- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 29 November 2019 16:15
- Hits: 5431
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดหุ้นยังขาดปัจจัยหนุนใหม่ พร้อมกับความกังวลหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ SET Index ยังไม่เคลื่อนไหวไปในทิศทางใดทางหนึ่งชัดเจน โดยแรงขับเคลื่อนหลัก ให้น้ำหนักไปที่เม็ดเงินที่ไหลเข้ามาซื้อ LTF ในช่วงที่เหลือของปี กลยุทธ์การลงทุนเลือกหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว โดยวันนี้มีการปรับ FPT ออกจากพอร์ต แล้วลงทุนใน CPF(FV@B 35) ราคาหมูดี ราคาอาหารสัตว์ถูก และยังชอบ BCH(FV@B 21.10), RS(FV@B 15.70) เป็น Top Picks
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …จับสัญญาณวันนี้
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยทยอยปรับตัวลงตลอดวันต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 จนหลุดแนวรับแรกที่ 1600 จุด จากประเด็นประธานาธิบดีทรัมป์ ลงนาม Hongkong ACT คาดกระทบต่อเจรจาการค้ากับจีน บวกกับเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องและมีโอกาสเสี่ยงต่อเกิด Recession ในอนาคต จึงทำให้ตลาดปิดที่ระดับ 1597.68 จุด ลดลง 9.59 จุด (-0.60%) มีมูลค่าการซื้อขาย 4.31 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่กดดันตลาดหลักๆ คือกลุ่มขนส่งได้แก่ AOT(-3.51%) BTS(-2.14%) กลุ่มพลังงาน เช่น GULF (-1.45%) TOP(-0.72%) GPSC(-0.90%) และกลุ่มค้าปลีกอย่าง CPALL(-0.98%) HMPRO(-0.60%) BJC(-2.15%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่บางตัวอย่างเช่น IVL(-2.14%) และ KTC(-2.38%) เป็นต้น
ภาพรวมตลาดหุ้นโลกถูกกดดันหลากหลายความไม่แน่นอน ทั้งกรณี ปธน.สหรัฐฯ ลงนามใน Protect Hongkong ACT ซึ่งนักลงทุนเกรงว่าจะกระทบต่อการเจรจาการค้า ส่วนปัจจัยภายในประเทศ เป็นเรื่องของความกังวลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ยังส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง จากผลสำรวจหนี้ครัวเรือนล่าสุด อยู่ที่ 3.4 แสนบาท/ครัวเรือน เป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นต่อ GDP อยู่ที่ 78% ซึ่งเป็นผลจากรายได้ลดลง, ถูกเลิกจ้าง, เศรษฐกิจชะลอ เป็นต้น ภายใต้องค์ประกอบของสถานการณ์ดังกล่าว ไม่น่าจะทำให้ SET Index เคลื่อนไหวไปทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน โดยน่าจะอยู่ในกรอบ 1590 – 1605 จุด ในส่วนของแรงขับเคลื่อนจาก Fund Flow เชื่อว่าจะยังคงมีแรงหนุนจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นหลักจากฤดูกาลการซื้อ LTF เฉพาะอย่างยิ่งช่วงเดือน ธันวาคม แต่อย่างไรก็ตามนักลงทุนต่างชาติ น่าจะยังไม่เห็นการไหลกลับเข้ามา กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ ปรับพอร์ตการลงทุน โดยนำ FPT ออก แล้วไปลงทุนใน CPF 10% โดยความกังวลจากต้นทุนทางการเงินที่มีการออก Perpetual Bond ไปแล้วผ่อนคลายลง ขณะที่ปัจจุบันราคาสุกรและไก่ในประเทศทยอยฟื้นตัว พร้อมกับราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ประสิทธิภาพการทำกำไรสูงขึ้น ราคาหุ้นปัจจุบันมีค่า PER ปี 2563 เพียง 12 เท่า และสามารถคาดหวัง Div. yields เฉลี่ย 3% p.a. และยังชื่นชอบหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว อย่าง BCH เป็นผู้มีฐานผู้ป่วยประกันสังคมสูงสุดในกลุ่มฯ ซึ่งมีความคาดหมายเชิงบวกเรื่องการปรับอัตราค่าบริการต่อหัวของคนไข้ประกันสังคม และ RS ที่เห็นสัญญาณบวกในการเติบโตของยอดขายสินค้า หลังมีแผนเจรจาร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ เพิ่มอีก 1-2 ช่วง ทำให้เข้าถึงฐานลูกค้าได้มากขึ้น
สัปดาห์หน้าให้น้ำหนักตัวเลขภาคการผลิต PMI ทั่วโลก และประชุม OPEC 5-6 ธ.ค.
ปัจจัยในต่างประเทศสัปดาห์หน้าให้น้ำหนักการรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตของทั่วโลก คือ จีน ยุโรป และสหรัฐ ในวันที่ 2 ธ.ค. 2562 ซึ่งตลาดคาดว่าอาจจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้บ้างเล็กน้อยในเดือน พ.ย. (ยกเว้นจีน ที่ตลาดคาดอาจชะลอตัวต่อ)
และช่วงกลางสัปดาห์ ให้น้ำหนักการประชุม กลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ในวันที่ 5-6 ธ.ค. 2562 ตลาดยังคาดหวังว่าจะมีการขยายระระยเวลาตัดลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบออกไปอีก 3 เดือน หรือไม่ จากเดิมที่กลุ่ม OPEC มีกำหนดตัดลดกำลังการผลิตจนถึงเดือน มี.ค. 2563 ซึ่งเชื่อว่าอาจจะมีผลต่อการปรับขึ้นราคาน้ำมันดิบในช่วงสั้น แม้สร้าง Sentiment เชิงบวกระยะสั้นต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยสำคัญที่จะกดดันให้หุ้นกลุ่มพลังงาน คือ ประเด็น MSCI มีการประกาศว่าจะนำหุ้น Saudi Aramco เริ่มเข้ามาคำนวณในดัชนีเป็นกรณีพิเศษ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ดังที่ ASPS นำเสนอใน Market talk วันที่ 20 พ.ย.2562
ขณะที่ปลายสัปดาห์ ให้น้ำหนักรายงานตัวเลขแรงงานของสหรัฐ คือยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payroll) และอัตราการว่างงานเดือน พ.ย. โดยตลาดคาดว่า Nonfarm Payroll จะเพิ่มขึ้น 1.83 แสนราย จากเดือน ต.ค. ที่เพิ่มขึ้น 1.28 แสนราย ขณะที่อัตราการว่างงานตลาดคาดจะทรงตัวที่ 3.6% ต่อเนื่องจากเดือน ต.ค. ซึ่งจะมีผลต่อคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐ หลังจากปัจจุบัน Bloomberg consensus ประเมินว่า Fed จะคงดอกเบี้ยที่ 1.75% ไปจนถึง ปลาย 2Q63 เป็นอย่างน้อย
ที่มา: ASPS รวบรวม
เศรษฐกิจ ต.ค. ชะลอตัว และช่วงที่เหลือของปียังเหนื่อย หวังพึ่งมาตรการกระตุ้น....
ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วง 4Q62 ยังเห็นสัญญาณชะลอตัว เห็นได้จากวานนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เผยรายงานเศรษฐกิจเดือน ต.ค. คือ ยังถูกกดดันจากภาคส่งออก 68%ของ GDP ที่หดตัว 4.5% และมีแนวโน้มจะหดตัวต่อในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ ซึ่งจะทำให้ส่งออกทั้งปี 2562 จะหดตัวราว 3% ขณะที่ตัวอื่นๆยังไม่ฟื้นตัว จะมีเพียงภาคการท่องเที่ยว คือ จำนวนนักท่องเที่ยว เดือน ต.ค. ที่เพิ่มขึ้น 12.5%yoy สูงสุดในรอบ 1 ปี 7 เดือน
ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเดือน ต.ค. ที่ออกมาชะลอดังกล่าว สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วานนี้ รายงานผลสำรวจหนี้ครัวเรือนล่าสุด อยู่ที่ 3.4 แสนบาท/ครัวเรือน เป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (เทียบกับปี 2552 ที่สำรวจครั้งแรกอยู่ที่ 1.43 แสนบาท/ครัวเรือน หรือ 10 ปีขึ้นมา 2 เท่ากว่า) ขณะที่หนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 78% ซึ่งเป็นผลจากรายได้ลดลง, ถูกเลิกจ้าง, เศรษฐกิจชะลอ เป็นต้น และหากแบ่งเป็นหนี้ในระบบ 59.2% และหนี้นอกระบบ 40.8% เป็นต้น เชื่อว่าหุ้นที่จะได้ประโยชน์คือ ธุรกิจติดตามหนี้ คือ JMT(FV@B 21.8) ซึ่งทำธุรกิจบริการและติดตามหนี้ แต่เนื่องจากคำแนะนำ Switch เนื่องจากราคาหุ้นขึ้นมาสูงเกิน Fair value และตอบรับการเติบโตธุรกิจแล้ว และเช่นเดียวกับ CHAYO([email protected]) ซึ่งทำธุรกิจคล้ายกัน
โดยรวมรวม ASPS คาดเศรษฐกิจ 4Q62 ยังมีอุปสรรคต่อการเติบโตดังกล่าว และตัวแปรสำคัญคือ สงครามการค้าที่หากยังยืดเยื้อ คือ ทั้ง 2 ฝั่งยังเก็บภาษีนำเข้ารอบ 4.2 ซึ่งมีกำหนด 15 ธ.ค.2562 เชื่อว่าจะกระทบต่อส่งออกไทยเต็มปี 2563 ทำให้ความหวังการเติบโตยังต้องมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ออกมาตั้งแต่ เดือน ต.ค. อาทิ ชิมช็อปใช้1-3 และปี 2563 ภาคอสังหาฯ (คือ ลดค่าธรรมเนียมการโอน 0.01% บ้านดีมีดาว คืน Cashback 5 หมื่นบาท), ท่องเที่ยว (ขยาย VOA),Thailand plus package 7 ดึงดูดลงทุนเอกชน เป็นต้น
มาตรการกระตุ้นการบริโภค
ที่มา : ASPS
คาดเม็ดเงิน LTF ปีสุดท้าย…แต่ (หวัง) ไม่ท้ายสุด ช่วยพยุงตลาด
แม้ตัวเลขหนี้สินต่อครัวเรือนคนไทยจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (ตามรายละเอียดที่กล่าวไว้ข้างต้น) แต่ในมุมการออมเงินผ่านกองทุนประหยัดภาษีกลับได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ และเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดย 5 ปีหลังสุด มียอดซื้อ LTF สูงเกินกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี และล่าสุดในปี 2561 เป็นปีที่นักลงทุนซื้อ LTF มากที่สุดถึง 7.66 หมื่นล้านบาท
ยอดซื้อ LTF ของนักลงทุน (ย้อนหลัง 10 ปี)
ที่มา: SEC, ฝ่ายวิจัย ASPS
นอกจากนี้หากวิเคราะห์พฤติกรรมของนักลงทุนที่ซื้อ LTF ตามสถิติในอดีตย้อนหลัง 14 ปี พบว่า แรงซื้อ LTF มักกระจุกตัวอยู่ในเดือน ธ.ค. กว่า 45.1% ของยอดซื้อทั้งปี ตอกย้ำด้วยสถิติการซื้อขายสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนสถาบันฯ ย้อนหลัง 10 ปี พบว่า ในเดือน ธ.ค. สถาบันฯมักซื้อสุทธิเฉลี่ยหุ้นไทย สูงสุดของปีถึง 1.31 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิ 9 ใน 10 ปี ดังนั้นความหวังช่วงโค้งสุดท้ายของปี ถูกฝากไว้กับแรงขับเคลื่อนจากเม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาซื้อ LTF ก่อนสิ้นปี
สัดส่วนการซื้อ LTF ในแต่ละเดือนย้อนหลัง 14 ปี
ที่มา SEC, ฝ่ายวิจัย ASPS
และหากกลับมาพิจารณาภาพรวมตลาดหุ้นไทย ในเดือน พ.ย. 2562 แม้เผชิญกับหลากหลายปัจจัยลบ รวมถึงต่างชาติขายสุทธิตลาดหุ้นไทย 4.5 พันล้านบาท(mtd) แต่ตลาดหุ้นไทยติดลบเล็กน้อยเพียง 0.24%(mtd) เนื่องจากได้แรงหนุนจากนักลงทุนสถาบันฯที่ซื้อสุทธิ 3.8 พันล้านบาท และเชื่อว่าในเดือน ธ.ค. น่าจะเห็นแรงซื้อจากสถาบันฯ เร่งตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น
อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่ต้องติดตามเพิ่มเติมคือ รายละเอียดและความชัดเจนของกองทุน LTF ใหม่ จากกระแสข่าวเบี้องต้น คาดว่ามีการขยายระยะเวลาการถือครองจาก 7 ปี เป็น 10 – 15 ปี และกำหนดวงเงินลงทุนเมื่อรวมกับการลงทุนในกองทุน RMF จะต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี หรือไม่เกิน 30% ของรายได้ เพื่อจูงใจให้คนรุ่นใหม่ออมระยะยาวมากขึ้น โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนสิ้นปี 2562 นี้ หากเป็นตามข้อกำหนดนี้จริงจะกดดันให้แรงซื้อ LTF ในปีถัดไปลดลงอย่างมีนัยฯ แต่ยังมีความโชคดีจากในช่วงปี 2563 และ 2564 ไม่มีเม็ดเงิน LTF ที่ครบกำหนดขาย เนื่องจากผู้ที่ซื้อ LTF ปี 2559 มีการครบกำหนดขายได้อีกที่ในปี 2565 ทำให้ผู้จัดการกองทุนไม่จำเป็นต้องสำรองเม็ดเงินไว้รองรับการไถ่ถอน ดังเช่นทุกๆ ปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงเชื่อว่าในช่วงปลายปีนี้ จึงน่าจะเห็นแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันเข้ามาขับเคลื่อนตลาดหุ้นได้
หมูมา ไก่ก็มา ... ชอบหุ้น CPF
CPF (FV@B35) เป็นโอกาสทยอยสะสม เชื่อราคาหุ้นผ่านการปรับฐานสะท้อนความกังวลเรื่องการแบน 3 สารเคมี และความกังวลจากต้นทุนทางการเงินจากบริษัทที่มีการออก Perpetual Bond ไปแล้ว ขณะที่ปัจจุบันราคาสุกรและไก่ในประเทศทยอยฟื้นตัว นำโดยราคาสุกรปรับเพิ่มขึ้น 3.4% จากวันก่อนหน้า มาที่ 60 บาท/กก. เช่นเดียวกับราคาไก่ที่ปรับเพิ่มขึ้นถึง 8.8% จากวันก่อนหน้า มาที่ 37 บาท/กก. จากการเข้าช่วงเทศกาลวันหยุดยาวในช่วงเดือนธ.ค. 62 (CPF มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจไก่และสุกรในไทย 15%)
สำหรับ ราคาสุกรในประเทศเวียดนามปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน จนล่าสุดอยู่ที่ 6.7 หมื่นดอง/กก. (92 บาท/กก.) ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากปัญหาสุกรขาดแคลน เพราะโรคอหิวาต์แอฟริการะบาดหนักในเวียดนาม ส่งผลบวกต่อโดยตรงต่อ CPF (สัดส่วนรายได้จากธุรกิจสุกรในเวียดนาม 7%) ที่ฟาร์มของตัวเองไม่ได้รับกระทบ
นอกจากนี้ ธุรกิจยังได้ผลบวกจากราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์อยู่ในระดับต่ำ ทั้งข้าวโพดและถั่วเหลือง ทำให้ประสิทธิภาพการทำกำไรสูงขึ้น ราคาหุ้นปัจจุบันมีค่า PER ปี 2563 เพียง 12 เท่า และสามารถคาดหวัง div yields เฉลี่ย 3% p.a.
ลุ้นอัพรายได้...กลุ่มประกันสังคม
ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ที่ให้บริการประกันสังคม (BCH, CHG และ RJH) น่าจะมีโอกาส Outperform ตลาดได้ในระยะ 1-2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ จากกรณีความคืบหน้าล่าสุด ประเด็นที่คณะอนุกรรมการการแพทย์ได้มีมติอนุมัติแผนการปรับเพิ่มค่ารักษาพยาบาลรายหัวลูกค้าประกันสังคมเฉลี่ย 12.3% แบ่งเป็น 1) ปรับเพิ่มงบฯค่ารักษาต่อคนในโครงการประกันสังคมทั้งในส่วนการรักษารายการเหมาจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ เพิ่มขึ้นจากเดิม 9.3% และโรคเรื้อรัง เพิ่มขึ้นจากเดิม 14.5% และ 2) การเพิ่มงบประมาณสำหรับจ่ายเงินในส่วนผู้ป่วยโรคที่มีภาระค่าใช้จ่ายสูง (RW>2) เพิ่มขึ้นจากเดิม 17.5% โดยลำดับถัดไปจะเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาครั้งสุดท้ายซึ่งเชื่อว่าจะเห็นความชัดเจน ในเรื่องค่ารายหัวอัตราใหม่วันที่ 11 ธ.ค.62
ทั้งนี้ เนื่องจากค่ารายหัวประกันสังคมไม่มีการปรับเพิ่มงบประมาณค่าบริการทางการแพทย์มากกว่า 2 ปีครึ่งแล้ว ฝ่ายวิจัยจึงประเมินว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการปรับค่ารายหัว โดยในกรณี Base Case ประเมินอนุรักษ์นิยมว่ามีความเป็นไปได้อาจเห็นการปรับในอัตราที่สูงขึ้นคาดราว 8%-10% (ค่าเฉลี่ยระหว่างอัตราที่มีการปรับตามปกติ (ปีเว้นปี) ที่ 4% กับอัตราที่ขอปรับครั้งนี้) แบ่งเป็นการได้เงินค่าหัวเพิ่มขึ้นในส่วนการรักษาเหมาจ่ายค่าบริการการแพทย์และโรคเรื้อรัง และกรณี RW จะช่วยให้มีงบจ่าย รพ. ได้มากขึ้น ส่งผลให้ทุก รพ. จะมีโอกาสมากขึ้นที่จะได้ค่ารักษาต่อ RW ในระดับ 12,800 บาท ดีขึ้นกว่าปัจจุบันที่บางปี ประกันสังคมไม่สามารถจ่าย รพ. ได้เต็มจำนวน
โดยรวมเป็นบวกต่อหุ้นรพ.ที่รับประกันสังคมทั้ง BCH, CHG และ RJH ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ประกันสังคมใกล้เคียงกันที่ 33.2%, 31.7% และ 43.2% ของรายได้ จากการศึกษาผลบวกกรณีที่มีการปรับขึ้นอัตรารายหัวประกันสังคม พบว่า ทุก 1% จะช่วยเพิ่มกำไรสุทธิ BCH, CHG และ RJH ใกล้เคียงกันที่ราว 1.8% และกรณี Base Case ที่สามารถปรับได้ 8% จะช่วยเพิ่มกำไรทุกรายจากปัจจุบันราว 14% และเพิ่มมูลค่าพื้นฐานทุกรายราว 5% โดยภาพรวมประเด็นดังกล่าวเชื่อว่าจะเป็นบวกต่อ BCH มากที่สุด จากจำนวนลูกค้าประกันสังคมที่มีและโอกาสต่อยอดสูงสุดจากโควต้าผู้ประกันตนที่ยังมีเหลือให้ขยายได้มากสุด กรณีดังกล่าวจึงชื่นชอบ Top Pick ฝ่ายวิจัย คือ BCH ([email protected]) มากสุด รองมาเป็น CHG ([email protected]) และ RJH ([email protected])
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ