- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 07 October 2014 17:24
- Hits: 1698
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ช่วงการปรับฐานราคายังไม่จบ ซึ่งนักลงทุนก็ควรถือเป็นโอกาสในการปรับพอร์ตการลงทุน โดยการลดสัดส่วนหุ้นที่ราคาสูงเกินปัจจัยพื้นฐาน, ผลประกอบการดีไม่ต่อเนื่อง, โครงสร้างการเงินอ่อนแอ และสลับมาเข้าหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง และราคาต่ำกว่า Fair Value อย่าง INTUCH (FV@B 100) เป็นต้น
World Bank ปรับลด GDP โลก ส่วนไทยเติบโตต่ำสุดในอาเซียน
จากการฟื้นตัวแบบมีความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ อย่างยุโรป จีน และญี่ปุ่น ได้ส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจในภาพรวมต้องชะลอลง โดยก่อนหน้านี้หลายๆ หน่วยงาน ได้ทยอยกันออกมาปรับลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และล่าสุด World Bank ได้ปรับลด GDP Growth เป็นครั้งที่ 3 ในปี 2557 เหลือ 2.6% (จากเดิม 3% ต่ำกว่า IMF ที่ระดับ 3.4%) และในช่วงปี 2558-2560 คาดว่าจะขยายตัวได้เฉลี่ย 3.3% (จากเดิม 3.4% ต่ำกว่า IMF ที่ระดับ 4%) ทั้งนี้ประเทศที่ถูกปรับลด ได้แก่
- จีน เหลือ 7.4% (จาก 7.6% ซึ่งเท่ากับ IMF คาด) ในปี 2557 และ 7.2% ในปี 2558 (จาก 7.5% และ IMF คาดที่ 7.1%) ผลจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศ ส่งผลให้ผลผลิตอุตฯ ในเดือน ส.ค. ชะลอตัวต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤติการเงิน อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดบ้าน และความเสี่ยงจากเศรษฐกิจ ยุโรป และญี่ปุ่น
- ประเทศกำลังพัฒนาในในเอเซียตะวันออก เหลือ 6.9% (จากเดิม 7.1%) ในปี 2557 และ 2558 โดย
- ไทย ปรับลดเหลือ 1.5% (จาก 2.5%) ในปี 2557 ต่ำสุดในอาเซียน แต่สอดคล้องการประมาณการของ ASP และค่าเฉลี่ยของ consensus โดยเป็นผลมาจากการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าและบริการเป็นหลัก โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าและบริการจะขยายตัวได้เพียง 0.7% (ต่ำกว่า ASP ที่ประเมินไว้ 1% แต่สูงกว่า ธปท. ที่ประเมินไว้ ติดลบ 0.4%) เช่นเดียวกับอุปสงค์ในประเทศ และการลงทุน ขยายตัวได้น้อยกว่าที่คาดไว้ และความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะยุโรป ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย (70% ของ GDP) ส่วนในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5% (จากเดิม 4.5%) แต่ปรับเพิ่มการขยายตัวของมาเลเซีย เป็น 5.7% (จากเดิม 4.9%) ในปี 2557 จากภาคส่งออกที่แข็งแกร่งใน 1H57 ทำให้เศรษฐกิจงวด 2Q57 ขยายตัวได้เร็วที่สุดในรอบ 6 ไตรมาส
อย่างไรก็ตาม คาดว่าอีกไม่นาน IMF จะมีการรายงานการทบทวนเศรษฐกิจตามมา ซึ่งคาดว่าจะเป็นการปรับลดในทำนองเดียวกัน โดยเฉพาะ ในฝั่งยุโรป จีน และไทย
ขณะที่ยักษ์ใหญ่เยอรมันก็ชะลอตัว หลังจากยอดคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมเยอรมนีเดือน ส.ค. ติดลบ 5.7%mom (ต่ำสุดตั้งแต่ ปี 2552) หรือ ติดลบ 1.3%yoy จากอุปสงค์สินค้านอกกลุ่มยูโรโซนลดลง 9.9% และการยกเลิกคำสั่งซื้อจำนวนมาก เช่นเดียวกับ อุปสงค์สินค้าอุตสาหกรรมในประเทศลดลง 2% เนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการศึกษา
อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจเยอรมัน ซึ่งถือว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในฝั่งยุโรป ยิ่งตอกย้ำภาพรวมของเศรษฐกิจยุโรป ให้ดูมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น และอาจทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่คาด ขณะที่คาดว่าเร็วๆ นี้ จะเห็นความชัดเจนของเม็ดเงินและรายละเอียด covered bonds ที่จะมีการเริ่มใช้ภายในเดือน ต.ค. นี้ ว่าจะซื้อจากประเทศใดบ้าง และเป็นเงินเท่าใด ร่วมกับการซื้อตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (ABS: Asset Backed Securities) ช่วง 4Q57 จากประเทศโปรตุเกส 1.12 หมื่นล้านยูโร และ กรีซ 2.7 พันล้านยูโร (วงเงินรวม1.4 หมื่นล้านยูโร หรือ 1.8 หมื่นล้านเหรียญฯ) โดยทั้ง 2 โครงการ จะใช้เวลารวมถึง 2 ปี และเป็นการสนับสนุนกับมาตรการเดิมที่ทำไปแล้วคือ มาตรการ LTROs (ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริง ซึ่งหากมีปริมาณเม็ดเงินมีที่มากพอ ก็อาจจะช่วยหนุนตลาดในระยะสั้นได้
การปรับฐานยังดำเนินต่อไป แต่ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว Downside 2.6%
หลังจากที่ระดับค่า Current PER ของ SET Index ปรับขึ้นไปจุดสูงสุดที่ 16.6 เท่า ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงเมื่อเทียบกับ EPS Growth ปี 2557 ที่ 7.7% (PEG 2.16 เท่า) และประวัติการซื้อขายในอดีต ที่ SET Index มักจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 16 เท่า การปรับฐานของราคาหุ้นก็เกิดขึ้น ซึ่งน่าจะถือเป็นเรื่องปกติ และเมื่อพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมในปัจจุบัน พบว่ายังไม่เห็นปัจจัยบวกใหม่ๆทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ที่เข้ามาขับเคลื่อนตลาด ทำให้คาดว่า SET Index น่าจะอยู่ในช่วงการปรับฐานต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งรูปแบบการเคลื่อนไหวในช่วงการปรับฐานมักจะเป็นไปด้วยความผันผวนในทิศทางลง ส่วนเป้าหมายการปรับฐานราคาหากกำหนดที่บริเวณค่า PER 15.5 เท่า ก็จะอยู่ในช่วง 1503 – 1521 จุด หรือเหลือ Downside อีกประมาณ 2.6% จากระดับดัชนีปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเมื่อผ่านจุดของการปรับฐานราคาไปแล้ว ก็เชื่อว่าทิศทางของ SET Index ก็จะกลับมาสดใสได้อีกครั้ง โดยช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี คาดว่าจะมีเม็ดเงินจากการซื้อ LTF เข้ามาช่วยขับเคลื่อน เนื่องจากข้อมูลการซื้อ LTF สะสมในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2557 อยู่ที่ระดับต่ำเพียง 1.07 หมื่นล้านบาท เทียบกับยอดซื้อในภาวะปกติช่วง 3 ปีที่ผ่านมาที่สูงกว่า 4 หมื่นล้านบาท ก็น่าจะทำให้เห็นเม็ดเงินไหลเข้ามาอีกกว่า 3 หมื่นล้านบาท ในช่วงเวลาที่เหลือของปี อีกทั้งเมื่อมองต่อไปถึงปี 2558 ก็จะเห็นแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2557 กล่าวคือ EPS Growth ของบริษัทจดทะเบียนอยู่ที่ 12.5% ขณะที่ GDP Growth อยู่ที่ 3.5% ภายใต้การประเมินสถานการณ์ดังกล่าว นักลงทุนควรใช้ช่วงเวลาของการปรับฐานที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อการปรับปรุงพอร์ตการลงทุนรอรับการกลับไปปรับตัวขึ้นรอบใหม่ โดยการลดหุ้นที่ในกลุ่มที่มีการเก็งกำไรสูง (ค่า PER สูง, ผลประกอบการไม่มีความต่อเนื่อง, โครงสร้างการเงินไม่แข็งแรง, ไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้สม่ำเสมอ หรือราคาสูงกว่า Fair Value ปี 2557 ที่นักวิเคราะห์ทำไว้) และเปลี่ยนเป็นหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง ที่ราคายังต่ำกว่า Fair Value อีกทั้งให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงซึ่งมีกระจายในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม แต่ในที่นี้จะเน้นไปที่กลุ่มสื่อสาร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ Laggard ตลาดอยู่มาก หุ้นเด่นคือ INTUCH (FV@B 100) และ AIT (FV@B 51)
กำไรตลาดงวด 3Q57 มีโอกาสอ่อนตัวลงจาก 2Q57
ตั้งแต่ต้นสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป จะเข้าสู่การประกาศงบของบริษัทจดทะเบียนงวด 3Q57 โดยผลประกอบการใน 2 ไตรมาสแรกที่ผ่านมามีกำไรสุทธิรวม 4.18 แสนล้านบาท (1Q57 และ 2Q57 อยู่ที่ 2.24 และ 1.94 แสนล้านบาท ตามลำดับ) คิดเป็นสัดส่วน 47.88% ของประมาณการกำไรสุทธิทั้งปี 2557 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 8.74 แสนล้านบาท ดังนั้น ผลประกอบการในงวด 2H57 จะต้องเติบโตจากงวด 1H57 ในอัตราที่ไม่น้อยกว่า 8.87% ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่ก้าวกระโดด แต่อย่างไรก็ตาม จากสถิติในอดีตพบว่าผลประกอบการไตรมาส 3 มักจะอ่อนตัวลงจากไตรมาส 2 ในอัตราที่แรงกว่า เนื่องจากหลายกลุ่มอุตสาหกรรมเข้าสู่ช่วง low season ขณะที่งวด 3Q57 สินค้าโภคภัณฑ์ได้รับผลกระทบทั้งจากดอลลาร์แข็งค่า และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีโอกาสที่จะต้องบันทึกขาดทุนสต็อกสินค้า อาทิ
- น้ำมันดิบ : ราคาน้ำมันดิบโลกปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดิบอ้างอิงดูไบเฉลี่ย ณ สิ้นงวด 3Q57 ลดลงจาก 2Q57 ราว 4.5% ปัจจัยกดดันนอกจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปีแล้ว ยังมาจากอุปทานน้ำมันดิบที่ล้นตลาด หลังจากที่ซาอุดิอาระเบียยังไม่มีการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบในประเทศลง รวมทั้งการผลิตน้ำมันดิบจากลิเบียที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อุปสงค์ยังทรงตัวจากเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้คาดการณ์งวด 3Q57 ผู้ประกอบการโรงกลั่นที่ฝ่ายวิจัยศึกษา อาทิ TOP, PTTGC, BCP, IRPC ต้องเผชิญกับผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันราวอย่างมีนัยสำคัญ (ยังไม่รวมไว้ในประมาณการ)
- ยาง : สถานการณ์ราคายางโลกยังอยู่ในช่วงขาลง สะท้อนได้จากราคาเฉลี่ยของยางแผ่นรมควันอ้างอิงตลาดสินค้าล่วงหน้าในสิงคโปร์ (SICOM) งวด 3Q57 ลดลงจาก 2Q57 กว่า 5.68% โดยแนวโน้มราคายางโลกในช่วง 3Q-4Q57 คาดว่าจะยังมีโอกาสปรับลดลงต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยกดดันหลักๆ จากปัญหาผลผลิตยางล้นตลาดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณสต็อกยางยางพาราในเมืองชิงเต่า ประเทศจีน ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ตามนโยบายจำกัดปริมาณสั่งซื้อยางธรรมชาติเพื่อลดแรงเก็งกำไรของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งปริมาณความต้องการใช้ยางในจีนปรับลดลงเช่นกัน ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มกำไรสุทธิ 3Q-4Q57 ของ STA ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพารารายใหญ่ของไทย เนื่องจากต้องรับรู้ผลขาดทุนจากสต็อกสินค้าคงคลังอย่างมีนัยฯ และมีความเสี่ยงที่อาจปรับลดประมาณการทั้งปี 2557 หากทิศทางราคายางโลกยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง
- สินแร่เหล็ก (Iron Ore) : ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเหล็ก ยังคงมีทิศทางราคาอยู่ในภาวะขาลง โดยราคา Spot สินแร่เหล็กที่ท่าเรือ Tianjin ในประเทศจีน ณ สิ้นงวด 3Q57 ลดลงจาก 2Q57 มากถึง 17% ซึ่งฝ่ายวิจัยคาดว่าแรงกดดันหลักเกิดจาก Supply สินแร่เหล็กที่เข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง จากการขยายกำลังการผลิตของเหมืองสินแร่เหล็กจำนวนมากในออสเตรเลีย จึงทำให้ผู้ประกอบการเหล็กต้นน้ำ (SSI) มีโอกาสที่จะต้องบันทึกขาดทุนจากสินค้าคงคลัง แต่คาดว่าเป็นมูลค่าไม่มากนัก เนื่องจากแนวโน้มของสินแร่เหล็กอยู่ในทิศทางขาลงอย่างชัดเจน ผู้ผลิตจึงไม่ได้สต็อกเหล็กเพื่อเก็งกำไรเหมือนอดีตที่ผ่านมา
สถาบันในประเทศขายหนักสุดในรอบกว่า 2 เดือน
วานนี้นักลงทุนต่างชาติสลับกลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคอีกครั้ง ราว 349 ล้านเหรียญฯ เป็นการเลือกขายรายประเทศ กล่าวคือ เกาหลีใต้ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ราว 228 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 31% จากวันก่อนหน้า) ตามมาด้วยไต้หวันที่สลับมาขายสุทธิอีกครั้งราว 118 ล้านเหรียญฯ ส่วนอินโดนีเซียขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 10 ราว 8 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 94%) สวนทางกับ ไทยที่สลับมาซื้อสุทธิอีกครั้งเบาบางราว 6 ล้านเหรียญฯ (184 ล้านบาท, ขายสุทธิติดต่อกัน 2 วันก่อนหน้า) ขณะที่ตลาดในฟิลิปปินส์ปิดทำการ
ทั้งนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศยังคงขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ราว 3.0 พันล้านบาท (สูงสุดในรอบกว่า 2 เดือน) โดยเป็นการขายสุทธิต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. 2557 ที่ผ่านมารวมกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ยอดซื้อสุทธิสะสมของนักลงทุนกลุ่มนี้ตั้งแต่ต้นปี 2557 อยู่ที่ระดับ 2.5 หมื่นล้านบาท (ยอดซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปี 2556 อยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท) ทำให้เชื่อว่า ในระยะสั้นนักลงทุนกลุ่มนี้น่าจะมีแรงขายเพิ่มเติมออกมากดดันดัชนีจากยอดซื้อสะสมที่ยังสูงอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปีน่าจะมีแรงซื้อกลับเข้ามาจากกองทุน LTF ต่างๆที่มักจะเข้ามาหนุนดัชนีในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล