- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 16 October 2014 16:09
- Hits: 1966
บล.เอเซียพลัส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดอยู่ในภาวะที่ไม่มีปัจจัยบวกหนุน ขณะที่ค่า Current PER ยังอยู่ที่สูงถึง 16 เท่า ทำให้โอกาสในการปรับฐานยังเกิดขึ้นต่อ เฉพาะอย่างยิ่งในวันนี้ซึ่งถูกกดดันด้วยการปรับตัวลดลงแรงของตลาดหุ้นต่างประเทศ ยังให้อยู่ในตัวเลือกที่ปลอดภัย AIT(FV@B 51) และ TASCO (FV@B 63.25)
เยอรมันยักษ์ใหญ่ในยุโรป ชะลอตัวมากขึ้น กดดันเงินเฟ้อ
ตลาดยังคงให้น้ำหนักต่อประเด็นเการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจาก IMF และ World Bank ได้ปรับลด GDP Growth โลก ในปี 2557ลงเหลือ 3.3% (จากเดิม 3.4%) และ 2.6% (จากเดิม 2.8%) ตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง IMF ปรับลด กลุ่มประเทศยุโรป เหลือ 0.8% (จากเดิม 1.1%) ในปี 2557 และ เหลือ1.3% (จากเดิม 1.5%) ในปี 2558
สอดคล้องกับการรายงานล่าสุดพบว่า ประเทศเยอรมัน (ยักษ์ใหญ่ในกลุ่มยูโรโซน) ได้ปรับลด GDP Growth ในปี 2557 ลงเหลือ 1.2% (จากเดิม 1.8% และต่ำกว่าที่ IMF คาดว่าจะขยายตัว 1.4%) และ ในปี 2558 เหลือ 1.3% (จากเดิม 2% และต่ำกว่า IMF คาดไว้ที่ 1.5%) เนื่องจากดัชนีเศรษฐกิจต่างๆ ส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง นำโดย ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน เดือน ต.ค. อยู่ที่ระดับติดลบ 3.6 (ติดลบครั้งแรกตั้งแต่ พ.ย. 2555 ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี) ตามมาด้วย การส่งออก เดือน ส.ค. ติดลบ 5.8% (จาก 4.8% ในเดือนก่อนหน้า และต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี) เป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าระหว่างยุโรปกับรัสเซีย ทำให้ เงินเฟ้อเยอรมัน เดือน ก.ย. ขยายตัวเพียง 0.8%yoy
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป (ECB) พยายามออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยในกลางเดือน ต.ค. นี้ จะเริ่มเข้าซื้อ Covered Bonds แต่ยังคงไม่มีรายละเอียดความชัดเจนของโครงการ ว่าจะซื้อจากประเทศใดและเป็นวงเงินเท่าใด ทำให้ตลาดค่อนข้างผิดหวังและไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจยุโรปจะหลุดพ้นจากเงินเฟ้อต่ำได้หรือไม่ (เงินเฟ้อยุโรป เดือน ก.ย.อยู่ที่ 0.3%)
อังกฤษ ล่าสุด รายงานอัตราการว่างงาน ช่วงเดือน มิ.ย. – ส.ค. ลดลงมาที่ระดับ 6% (จาก 6.2% ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี) ต่ำกว่าเป้าหมายเบื้องต้นที่ 7% และคาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเคยต่ำสุดที่ราว 5.2% ในช่วงก่อนวิกฤติหนี้สาธารณะของยุโรปเมื่อต้นปี 2551 เช่นเดียวกับยอดขอรับสวัสดิการว่างงาน เดือน ก.ย. ลดลงเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ เม.ย. 2556 ซึ่งสะท้อนความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน
ขณะที่เงินเฟ้อ เดือน ก.ย. ขยายตัวลดลงที่ระดับ 1.2% (ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 5 ปี) อันเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และราคาสินค้านำเข้าปรับตัวลดลง จากการแข็งค่าของเงินปอนด์ราวกลางเดือน ก.ย. ดังนั้นอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัว และต่ำกว่าเป้าหมายเบื้องต้นที่ 2% น่าจะช่วยลดแรงกดดันต่อประเด็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยฯ ในระยะสั้น ถึงแม้ว่าในการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เดือน ต.ค. ที่ผ่านมา จะเริ่มเห็นเสียงที่แตกแยกของคณะกรรมการฯ 2 ใน 9 คน ว่าควรมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยฯ ในเร็วๆนี้ แต่เชื่อว่าปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว จะยังทำให้ BOE ยังคงดอกเบี้ยฯ ต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยน่าจะปรับขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับสหรัฐ ราว 2Q58 ตามเดิม
สหรัฐ รายงานยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. ติดลบ 0.3%mom เมื่อเทียบการเปลี่ยนแปลงรายเดือน แต่หากเทียบการเปลี่ยนแปลงรายปี พบว่ายังคงขยายตัวได้ 4%yoy ซึ่งในภาพรวมยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น สอดคล้องกับตลาดแรงงานที่อัตราการว่างงานลดลงที่ระดับ 5.9% (ต่ำสุดในรอบ 6 ปี และคาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง และน่าจะเข้าสู่เป้าหมายของ FED ในช่วง 5.2-5.5%) แต่อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อ เดือน ส.ค. ที่ชะลอตัว 1.7% (ชะลอตัวต่ำสุดในรอบ 5 เดือน และต่ำกว่าเป้าหมายเบื้องต้น 2%) อันเป็นผลมาจากการชะลอของเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ กระทบภาคส่งออก ทำให้คาดว่า FED จะยังไม่รีบร้อนต่อการขึ้นดอกเบี้ยฯ จนกว่าจะแน่ใจต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และมีเพียงเสียงส่วนน้อย 33% ของคณะกรรมการ (จากเดิม 59% ในการประชุม FED รอบวันที่ 18 ก.ย.) เห็นว่า FED ควรจะขึ้นดอกเบี้ยฯ 2Q58 ตามเดิม
สถาบันซื้อต่อเนื่อง สวนทางต่างชาติที่สลับมาขาย
เงินทุนต่างชาติยังไหลออกจากภูมิภาคต่อเนื่อง โดยที่วานนี้ต่างชาติขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 4 ราว 364 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 14% จากวันก่อนหน้า) ซึ่งเป็นการขายสุทธิในทุกประเทศ สูงสุดคือเกาหลีใต้เช่นเดิม ขายสุทธิเป็นวันที่ 9 ราว 174 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 37%) ตามมาด้วยไต้หวันขายสุทธิเป็นวันที่ 3 และเพิ่มขึ้น 47% จากวันก่อนหน้า แตะระดับ 130 ล้านเหรียญฯ ส่วนไทย สลับมาขายสุทธิอีกครั้งราว 37 ล้านเหรียญฯ (1.2 พันล้านบาท, ขายสลับซื้อใน 3 วันหลังสุด) ขณี่อินโดนีเซียขายสุทธิเป็นวันที่ 6 ลดลงถึง 63% เหลือราว 15 ล้านเหรียญฯ และสุดท้ายคือ ฟิลิปปินส์ขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 11 เล็กน้อยราว 8 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 68%)
ทั้งนี้ ปัญหาความกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในประเทศจีนและยุโรปมีส่วนกดดันให้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคออกมาต่อเนื่องถึง 24 จาก 26 วันหลังสุด ในขณะที่ในตลาดหุ้นของไทย กลุ่มนักลงทุนที่มีแรงซื้อต่อเนื่องในระยะหลังคือกลุ่มนักลงทุนสถาบันที่ซื้อสุทธิ 6 จาก 7 วันหลังสุดรวมกว่า 8.0 พันล้านบาท และเชื่อว่านักลงทุนกลุ่มนี้จะยังคงเป็นผู้ซื้อสุทธิพยุงดัชนีต่อไป จากกองทุน LTF ที่มักมีแรงซื้อเข้ามาในช่วงปลายปี
หุ้นที่เติบโตสม่ำเสมอทั้ง qoq, yoy ในไตรมาส 3 ... KTB โดดเด่นสุด
ฝ่ายวิจัยใช้วิธีการทางสถิติ คัดเลือกหุ้นที่มีความน่าจะเป็นในการเติบโตของกำไรสุทธิในไตรมาส 3 เมื่อเทียบปีต่อปี (YoY) และเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) ย้อนหลัง 10 ปี เกินกว่า 80% (ความน่าจะเป็น) รวมทั้งมีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิอย่างมีนัยฯ ซึ่งได้ชุดหุ้นมาดังภาพด้านล่างนี้
หลังจากนั้นนำมาคัดกรองอีกชั้นหนึ่งโดยการนำเกณฑ์ที่วัดความถูก – แพง ของราคาหุ้นปัจจุบันเป็นตัวจับ อาทิ ค่า P/E และ PBV ที่กำหนดให้ไม่สูงเกินไปเมื่อเทียบกับหุ้นที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน และยังต้องมีราคาต่ำกว่า Fair Value รวมทั้งมีสภาพคล่องในการซื้อขายในระดับที่เหมาะสม หุ้นเด่นที่ผ่านการคัดกรองดังกล่าวได้แก่
KTB (FV@B 26.7) : คาดกำไรสุทธิงวด 3Q57 เติบโตถึง 23.0% qoq และ 5.3% yoy เนื่องจากการบันทึกค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ที่ลดลง แม้ธุรกิจหลักอ่อนตัวเล็กน้อยจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิคาดว่าจะลดลงและค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น แต่รายได้ค่าธรรมเนียมฯ น่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากงวดที่ผ่านมา คาดการณ์ NIM ใน 3Q57 ยังทรงตัวได้ที่ 2.84% แม้ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายเริ่มปรับตัวขึ้นเล็กน้อย จากการระดมเงินฝากและหุ้นกู้ระยะยาวเพิ่มขึ้น แต่ผลกระทบก็สามารถหักล้างไปได้ด้วย Yield จากเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการฯ ปี 2557-58 โดยคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2557 หดตัว 4.2% yoy (เพราะไม่มีเงินปันผลรับจากกองทุนวายุภักษ์) แต่จะพลิกกลับมาเติบโตปี 2558 ถึง 15.4% yoy ฝ่ายวิจัยเลือกเป็น 1 ใน Top pick หุ้นกลุ่ม ธ.พ. ตามแรงหนุนของแผนการลงทุนใหญ่ของประเทศและการเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป
ส่วน BGH (FV57@B19) แนะนำเพียงทยอยซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว เนื่องจาก P/E และ PBV อยู่ระดับสูง อย่างไรก็ตามด้วยความได้เปรียบที่ BGH เป็น ร.พ.ที่มีเครือข่ายและมีส่วนแบ่งตลาดมากสุด ทำให้โอกาสที่คู่แข่งที่เป็น ร.พ. ต่างชาติจะเข้ามาแข่งขันยาก โดยเฉพาะการมาเทคโอเวอร์กิจการร.พ.ในประเทศไทย ขณะที่ในปีนี้ BGH ยังเน้นนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพในการควมคุมรายจ่ายของกิจการกลุ่มรพ.เดิม ทำให้คาดกำไรปกติปีนี้จะเติบโตถึง 17.7% และเติบโตต่อเนื่องอีก 13% ในปีหน้า
คาดการปรับฐานของ SET Index ยังเกิดขึ้นตลอดเดือน ต.ค.
ประเมินจากสถานการณ์แวดล้อม ยังคงไม่พบว่ามีปัจจัยบวกใดๆ ที่จะเข้ามากระตุ้นให้ SET Index ปรับตัวขึ้น โดยในส่วนของปัจจัยในต่างประเทศบรรยากาศถูกปกคลุมด้วยความไม่มั่นใจในทิศทางเศรษฐกิจ ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาถูกสะท้อนออกมาผ่านการปรับลดประมาณการ GDP Growth โลก ของทั้ง World Bank และ IMF หลังจากนั้นก็มีประเด็นเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาและสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง ผลดังกล่าวทำให้เห็นการปรับฐานลงมาของตลาดหุ้นหลักๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตามฝ่ายวิจัยเห็นว่าเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการปรับตัวของตลาดหุ้นหลายประเทศ เกิดจากความแพงของแต่ละตลาด บวกกับ สภาพคล่องทางการเงินที่เคยเป็นทั้งแรงขับเคลื่อน และแรงพยุง ราคาหุ้นมีแนวโน้มลดลง หลังการลดระดับมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลายประเทศ และการย้ายเงินออกจากสินทรัพย์เสี่ยงเข้าสู่พันธบัตร ล่าสุดเมื่อคืนนี้ ดัชนีราคาหุ้นดาวน์โจนส์ ปรับลดลง 1.19% (ระหว่างชั่วโมงการซื้อขายปรับลดลงไปต่ำสุดกว่า 460 จุด หรือ 2.82%) ชณะที่ตลาดหุ้นยุโรปปรับลดลงอยู่ในช่วง 2.8 – 4.4% ส่วนตลาดหุ้นเอเชียเช้านี้ก็คาดว่าจะเห็นการปรับลดลงตามโดยตลาดหุ้นญี่ปุ่นเมื่อเวลาประมาณ 8:00 น. ปรับลดลงไป 2.2%
การปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นต่างประเทศดังกล่าวข้างต้น น่าจะเป็นแรงกดดัน SET Index ต่อเนื่องในวันนี้ ขณะที่ประเด็นที่ต้องรอติดตามได้แก่เรื่อง ผลประกอบการ 3Q57 ซึ่งตามที่ฝ่ายวิจัยได้นำเสนอไปวานนี้ ก็แสดงแนวโน้มที่ไม่สดใสนัก องค์ประกอบดังกล่าว เชื่อว่าจะทำให้ SET Index ในช่วงเวลาที่เหลือของเดือน ต.ค.2557 ยังอยู่ในช่วงของการปรับฐาน แนะนำให้นักลงทุนใช้โอกาสนี้ในการปรับพอร์ต โดยลดสัดส่วนหุ้นที่เคยซื้อมาเพื่อเก็งกำไร โดยที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งสนับสนุน และเพิ่มสัดส่วนหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง, ราคายังต่ำกว่า Fair Value ของนักวิเคราะห์ และสามารถจ่ายเงินปันผลได้ ซึ่งยังเน้นไปที่ AIT (FV@B 51) และ TASCO (FV@B 63.25) นอกจากนี้ยังมีหุ้นที่มีคุณสมบัติดังกล่าวและมีกระแสข่าวเชิงบวกหนุนอย่าง BTS (FV@B 12) เป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ
หุ้นที่แนะนำใน Market talk