- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 28 November 2019 16:01
- Hits: 1626
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
ภาพใหญ่ของปัจจัยแวดล้อมทางพื้นฐาน เช้านี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงถึงขนาดที่จะทำให้ SET Index เคลื่อนไหวไปในทิศทางใดทางหนึ่งชัดเจน แรงขับเคลื่อนหลักของตลาดฯ ในช่วงนี้ ยังให้น้ำหนักไปที่เม็ดเงินที่ไหลเข้ามาซื้อ LTF ที่น่าจะมีเข้ามาต่อเนื่อง กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ไม่มีการปรับพอร์ตการลงทุนส่วนหุ้น Top Picks ยังคงเลือก 3 บริษัทเดิมได้แก่ BCH(FV@B 21.10), LH(FV@B 12) และ RS(FV@B 15.70)
SET Index 1,607.27
เปลี่ยนแปลง (จุด) -2.11
มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท) 51,262
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …จับสัญญาณวันนี้
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยทยอยปรับตัวลงตลอดวันต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 จากค่าปรับลด EPS ปี 2562 ของตลาดลงมาอยู่ที่ 92.11 บาท ทำให้ค่า PER ปัจจุบันสูงกว่า 17.5 เท่า จึงทำให้ Upside ถูกจำกัด โดยปิดที่ระดับ 1607.27 จุด ลดลง 2.11 จุด (-0.13%) มีมูลค่าการซื้อขาย 5.12 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่กดดันตลาดหลักๆ คือ กลุ่มสื่อสารได้แก่ ADVANC(-0.90%) INTUCH(-3.57%) DTAC(-3.46%) TRUE(-1.35%) กลุ่มขนส่งเช่น AOT(-1.26%) BEM(-0.93%) แต่ได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มอาหารอย่าง CPF(+4.76%) CBG(+1.18%) OSP(+0.61%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่บางตัวอย่างเช่น BDMS(+2.08%) และ TMB(+8.50%) เป็นต้น
ปัจจัยแวดล้อมทางพื้นฐานเช้านี้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นเพียงความคืบหน้าของเหตุการณ์เดิม โดยกรณีสงครามการค้ามีประเด็นสร้างความกังวลเล็กน้อย หลัง ปธน.สหรัฐฯ ลงนามใน Protect Hongkong ACT ซึ่งนักลงทุนเกรงว่าจะกระทบต่อการเจรจาการค้า สหรัฐฯ-จีน ที่เริ่มส่งสัญญาณเป็นบวกในช่วงก่อนหน้า ส่วนปัจจัยภายในประเทศ เป็นเรื่องของความกังวลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย ที่ยังส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง แม้จะมีหลายมาตรการจากภาครัฐออกมากระตุ้น ภายใต้องค์ประกอบของสถานการณ์ดังกล่าว ไม่น่าจะทำให้ SET Index เคลื่อนไหวไปทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน โดยน่าจะอยู่ในกรอบ 1600 – 1620 จุด ในส่วนของแรงขับเคลื่อนจาก Fund Flow เชื่อว่าจะยังคงมีแรงหนุนจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ เนื่องจากเป็นฤดูกาลที่มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาผ่านการซื้อ LTF เฉพาะอย่างยิ่งช่วงเดือน ธันวาคม แต่อย่างไรก็ตามนักลงทุนต่างชาติ น่าจะยังไม่เห็นการไหลกลับเข้ามา กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ ไม่มีการปรับพอร์ตการลงทุน ส่วนหุ้น Top Pick ยังคงเลือก 3 บริษัท เดิมได้แก่ BCH ซึ่งมีความคาดหมายเชิงบวกเรื่องการปรับอัตราค่าบริการต่อหัวของคนไข้ประกันสังคม ตามด้วย LH ซึ่งได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ที่น่าจะได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังให้ Dividend Yield กว่า 7% ต่อปี ส่วนบริษัทสุดท้ายได้แก่ RS ที่เห็นสัญญาณบวกในการเติบโตของยอดขายสินค้า หลังมีแผนเจรจาร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ เพิ่มอีก 1-2 ช่วง ทำให้เข้าถึงฐานลูกค้าได้มากขึ้น
ประธานาธิบดีทรัมป์ ลงนาม Hongkong ACT คาดกระทบเจรจาการค้า
ต่างประเทศ เช้านี้มีประเด็นสำคัญที่ ASPS คาดว่าจะมีผลต่อพัฒนาการสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ซึ่งตลาดให้น้ำหนักในช่วงก่อนหน้า คือ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ลงนามอนุมัติกฎหมายปกป้องสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง(Protect Hongkong ACT) เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งใจความสำคัญคือ สหรัฐอาจดำเนินมาตรการคว่ำบาตรฮ่องกงได้ หากพบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง ผ่านการ หยุดการส่งออกสินค้าบางชนิดไปยังฮ่องกง อาทิเช่น แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง เป็นต้น
ประเด็นดังกล่าวอาจทำให้ฝั่งจีนไม่พอใจ และมีโอกาสส่งผลให้บรรยากาศการเจรจาการค้าของทั้ง 2 ประเทศในช่วงต้นเดือน ธ.ค. นี้ หาข้อสรุปได้ยากขึ้น จากเดิมวานนี้ตลาดหุ้นโลกยังคาดหวังเชิงบวกหลังจากทางการจีนได้เชิญนาย Steven Mnuchin รัฐมนตรีคลังสหรัฐ และนาย Robert Lighthizer ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ไปเจรจาการค้าที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งถ้าอิงตามกำหนดการเดิม คาดว่าการเจรจาน่าจะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ ASPS จึงยังคงมุมมองเดิมคือ สงครามการค้ายังมีโอกาสยืดเยื้อต่อไปจนกว่าจะถึงช่วงปลายปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ
โดยรวมเชื่อว่าประเด็นดังกล่าวจะเป็นแรงกดดันช่วงสั้นต่อตลาดหุ้นในเอเซียเห็นได้จากดัชนี Nikkei ของญี่ปุ่น เช้านี้ลดลง 0.23%, ดัชนี KOSPI ของเกาหลี เช้านี้ลดลง 0.15% ขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ อาทิ ราคาน้ำมันดิบวานนี้ปรับลดลง โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ลดลง 0.33%, WTI ลดลง 0.51% และDubai ลดลง 0.13% ปัจจัยสำคัญคือ สำนักสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นต่อสัปดาห์ที่ 5 ราว 1.572 ล้านบาร์เรล ผิดจากที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 4.18 แสนบาร์เรล อย่างไรก็ตามยังให้น้ำหนักการประชุม OPEC และ Non-OPEC ในวันที่ 5-6 ธ.ค. 2562 ว่าจะมีการตัดลดกำลังการผลิตหรือไม่
เศรษฐกิจไทยงวด 4Q62 นับถอยหลังสู่ Recession?
จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเช้านี้ สำนักวิจัยเศรษฐกิจกสิกรเผยถึงประเด็นแนวโน้มเศรษฐกิจไทยงวด 4Q2562 และในอนาคตมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอย หรือ Recession คือ ภาวะการเติบโตเศรษฐกิจ (GDP Growth) ติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน*
ทั้งนี้ 19 พ.ย. สภาพัฒน์ฯได้รายงาน GDP Growth งวด 3Q62 ขยายตัว 2.4% yoy จาก 2.3%ในงวด 2Q62 (9M62 ขยายตัวเฉลี่ย 2.5%) แต่ประเด็นสำคัญ คือ หากพิจารณาการขยายตัว QoQ ในงวด 3Q62พบว่า ขยายตัว 0.1%QoQ ซึ่งเป็นผลจากสภาพัฒน์มีการปรับไส้ของงวด 2Q62 เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าคาด (หากไม่มีการปรับไส้งวด 2Q62 จะทำให้งวด 3Q62 หดตัว)
และเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มงวด 4Q62 ที่มีความเสี่ยงสำคัญดังที่ ASPS นำเสนอมาตลอด คือ ภาคส่งออก (ราว 68%ของ GDP) จะยังถูกดันจากผลของสงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่ยืดเยื้อ เห็นได้จากส่งออกเฉลี่ย 10M62 หดตัว 2.5% และมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง, ผลกระทบจากงบประมาณปี 2563 ที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้เฉพาะโครงการลงทุนก่อสร้างที่ยังไม่ก่อหนี้ผูกพัน (สศค. ประเมินจะทำให้เม็ดเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจราว 8 หมื่นล้านบาท หรือราว 0.56% ของ GDP ปี 2561
ASPS แนวโน้มเศรษฐกิจงวด 4Q62 ยังเผชิญอุปสรรคต่อการเติบโต ตัวแปรสำคัญคือ สงครามการค้าที่หากยังยืดเยื้อ เชื่อว่าจะกระทบต่อส่งออกไทยเต็มปี 2563 และมีความเสี่ยงจะทำให้ไทยสุ่มเสี่ยงจะเกิดภาวะ recession ดังกล่าว ทำให้เชื่อว่ารัฐยิ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ออกมา แม้ล่าสุดรัฐบาลได้เร่งออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคครัวเรือน ดังตาราง แต่เชื่อว่าจะเป็นการช่วยพยุงเศรษฐกิจมากกว่า
ยืดอายุแบน 2 สารเคมีไป 6 เดือน และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต...บวกต่อกลุ่มเกษตร
คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเลื่อนการประกาศสารเคมี 2 ชนิด (พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส) เป็นวัตถุอัตรายชนิดที่ 4 (ห้ามไม่ให้ครอบครอง นำเข้าหรือส่งออกสินค้าที่มีสารกำจัดวัชพืชทั้ง 2 ประเภทเป็นส่วนผสมเลย) ออกไป 6 เดือน เป็น 1 มิ.ย. 63 (เดิมจะเริ่มแบนตั้งแต่ 1 ธ.ค. 62) นอกจากนี้ ยังมีมติจำกัดการใช้ไกลโฟเซต (เดิมมีมติแบนตั้งแต่ 1ธ.ค. 62 เช่นกัน)
ถือเป็น sentiment เชิงบวกต่อผู้ประกอบการที่ต้องนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศ (CPF TU GFPT TFG BR และ TVO) เพราะยังนำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง ข้าวสาลีและสินค้าเกษตรอื่นๆ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ได้เหมือนเดิม ซึ่งปัจจุบันไทยต้องนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลือง จากบราซิลสหรัฐฯ และจีน (ส่วนใหญ่กว่า 90% นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะประเทศไทยปลูกได้เองน้อยมาก) ซึ่งใช้สารไกลโฟเซต นอกจากนี้ ล่าสุดยังเห็นราคาสุกรและไก่ในประเทศทยอยฟื้นตัวอีกด้วย นำโดยราคาสุกรปรับเพิ่มขึ้น 3.4% จากวันก่อนหน้า มาที่ 60 บาท/กก. เช่นเดียวกับราคาไก่ที่ปรับเพิ่มขึ้นถึง 8.8% จากวันก่อนหน้า มาที่ 37 บาท/กก. จากการเข้าช่วงเทศกาลวันหยุดยาวในช่วงเดือนธ.ค. 62 ส่งผลบวกต่อ TFG (สัดส่วนรายได้จากธุรกิจไก่และสุกร 85%) GFPT (สัดส่วนรายได้จากธุรกิจไก่ 70%) และ CPF (สัดส่วนรายได้จากธุรกิจไก่และสุกรในไทย 15%)
นอกจากนี้ ราคาสุกรในประเทศเวียดนามยังปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนล่าสุดอยู่ที่ 6.7 หมื่นดอง/กก. (92 บาท/กก.) ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากปัญหาสุกรขาดแคลน เพราะโรคอหิวาต์แอฟริการะบาดหนักในเวียดนาม ส่งผลบวกต่อโดยตรงต่อ CPF (สัดส่วนรายได้จากธุรกิจสุกรในเวียดนาม 7%) และ TFG (สัดส่วนรายได้จากธุรกิจสุกรในเวียดนาม 2%) ที่ฟาร์มของตัวเองไม่ได้รับกระทบ ทำให้ได้ผลบวกจากราคาสุกรที่ปรับเพิ่มขึ้นเต็มที่ตั้งแต่งวด 4Q62 เป็นต้นไป โดยคาดราคาสุกรในเวียดนามจะยืนสูงต่อเนื่องปี 2563 โดยฝ่ายวิจัยแนะนำซื้อ CPF (FV@B35) ;
กลุ่ม King Power เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ในบริษัท RS
วานนี้มีการซื้อขายบิ๊กล็อตหุ้น RS ช่วงท้ายๆ ก่อนตลาดปิด 4 รายการ โดยมีมูลค่าซื้อขายรวมกันสูงถึง 96 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ย 13.7 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 1.315 พันล้านบาท ซึ่งจากที่นักวิเคราะห์พื้นฐานได้สอบถามข้อมูลไปยังบริษัท พบว่า รายการบิ๊กล็อตดังกล่าวเป็นการซื้อหุ้นของกลุ่ม“ศรีวัฒนประภา” หรือกลุ่มคิงพาวเวอร์ จำนวน 9.87% ของทุนเรียกชำระแล้ว จากนายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ซึ่งเป็นทั้งประธานกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยภายหลังธุรกรรมดังกล่าว นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ยังคงเป็นหุ้นถือหุ้นใหญ่ที่สุด สัดส่วน 20.79% ตามด้วยกลุ่มคิงพาวเวอร์ เข้ามาถือหุ้นเป็นอันดับ 2 ที่สัดส่วน 9.87% อันดับ 3 คือนายโสรัตน์ สัดส่วน 9.65% ส่วน BTS เป็นอันดับที่ 5 สัดส่วน 6.06%
ทั้งนี้การเข้ามาถือหุ้น RS ของกลุ่มคิงพาวเวอร์ ถือเป็น Sentiment ที่ดีต่อราคาหุ้น RS เนื่องจากไม่ได้กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานของ RS รวมถึงปัจจัยทางพื้นฐาน แต่ยังมีลุ้นว่าในอนาคต คิงพาวเวอร์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญกับบริษัท RS หรือไม่? และอย่างไร
และหากมองในมุมพื้นฐาน พบว่า ราคาหุ้น RS ในปีนี้ ยัง Laggard ตลาดอยู่มาก คือ ปรับตัวลงมา 7.4% ขณะที่ SET Index เพิ่มขึ้น 2.8% ขณะที่ต่อจากนี้ยังมีหลายปัจจัยให้น่าสนใจลงทุน จากการทรานฟอร์มสู่ Data-Driven Entertainmerce พร้อมกับเตรียมเปิดตัวพันธมิตรใหม่อีก 2 ช่อง ภายในปีนี้ จะทำให้ RS มีช่องทางการขายสินค้าผ่านทีวีดิจิตอลรวมทั้งหมด 4-5 ช่อง เข้าถึงฐานผู้ชมราว 40 ล้านคน/วัน ส่วนแนวโน้มผลประกอบการในงวด 4Q62 คาดธุรกิจ MPC จะเริ่มฟื้นตัวจากการจัด Grand Sales ในเดือน ธ.ค. คาดว่ายอดขายจะสูงเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับเดือนอื่นๆ และน่าจะเป็นเดือนที่มียอดขายสูงสุดของปี และเติบโตต่อเนื่องในปี 63 หลังได้พันธมิตรใหม่เพิ่ม
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ