- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 07 April 2020 15:27
- Hits: 2765
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
หากจำภาพในปี 2551-2552 ที่หลายประเทศใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินแบบสุดขั้ว และหนุนให้ตลาดหุ้นพลิกเข้าสู่ภาวะ Bull Market อย่างยาวนานในเวลาต่อมา ประเมินว่าสถานการณ์ดังกล่าวกำลังจะเกิดขึ้นในปัจจุบันอีกรอบหนึ่ง ประเมินว่า SET Index มีความเสี่ยงลดต่ำลง ปรับพอร์ต โดยลดหุ้น INTUCH ลง 5% แล้วเพิ่มใน SEAFCO ส่วน Top Picks เลือก SEAFCO (FV@B 9.30) และ CENTEL (FV@B 21)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …จับสัญญาณวันนี้
วันศุกร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวผันผวนตลอดวัน จากการคาดหวังของนักลงทุน เรื่องการประชุม ครม. นัดพิเศษ ซึ่งรายงานออกมาว่า คาดวงเงินสูงเงิน 10% ของจีดีพี หรือ 1.6 ล้านล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงทำให้ตลาดปิดตัวในแดนบวกที่ระดับ 1,138.84 จุด เพิ่มขึ้น 0.57 จุด หรือ +0.05% โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 5.97 หมื่นล้านบาท ซึ่งกลุ่มที่หนุนตลาดหลักๆ คือ กลุ่มพลังงานได้แก่ PTT(+5.19%) PTTEP(+4.98%) IRPC(+0.85%) TOP(+3.52%) กลุ่มปิโตรเคมีเช่น PTTGC(+5.76%) GGC(+6.57%) แต่โดนแรงกดดันจากกลุ่มค้าปลีกอย่าง อาทิ CPALL(-1.62%) BJC(-4.38%) HMPRO(-1.82%) CRC(-2.63%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่อย่างเช่น SCC(-0.95%) AOT(-0.50%) และ SCB(-1.82%) เป็นต้น
ฝ่ายวิจัยเห็นว่าการขับเคลื่อนมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ครบวงจรทั้งทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Sector) และภาคการเงินที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ คณะรัฐมนตรี หากเป็นไปตามที่มีการนำเสนอผ่านสื่อมวลชนต่างๆ ออกมา ก็น่าจะมีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้ GDP Growth ปี 2563 ออกมาไม่เลวร้ายอย่างที่หลายฝ่ายคาด และ น่าจะช่วยรักษาเสถียรภาพของตลาดการเงิน เฉพาะอย่างยิ่งตลาดตราสารหนี้ได้เป็นอย่างดี โดยในส่วนของ Real sector คาดว่าจะเห็นการผลักดันเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนผ่านกลไกต่างๆ เฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคภาคครัวเรือนมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงกว่ามูลค่าของ GDP ที่หลายสำนักคาดว่าจะหดตัวแรง ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย มีแนวทางที่จะอีดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ (เฉพาะตราสารหนี้ที่เป็น Investment Grade) ราว 9 แสนล้านบาท ซึ่งช่วยลดความเสี่ยง และสร้างเสถียรภาพให้ตลาดตราสารหนี้ สำหรับทิศทางของ SET Index คาดว่าน่าจะเห็นการตอบสนองเชิงบวกจากความคาดหวังในเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ เราเคยผ่านสภาพแวดล้อมเช่นนี้ในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (ปี 2551-2552) ซึ่งเกิดภาวะ Recession ในเศรษฐกิจหลายประเทศ ทำให้รัฐบาลทุกประเทศทั่วโลกต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายแบบสุดขั้ว ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตอบสนองเชิงบวกอย่างรุนแรง และเข้าสู่ภาวะ Bull Market เป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งฝ่ายวิจัยเชื่อว่าภาพดังกล่าวก็กำลังจะเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นในรอบนี้เช่นกัน สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกยังร้อนแรง แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย
ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดล่าสุด ประเทศไทยได้ห้ามสายการบินพาณิชย์บินเข้าประเทศไทย จนถึง 18 เม.ย.63 ควบคู่กับการใช้เคอร์ฟิวช่วง 4 ทุ่มถึง ตี 4 และยังอยู่ในภาวะที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สำหรับ SET Index วันนี้ เชื่อว่าน่าจะปรับตัวสูงขึ้น แนะนำปรับพอร์ต โดยลดน้ำหนักหุ้น INTUCH ลง 5% แล้วมาลงทุนใน SEAFCO ส่วน Top Picks วันนี้เลือก SEAFCO และ CENTEL
COVID-19 ยังเพิ่มขึ้น แต่หลายประเทศออกมาตรการกระตุ้น หนุนตลาดหุ้นโลก
แม้สถานการณ์ไวรัส COVID-19 ล่าสุด จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกรวมยังเพิ่มขึ้นอีก 72,850 ราย ทำให้ผู้ติดเชื้อทั่วโลกอยู่ที่ 1,345,751 ราย โดยสหรัฐมีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลกอยู่ที่ 367,004 ราย (เพิ่มขึ้น 30,331 ราย ), สเปนมีผู้ติดเชื้อ 136,675 ราย (เพิ่มขึ้น 5,029 ราย), อิตาลีมีผู้ติดเชื้อ 132,547 ราย (เพิ่มขึ้น 3,599 ราย), เยอรมนีมีผู้ติดเชื้อ 103,374 ราย (เพิ่มขึ้น 3,251ราย) เป็นต้น และไทย มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 51 ราย ส่งผลให้ปัจจุบันไทยมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 รวม 2,220 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังสูง แสดงถึง COVID-19 ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) เดือน มี.ค. 2563 ลดลง 7.01 แสนตำแหน่ง ลดลงมากกว่าที่ตลาดคาดจะลดลง 1 แสนตำแหน่ง สอดคล้องกับอัตราการว่างงานเดือนเดียวกันที่เพิ่มขึ้นเป็น 4.4% เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดจะเพิ่มขึ้น 3.8% สาเหตุสำคัญมาจากการระบาด COVID-19 ทำให้มีการปิดสถานที่สำคัญต่างๆ การจ้างงานจึงลดลง
การระบาดของ COVID-19 ข้างต้น ทำให้บางประเทศเร่งดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด เช่น ห้ามเดินทางเข้าประเทศ (Lock Down) และห้ามออกนอกเคหะสถาน (Curfew) เป็นต้น กว่า 18 ประเทศ อย่างไรก็ตาม มาตรการควบคุมการระบาดอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงได้ ทำให้หลายประเทศออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามมา เช่น โดยที่สังเกตว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายมาตรการมีความเข้มข้น และรุนแรงมากกว่ามาตรการที่ใช้สมัยช่วงวิกฤติ Subprime ASPS จึงคาดว่ามาตรการต่างๆจะสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบของ COVID-19 และช่วยหนุนตลาดหุ้นในระยะสั้น
มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย น่าจะทำให้ GDP Growth ปี 2563 ไม่เลวร้ายมากนัก
ASPS ประเมินว่าไวรัส COVID-19 เกิดพร้อมกันทั่วโลกปี 2563 ทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัว และตลาดหุ้นปรับฐานแรง ซึ่งหากพิจารณาวิกฤตไวรัส COVID-19 ครั้งนี้เทียบกับวิกฤตแต่ละครั้ง พิจารณาปัจจัยแวดล้อม เทียบกับวิกฤตซัพไพร์มที่เกิดขึ้นในสหรัฐปี 2552 มีความคล้ายกันในหลายประเด็น ดังนี้
เศรษฐกิจหดตัวคล้ายกัน คือ World GDP Growth ปี 2563 คาด -1%yoy เทียบกับวิกฤตซัพไพร์ม World GDP Growth -0.1% ขณะที่ไทยคาดการณ์ GDP Growth ปี 2563 (Consensus อาทิ ธปท.คาด -5.3%yoy, Worldbank คาด -5% ASPSคาด -1.4%) เทียบกับวิกฤตซัพไพร์ม GDP Growth ไทย หดตัว -0.7%
มาตรการกระตุ้นการเงิน หลายปัจจุบันทั่วโลกปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อาทิ สหรัฐ ล่าสุดอยู่ที่ 0.25% รวมถึง ไทย ที่ปรับอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ 0.75% ระดับต่ำกว่าในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 และ อัดฉีดเงินเข้าซื้อพันธบัตร QE หลายประเทศปัจจุบันใช้วงเงิน มากกว่า วิกฤตซัพไพร์ม
มาตรการกระตุ้นการคลัง เศรษฐกิจที่ชะลอทั่วโลก ทำให้เห็นรัฐบาลกลาง เร่งอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และช่วยเหลือผ่านภาษี อาทิ สหรัฐ อัดฉีดงบประมาณวงเงินราว 2.16 ล้านล้านเหรียญ (10% ของ GDP) เช่น ให้เงินแก่ประชาชน 1000 เหรียญฯต่อคน , ชดเชยการหยุดงาน, ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น, ญี่ปุ่น พิจารณางบประมาณฉุกเฉินกว่า 108 ล้านล้านเยน (9.89 แสนล้านเหรียญ) หรือประมาณ 20% ของ GDP เพื่อช่วยครัวเรือนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
ขณะที่ไทย เตรียมการจัดหาเงินวงเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 3-4 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท หรือ ราว 10%ของ GDP ไทย หลังจากการประชุม ครม.รอบพิเศษเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วได้ข้อสรุปสำคัญ ซึ่งจะมีการนำเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติวันนี้ หลักๆ คือ Funding เงินทุน เพื่อรองรับมาตรการทั้งการช่วยเหลือประชาชน และดูแลตลาดเงินและตลาดทุนรองรับผลกระทบ COVID-19 หลักๆ 2 ทางคือ
มาตรการด้านภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector)
oพ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท (50.8% ของวงเงินรวม)
oการปรับลดงบประมาณรายจ่ายของแต่ละกระทรวงลง 10% วงเงินประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท (3-3.5% ของวงเงินรวม)
มาตรการด้านภาคการเงิน (Financial Sector) ผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
oพ.ร.ก.จัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน วงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อให้ ธปท. เข้าไปซื้อตราสารหนี้ผ่านกองทุนที่ตั้งขึ้น (20.3% ของวงเงินรวม)
oพ.ร.ก. Solf Loan วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือภาคธุรกิจ และลูกหนี้ของธนาคารในกลุ่มต่างๆที่ได้รับผลกระทบ (25.4% ของวงเงินรวม)
ทั้งนี้เป็นที่แน่ชัดว่า GDP ปี 2563 ASPS คาดจะติดลบหากอ้างอิงประมาณการณ์ ของ ธปท. เศรษฐกิจไทยปี 2563 หมายความขนาด GDP จะลดลงราว 5.79 แสนล้านบาท คิดจาก Real GDP ปี 2562 ที่อยู่ที่ 10.93 ล้านล้านบาท(ดังรูป) โดยรวม 2 เม็ดเงินรวมเข้าระบบราว 1.9 ล้านล้านบาท ASPS คาดว่าจะมีส่วนทำให้ GDP Growth ไทยปี 2563 ติดลบน้อยลง และถือเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นไทยในระสั้น
แนะสะสมหุ้นพื้นฐานดีลงลึก แต่มีโอกาสฟื้นแรง ชอบ CENTEL SEAFCO
มาตการควบคุมไวรัส COVID-19 ทั้งจากการประกาศ Lock Down หรือ Curfew ราว 25 ประเทศ จาก 193 ประเทศ (13% ของประเทศทั่วโลก) ที่ประกาศอย่างเป็นทางการ คือ ห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ, ห้ามประชาชนออกจากบ้านในระยะเวลาที่กำหนด ฯลฯ
แรงหนุนทั้งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบจัดเต็มของแต่ละประเทศ เช่น สหรัฐและญี่ปุ่นอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบกว่า 10% ของ GDP และ 20% ของ GDP ตามลำดับ บวกกับการคาดหวังว่าการ Lock Down จะช่วยให้การระบาดของโรคคลี่คลายได้เร็วขึ้น หนุนให้ตลาดหุ้นที่มีการประกาศ Lock Down ปรับตัวขึ้นตั้งแต่วันประกาศถึงปัจจุบันเฉลี่ยสูงถึง 6.23% (ปรับตัวเพิ่มขึ้น 20 ใน 25 ประเทศ)
สภาวะดังกล่าวตรงตามกลยุทธ์การลงทุนในเดือน เม.ย. ในบทวิเคราะห์ INVEST+ หัวข้อ “เฝ้ารอตะวันขึ้น” พร้อมกับแนะนำสะสมหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่งที่ปรับฐานลงมาแรงในช่วงที่เกิด COVID-19 แต่เวลาฟื้นมีโอกาสฟื้นได้แรงกว่าตลาดฯ ( มีค่า Beta plus > 1)
Top Picks วันนี้เลือก CENTEL และ SEAFCO
CENTEL(FV @ 21.00) แม้ฝ่ายวิจัยประเมินบริษัขาดทุนในปี 2563F ราว 111 ล้านบาท และ Turn Around เป็นกำไร 1,118 ล้านบาท ในปี 2564F แต่ราคาหุ้นปรับฐานลงมากว่า 40%ytd จน Upside เปิดกว้างมาก บวกกับ CENTEL มีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งสุดในกลุ่มฯ โดยมีสัดส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยเทียบส่วนของผู้ถือหุ้น IBD/E ณ สิ้นปี 2562 เพียง 0.62 เท่า ถือเป็นโอกาสดีในการเข้าสะสม เพื่อหวังผลระยะกลางถึงยาว
SEAFCO(FV @ 9.30) หนึ่งในหุ้นกลุ่มก่อสร้างที่ราคาปรับตัวลงแรงกว่า 30% ตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากได้รับ Sentiment เชิงลบ จากประเด็น COVID-19 อย่างไรก็ตามฝ่ายวิจัยคาดว่าทิศทางกำไร 1Q63 ยังโดดเด่น จากการรับรู้รายได้โครงการใหญ่พร้อมกัน อาทิ โครงการทางด่วนดาวคะนอง-พระราม 3, หมอชิต คอมเพล็ก และดุสิตธานี ขณะที่ Backlog ปัจจุบันสูงอยู่ที่ 2.57 พันล้านบาท สามารถ Secured รายได้ปีนี้ไปแล้วกว่า 87% หากพิจารณาด้าน Valuation ถือว่าน่าสนใจ โดยให้ Dividend Yield 63F สูงถึง 6.34% และ PER ซื้อขายเพียงแค่ 8 เท่า จึงถือเป็นโอกาสสะสม
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web