- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 28 April 2020 13:31
- Hits: 2593
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน 28-4-2020
กลยุทธ์การลงทุน
ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุม Covid-19 คาดว่าจะตกมาที่บริษัทจดทะเบียนไม่มาก อาจทำให้แรงขายทำกำไรเกิดขึ้น ขณะที่เป้าหมาย SET Index คงไว้ที่ 1264 จุด ไม่มี Upside หลังพิจารณาเห็นว่าโอกาสลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงเวลาอันใกล้ ไม่น่าจะเกิดขึ้น แนะนำปรับพอร์ต โดยขายทำกำไร INTUCH แล้วสลับเงินเข้าลงทุนใน KBANK หุ้น Top Picks เลือก KBANK (FV@B 120), EA (FV@B 49) และ STA (FV@B 14)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …จับสัญญาณวันนี้
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยแกว่งผันผวนและปิดตัวในแดนบวกเช่นเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาค จากมาตรการผ่อนปรน Lockdown ธุรกิจ อาทิ ห้างสรรพสินค้า ร้านตัดผมและธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึงผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้นเพียง 9 ราย เท่านั้น จึงทำให้ตลาดหุ้นปิดในแดนบวกที่ระดับ 1267.41 จุด เพิ่มขึ้น 8.63 จุด หรือ +0.69% มูลค่าการซื้อขาย 4.95 หมื่นล้านบาท ซึ่งกลุ่มที่หนุนตลาดหลักๆ คือ กลุ่มค้าปลีกได้แก่ CPALL(+4.53%) BEAUTY(+14.81%) HMPRO(+3.05%) กลุ่มพลังงานเช่น PTTEP(+0.98%) GULF(+2.63%) GPSC(+1.81%) และกลุ่มอสังหาฯ อาทิ CPN(+4.19%) LH(+1.41%) AWC(+1.65%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่อย่างเช่น SCC(+2.17%) CPF(+2.73%) และ ADVANC(+0.76%) เป็นต้น
การประชุมธนาคารกลางหลายประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้น แม้จะถูกคาดหมายว่ายังมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายแบบสุดขั้วต่อไป แต่ดูเหมือนจะเป็นการเลือกใช้กลไกอื่นเพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แทนการใช้เครื่องมือทางด้านดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่วนใหญ่อยู่ในฐานที่ต่ำมาก และหลายแห่งต่ำเป็นประวัติการณ์ สำหรับของประเทศไทยเอง ก็เชื่อว่ามีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะเห็นการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม (0.75%) ต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยความต้องการเม็ดเงินมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นหลังจาก พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังกู้เงินฯ เริ่มมีผลในทางปฎิบัติ
และหากเป็นไปตามคาดกล่าวคือยังจะคงเห็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.75% ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ก็จะทำให้เป้าหมายของ SET Index ที่กำหนดด้วย Market Earning Yield Gap ระดับ 5% ซึ่งได้เป้าหมายอยู่ที่บริเวณ 1265 จุด ไม่มี Upside ซึ่งบนสมมุติฐานดังกล่าวก็น่าจะทำให้ทิศทางของ SET Index น่าจะเป็นการพักฐาน หรืออาจเห็นแรงขายทำกำไรในระยะสั้นออกมาได้ สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามวันนี้ น้ำหนักอยู่ที่การประชุม ค.ร.ม. ซึ่งจะมีการพิจารณาในเรื่อง การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ Covid-19 เบื้องต้นได้แนวทางว่าจะมีการผ่อนคลายบนฐานของประเภทธุรกิจ ไม่มีการแบ่งโซนพื้นที่ โดยแบ่งกลุ่มประเภทธุรกิจที่จะผ่อนคลายให้เปิดดำเนินการได้เป็น 4 กลุ่ม เริ่มจากกลุ่มสีขาว (ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำ และมีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน) เริ่มเปิด 4 พ.ค.2563 ถัดมาเป็น กลุ่มสีเขียว (พื้นที่ให้บริการไม่มาก ควบคุมได้) เปิด 18 พ.ค. 2563 ส่วน กลุ่มสีเหลือ (พื้นที่ปิดขนาดใหญ่ เช่นศูนย์การค้า) ให้เปิด 1 มิ.ย.2563 ส่วนกลุ่มสีแดง เป็นกิจการที่มีความเสี่ยงสูง ให้เปิด 15 มิ.ย.2563 ทั้งนี้ต้องรอติดตามมติอย่างเป็นทางการของ ค.ร.ม. อีกครั้งหนึ่ง หากเป็นไปตามแนวทางดังกล่าว จะเห็นว่าประโยชน์จากการผ่อนคลายไม่ได้ตกอยู่ที่การทำธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนมากนัก ซึ่งอาจทำให้แรงเก็งกำไรที่เข้ามาในบางกลุ่มอุตสาหกรรม ลดลง หรือถูกขายทำกำไรในระยะสั้น โดยภาพรวมยังเชื่อว่า SET Index ยังอยู่ในช่วงของการปรับฐาน แนะนำปรับพอร์ตโดยขายทำกำไร INTUCH ซึ่งมีกำไรมากกว่า 12% และสลับเงินเข้าไป KBANK ซึ่งเชื่อว่า Downside ต่ำ หุ้น Top Picks เลือก KBANK, STA และ EA
ธนาคารกลางโลกยังต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย แต่โอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายก็มีไม่มาก
ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) แม้จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% ตามตลาดคาดแต่ BOJ มีมติผ่อนคลายการเงินเพิ่มมากว่าคาด คือ
- • ประกาศยกเลิกเพดานของวงเงินที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น ส่งผลให้ BOJ สามารถเข้าซื้อพันธบัตรได้โดยไม่จำกัดวงเงิน (Unlimited) จากเดิมที่ BOJ กำหนดวงเงินเข้าซื้อไม่เกิน 80 ล้านล้านเยน/ปี
- • เพิ่มเป้าหมายการซื้อหุ้นกู้ และตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น (Commercial Paper) รายปี เป็น 20 ล้านล้านเยน จนถึงสิ้นเดือน ก.ย. 2563 (ระยะเวลา 5 เดือน) จากเดิมที่เคยประกาศเข้าซื้อ 7.4 ล้านล้านเยน
การผ่อนคลายทางการเงินของ BOJ ถือว่าสอดคล้องกับธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่ได้ประกาศขยายวงเงินมาตรการ QE จาก 7 แสนล้านเหรียญ เป็นไม่จำกัดวงเงินเในช่วงเดือน มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา (ดังรูป)
QE ของแต่ละประเทศ
ที่มา : ASPS รวบรวม
ASPS ประเมินว่าธนาคารกลางอื่นๆของโลกจะมีแนวโน้มดำเนินนโยบายในลักษณะที่คล้ายกัน คือ
เน้นไปที่การลดสภาพคล่องส่วนเกิน และนำไปอัดฉีดเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector)
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายประเทศ ปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับต่ำสุด อาทิ สหรัฐ อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.25%(ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์) ทำให้เชื่อว่าการลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคตจะมีข้อจำกัด ยังให้น้ำหนักการประชุมธนาคารกลางสำคัญทั่วโลก ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) วันที่ 29-30 เม.ย. 2563 และธนาคารกลางยุโรป (ECB) วันที่ 30 เม.ย. 2563
ส่วนไทย ให้น้ำหนักการประชุม กนง. วันที่ 20 พ.ค. 2563 ซึ่ง ASPS ประเมินว่าโอกาสที่ กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกจะมีน้อยลง ภายหลังปรับลดไปแล้ว 2 ครั้ง รวม 0.5% จนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ที่ 0.75% ประกอบกับมาตรการทางการคลังของรัฐเริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว โดยเฉพาะ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้าน
การผ่อนคลายมาตรการ Covid-19 ประโยชน์อาจไม่ได้ตกที่บริษัทจดทะเบียนโดยตรง
การประชุม ครม.วันนี้ให้น้ำหนักการพิจารณาอนุมัติ ข้อประชุมของ ศบค. และฝ่ายความมั่นคง ที่มีมติ
ต่อ อายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯออกไปอีก 1 เดือน คือ 1-31 พ.ค. และคงมาตรการเคอร์ฟิว 4 ทุ่ม-ตี4
เลื่อนวันหยุดราชการและวันหยุดพิเศษ ในเดือน พ.ค. ออกไป
การผ่อนคลาย คือ การเปิดธุรกิจแต่ละประเภท แบ่งตามประเภทสี แบ่งเป็น 4 สี(ดังตาราง)
รัฐบาลพิจารณาทยอยเปิดธุรกิจในเดือน พ.ค.-มิ.ย.
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ, ASPS
ASPS ประเมินว่าการเปิดธุรกิจประเภทสีขาว-สีเขียว บริษัทจดทะเบียนในตลาดจะยังไม่ได้ผลบวก เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ อาทิ ห้างสรรพสินค้า และ ธุรกิจค้าปลีก ASPS ประเมินจัดอยู่ในกลุ่มสีเหลือง โดยธุรกิจค้าปลีก อาทิ CRC, BEAUTY, HMPRO ฯลฯ ฝ่ายวิจัยประเมิน คือหากเปิดธุรกิจ 1 มิ.ย. ถือว่ายังสอดคล้องกับสมติฐาน SSSG ที่กำหนดสมมติฐาน ให้ปิดสาขารวม 2 เดือน ประเมิน Downside ต่อกำไรของกลุ่ม ลดลงจากเดิมไม่เกิน 5%
เศรษฐกิจปี 2563 หวังพึ่งได้จากมาตรการอัดฉีดเงิน
อีกประเด็นที่ ครม.จะพิจารณาวันนี้ คือ รัฐบาลเตรียมเสนอมาตรการอัดฉีดเงินฉีดเงินให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ราว 1.5 หมื่นบาท/ครัวเรือน เบื้องต้นราว 9 ล้านคน จะใช้วงเงินรวมราว 1.35 แสนล้านบาท เพิ่มเติมจากมาตรการอัดฉีดเงินให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ COVID-19 5 พันบาท/คน ซึ่งเริ่มดำเนินไปแล้วในเดือน เม.ย.
ทั้งนี้หากพิจารณาเม็ดเงินที่จะใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจปัจจุบัน คือ
งบกลาง เหลือเพียง 5.8 หมื่นล้านบาท หลังจากหักเงินที่เบิกจ่ายการให้เงิน 5 พันบาท ซึ่งเริ่มเบิกจ่ายไปแล้ว เดือนแรกในเดือน เม.ย.ราว 3.8 หมื่นล้านบาท ASPS ประเมินว่าในอนาคตเงินที่จะใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นมีอีก คาดว่าจะไม่เพียงพอ (ดังตาราง)
พ.ร.ก กู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเริ่มกระบวนการในการระดมเงินทุนในอีกไม่นานจากนี้
วงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
ที่มา : ASPS รวบรวม
Valuation ตลาดเริ่มตึง โอกาสลดดอกเบี้ยน้อย แนะสะสมหุ้น KBANK
ความคาดหวังการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ถูกสะท้อนในตลาดหุ้นไปในระดับหนึ่งแล้ว สังเกตได้จากผลตอบแทนเฉลี่ยในดัชนีหลักๆ ของโลก 9 ประเทศ ในช่วงหลังผ่อนคลาย Lock Down (ระยะเวลาเฉลี่ย 7 วันทำการ) กลับให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเพียง 0.70% (0.26%ต่อวัน) ซึ่งน้อยกว่าช่วงก่อนที่จะผ่อนคลาย Lock Down (ระยะเวลาเฉลี่ย 21 วันทำการ) ให้ผลตอบแทนสูงถึง 22.5% (1.06%ต่อวัน)
ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนก่อนและหลังวันประกาศปลด Lockdown ของตลาดหุ้นหลักๆของโลก
แสดงให้เห็นว่าตลาดคาดหวังต่อการกลับมาดำเนินการของกิจกรรมทางเศรษฐกิจมาในระดับหนึ่งแล้ว ขณะที่มาตการต่างๆ ถูกงัดออกมาใช้แบบจัดเต็ม เริ่มจากธนาคารกลางทั่วโลกลดดอกเบี้ยลงจนต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เช่น สหรัฐ 0.25% ญี่ปุ่น -0.1% ยุโรป -0.5% เป็นต้น ส่วนมาตรการต่อจากนี้ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ภาคธุรกิจโดยตรงเป็นหลัก เช่น การแจกเงินให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทำให้แนวโน้มที่จะเห็นการลดดอกเบี้ยในช่วงเวลาอันใกล้นี้ยากยิ่งขึ้น
ในยามที่ Fund Flow หนุนตลาดจากนักลงทุนต่างประเทศ และสถาบันเริ่มแห้งลง บวกกับ Valuation ทางพื้นฐาน เริ่มตึงตัว ซึ่งกำหนดบนคาดการณ์ EPS ของตลาดปี 2563 ที 72.62 บาท/หุ้น (ต่ำกว่า Consensus ที่ 85 บาท/หุ้น อยู่มาก) และให้ Market Earning Yield Gap ที่ 5% จะให้ค่า PER เป้าหมายที่ 17.4 เท่า คิดเป็น SET Index เป้าหมายที่ 1264 จุด เท่ากับว่าที่ระดับ SET Index ปัจจุบันไม่เหลือ Upside ทางพื้นฐานแล้ว
ขณะที่โอกาสการเปิด Upside ของดัชนีตามกลไกจากการลดดอกเบี้ย เป็นไปได้ยากขึ้น โดยปกติดอกเบี้ยที่ลดลงทุกๆ 0.25% จะส่งผลให้ตลาดหุ้นซื้อขายบน PE ที่สูงขึ้น 0.79 เท่า การเปิด Upside ของดัชนี 57 จุด
หุ้นเด่นแนะนำ
KBANK ราคาปรับฐานลงมากว่า 43%ytd (SET Index ลดลง 20%ytd) แสดงให้เห็นว่าราคาหุ้นน่าจะสะท้อนผลประกอบการที่ไม่ค่อยดีในช่วง 1Q63 มาในระดับหนึ่งแล้ว จนมี Valuation ที่เริ่มกลับมาน่าสนใจ คือ มี PBV ต่ำเพียง 0.49 เท่า (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งที่ 0.8 เท่า) และคาดหวังปันผลได้สูงถึง 5.8% ต่อปี และน่าจะลุ้น Rebound ช่วงสั้นได้
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web