WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน 18-6-2020ASP
MARKET  TALK
กลยุทธ์การลงทุน
Fund Flow ที่ขับเคลื่อน SET Index ปรับจากสถาบันฯ - ต่างชาติ มาที่นักลงทุนรายบุคคล และกระจายไปหุ้น Market Cap กลาง-เล็ก มากขึ้น ทำให้ SET Index ปรับขึ้นต่อได้ยาก ประเด็นที่ต้องติดตามช่วงนี้เป็นเรื่องการเมือง และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธปท. ซึ่งเป็นแรงกดดัน แนะนำลดน้ำหนัก EGCO และลงทุนเพิ่มใน AMATA หุ้น Top Pick เลือก AMATA และ CPF
แรงหนุนจาก สถาบันฯ - ต่างชาติ แผ่ว SET Index ไปต่อยากขึ้น
เห็นได้ชัดเจนว่าแรงหนุนจาก Fund Flow กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนต่างชาติ ที่เคยขับเคลี่อน SET Index ในช่วงก่อนหน้านี้แผ่วลงอย่างชัดเจน ทำให้กลุ่มนักลงทุนรายบุคคลมีบทบาทมากขึ้น แต่น้ำหนักการลงทุนที่ถูกเบี่ยงไปที่หุ้น Market Cap. กลาง-เล็ก ซึ่งมีอิทธิพลต่อ SET Index จำกัด สำหรับปัจจัยที่ให้ความสำคัญวันนี้เป็นเรื่องทางการเมือง ซึ่งดูเหมือนว่าสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงปรากฎให้เห็นชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ โดยความสนใจอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญทางเศรษฐกิจในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังถดถอย อีกประเด็นหนึ่งเป็นเรื่อง มาตรการของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้ ในรอบใหม่ ซึ่งมีแนวทางในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของกลุ่ม สินเชื่อบุคคล, จำนำทะเบียนรถ , เช่าซื้อ ทั้งนี้เกิดจากมุมมองของทางการที่เห็นภาพเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2563 ยังมีปัญหาที่รุนแรง ทั้งนี้ผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวน่าจะสร้างแรงกดดันต่อการทำกำไรของสถาบันการเงิน และน่าจะทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มนี้มีแรงขายออกมาได้ พอร์ตการลงทุนวันนี้ให้ลดน้ำหนัก EGCO ลง 5% แล้วนำไปซื้อ AMATA หุ้น Top Pick เลือก AMATA และ CPF
2nd  wave ยังเป็นประเด็นที่ให้น้ำหนัก ต่อการลงทุน
ตลาดหุ้นทั่วโลกทั้ง สหรัฐ, ยุโรป ฯลฯ เมื่อคืนที่ผ่านมา เริ่มแกว่งตัวผันผวน  โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเห็นการ Take Profit ในช่วงสั้น หลักๆ คือ  การระบาดของไวรัส COVID-19 (2nd  wave) ล่าสุดในรายงานผู้ติดเชื้อ อาทิ  สหรัฐ ในหลายรัฐ อาทิ Arizona, Florida South Carolina และTexas ฯลฯ ปรับเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบ 7 วัน  อย่างไรก็ตามรัฐบาลสหรัฐยังคงยืนยันว่า จะไม่มีการ Lock down ประเทศรอบที่ 2  
สวนทางกับจีน ที่จำนวนผู้จิดเชื้อรอบที่ 2  เพิ่มขึ้นในช่วงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา  โดยมีการประกาศปิดโรงเรียน และล่าสุด ยกเลิกเที่ยวบินกว่า 1,200 เที่ยวบิน(ราว  70% ของเที่ยวบินทั้งหมดของกรุงปักกิ่ง ฯลฯ 
อย่างไรก็ตาม Flow ยังมีโอกาสไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยง แรงหนุนจากสภาพคล่องส่วนเกิน (Liquidity Driven) ของธนาคารกลางต่างๆทั่วโลกที่พร้อมใจกันอัดฉีดเงิน โดยเฉพาะธนาคารกลางหลักๆ  คือ สหรัฐ (Fed) ,ยุโรป(ECB) เพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ และประเทศอื่นๆ โดยในวันนี้การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งแม้ว่าในครั้งนี้ตลาดคาดว่า BOE จะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.1% (ต่ำสุดในประวัติศาสตร์) แต่คาดว่าในการประชุมครั้งนี้ BOE จะเพิ่มวงเงิน QE จาก 6.25 แสนล้านปอนด์ต่อปี เป็น 7.25 แสนล้านปอนด์ต่อปี   
ขณะที่ไทยประชุม กนง.วันที่ 24 มิ.ย.  ASPS  คาดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่  0.5%(ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์) เนื่องจาก 1.) Bond yield ไทย อายุ 1 ปี ล่าสุด แกว่งทรงตัวอยู่ที่ 0.5% ใกล้เคียงดอกเบี้ยนโยบาย บ่งชี้ได้ว่านักลงทุนในตลาดยังมีมุมมองอัตราดอกเบี้ยฯ จะยังทรงตัว  2.) ไทยไม่พบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ ติดต่อกันรวม 24 วัน นับตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. ส่งผลให้รัฐมั่นใจผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (ยกเลิก Curfew, Reopen และ ล่าสุด อธิบดีกรมการขนส่งทางราง มีข้อสรุปร่วมกับ กรมควบคุมโรค ฯลฯ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันเสนอรัฐบาลในการคลายล็อกในมาตรการ Social distancing เว้นระยะห่างเฉพาะในรถไฟฟ้า ดีต่อ   BTSGIF หนึ่งในหุ้นกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะได้ Sentiment จากคนเริ่มกลับมาใช้งานรถไฟฟ้ามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  และเป็นหุ้นผันผวนต่ำมีค่า Beta เพียง 0.64 
Covid เริ่มคลี่คลาย แต่ การเมืองกลับมาร้อนแรง
เห็นได้ชัดเจนว่าสถานการณ์เรื่องการระบาดของ Covid-19 ในประเทศคลี่คลายลงไปอย่างมาก เหลื่อไว้แต่เพียงร่องรอยผลกระทางเศรษฐกิจที่ต้องแก้ไขกันต่อไป แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่มีความร้อนแรงขึ้นมาแทน และอาจเป็นปัจจัยที่เข้ามาสร้างแรงกดดันต่อ Sentiment การลงทุนในตลาดหุ้นจากนี้ไปได้แก่ การเมืองในประเทศ โดยจากการจับกระแสการเคลื่อนไหว เชื่อว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในอีกไม่นานนี้ อย่างน้อยที่สุดเป็นการปรับ ครม. เฉพาะโควต้าภายในของบางพรรค (ปรับย่อย) หรือยิ่งไปกว่านั้นเป็นการปรับโดยเปลี่ยนแปลงโควค้าที่แต่ละพรรคได้รับการจัดสรร (ปรับใหญ่) กล่าวคือ
•    กรณีปรับย่อย เห็นสัญญาณจากการเปลี่ยนแปลงภายในของหลายพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็น พลังประชารัฐ (กรรมการบริหารพรรคลาออกเกินกึ่งหนึ่ง)  รวมพลังประชาชาติไทย (หัวหน้าพรรคลาออก) รวมถึงกระแสความขัดแย้งในบางพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งสุดท้ายน่าจะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามโควต้าพรรคที่ได้รับมาตั้งแต่เริ่มจัดตั้งรัฐบาล
•    กรณีปรับใหญ่ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการย้ายสังกัดของ ส.ส. โดยมีต้นทางมาจากการยุบพรรค ของบางพรรคการเมือง ทำให้ ส.ส. กระจายข้ามฝากจากพรรคฝ่ายค้าน มายังพรรคร่วมรัฐบาล ส่งผลให้เมื่อคำนวนสัดส่วน ส.ส. ของแต่ละพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลแล้วมีการเปลี่ยนแปลง และน่าจะทำให้โควต้ารัฐมนตรีที่ได้รับการจัดสรรมาตั้งแต่ต้นต้องมีการเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้หากประเมินจากกรอบเวลาแล้ว เห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลง คณะรัฐมนตรี ในช่วงเดือน ก.ค.2563 ทั้งนี้ในแง่มุมของการลงทุนแล้ว จะให้ความสำคัญกับตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวสำคัญทางเศรษฐกิจ เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีปัญหา ประเด็นทางการเมืองจากนี้ไปจึงต้องถูกจับตามากขึ้นในฐานะปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อ Sentiment การลงทุนในตลาดหุ้น
มาตรการช่วงเหลือลูกหนี้ของ ธปท. กดดันกำไรของสถาบันการเงิน
ธปท. เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม (เฟส 2 : ลูกหนี้สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ 1 ก.ค. – 31 ธ.ค. 63) หลังหมดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เฟส 1 หลักๆ ได้แก่ การพักชำระเงินต้น 6 เดือน (แต่ยังจ่ายดอกเบี้ย) และ พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือเรียกว่า  “loan payment holiday”  สิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือเฟส 1 ในวันที่ 30 ก.ย. 63 ในเบื้องต้นมูลหนี้ที่เข้าร่วมโครงการ loan payment holiday ราว 6 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบ  
ทั้งนี้ ปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า แม้ COVID-19 ในไทยเริ่มผ่อนคลาย ย่อมส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ทั้งลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคลฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป นำไปสู่การออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมในครั้งนี้  โดยจะเน้นไปที่กลุ่มสินเชื่อบุคคลธรรมดา ที่เผชิญกับสภาวะ Income shock หลังหลายบริษัททั่วโลก มีแผนบริหารต้นทุน ผ่านการลดค่าจ้างพนักงาน ตรงข้ามกับภาระการผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนไม่ได้ปรับตัวลงตาม ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ได้ โดยแนวทางช่วยเหลือครั้งนี้จะอยู่ในรูปแบบของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในกลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิต ให้ลดเพดานอัตราดอกเบี้ยมาที่ 16% จากเดิม 18%, สินเชื่อบุคคล (P – loan) ลดลง 2% - 4% จากเดิม, สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ในกลุ่มปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ให้พิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 1% หรือคิดเป็น EIR ลดลง 2% จากเดิม และ สินเชื่อบ้าน อยู่ในแนวทางขยายระยะเวลาชำระหนี้, การพักชำระเงินต้น 3 เดือน และลดดอกเบี้ยตามความเหมาะสม
กระทบต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยคาดว่า NIM กลุ่มธนาคาร ที่คาดไว้ 2.79% สาเหตุจากการคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective interest rate) แต่ละสัญญาเงินกู้ต่ำลง ทั้งจากการขยายระยะเวลาชำระหนี้และปรับลดดอกเบี้ย   ซึ่งผลกระทบที่แน่ชัดขึ้นอยู่กับจำนวนลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการเฟส 2 โดยทุก 10 bps ของ NIM ที่ลดลงจะส่งผลต่อกำไรกลุ่มฯ ปี 2563 ประมาณ 5% จากที่คาดไว้ 1.47 แสนล้านบาท โดยกระทบเกิดขึ้นกับ กลุ่มธนาคารที่มีสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยสูง เช่น TISCO (สัดส่วนสินเชื่อรายย่อย 79% ของพอร์ตสินเชื่อ และเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ราว 56% ของพอร์ต) ตามด้วย KKP (สัดส่วนสินเชื่อรายย่อย 61% ของพอร์ตสินเชื่อ เป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ราว 45% ของพอร์ต), TMB (สินเชื่อรายย่อย 56%), BAY (สัดส่วนสินเชื่อรายย่อย 49% เป็นสินเช่าซื้อรถยนต์ 23%, บัตรเครดิตและอื่นๆ ราว 11%), SCB (สินเชื่อรายย่อยราว 48% หลักๆ เป็นสินเชื่อบ้านราว 31% ของพอร์ตสินเชื่อรวม) 
คงน้ำหนัก กลุ่ม ธ.พ. น้อยกว่าตลาด ตามแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว ยังชอบ BBL(FV@B154) จากโครงสร้างสินเชื่อรายย่อยต่ำสุดในกลุ่มฯ ที่ 15%  ขณะที่ประเด็นข้างต้นมีโอกาสสร้าง Sentiment เชิงลบต่อธนาคารที่มีโครงสร้างสินเชื่อรายย่อยสูง โดย TISCO(FV@B73) ปัจจุบันราคาเกิน FV ขณะที่ KKP (FV@B52) มี Upside ราว 8.9% ไม่จูงใจให้ลงทุน แนะนำทยอยขายทำกำไร 
สำหรับกลุ่มเช่าซื้อ ฝ่ายวิจัยประเมินว่า AEONTS จะได้รับผลกระทบจากการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต (39% ของสินเชื่อรวม) ซึ่งปัจจุบันคิดอัตราดอกเบี้ยที่ราว 20% (รวมรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้เกี่ยวข้องกับบัตรเครดิต) โดยหาก AEONTS ปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตทุกๆ 1% จะส่งผลกระทบต่อคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2563 ราว 3.8% จากปัจจุบัน ทั้งนี้ คาดสินเชื่อบัตรกดเงินสด (50% ของสินเชื่อรวม) จะได้รับผลกระทบจำกัด เพราะคิดอัตราดอกเบี้ยที่ราว 26% ใกล้เคียงคาดการณ์เพดานดอกเบี้ยใหม่อยู่แล้ว ขณะที่ SAWAD และ MTC ปัจจุบันคิดดอกเบี้ยกับลูกค้าที่ราว 21-22% ต่ำกว่าคาดการณ์เพดานสินเชื่อใหม่ที่ 24% อยู่แล้ว จึงคาดว่าจะได้รับผลกระทบจำกัด ส่วนกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุก ทั้ง THANI และ ASK ปัจจุบันคิดอัตราดอกเบี้ยกับลูกค้าเฉลี่ยราว 7% ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว ฝ่ายวิจัยจึงประเมินว่าเป็นไปได้ยากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะให้ผู้บริการเช่าซื้อรถบรรทุกปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจากปัจจุบัน ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยได้ทำ sensitivity หาก AEONTS (FV@B125) SAWAD (FV@B54) และ MTC(FV@B53) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้าทุกๆ 1% จะส่งผลกระทบต่อคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2563 ราว 3-9% ดังสรุปในตารางด้านล่าง ทั้งนี้ ราคาหุ้นกลุ่มเช่าซื้อส่วนใหญ่ได้ปรับเพิ่มขึ้นจนเต็มมูลค่าพื้นฐานแล้ว อีกทั้งยังได้รับ sentiment เชิงลบจากมาตรการควบคุมอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารแห่งประเทศไทย จึงแนะนำให้หลักเลี่ยงการลงทุนไปก่อน
Fund Flow แผ่ว ปัจจัยลบปกคลุม ชอบ AMATA, CPF
ในเดือน มิ.ย. 63 ตลาดหุ้นไทยอยู่ในภาวะการเก็งกำไรอย่างเห็นได้ชัด จาก 2 ประเด็น
ผลตอบแทนหุ้นขนาดเล็ก Outperform เป็นพิเศษ สะท้อนได้จากดัชนีหุ้นขนาดเล็กที่ไม่ได้อยู่ใน MAI อย่าง SSET Index ให้ผลตอบแทนสูงถึง 5.07%(mtd) สูงกว่า SET Index ที่ให้ผลตอบแทนเพียง 2.48%(mtd) และสูงกว่า SET50 Index (ประกอบด้วยหุ้นขนาดใหญ่) ที่ให้ผลตอบแทนเพียง 2.07%(mtd) เท่านั้น แสดงให้เห็นถึงภาวะการเข้ามาเก็งกำไรของนักลงทุน รวมถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนียังขาดเสถียรภาพ
ต่างชาติกลับมาขายสุทธิ ทั้งในตลาดหุ้นและตลาดฟิวเจอร์สไทย ภาพรวม Fund Flow ในตลาดหุ้นภูมิภาคเดือน มิ.ย. ต่างชาติสลับมาขายสุทธิเกือบทุกประเทศ รวมถึงตลาดหุ้นไทยถูกขายสุทธิมากสุดในภูมิภาคราว 56 ล้านเหรียญ โดยเฉพาะ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยไปแล้วกว่า 8.2 พันล้านบาท พร้อมกับเปิดสัญญาชอร์ตสุทธิ SET50 Futures กว่า 3.1 หมื่นสัญญา ในช่วงเวลาเดียวกัน
สรุป คือ ตลาดหุ้นยังเผชิญปัจจัยกดดันรอบด้าน ทั้งความกังวลการระบาด COVID-19 ระลอกที่ 2 และในประเทศมีปัจจัยกดดันกลุ่มการเงิน จากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านการลดดอกเบี้ยทุกกลุ่ม ขณะเดียวกัน Fund Flow เริ่มชะลอการไหลเข้าตลาดหุ้นไทยอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นกลยุทธ์ยังคงเน้นลงทุนในหุ้นผันผวนต่ำปันผลสูง อย่าง TTW, INTUCH, BTSGIF, AP, TVO รวมถึงหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว อย่าง CPALL, CPF และเก็งกำไรหุ้นขนาดเล็กที่น่าจะ Outperform ตลาดได้ดีในช่วงนี้ อย่าง AMATA, DCC
Top pick วันนี้เลือก CPF, AMATA มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
CPF ได้แรงหนุนจากค่าเงินบาทที่เริ่มกลับมาอ่อนค่าเล็กน้อย รวมถึงราคาหมู ไก่ ที่ปรับตัวขึ้นแรงกว่า 25% ในรอบ 2 เดือน
AMATA ราคาหุ้นวานนี้ฟื้นตัว 9% จากเมื่อต้นสัปดาห์ ขณะที่บรรยกาศการลงทุนจากนี้ไปจะไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากผ่อนปรนมาตรการ Lockdown ราคาหุ้น PER ปี 2563 ซื้อ-ขายต่ำ 14.2x และมี Upside เปิดกว้าง โดยให้ส่วนลดจาก NAV 35.70 บาท กว่า 1.2 เท่าตัว ผนึกกับพื้นฐานธุรกิจจะกระเตื้องขึ้นตามลำดับจากนี้ไป เห็นสัญญาณกำไร 2Q63 ฟื้นตัว QoQ และผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว จาก Backlog แข็งแกร่ง 2.5 พันล้านบาท คาดโอนรับรู้รายได้สูงขึ้น  และเป็นช่วง High Season หนุนกำไรธุรกิจโรงไฟฟ้า 260 Equity MW ขยายตัวโดดเด่น สุดท้ายยอดขาย Presale จะดีต่อเนื่องชัดเจน หาก Travel Bubble ไทยเจรจาสำเร็จ โดยให้น้ำหนักกับประเทศจีน ปัจจุบันพบว่าหลายประเทศจับคู่และบรรลุข้อตกลง Travel Bubble ได้แล้วอย่างเช่น จีน-สิงคโปร์ (เริ่ม 6 มิ.ย. 63) และ นอร์เวย์-เดนมาร์ก (15 มิ.ย. 63) เป็นต้น
RESEARCH DIVISION
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน และทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
******************************************

 

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!