WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
     ราคาน้ำมันดิบโลกอ่อนตัวทำสถิติต่ำสุดในรอบ 4 ปี กดดันให้ปรับลด Fair Value ของ PTTEP, PTT ซึ่งน่าจะกดดัน SET อ่อนตัวต่อ ทั้งนี้ยังเน้นกลยุทธ์เดิมคือ ถือเงินสด 70% และหุ้นเพียง 30% โดยเน้นหุ้นที่มีผลกำไรดี และจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ AIT(FV@B 51) เป็น Top Pick เช่นเดิม

ตลาดผิดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยุโรปล่าช้า
       คาดว่าตลาดยังคงให้น้ำหนักต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว มากกว่าประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยฯ ของสหรัฐ โดยฉพาะการชะลอตัวของกลุ่มยุโรป ซึ่งถือว่ามีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก สะท้อนได้จากการปรับลด GDP Growth โลก ในปี 2557 ของทั้ง IMF และ World Bank ล่าสุด เหลือ 3.3% (จากเดิม 3.4%) และ 2.6% (จากเดิม 2.8%) ตามลำดับ ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ความเห็นของคณะกรรมการ FED เริ่มมีเสียงแตกในการที่ขึ้นดอกเบี้ยตามกำหนดเดิม 2Q58 คือมีสัดส่วนเพียง 33% ของคณะกรรมการ FED ลดลงจากก่อนหน้านี้ 59% ที่สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย
      ขณะที่ตลาดยังคงผิดหวังต่อแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางฝั่งยุโรป (ต้องการขยายงบดุลให้ถึง 1 ล้านล้านยูโร หรือ 1.3 ล้านล้าน เหรียญฯ) แม้ล่าสุด ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแผนจะเข้าซื้อ covered bonds กลางเดือน ต.ค. นี้ แต่ยังขาดรายละเอียด (วงเงิน และประเทศที่จะทำการเข้าซื้อ) แม้ก่อนหน้านี้ได้กำหนดแผนการเข้าซื้อ ABS (Asset Backed Securities) ในงวด 4Q57 ได้กำหนดวงเงิน 1.4 หมื่นล้านยูโร (1.8 หมื่นล้านเหรียญฯ) แต่เป็นการซื้อจากโปรตุเกส 1.12 หมื่นล้านยูโร และ กรีซ 2.7 พันล้านยูโร เท่านั้น ขณะที่ ก่อนหน้านี้ ได้มีมาตรการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำระยะยาว 4 ปี (โครงการ TLTROs) แก่ธนาคารพาณิชย์ ตลาดคาดว่าจะใช้วงเงินราว 4 แสนล้านยูโร (7% ของยอดสินเชื่อทั้งหมด) ภายใน 2 รอบ คือเดือน ก.ย. และ ธ.ค. นี้ แต่ปรากฏว่ามีการประกาศออกมา รอบแรกเพียง 8.26 หมื่นล้านยูโร น้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ 1.5 แสนล้านยูโร

แรงขายจากต่างชาติยังมีต่อเนื่อง
     วานนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 740 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้ากว่าเท่าตัว และเป็นการขายสุทธิมากถึง 22 วัน จาก 24 วันหลังสุด โดยเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ เช่นเดียวกับวันก่อนหน้า สูงสุดนำโดยเกาหลีใต้ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 ราว 327 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 55% ตามมาด้วยไต้หวันที่กลับมาเปิดทำการและสลับมาขายสุทธิราว 281 ล้านเหรียญฯ ส่วนไทย ขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ราว 58 ล้านเหรียญฯ (1.9 พันล้านบาท, เพิ่มขึ้น 77% จากวันก่อนหน้า) อินโดนีเซียขายสุทธิเป็นวันที่ 4 แต่ลดลงเล็กน้อย 4% เหลือราว 49 ล้านเหรียญฯ และสุดท้ายคือฟิลิปปินส์ยังคงขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 9 ราว 25 ล้านเหรียญฯ แต่ลดลง 28%
ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องอีกครั้ง ตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย. 2557 ที่ผ่าน หลังจากที่เข้าซื้อต่อเนื่องในช่วงต้นเดือน ก.ย. 2557 ทำให้ยอดรวมตั้งแต่ต้นปี 2557 ยังคงเป็นการขายสุทธิอยู่ราว 8.0 พันล้านบาท สวนทางกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่แม้จะขายสุทธิอย่างหนักในช่วงหลัง แต่ยอดรวมตั้งแต่ต้นปียังเป็นซื้อสุทธิถึงราว 3.1 หมื่นล้านบาท ในระยะสั้นเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติน่าจะทยอยขายออกมาตามภูมิภาคตามสถานการณ์รายวัน

ราคาน้ำมันตกต่ำกว่าคาด กระทบมูลค่าหุ้น PTTEP, PTT
PTT, PTTEP กดดันหนักจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลงอย่างรุนแรง กล่าวคือ ราคาน้ำมันดิบโลกได้ลดลงจากระดับสูงสุดของปีนี้ที่ 110 เหรียญฯต่อบาร์เรล เมื่อ 19 มิ.ย. 2557 ลงมาที่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปีที่ 86.39 เหรียญฯ หรือลดลงราว 21.5% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่า สมมติฐานราคาน้ำมันดิบระยะยาวที่ ASP กำหนดไว้ที่ 100 เหรียญฯต่อบาร์เรล ถือเป็นปัจจัยกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรของผู้ผลิตและสำรวจปิโตรเลี่ยมฯ โดยเฉพาะ PTTEP และ PTT(ถือหุ้น PTTEP 65.3%) ทั้งนี้นักวิเคราะห์กลุ่มพลังงานของ ASP เตรียมปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบลง 10 เหรียญฯต่อบาร์เรล เหลือ 90 เหรียญฯต่อบาร์เรล (ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป) ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าพื้นฐานของ PTTEP(FV@B195) และ PTT(FV@B368) ปรับตัวลดลงราวหุ้นละ 20 และ 14 บาท หรือราว 10.25% และ 3.8% เหลือ 175 บาท และ 354 บาท ตามลำดับ (ติดตามอ่าน Industry Update วันนี้) ระยะสั้นชะลอการลงทุน
   และเช่นเดียวกับ BANPU(FV@B32) ล่าสุดพบว่าราคาถ่านหินยังคงอ่อนตัวลง โดยราคาถ่านหิน BJI ได้ลดลงเหลือ 65 เหรียญฯต่อตัน (ytd อยู่ที่ 73.1 เหรียญฯต่อตัน) เทียบกับสมมติฐานที่ใช้ในการประมาณการ 80 เหรียญฯต่อตัน ในปี 2557 และ 85 เหรียญฯต่อตัน ในปี 2558 นักวิเคราะห์ ASP มีแนวโน้มจะปรับลดสมมติฐานราคาถ่านหินลงให้ใกล้เคียงกับราคาตลาด จึงยังคงแนะนำให้ชะลอการลงทุนเช่นกัน ทั้งนี้ติดตามบทวิเคราะห์รายหุ้นอีกครั้ง
   โรงกลั่นเผชิญกับภาวะขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงยังกระทบต่อหุ้นพลังงานอื่นๆ เช่น โรงกลั่น (TOP, PTTGC, IRPC, BCP) ที่จะต้องเผชิญกับผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน เนื่องจากราคาน้ำมัน ณ สิ้นงวด 3Q57 ที่ปรับตัวลดลงกว่า 10 เหรียญฯต่อบาร์เรล จากสิ้นงวด 2Q57 ทำให้คาดว่าโรงกลั่นแต่ละแห่ง จะต้องบันทึกขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันราว 1.5-2.5 พันล้านบาท ในงวด 3Q57 เทียบกับงวดก่อนหน้าที่บันทึกเป็นกำไรจากสต๊อกน้ำมัน (ราคาน้ำมันสิ้นงวด 2Q57 เพิ่มขึ้นราว 4 เหรียญฯ จากงวด 1Q57) อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบที่ลดลงถือว่าเป็นปัจจัยผลบวกต่อต้นทุนการผลิตปิโตรเคมี ที่ใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบ (ทั้งสายโอเลฟินส์ (สามารถใช้ทั้งแนฟทา และก๊าซธรรมชาติ เป็นวัตถุดิบ) และอะโรเมติกส์ ซึ่งใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบเท่านั้น) ซึ่งจะส่งผลให้ Spread (ราคาผลิตภัณฑ์ หัก ต้นทุน) ปรับตัวเพิ่มขึ้น (ในสถานการณ์ที่ราคาผลิตภัณฑ์ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาวัตถุดิบแนฟทา ) โดยในงวด 3Q57 พบว่า Spread ผลิตภัณฑ์กลุ่มโอเลฟินส์ (PTTGC, IRPC) ปรับตัวสูงขึ้นโดดเด่น และทำระดับสูงสุดใหม่ในหลายผลิตภัณฑ์อาทิ HDPE และ LDPE รวมถึงผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ อาทิ PP, ABS ของ IRPC ขณะที่ในส่วนผลิตภัณฑ์สายอะโรเมติกส์ (TOP, PTTGC) นั้น Spread งวด 3Q57 ยังมีลักษณะทรงตัวจากงวด 2Q57 แต่น่าจะลดลงแรงๆ อีกครั้งในงวด 4Q57 หลังจากโรงงานพาราไซลีนใหม่เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์
4Q57 โรงกลั่นและปิโตรเคมีจะฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยรวมในงวด 3Q57 กลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมีโดยรวมน่าจะมีผลกำไรที่ลดลงจากงวด 2Q57 แต่จะพลิกฟื้นกลับมาเติบโตได้อีกครั้งในงวด 4Q57 โดยได้รับปัจจัยหนุนจากธุรกิจโรงกลั่น คือ 1) ค่าการกลั่นที่คาดว่าจะค่อยๆ ฟื้นตัว และเช้าสู่ฤดูกาลอีกครั้งในปลายปี 2557 และต่อเนื่องในต้นปีถัดไป เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูกาลฤดูหนาวในหลายทวีปทั่วโลก และคาดว่าราคาน้ำมันดิบโลก จะลดความผันผวนลงทำให้ภาระขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันลดลง และ 2) ธุรกิจปิโตรเคมี คาดสายโอเลฟินส์ยังครองความโดดเด่นสุดด้วย Spread น่าจะเดินหน้าที่ New high จากผลของฤดูกาลที่จะเข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่ และตรุษจีน ทำให้มีการผลิตสินค่าเพิ่มขึ้น รวมถึงช่วงฤดูหนาวทำให้ความต้องการใช้เส้นใยโพลีเอสเตอร์เพื่อผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มปรับตัวสูงขึ้น ส่วนของสายอะโรเมติกส์คาดจะทรงตัวได้เพราะความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากช่วงฤดูกาลจะเข้ามาช่วยหนุน Supply พาราไซลีนใหม่ที่เข้ามาสู่ตลาดได้เพิ่มขึ้น

หุ้นที่ได้ประโยชน์จากน้ำมันขาลงมากสุดคือ TASCO, RCL
ตรงกันข้ามหุ้นที่ได้ประโยชน์จากน้ำมันขาลงยังมีอยู่ในหลายกลุ่ม เริ่มจากกลุ่มขนส่ง ซึ่งใช้น้ำมันเป็นเชื่อเพลิงหลัก คือ ขนส่งทางอากาศ หรือ กลุ่มสายการบิน (AAV, THAI) คาดว่าจะได้ประโยชน์เพราะ มีต้นทุนน้ำมันเป็นสัดส่วนราว 30-40% ของต้นทุนรวม โดยสมมติฐานราคาน้ำมันเครื่องบินที่ใช้ในประมาณการปัจจุบัน คือ 125 เหรียญต่อบาร์เรล เทียบเท่าราคาน้ำมันดิบราว 100 เหรียญฯ ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดราว 20% และเนื่องจากกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวอีกครั้ง คาดว่ากลุ่มขนส่งทางอากาศน่าจะมีผลประกอบการดีกว่าประมาณการฝ่ายวิจัย คือ
THAI(ถือ : [email protected]) คาดว่าต้นทุนน้ำมันทุกๆ 15% ที่ลดลงจากสมมติฐาน จะทำให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นราว 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่เนื่องจากมีการทำ Hedging 50% (โดยยังคงสมมติฐานที่เดิมคือ Cabin Factor 70% ในปี 2557 และ 75% ในปี 2558 และ ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อผู้โดยสาร 1 ราย หรือ Passenger Yield 2.7 และ 2.8 บาท ต่อคน ต่อ กม. ตามลำดับ) กำไรที่เพิ่มขึ้น(จากราคาน้ำมันที่ลดลง) จะลดลงเหลือราว 6.0 พันล้านบาทต่อปี ดังนั้น จึงน่าจะช่วยหนุนโอกาสการทำกำไรที่ดีขึ้นจากสมมติฐานเดิมที่ ASP ประเมินไว้ว่าจะขาดทุน 1.4 หมื่นล้านบาท ในปีนี้ และมีกำไรสุทธิ 1.2 พันล้านบาทในปี 2558 ประกอบกับสถานการณ์เข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงปลายปีน่าจะมีส่วนสนับสนุนอีกทางหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามโดยธรรมชาติแล้ว THAI มักฟื้นตัวที่ล่าช้ากว่าสายการบินอื่นๆ เนื่องจากประสิทธิภาพการดำเนินงานที่น้อยกว่าคู่แข่งขัน
AAV(ถือ : [email protected]) คาดว่าต้นทุนน้ำมันทุกๆ 15% ที่ลดลงจากสมมติฐาน จะทำให้กำไรสุทธิสายการบินไทยแอร์เอเซีย (TAA) เพิ่มขึ้นราว 1.7 พันล้านบาทต่อปี แต่เนื่องจากมีการทำ Hedging 40% และ AAV ถือหุ้นใน TAA 51% (ยังคงสมมติฐานที่เดิมคือ cabin factor 80% ในปี 2557 และ 85% ในปี 2558 และ passenger yield 1.7บาท ต่อคน ต่อ กม. ในปีนี้และปีหน้าเท่ากัน) กำไร AAV ที่เพิ่มขึ้นจะลดลงเหลือ 520 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น จึงน่าจะช่วยหนุนโอกาสการทำกำไรที่ดีขึ้นจากสมมติฐานเดิมที่ ASP ประเมินไว้ว่าจะกำไร 343 ล้านบาท ในปีนี้ และมีกำไรสุทธิ 1.1 พันล้านบาทในปี 2558 ในสถานการณ์ที่กำลังก้าวเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวนับจากปลายปี จนถึงต้นปีหน้า จะมีส่วนสนับสนุนผลประกอบการของ AAV อีกทางหนึ่ง ซึ่งจากการสอบถามผู้บริหารล่าสุด พบว่าหลายปัจจัยบ่งชี้ว่า AAV มีพัฒนาการที่ดีขึ้น
เชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวน่าจะเอื้อต่อการเข้าเก็งกำไรหุ้นในกลุ่มสายการบิน โดยมีตัวเลือกที่น่าสนใจ คือ AAV เพราะได้ประโยชน์มากกว่า THAI (สัดส่วนป้องกันความเสี่ยงน้ำมันน้อยกว่า) อีกทั้งมูลค่าพื้นฐานของฝ่ายวิจัยที่ยังไม่คำนึงถึง Upside จากโอกาสปรับเพิ่มประมาณการ ยังคงมี Upside จากราคาปิดวานนี้ราว 10.1%
ขนส่งทางเรือ RCL (ซื้อ FV@B12) น่าจะได้รับประโยชน์สูงสุด เนื่องจากต้นทุนน้ำมันมีสัดส่วนราว 20-25% ของต้นทุนรวม RCL ให้บริการเดินเรือประจำเส้นทางเป็นหลัก ต้องแบกภาระต้นทุนน้ำมันด้วยตนเองทั้ง 100% ขณะที่การเก็บค่าบริการที่เพิ่มขึ้นตามต้นทุนน้ำมัน หรือ ค่า Surcharge จะทำได้ยาก เนื่องจากการแข่งขันสูง ทั้งนี้แม้ภาวะการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยง ทำให้ปริมาณการขนส่งอาจเพิ่มขึ้นไม่ต่อเนื่อง ขณะที่ผลประกอบการผ่านพ้นช่วงสูงสุดของปีแล้วในงวด 2Q57 เนื่องจากงวด 3Q57 ปริมาณการขนส่งอาจจะลดน้อยกว่างวด 2Q57 เนื่องจากเข้าฤดูฝน ทำให้กำไรอ่อนตัวลงจากงวด 2Q57 ขณะที่งวด 4Q57 และ 1Q58 แม้เป็นช่วงนอกฤดูกาล แต่ผลบวกจากต้นทุนน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลง คาดจะช่วยให้ยังเห็นกำไรของ RCL ต่อเนื่องในงวดดังกล่าวได้ ฝ่ายวิจัยกำหนดมูลค่าพื้นฐานปี 2557 แบบอนุรักษ์นิยมอิง PBV ที่ เพียง 1 เท่า ได้ Fair Value ที่ 12 บาท มี Upside จากราคาปัจจุบัน 10.1% จึงเป็นโอกาสให้เข้าซื้อเก็งกำไร
TASCO(FV@70) คาดว่าน่าจะได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตกว่า 90% มาจากน้ำมันดิบ ซึ่งบริษัทไม่มีนโยบายในการทำการป้องกันความเสี่ยงในสถานการณ์ปัจจุบัน ตรงกันข้ามกับราคายางมะตอย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทกลับ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จากความต้องการในหลายประเทศที่กลับมา ไม่ว่าจะเป็นจีน อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และเวียดนาม ซึ่งจะช่วยให้ TASCO มีผลประกอบการที่ฟื้นตัวโดดเด่นในช่วง 3Q57 และ คาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่องในช่วง 4Q57 และ ปีหน้า เพราะ TASCO ยังจะได้ประโยชน์โดยตรงจากงบประมาณภาครัฐในปี 2558 ที่จะจัดสรรให้กับกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทเพิ่มขึ้นกว่า 12%YoY รวมไปถึงการสนับสนุนให้กับมีการใช้ยางพาราผสมกับยางมะตอย ซึ่ง TASCO เป็นผู้ผลิตที่มีส่วนแบ่งการตลาดสินค้าชนิดนี้เกือบทั้งหมด

เข้าสู่ฤดูกาลรายงานงบงวด 3Q57
เข้าสู่ช่วงของการประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ของบริษัทจดทะเบียน โดยตลาดหุ้นสหรัฐ คือ S&P 500 ได้เริ่มทยอยประกาศไปแล้วตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตลาดคาดการณ์ว่าผลกำไรของบริษัทใน S&P 500 จะเติบโตราว 4.6 - 4.8%qoq (ลดลงจากคาดการณ์เมื่อ 30 มิ.ย. ที่คาดว่าจะเติบโต 9% แต่ดีกว่างวด 2Q57 ที่เติบโตเพียง 4.2%qoq) โดยกลุ่มโทรคมนาคม น่าจะเติบโตได้มากที่สุด ส่วนกลุ่มสินค้า/บริการที่ไม่ใช่สินค้าพื้นฐาน (consumer discretionary) มีแนวโน้มกำไรลดลง เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดหุ้นสหรัฐจะเติบโตได้มากกว่าไตรมาสที่ผ่านมา แต่เมื่อเทียบกับปีก่อน คาดว่าจะเติบโตได้น้อยมากเพียง 1.6%yoy เท่านั้น บวกกับความกังวลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จึงทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐยังขาดปัจจัยบวกจากผลประกอบการมาช่วยหนุน และยังมีความเป็นไปได้ที่จะปรับฐานต่อไป
ขณะที่ตลาดหุ้นไทย ได้เริ่มประกาศผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์มาเป็นลำดับแรก ซึ่งวานนี้ TISCO รายงานผลกำไรดีกว่าคาด 6% โดยเติบโตถึง 9.8% แต่หดตัว 3.8%yoy (ติดตามอ่านได้ใน Result Note ฉบับเช้าวันนี้) โดยฝ่ายวิจัยคาดว่าผลกำไรของกลุ่ม ธ.พ. จะทรงตัวที่ 1.5% qoq และ 4.2% yoy แนวโน้ม NIM เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3.10% ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมฯ เริ่มเติบโตเนื่องจากเข้าช่วงฤดูกาล ขณะที่ NPL ยังเพิ่มขึ้นบ้างแต่ไม่มีนัยฯ ขณะที่นโยบายการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่เข้มงวดมากในช่วง 1H57 ทำให้ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ต่ำ โดยหุ้นที่น่าสนใจคือ KBANK, KTB และ TMB

หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่การประกาศผลกำไรของกลุ่ม real sector ซึ่งฝ่ายวิจัยรวบรวมมาดังนี้
- งวด 3Q57 โดดเด่นตามฤดูกาล ได้แก่
กลุ่มส่งออกอาหาร ด้วยผลบวกจากช่วงฤดูกาลส่งออกของธุรกิจอาหาร จึงหนุนให้ปริมาณขายเนื้อสัตว์ และอาหารสัตว์เติบโตมากขึ้นจากงวดก่อนหน้า หนุนให้ผลการดำเนินงานของกลุ่มเกษตร-อาหาร (ทั้ง CPF, TUF และ GFPT) ในช่วง 3Q57 จะปรับตัวสูงขึ้น วันนี้ นักวิเคราะห์กลุ่มเกษตร-อาหาร ปรับเพิ่มประมาณการ TUF จากเดิม 7.5% ปี 2558 และปรับเพิ่ม Fair Value ปี 2557 จากเดิม 76 บาท เป็น 80 บาท (รายละเอียดใน Equity Talk วันนี้)
กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ งวด 3Q57 จะเป็นช่วงสูงสุดของปี 2557 เนื่องจากผลบวกจากการเข้าสู่ช่วง High Season ของอุตสาหกรรมฯ ทั่วโลก รวมทั้งการได้ลูกค้าใหม่ทยอยเพิ่มคำสั่งซื้อต่อเนื่อง คาดหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนฯ ที่จะ outperform ในช่วง 4Q57 ยังให้น้ำหนักไปที่ HANA และ DELTA
หุ้น Global อ่อนตัวตามราคาน้ำมันดิบโลก ได้แก่
ปิโตรเลียมและถ่านหิน ภาพรวมกำไรกลุ่มฯงวด 3Q57 คาดจะเห็นการปรับตัวลดลงจากงวด 2Q57 ค่อนข้างมีนัยฯ จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยฯราว 5 เหรียญฯต่อบาร์เรล จากค่าเฉลี่ยในงวด 2Q57 ทำให้ PTTEP มีราคาขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ลดลง และบริษัทลูกของ PTT ในกลุ่มโรงกลั่นต้องเผชิญกับขาดทุนสต๊อกน้ำมัน
ปิโตรเคมีและโรงกลั่น คาดแนวโน้มกำไรกลุ่มฯในงวด 3Q57 จะปรับตัวลดลงจากงวด 2Q57 จากกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นเป็นหลัก ซึ่งเป็นไปตามค่าการกลั่นที่ปรับตัวลดลงสูงถึง 23.0%qoq (อ้างอิงตลาดสิงคโปร์) รวมถึงคาดการณ์ในงวด 3Q57 จะเผชิญกับบันทึกขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันในระดับสูงเนื่องจากราคาน้ำมันดิบอ้างอิงดูไบปรับตัวลดลงอย่างมีนัยฯในช่วงเดือน ก.ย. 2557
   กลยุทธ์การลงทุน จึงแนะนำให้เลือกลงทุนในหุ้นที่อิงเศรษฐกิจในประเทศที่ได้รับผลบวกจากการลงทุนภาครัฐ ได้แก่ AIT (FV@B 51) รวมทั้งหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการลดลงของราคาน้ำมัน ได้แก่ TASCO (FV@B 63.25)

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!