- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 11 June 2020 12:52
- Hits: 3607
บล.เอเซีย พลัส : บทวิเคราะห์ภาวะตลาดหุ้นรายวัน 11-6-2020
กลยุทธ์การลงทุน เช้านี้ยังไม่เห็นประเด็นที่มีน้ำหนักเชิงบวกมากพอ ที่จะผลักดันให้ SET Index ปรับขึ้น ขณะที่แรงหนุนจากเม็ดเงินลงทุนกลุ่มต่างๆ ยังไม่ชัดเจน โดยสถาบันในประเทศมีโอกาสขายทำกำไรได้ต่อ ขณะที่ Fund Flow ต่างชาติยังอ่อนแรง วานนี้พอร์ตจำลองได้ Stop Profit รับกำไรหุ้น BCPG ให้นำเงินไปพักใน BTSGIF เพิ่ม ส่วน Top Pick เลือก DCC และ EGCO
SET Index จะไปไกลกว่านี้ ต้องอาศัย Fund Flow ต่างชาติ
การปรับตัวขึ้นมาของ SET Index นับจาก 13 มี.ค.2563 เป็นรูปแบบของ Liquidity Drivenเริ่มจากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศ โดยหากนับจนถึง 5 มิ.ย.63 ก่อนที่จะเห็นแรงขายทำกำไรออกมา 2 วันต่อเนื่อง มียอดซื้อสุทธิสะสมรวม 8.94 หมื่นล้านบาท ต้นทุนเฉลี่ย 1203 จุด แนวโน้มจากนี้ไปมีโอกาสที่จะเห็นแรงขายทำกำไรจากนักลงทุนกลุ่มนี้ ส่วนนักลงทุนต่างชาติถือเป็นความหวังที่จะเข้ามาขับเคลื่อน SET Index ในช่วงเวลาต่อไป โดยพบว่านับจาก 29 พ.ค.63 เป็นต้นมามียอดซื้อสุทธิสะสม 1.12 หมื่นล้านบาท แต่พบว่ายอดซื้อสุทธิในแต่ละวันมีแนวโน้มลดลง และเริ่มเห็นแรงขายสลับออกมาเป็นบางวัน สะท้อนให้เห็นว่าแรงขับเคลื่อนจาก Fund Flow ต่างชาติยังไม่แข็งแรงพอ สภาวะดังกล่าวทำให้คาดว่า SET Index มีโอกาสที่จะปรับฐานลงได้ต่อ สำหรับปัจจัยแวดล้อมเช้านี้มีเรื่องผลการประชุม Fed ซึ่งแสดงท่าที่ใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเชิงรุกในช่วงกว่า 1 ปีข้างหน้า แต่ก็ยังคงเห็นแรงขายทำกำไรในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่วนในประเทศเป็นเรื่องความคาดหวังเชิงบวกจากการคลายมาตรการ Lockdown เฟสที่ 4 วานนี้พอร์ตจำลองได้ Stop Profit หุ้น BCPG แนะนำให้ลงทุนเพิ่มใน BTGSIF ส่วน Top Pick เลือก DCC และ EGCO
Fed ยังคงใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเชิงรุก แต่ ดาวน์โจนส์ ก็ยังถูกขายทำกำไร
ผลประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) เมื่อคืนที่ผ่านมามีใจความสำคัญ คือ Fed กังวลเศรษฐกิจสหรัฐยังคงได้รับผลกระทบแรงจาก COVID-19 สะท้อนจากการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ(GDP) ปี 2563 หดตัว 6.5% และปี 2564 -2565 คาดพลิกกลับมาขยายตัว 5% และ 3.5% ตามลำดับ เช่นเดียวกับอัตราการว่างงาน ปี 2563-2565 คาดจะพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 9.3% , 6.5%, 5.5% ตามลำดับ
โดยการแถลงของประธาน Fed และ Dot plot มี Hightlight สำคัญที่ Fed สื่อสารว่าจะยังใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย(อัตราดอกเบี้ยต่ำ+ QE) ต่อไปอีก 2-3 ปี จนกว่าอัตรการว่างงานและเศรษฐกิจจะดีขึ้น ซงจะทำให้สภาพคล่องในระบบ(Liquidity) ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อ ดังนี้
คณะกรรมการ Fed 15 คนจาก 17 คนมองตรงกันให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0-0.25%(ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์) และคาดยืนดอกเบี้ยต่ำฯระดับนี้ หรือยังไม่มีแนวคิดขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯไปจนถึงปี 2565
มาตรการ QE คือ Fed ยังคง Target การซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 8 หมื่นล้านเหรียญ/เดือน และซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) อีก 4 หมื่นล้านเหรียญ/เดือน ต่อไป ขณะที่ Yield Curve Control มีการพูดถึง แต่ยังไม่มีความชัดเจนจะเริ่มเมื่อไหร่
โดยรวมการสื่อสาร Fed ดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้สภาพคล่องในระบบยังมีอยู่และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
โดย ASPS พิจารณาปริมาณเงิน(Money Supply หรือ M2) VS. ตลาดหุ้นสหรัฐ (ดังรูป) พบว่าในช่วงที่ Fed เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยฯ ส.ค.2563 และเริ่มกลับมาทำ QE อีกครั้งตั้งแต่ มี.ค. 2563 เป็นต้นมา พบว่า M2 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 7.2%yoy ในเดือน ก.พ. 2563 มาเป็น 18%yoy ในเดือน เม.ย. 2563 และหนุนตลาดหุ้นสหรัฐฟื้นตัวในช่วงเวลาเดียวกัน
ขณะไทย M2 เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับสหรัฐ คือ 3.2%yoy ในเดือน มี.ค. 2563 มาเป็น 9.1%yoy ในเดือน พ.ค. 2563 ทั้งนี้หากพิจารณา %ในการเพิ่มขึ้น ถือว่าน้อยกว่าสหรัฐ เนื่องไทยมีวงเงินมาตรการทางการเงินที่ต่ำกว่า เช่น ธปท. ให้สินเชื่อ Soft loan วงเงิน 5 แสนล้านบาท
โดยรวมเชื่อว่าในระยะถัดไปสภาพคล่องส่วนเกิน (Liquidity driven) ของธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐจะยังมีอยู่ โดยในระยะสั้น คือ เงินน่าจะไหลเข้าสินทรัพย์ปลอดภัย ก่อน สะท้อนจากวานนี้ (Bond yields 10 ปีสหรัฐ วานนี้ปรับลงแรง , ทองคำปรับเพิ่มขึ้น) ขณะที่ Dollar index อ่อนค่าแรง และยังทรงตัวในทิศทางอ่อนค่า 95.95 จุด กดดันให้เงินบาท/ดอลลาร์ แข็งค่า 31 บาท ขณะที่สินทรัพย์เสี่ยง อาทิ ตลาดหุ้นสหรัฐ ดัชนี Dow jones และ S&P500 ถูก take profit
มีความหวังเชิงบวกต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีเพิ่มขึ้น หลังคลาย Lockdown เฟส 4
ประเด็นในประเทศ เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยให้น้ำหนัก
- การผ่อนคลายให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Reopen) เฟสที่ 4 ซึ่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 (ศบค.) จะพิจารณาวันพรุ่งนี้ โดยคาดว่าในเฟส 4 จะผ่อนคลายให้สถานบันเทิง, สถานศึกษา, ระบบขนส่งสาธารณะ กลับมาดำเนินการได้ และคาดว่าจะผ่อนคลายให้ขายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้
- น้ำหนักการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆเพิ่มเติม โดยปัจจุบันมีหลายมาตรการที่กำลังอยู่ระหว่างพิจารณา เช่น มาตรการกระตุ้นการบริโภค, การท่องเที่ยว, ภาคอัสงหาริมทรัพย์ และภาคยานยนต์ (ดังตาราง) เป็นต้น และเชื่อว่ามาตรการใหม่ที่กำลังจะออกมาจะมีนัยต่อเศรษฐกิจมีระดับที่สูงขึ้น
กลุ่มค้าปลีกเน้นลงทุนหุ้นที่มี Upside + ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด
จากการรวบรวมของฝ่ายวิจัย พบว่าภาพรวมยอดขายสาขาเดิม (SSSG) 5M63 ของทุกรายในกลุ่มยังลดลง โดยหลักจากผลกระทบการ Lockdown แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังผ่อนคลาย Lockdown (วันที่ 17 พ.ค.63) เริ่มเห็นการฟื้นตัวดีขึ้น แต่ระดับแตกต่างกัน (ดังตารางสรุป) ทั้งนี้ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มที่ SSSG พลิกกลับมาเป็นบวกเร็วและดีกว่าคาด คือ กลุ่มจำหน่ายสินค้าปรับปรุงบ้าน + วัสดุก่อสร้าง อย่าง DOHOME และ HMPRO ตามความต้องการปรับปรุงบ้านจากพฤติกรรมที่อยู่บ้านมากขึ้น และ ร้านจำหน่ายสินค้าไอที COM7 จากกระแสเชิงบวกพฤติกรรมทำงานที่บ้าน + เรียนที่บ้าน ทำให้สินค้าไอทีเป็นสินค้าจำเป็นขึ้น และ MAKRO ที่ประคองตัวได้ และน่าจะยังเห็นแรงหนุนการกลับมาจำหน่ายสินค้าแอลกอฮอล์ และคาดได้ท่องเที่ยวฟื้นตัวหนุนยอดขาย HORECA ระยะถัดไป ซึ่งกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีโอกาสปรับเพิ่มกำไรและมูลค่าพื้นฐาน แต่เบื้องต้นยังน่าจะมีเพียง DOHOME และ COM7 ที่มี Upside ลงทุนได้ ทั้งนี้ ยังให้ซื้ออ่อนตัว เพื่อรอตามความต่อเนื่องของ SSSG ขณะที่ยังคงคำแนะนำ Switch HMPRO และ MAKRO
2. กลุ่มที่ยังฟื้นตัวช้า แต่น่าจะคาดหวังการกลับมาเร็วในช่วงถัดไป คือ CPALL ได้รับผลกระทบหนักกว่าคาดจากมาตรการเคอร์ฟิว + ปริมาณการเดินทางข้ามจังหวัดที่ลดลง (กระทบสาขาในปั้ม PTT) แต่เห็นสัญญาณดีขึ้น จากปัจจัยหนุนที่ใกล้เข้ามา โดยฝ่ายวิจัยคาดรัฐฯน่าจะยกเลิกมาตรการเคอร์ฟิวเร็วๆนี้ และน่าจะเริ่มเห็นปริมาณเดินทางท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมา จึงประเมินภาพรวมกลุ่มดังกล่าวยังมี Downside ต่อประมาณการทั้งปีจำกัด ขณะที่มูลค่าพื้นฐานยังมี Upside ลงทุนได้ ยังให้ ซื้อ
3. กลุ่มที่ยังเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวช้า และเป็นความเสี่ยงต่อประมาณการ SSSG ทั้งปี คือ CRC, BEAUTY และ BJC จากปัจจัยเฉพาะตัว BEAUTY และ CRC ในส่วนห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลและโรบินสัน ที่จำหน่ายสินค้าฟุ่มเฟือย รวมถึง BJC ที่ยังเห็นการแข่งขันสูงกับ Tesco บั่นทอนการฟื้นตัว SSSG การฟื้นตัวเต็มที่จึงน่าจะเพียงใกล้เคียงสมมติฐาน ดังนั้น ด้านคำแนะนำ ในส่วน CRC ที่ราคาเกินมูลค่าพื้นฐานไปแล้ว จึงลดคำแนะนำเป็น Switch ขณะที่ BJC และ BEAUTY ยังให้ Switch ตามเดิม
ภาพรวมแนวโน้มหุ้นในกลุ่มที่ยังผสมผสานด้วยกลุ่มที่มี Upside และ Downside ซึ่งสามารถพิจารณาระดับความอ่อนไหว SSSG ต่อกำไรและมูลค่าหุ้นแต่ละราย ซึ่งเฉลี่ยแล้ว SSSG ที่เพิ่ม/ลดทุก 1% จะส่งผลต่อกำไรและมูลค่าพื้นฐานราว 1%-2% แล้วแต่บริษัท (ดังตาราง) ทั้งนี้ เพื่อติดตามพัฒนาการอีกระยะ จึงยังคงคาดกำไรปี 2563 ที่ 4.6 หมื่นล้านบาท ลดลง 10.5% ไปก่อน ลงทุน เท่าตลาด มีตัวเลือกลงทุน คือ CPALL DOHOME และ COM7
ตลาดหุ้นแพง แต่ถูกขับเคลื่อนจากสภาพคล่องเป็นหลัก เน้นหุ้น Upside สูง ชอบ DCC, EGCO
ช่วงที่ผ่านมา Sentiment การเปิดเมืองในประเทศต่างๆ บวกกับความคาดหวังสภาพคล่องส่วนเกิน (ที่กล่าวไว้ในหัวข้อก่อนหน้า) ช่วยขับเคลื่อนให้ตลาดปรับตัวขึ้นได้อย่างรวดเร็ว อาทิ ตลาดหุ้นสหรัฐฯอย่าง NASDAQ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากสุดในโลกในปีนี้ที่ 11.7% ytd และทำจุดสูงสุดใหม่เป้นประวัติการณ์ที่ 10,020.35 จุด ส่วนตลาดหุ้นไทย เริ่มได้แรงหนุนจากสภาพคล่องส่วนเกินเช่นกัน เห็นได้จากต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยราว 6.5 พันล้านบาท(mtd)
อย่างไรก็ตามตลาดยังขาดปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนเช่นเคย ทั้งจากค่าเงินบาทแข็งเช่นเดียวกับประเทศอื่นในภูมิภาค แสดงให้เห็นว่าความน่าสนใจในการลงทุนจากถูกกระจายตัวไปในหลายๆ ประเทศทั่วทั้งภูมิภาคไม่ใช่เฉพาะตลาดหุ้นไทยเพียงแห่งเดียว โดยค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นมาแรงถึง 2.7% ตั้งแต่ต้นเดือน และ Valuation (PER63F) ตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับที่แพงสุดในภูมิภาคภูมิภาค ตลาดหุ้นไทยฟื้นจากจุดต่ำสุดช่วงกลางเดือน มี.ค. กว่า 450 จุด หรือ 46.4% จนมีค่า PER63F ตามสมมุติฐาน EPS ปี 2563 ที่ 64 บาท/หุ้น ที่ 22.16 เท่า สูงสุดในภูมิภาค
สรุปคือ แม้ Liquidity Driven จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนตลาดในยามที่ Valuation เริ่มตึงๆ แต่การลงทุนในช่วงนี้จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น เพราะยิ่งตลาดปรับตัวขึ้นมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทิ้งห่าง Valuation มากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนเน้นหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง Upside สูง น่าจะได้รับความสนใจจาก Fund Flow มากขึ้น หลังจากหุ้นหลายๆบริษัท เริ่มซื้อขายกันเกินมูลค่าพื้นฐานไปมากแล้ว เลือก DCC, EGCO เป็น Toppick มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
DCC(FV @2.28) จุดเด่นหลัก คือ กลยุทธ์เชิงรุกด้วยการเข้าหาลูกค้าถึงบ้าน เห็นผลชัดและโดดเด่นว่าคู่แข่ง สะท้อนจากจำนวนบิลที่เพิ่มเป็น 8 พันบิล/วัน จาก 6 พันบิล/วัน ประกอบกับราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น 3%QoQ เป็น 139 บาท/ตรม. จากสัดส่วนกระเบื้องพรีเมียม มากขึ้น รวมถึงราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลง 20%YoY ทำให้แนวโน้มกำไร 2Q63 มีโอกาสสร้าง Positive Surprise ได้อีกครั้ง หลังงวด 1Q63 DCC มีกำไรเติบโตทั้ง QoQ และ YoY สวนกระแสกำไรของตลาดฯ อีกทั้งการใช้สิทธิ์แปลง DCC-W1 ส่งผลให้ D/E สิ้นงวด 2Q63 น่าจะลดลงมาต่ำกว่า 0.6 เท่า เพิ่มโอกาสที่ DCC จะกลับมาจ่ายปันผลที่ Payout Ratio 100% อีกครั้ง หากพิจารณา Valuation ถือว่าดี โดยมี Upside สูงเกิน 20% และคาดหวัง Dividend Yield มากกว่า 6% ต่อปี
EGCO(FV @340.00) ถือเป็นหุ้น Defensive ที่มีรายได้ค่อนข้างมั่นคงไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งราคาหุ้นในช่วงที่ผ่านมาได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจนเห็น upside รวมปันผลเกือบ 27% หากพิจารณาทางด้านพื้นฐานยังดีเยี่ยมตามฤดูกาล โดยฝ่ายวิจัยคาดแนวโน้มกำไรจากการดำเนินงานปกติงวด 2Q63 จะเติบโตจากงวด 1Q63 รับช่วง high season ของการใช้ไฟฟ้าในฤดูร้อน ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยเฉลี่ยจะปรับตัวทำระดับสูงสุดของปี อีกทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ คาดจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นหลังจากฝนที่เริ่มตกในช่วงเดือน พ.ค. ถือเป็นโอกาสสะสม
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
ที่มา: บมจ. หลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ประจำวันที่ 11 มิ.ย. 2563
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web