- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 26 November 2019 16:23
- Hits: 4154
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เชื่อว่าแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันในประเทศจะมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อน SET Index ในช่วงเวลาที่เหลือของปี แต่ Upside ก็ยังถูกจำกัดอยู่ด้วย Valuation ที่แพงขึ้นหลังการปรับลด EPS ปี 2562 ของตลาดลงมาอยู่ที่ 92.11 บาท ทำให้ค่า PER ปัจจุบันสูงกว่า 17.5 เท่า ประเด็นวันนี้ติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจาก ครม. โดยน่าจะเห็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย วันนี้ไม่มีการปรับพอร์ต Top Picks เลือก LH (FV@B 12) และ RS (FV@B 15.70)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …จับสัญญาณวันนี้
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยเปิด Gap 5 จุดก่อนที่จะทยอยปรับตัวขึ้นตลอดวัน โดยได้ปัจจัยบวกจากแรงซื้อของสถาบันฯในช่วงที่เหลือของปีช่วยพยุงตลาดฯ เนื่องจากปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่กองทุน LTF จะได้สิทธิในการลดหย่อนภาษี จึงน่าจะเห็นแรงซื้อที่เข้ามากระจุกตัวช่วงท้ายของปี จนอยู่ที่ระดับ 1614.80 จุด เพิ่มขึ้น 17.08 จุด (+1.07%) มีมูลค่าการซื้อขาย 4.74 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่หนุนตลาดหลักๆ คือ กลุ่มพลังงานได้แก่ BGRIM(+3.28%) PTT(+0.58%) GPSC(+1.13%) กลุ่มสื่อสารเช่น ADVANC(+1.82%) INTUCH(+1.21%) DTAC(+2.67%) และกลุ่มธ.พ.อย่าง KBANK(+1.96%) SCB(+2.12%) BBL(+0.28%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่บางตัวอย่างเช่น CPALL(+1.66%) และ SCC(+1.55%) เป็นต้น
แรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันในประเทศกลับมาชัดเจนโดยวานนี้ ซื้อสุทธิกว่า 2.17 พันล้านบาท และมีโอกาสที่จะเห็นแรงซื้อต่อเนื่อง โดยน่าจะเป็นผลสิบเนื่องมาจากเม็ดเงินที่ไหลเข้าจากการซื้อ LTF ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาในช่วง 2 เดือนสุดท้ายจะมีสัดส่วนการซื้อ LTF สูงกว่า 50% ของมูลค่าซื้อทั้งปีที่ อย่างไรก็ตามการปรับตัวขึ้นของ SET Index ก็ยังมีข้อจำกัดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นทิศทาง Fund Flow จากต่างประเทศที่ยังไม่กลับเช้ามา หรือในมุมของ Valuation ซึ่งปรากฎว่าหลังการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้นปี 2562 ลงจาก 100.64 บาท มาเป็น 92.11 บาท ทำให้ค่า PER ณ ระดับ SET Index ปัจจุบัน (1614.80 จุด) ปรับขึ้นไปอยู่ที่ 17.53 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่สูง สำหรับปัจจัยแวดล้อมทางพื้นฐาน เช้านี้ นำหนักค่อนข้างจะไปทางบวก โดยมีประเด็นเรื่อง การเจรจาการค้า สหรัฐฯ-จีน ที่มีความคาดหวังเชิงบวกมากขึ้นว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงในระยะที่ 1 ได้ ผลักดันให้ตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลกปรับตัวขึ้น แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ก็ยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลาเช่นกัน ส่วนประเด็นใปนระเทศ ให้น้ำหนักไปที่เรื่องการประชุม ครม. วันนี้ ซึ่งจะมีการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยส่วนใหญ่เน้นไปที่การกช่วงเหลือ กลุ่มเกษตรกร และ ประชาชนฐานราก แต่ก็มีเรื่องเพิ่มเติมในเรื่อง การทำให้ประชาชนเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ได้มีการปรับลดต้นทุนค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการมีบ้านลดลง ผ่านการปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนฯ และ ค่าธรรมเนียมการจดจำนองลดลงเหลือ 0.01% แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องกำลังซื้อ สะท้อนผ่านอัตราการถูกปฎิเสธการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยสูงขึ้น มาตรการในรอบนี้จึงน่าจะเป็นเรื่องการจัดเตียมวงเงินสำหรับการปล่อยกู้ซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งภาพรวมน่าจะเป็นผลดีต่อหุ้นในกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย เฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการที่เจาะกลุ่มสินค้าระดับกลาง – ล่าง อย่าง PSH, SPALI, รวมถึงผู้ประกอบการที่มีพอร์ตสินค้ากระจายตัวอยู่ในหลายระดับราคาอย่าง LH สำหรับหลยุทธ์การลงทุนวันนี้ ยังไม่มีการปรับพอร์ต หุ้น Top Pick เลือก LH และ RS
สุนทรพจน์ประธาน Fed ตลาดตีความยังคงดอกเบี้ยฯต่อ ,ดอกเบี้ยฯไทยยังคาดทรงต่ำ
ปัจจัยต่างประเทศที่มีน้ำหนักยังคงเป็นประเด็น Tradwar ที่ตลาดกลับมาคาดหวังอีกครั้งว่าจะตกลงทำสัญญาสงบศึกเฟส 1 กันได้ (ช่วงเวลายังไม่ชัดเจน จากเดิมคาดจะยุติได้ที่การประชุม NATO ต้นเดือน ธ.ค.) ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม และอีกประเด็นคือ ทิศทางดอกเบี้ยฯนโยบายของโลก โดยเฉพาะสหรัฐ ล่าสุดเมื่อวานนี้ตลาดให้น้ำหนักสุนทรพจน์ของนายประธาน Fed Jerome Powell มีใจความสำคัญคือ เชื่อว่าเงินเฟ้อสหรัฐกลับเข้าสู่ระดับเงินเฟ้อเป้าหมายของ Fed ที่ 2% (เงินเฟ้อสหรัฐ ล่าสุดเดือน ต.ค. ขยายตัว 1.8%yoy) และย้ำว่าดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันของสหรัฐที่ระดับ 1.75% เพียงพอสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดยิ่งเชื่อมั่นว่าดอกเบี้ยฯสหรัฐจะทรงตัวไปจนถึง 1H63 เป็นอย่างน้อย
ขณะที่ไทยวานนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงแผนยุทธศาสตร์ของ ธปท. ในปี 2563-2565 ประกอบไปด้วยประเด็นสำคัญ 7 ประเด็น ซึ่ง 6 ประเด็นจะเน้นที่การพัฒนาระบบการเงินให้มีเสถียรภาพ รองรับความผันผวนและความไม่แน่นอนในอนาคต แต่ประเด็นที่น่าสนใจ 1 ประเด็นใน 7 ประเด็น คือ “นโยบายการเงินในอนาคตจะเริ่มเผชิญขีดจำกัดมากขึ้น” ปัจจุบัน ดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ที่ระดับ 1.25% ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้การปรับลดดอกเบี้ยลงอีกจะทำได้ยากขึ้น
โดยรวมตอกย้ำความเชื่อของ ASPS ที่คาดว่า ทิศทางของดอกเบี้ยนโยบายไทย จะเริ่มมีแนวโน้ทรงตัวที่ 1.25% ต่อไปและมีโอกาสจะเป็นจุดต่ำสุด และการประชุม กนง. รอบสุดท้ายของปีนี้ วันที่ 18 ธ.ค. 2562 คาดจะยังคงดอกเบี้ย และจะคงไปจนถึงช่วงกลางปี 2563 เป็นอย่างน้อย และการที่นโยบายการเงินเริ่มมีข้อจำกัด ทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ น่าจะมาจากนโยบายการคลัง ซึ่งมีข้อจำกัดในส่วนของงบประมาเช่นกัน
วันนี้ประชุม ครม. รัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย, อสังหาฯ
ในประเทศวันนี้ให้น้ำหนักการประชุม ครม. ล่าสุด กระทรวงการคลังเผยว่ารัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลัก 3 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและเกษตร กระทรวงการคลังเผยมาตรการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวข้าวนาปี 2562/2563, พักหนี้เงินต้นจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 1 ปี, สินเชื่อสำหรับปล่อยกู้ใหม่ เชื่อว่าจะเป็น Sentiment เชิงบวกต่อการบริโภค บวกต่อหุ้นกลุ่มค้าปลีก อาทิเช่น CPALL(FV@B 100), RS(FV@B 15.70)
2. การลงทุน แต่มุ่งไปที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ชุมชน
3. อสังหาริมทรัพย์ หลักๆผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ อาทิ ธกส. , ธอส. และ ธนาคารออมสิน (ล่าสุดได้ออกโครงการ “สินเชื่อบ้านผ่อนต่ำล้านละ 10 บาท” เพื่อนำไปซื้อบ้านบ้าน ,ต่อเติมซ่อมแซม วงเงินรวมมาตรการ 2.5 หมื่นล้านบาท(ราว 0.17% ของ GDP) ดอกเบี้ยพิเศษปีแรก 0.01% มาตรการนี้เชื่อว่า ให้ประชาชนเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น
เพื่อให้สอดรับกับมาตรการรัฐที่เพิ่งออกมาในช่วงก่อนหน้า คือ 23 ต.ค. 2562 คือ การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทเหลือ 0.01% แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องกำลังซื้อ สะท้อนผ่านอัตราการถูกปฎิเสธการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยสูงขึ้น โดยรวมน่าเชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อหุ้นในกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่เจาะกลุ่มสินค้าระดับกลาง – ล่าง อาทิ PSH(FV@B 18.5), SPALI(FV@B 19.5), และผู้ประกอบการที่มีพอร์ตสินค้ากระจายตัวอยู่ในหลายระดับราคา คือ LH(FV@B 12.0)
แรงซื้อต่างชาติอาจสะดุดหลัง MSCI เพิ่มหุ้นจีน แต่ความหวังหลักยังเป็นแรงซื้อจาก LTF
วันนี้อาจเห็นแรงปรับพอร์ตของกองทุนประเภท Passive Fund ที่อิงตามดัชนี MSCI เนื่องจากเป็นวันกำหนดให้ Rebalance ดัชนีในราคาปิดวันนี้ โดยปกติแล้วช่วงท้ายก่อนตลาดปิดจะมีมูลค่าซื้อขายเข้ามาอย่างรุนแรง สะท้อนได้จากมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ในวันที่ MSCI มีการปรับหุ้นไทยเข้าออกจากดัชนี พบว่ามูลค่าซื้อขายเพิ่มขึ้นมากว่าวันก่อนหน้าสูงถึง 19.6% (ไม่นับรอบ พ.ค. 62 เนื่องจากมีการเปลี่ยนกฎเพิ่มสัดส่วน NVDR ทำให้มีมูลค่าซื้อขายสูงขึ้นอย่างผิดปกติ) แต่ช่วยหนุน SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 0.09% เท่านั้น ดังตารางทางด้านล่าง
ที่สำคัญต้องอย่าลืมว่าในรอบนี้ทาง MSCI มีการปรับเพิ่มน้ำหนัก 5% ของ China A-Share (204 บริษัท) ลงในดัชนี MSCI Emerging Market (ล่าสุดมีสัดส่วน 4.1% ของดัชนี MSCI Emerging Market หรือ 20% ของหุ้น China A Share ทั้งหมด) ซึ่งจากสถิติในทุกวันที่ทาง MSCI มีการปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้น China A-Share ลงในดัชนี MSCI Emerging Market ต่างชาติมักจะขายสุทธิหุ้นไทยเฉลี่ย 3.4 พันล้านบาท และเป็นการขายสุทธิทุกครั้ง (ยกเว้นรอบพ.ค. 62 เนื่องจากมีการเปลี่ยนกฎเพิ่มสัดส่วน NVDR ในหุ้นไทย)
ตารางเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของ SET Index และ Fund flow ของต่างชาติ ณ วัน เพิ่มน้ำหนัก China A Shares ใน MSCI Emerging Market
ดังนั้นแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติอาจถูกกดดันจากการปรับน้ำหนักตามดัชนี MSCI อยู่บ้าง หลังจากมีผลบังคับใช้ แต่แรงผลักดัน SET Index ยังให้ความหวังไว้กับแรงซื้อ LTF ที่มักจะกระจุกตัวในช่วงท้ายของปี ซึ่งสอดคล้องกับสถิติในอดีตย้อนหลัง 14 ปีที่แรงซื้อ LTF กว่า 45.1% มักจะกระจุกตัวในเดือนสุดท้ายของทุกปี
ตอกย้ำด้วยสถิติการซื้อขายสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนสถาบันฯ ย้อนหลัง 10 ปี พบว่า ในเดือน ธ.ค. สถาบันฯมักซื้อสุทธิเฉลี่ยหุ้นไทย สูงสุดของปีถึง 1.31 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิ 9 ใน 10 ปี นอกจากนี้ในช่วงปี 2563 และ 2564 จะไม่มีเม็ดเงิน LTF ที่ครบกำหนดการถือครองใหม่ (7 ปีปฎิทิน) ออกมา ทำให้ผู้จัดการกองทุนไม่จำเป็นต้องสำรองเม็ดเงินไว้รองรับการไถ่ถอน ดังเช่นทุกๆ ปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงเชื่อว่าในช่วงปลายปีนี้ จึงน่าจะเห็นแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันเข้ามาขับเคลื่อนตลาดหุ้นได้
ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของ SET Index แม้คาดว่าได้แรงพยุงจาก LTF แต่คาดว่าเคลื่อนไหวได้ในกรอบจำกัดที่ 1600 – 1625 จุด เนื่องจากมีแนวต้านสำคัญจาก Valuation ของตลาดที่เริ่มแพง โดยล่าสุดซื้อขายกันบน P/E ที่ 17.5 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่สูง สำหรับปัจจัยแวดล้อมทางพื้นฐาน หลังจากฝ่ายวิจัยฯปรับประมาณการกำไรปีนี้ลงเหลือ 92.11 บาทต่อหุ้น และหากพิจาณาจาก Market Earning Yield Cap พบว่า ลดลงมาอย่างรวดเร็วเหลือ 4.49% ทำให้การปรับตัวขึ้นของดัชนีน่าจะขึ้นได้จำกัด
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ