- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 13 November 2019 16:25
- Hits: 2447
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
น้ำหนักในทางบวกจากความคาดหวังผลการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีนยังคงมีอยู่ แต่เริ่มกังวลมากขึ้นกับตัวเลขผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนงวด 3Q62 ซึ่งออกมาต่ำกว่าคาด โดยปัจจุบันประกาศแล้ว 308 บริษัท คิดเป็น 72% Market Cap มีกำไรสุทธิรวม 1.80 แสนล้านบาท ลดลง 20.2%YoY ซึ่งน่าจะนำไปสู่การปรับลดประมาณการ กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ไม่มีการปรับพอรืต Top Picks เลือก CPALL (FV@B 100) และ CPN (FV@B 94)
SET Index 1,626.20
เปลี่ยนแปลง (จุด) 4.08
มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท) 45,405
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …จับสัญญาณวันนี้
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยแกว่งผันผวนตลอดวัน จากที่ยังไม่มีปัจจัยบวกเพิ่มเติมรวมถึงประเด็นสงครามการค้าที่ยังคงรอความชัดเจน โดยตลาดหุ้นไทยปิดระดับ 1626.20 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 4.08 จุด (+0.25%) ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขาย 4.54 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่หนุนตลาดหลักๆ คือ กลุ่มสื่อสารได้แก่ ADVANC(+2.19%) INTUCH(+0.75%) JAS(+4.25%) กลุ่มธ.พ.เช่น KBANK(+2.36%) BBL(+1.14%) SCB(+2.16%) แต่โดนกดดันจากกลุ่มการแพทย์เช่น BDMS(-1.27%) BCH(-0.61%) BH(-1.53%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่บางตัวอย่างเช่น AOT(-0.63%) และ GFPT(-9.42%) เป็นต้น
ปัจจัยในต่างประเทศความสนใจอยู่ที่เรื่อง นโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยล่าสุดมีสัญญาณผ่อนคลายอยู่ 2 ส่วนคือ กรณีการเจรจากับ จีน ซึ่งยังเดินหน้าและอาจบรรลุข้อตกลงในระยะที่ 1 (แต่ยังไม่มีการเปิดเผยว่าหากมีการลงนามแล้วจะลดกำแพงภาษีนำเข้าในสินค้ากลุ่มใด) ส่วนกรณีที่ 2 เรื่องการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จากยุโรป มีความเป็นไปได้ที่จะเลื่อนกำหนดการปรับขึ้นภาษีออกไป 6 เดือน ซึ่งยังต้องระติดตามความชัดเจน พัฒนาการดังกล่าว ประกอบกับ Bond Yield ที่ต่ำกว่าปกติมาก ทำให้เห็นการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนออกจากตลาดพันธบัตรเข้าสู่ สินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นต่อเนื่อง ซึ่งภาพดังกล่าวก็เกิดขึ้นในตลาดการเงินของประเทศไทยเช่นกัน สำหรับประเด็นในประเทศ ให้น้ำหนักไปที่เรื่องของมาตาการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยในส่วนของชิม ช้อป ใช้ ทั้ง 3 เฟส คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในระบบเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 7.3 หมื่นล้านบาท และยังมีแรงหนุนจาก มาตาการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่าง 100 เดียวเที่ยวทั่วไทย ซึ่งมาตรการดังกล่าวน่าจะส่งผลดีต่อกลุ่มธุรกิจค้าปลีก และ ท่องเที่ยวเป็นหลัก ในเชิงของกลยุทธ์การเลงทุน ฝ่ายวิจัยจึงเลือก CPN และ CPALL เป็นหุ้น Top Pick ในวันนี้ สำหรับประเด็นที่ถูกมองในฐานะที่สร้างแรงกดดันให้กับตลาดหุ้น ได้แก่ผลประกอบการงวด 3Q62 ซึ่งจนถึงปัจจุบัน มีการประกาศออกมาแล้ว 308 บริษัท คิดเป็นสัดส่วนราว 72% ของ Market Cap. พบว่ามีกำไรสุทธิ 1.8 แสนล้านบาท ลดลง 20.2% YoY ถือว่าต่ำกว่าความคาดหมาย และทำให้จะต้องทำการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิงวดปี 2562 และ 2563 ลง หลังจากผ่านช่วงการประกาศงบการเงินในงวด 3Q62 ไปแล้ว โดยภาพรวมวันนี้คาดว่า SET Index ยังน่าจะอยู่ในภาวะผันผวนในกรอบ 1620 – 1640 จุด ส่วนพอร์ตการลงทุน วันนี้ไม่มีการปรับเปลี่ยน
นโยบายการค้าสหรัฐฯ มีท่าทีผ่อนคลายมากขึ้น
ต่างประเทศเมื่อวานนี้ประเด็นที่ตลาดให้น้ำหนัก คือ
ประธานาธิบดีทรัมป์ได้แถลงสุนทรพจน์ที่ NewYork ใจความสำคัญคือ ยังเน้นย้ำถึงการเจรจาการค้าของสหรัฐ-จีน ยังคงเป็นไปด้วยดี และคาดจะสามารถเซ็นสัญญาข้อตกลงการค้าเฟสที่ 1 ได้ในเร็วๆนี้ แต่สหรัฐจะต้องไม่เป็นฝ่ายเสียเปรียบ และสหรัฐพร้อมกลับมาขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนต่อหากการเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ โดยรวมถือว่ายังมีทิศทางเชิงบวก โดย ASPS ยังคงมุมมองเดิมคือการกีดกันการค้าจะมีไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 2563
สหรัฐอาจจะเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้ายานยนต์จากยุโรป: แหล่งข่าวจาก Reuters ระบุว่าสหรัฐกำลังพิจารณาเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้ายานยนต์จากยุโรปเป็น 25% ออกไป จากเดิมที่จะครบกำหนดในวันที่ 14 พ.ย. 2562 โดยคาดว่าจะเลื่อนออกไปราว 6 เดือน (ประมาณช่วงกลางเดือน พ.ค. 2563) ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นโลก
กระแสการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงปลายปี 2563 การหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีเริ่มมีมากขึ้น ล่าสุด ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของทรัมป์เปิดเผยว่า ทรัมป์มีแผนจะผลักดันนโยบายลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกครั้ง หากได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในสมัยหน้า ทั้งนี้ ในปี 2560 ทรัมป์ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลมาแล้ว (ดังตาราง) โดยการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในครั้งนี้ จะมุ่งไปที่การลดภาษีแก่กลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งเสียช่วงภาษีราว 22-24% (ดังตารางด้านล่าง) ให้เหลือ 15%
นโยบายลดภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ ในปี 2558
ในภาพรวมประเด็นดังกล่าวน่าจะสามารถช่วยสร้าง Sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นโลกได้ในระยะสั้น โดย ASPS เชื่อว่าทรัมป์จะมีโอกาสเน้นนโยบายลดภาษีข้างต้นในการเสียง ควบคู่ไปกับการเดินหน้ากดดันจีนในการเจรจาการค้าต่อไป ส่งผลให้ ASPS เชื่อว่าประเด็นสงครามการค้าน่าจะยังมีโอกาสยืดเยื้อในระยะยาว
ชิม ช้อป ใช้ เฟส 1-3 กระตุ้นเศรษฐกิจ 4Q62 ดีต่อค้าปลีก, ท่องที่ยว
เศรษฐกิจไทยงวด 4Q62 คาดยังถูกกดดันจากภาคส่งออกที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าที่ยังไม่ได้ข้อสรุป และการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 โดยเฉพาะเบิกจ่ายโครงการลงทุนใหม่ที่ยังไม่ก่อหนี้ผูกพันล่ากว่า คาดจะเริ่มเบิกจ่ายอย่างเร็วคือ ต้นเดือน ก.พ.63 ทำให้ปัจจัยหนุนเศรษฐกิจหลักมาจากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลที่มุ่งเน้นไปที่การบริโภคและการท่องเที่ยว ซึ่งจากที่ ASPS รวบรวม คาดว่ามาตรการหลักๆ 2 มาตรการ คือ มาตรการชิม ช้อป ใช้ เฟส 1-3 และ 100 บาทเที่ยวทั่วไทย เบื้องต้นจะกระตุ้นให้ประชาชนมีความต้องการและจูงใจออกไปจับจ่ายใช้สอย เบื้องต้นคาดจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงงวด 4Q62 คาดราว 7.3 หมื่นล้านบาท(หรือคิดราว 0.5%ของ GDP) * ไม่ได้รวมมาตรการประกันราคาสินค้าเกษตร
1.) มาตรการชิม ช้อป ใช้ เฟส 1-3 แบ่งเป็น เฟส 1-2 รัฐให้เงินประชาชน 1 พันบาทผ่านแอพเป๋าตัง กระเป๋าที่ 1 จำนวน 13 ล้านคน คาดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ 1.3 หมื่นล้านบาท , ขณะที่เฟส 3 ครม.พึ่งอนุมัติเมื่อวานนี้ หลักๆ ให้สิทธิ 2 ล้านคน เฉพาะการคืนเงิน (Cash Back) ผ่านกระเป๋า 2 เท่านั้น(ไม่ได้ให้เงิน 1,000 บาท ในกระเป๋า 1) โดยค่าใช้จ่าย 3 หมื่นบาทแรก รับคืน 15% แต่สูงสุดไม่เกิน 4,500 บาท และค่าใช้จ่ายที่เกิน 3 หมื่น แต่ไม่เกิน 5 หมื่นรับคืน 20% แต่สูงสุดไม่เกิน 4,000 บาท กรณีประชาชนใช้สิทธิเต็มที่ 3 หมื่นบาทจะมีเม็ดเงินกระตุ้นราว 6 หมื่นล้านบาท
2.) 100 บาทเที่ยวทั่วไทย ให้ทั้งหมด 4 หมื่นสิทธิ หลักๆ คือ โรงแรมที่พัก, สายการบิน ,สปา
โดยรวม ASPS คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังเป็น Sentiment บวกต่อหุ้นในกลุ่มค้าปลีก โดย Toppicks กลุ่มคือ CPALL(FV’63@B100), BJC(FV@B61)
คาดหวังสภาพคล่องส่วนเกิน ช่วยพยุงตลาดหุ้นไทย ยืนเหนือ 1600 จุด
ในช่วงที่ผ่านมา สินทรัพย์ปลอดภัย (Save Haven) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เช่น ทองคำย่อตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 1450 เหรียญฯ (ลดลง 4%mtd) และพันธบัตรรัฐบาลมีราคาแพง จนอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังต่ำ เริ่มถูกขายออกมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเดือน พ.ย. 2562 นี้ ต่างชาติขายสุทธิตราสารหนี้ไทยแล้วกว่า 4.79 พันล้านบาท (mtd) ส่งผลให้ Bond Yield 10 ปี ของไทยเร่งตัวขึ้นมาตาม Bond Yield ประเทศอื่นๆ ที่ปรับตัวขึ้นมาก่อนหน้า โดยล่าสุด Bond Yield 10 ปี ของไทยอยู่ที่ 1.72% (ดังภาพทางด้านล่าง)
นอกจากนี้เริ่มเห็นเม็ดเงินจากการขายสินทรัพย์ปลอดภัยบางส่วน ถูกถ่ายเทมาในตลาดหุ้นบ้าง สังเกตได้จากในช่วง 2 วันที่ผ่านมาต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทย 2.9 พันล้านบาท คาดว่าแรงหนุนจากสภาพคล่องส่วนเกินดังกล่าว ช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นยืนเหนือ 1600 จุด และหากเข้ามาหนุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแรงซื้อ LTF ที่มักกระจุกตัวในช่วงที่เหลือของปี (คาดว่าราว 3 หมื่นล้านบาท) มีโอกาสผลักดันให้ SET Index ขึ้นไปถึงดัชนีเป้าหมายของฝ่ายวิจัยฯที่ 1655 จุด ในช่วงที่เหลือของปีได้
กลยุทธ์ลงทุนช่วง Earning Play ยังคงเน้นหุ้นเติบโตดี CPN CPALL
บริษัทจดทะเบียนทะยอยรายงานงบ 3Q62 ออกมาต่อเนื่อง จากการรวบรวมของฝ่ายวิจัยฯ นับจนถึงวานนี้มีบริษัทประกาศงบแล้ว 308 บริษัท คิดเป็น 72% ของ Market Cap. ทั้งตลาด มีกำไรสุทธิ 1.80 แสนล้านบาท น้อยกว่า 2Q62 ที่ทำกำไรได้ 1.88 แสนล้านบาท และ 3Q61 ที่ทำกำไรได้ 2.26 แสนล้านบาท หรือลดลง 4.1%QoQ และ 20.2%YoY ตามลำดับ ส่วนหนึ่ง กดดันจากกำไรที่ลดลงของหุ้นที่มี Market Cap. ขนาดใหญ่อย่าง PTT วานนี้รายงานกำไรสุทธิ 3Q62 เท่ากับ 2.0 หมื่นล้านบาท ลดลง 21.9%qoq กดดันจากทั้งธุรกิจก๊าซฯ ของ PTT และ PTTEP รวมถึงธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี
ภาพรวมดังกล่าว ยิ่งเพิ่มความท้าทายและมีความเสี่ยงที่ฝ่ายวิจัยฯ จะปรับลดประมาณการลง จากเดิมที่คาดว่ากำไรสุทธิปี 2562 อยู่ที่ 9.99 แสนล้านบาท หรือ 100.64 บาท/หุ้น โดยทุกๆ 1 หมื่นล้านบาทที่หายไป จะทำให้ กำไรต่อหุ้น (EPS) ลดลง 1 บาท เพราะฉะนั้นกลยุทธ์ยังคงพิถีพิถันในการเลือกหุ้น แนะนำหุ้น Domestic ขนาดใหญ่ที่ราคา Laggard บวกกับเป็นหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง, ได้อานิสงค์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ Top Pick วันนี้ ฝ่ายวิจัยชื่นชอบ CPN (FV’63@B 94) ราคาหุ้น Laggard หลายหุ้นในดัชนี SET50 ขณะที่มาตรการชิมช้อปใช้ CPN จะได้ประโยชน์จาก Profit Sharing จากร้านค้าที่เช่าพื้นที่ (ซึ่งมีสัดส่วน 40%) ส่วนการขายสิทธิการเช่าใน 5 ศูนย์การค้า (พัทยา, ลำปาง, สุราษฏร์, อุบล และพระราม 2) มูลค่าไม่เกิน 4.85 หมื่นล้านบาท คาดแล้วเสร็จ 1H63 จะทำให้ CPN รับรู้กำไรพิเศษ รวมถึงรายได้ค่าเช่าตลอด 30 ปี นอกจากนี้ยังสามารถนำกระแสเงินสดที่ได้ ไปต่อยอดลงทุนโครงการใหม่, ลดภาระเงินกู้ และจ่ายเงินปันผลพิเศษ
และ CPALL (FV’63@B 100) ปี 2563 คาดเด่นสุดในกลุ่ม จากทั้งแรงหนุนธุรกิจร้านสะดวกซื้อ และรายได้ค่าธรรมเนียมเติบโตมีนัยฯ (จากทั้งบริการรับฝาก-ถอนเงินสด, บริการรับส่งพัสดุ และรายได้บริการให้เช่าพื้นที่โฆษณากับ PLANB)
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ