี้สูงถึง 6.7 ล้านล้านบาทในปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นประมาณ 1/3 ของสินเชื่อในระบบทั้งหมด
ตลาดประเมินความเสี่ยงคุณภาพสินทรัพย์ต่ำไป
เราปรับลดประมาณการกำไรปี 63-65 ลง 40% เพื่อสะท้อนการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมที่อ่อนแอและต้นทุนสินเชื่อที่สูงขึ้น (รูปที่ 4) แม้ว่าอัตราส่วน NPL น่าจะทรงตัวในช่วงหกเดือนข้างหน้าตามมาตรการของ ธปท.แต่เราแนะนำให้นักลงทุนมองหลังจากนั้นเพื่อวัดความเสี่ยงคุณภาพสินทรัพย์ เราคาดว่าสัดส่วน NPL ของภาคธุรกิจจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในระยะเวลา 3 ปีหากไม่มีโครงการผ่อนปรนหนี้ ซึ่งสอดคล้องกับ CEO ของ KTB ที่ระบุว่าอัตราส่วน NPL อาจเพิ่มขึ้นเป็น 7-9% (จาก 4.3% ในไตรมาส 1Q20) หลังจากที่มาตรการผ่อนปรนของ ธปท.หมดอายุในปี 2565 เราประเมินค่าใช้จ่ายเครดิตและอัตราส่วน NPL จะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างน้อยสามปีนับจากนี้ ดังนั้น เราจึงปรับสมมติฐานต้นทุนเครดิตเป็น 2.00-2.05% จาก 1.6-1.75% ในปี 2563-2565
เราความกังวลเกี่ยวกับรายได้ค่าธรรมเนียมและ NIM
เนื่องจากความไม่แน่นอนของรายได้และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม จึงเป็นเรื่องยากที่ KBANK จะขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น ประกันหรือกองทุนรวมให้กับลูกค้า เราคาดว่ารายได้ค่าธรรมเนียมจะลดลง 20% YoY ในปีนี้ ในแง่ของ NIM แม้ว่า KBANK จะสามารถลดต้นทุนทางการเงินได้เนื่องจากค่าธรรมเนียม FIDF และดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ลดลง แต่เราคาดว่า NIM ของ ธนาคารจะลดลง QoQ ในไตรมาส 2Q – 4Q20 เนื่องจากผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงเหลือ 50bps จาก 125bp ณ สิ้นปี 2562
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web