- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 01 November 2019 15:22
- Hits: 2292
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
แรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ย. ที่มีน้ำหนักเชิงลบ ขณะที่ทิศทางของ Fund Flow จากนักลงทุนต่างชาติช่วงเดือน พ.ย. ยังไม่น่าจะมีเข้ามา จะมีก็เพียงแรงซื้อจาก LTF ที่เข้ามาหนุนบางส่วน คาด SET Index ผันผวนในกรอบ 1600 +/-10 จุด กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ ไม่มีการปรับพอร์ต ส่วนหุ้น Top Picks เลือก 3 หุ้นเด่นในพอร์ตจำลองได้แก่ CPN (FV@B 92), JWD (FV@B 12.30) และ MCS (FV@B 11.30)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …จับสัญญาณวันนี้
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยแกว่งทรงตัวในกรอบ 10 จุดตลอดวันและปิดตัวในแดนลบ จากที่ยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆเข้ามาขับเคลื่อนตลาด โดยประเด็นการลดดอกเบี้ยของ Fed เป็นสิ่งที่ตลาดคาดไว้แล้ว จนปิดที่ระดับ 1601.49 จุด ลดลง -0.34 จุด (-0.02%) ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขาย 6.44 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่กดดันตลาดหลักๆ คือ กลุ่มสื่อสารเพียงกลุ่มเดียวที่กดดันตลาดเกิน 3 จุดได้แก่ ADVANC(-3.78%) DTAC(-0.40%) INTUCH(-3.30%) แต่ได้แรงหนุนจากกลุ่มอาหารเช่น TU(+7.35%) OSP(+2.41%) CPF(+1.41%) และกลุ่มธ.พ.เช่น KBANK(+2.21%) SCB(+0.45%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่บางตัวอย่างเช่น GULF(+1.57%) และ BJC(+1.56%) เป็นต้น
ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในงวดเดือน ก.ย. 62 ส่งสัญญาณชะลอตัวโดยภาพรวม ซึ่งน่าจะกดดันตัวเลข GDP Growth งวด 3Q62 ให้อยู่ที่ระดับต่ำ โดยฝ่ายวิจัยประเมินที่ 2.8% ซึ่งสถานการณ์แวดล้อมทางเศรษฐกิจดังกล่าวน่าจะเพิ่มโอกาสที่จะหห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. ในรอบวันที่ 6 พ.ย. 62 โดยหากปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตามคาด ก็น่าจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้น เนื่องจากปัจจุบันส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนการลงทุนในตลาดหุ้น กับ พันธบัตร กว้างมากกว่า 4.8% (เทียบกับค่าเฉลี่ยจากปี 2551 จนถึงปัจจุบันที่ 4.28%) ซึ่งมีโอกาสปรับขึ้นไปกว้างเกิน 5% ทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นมีความน่าสนใจมากขึ้น และทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนจาก ตลาดตราสารหนี้ เข้ามาสู่ตลาดหุ้นไทยได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งพบว่า ทิศทางของ Fund Flow จากนักลงทุนต่างชาติ ยังไม่มีสัญญาณการไหลกลับเข้ามาสู่ตลาดหุ้นไทย โดยปัจจัยหนึ่งที่เป็นแรงกดดันคือการที่ MSCI จะมีการปรับเพิ่มน้ำหนัก 5% ใน China A-Share เข้าไปในดัชนี MSCI Emerging Market ซึ่งจะประกาศผลในเช้าวันที่ 8 พ.ย. 2562 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 พ.ย. 2562 คาดว่ากดดันให้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสถูกเบียดให้มีสัดส่วนลดลง และ Fund Flow น่าจะชะลอการไหลเข้าเช่นเดียวกับเดือน ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา ภายใต้สถานการณ์แวดล้อมดังกล่าว คาดว่าน่าจะทำให้ในระยะสั้น SET Index ยังต้องผันผวนอยู่ในกรอบบริเวณ 1600 +/-10 จุดต่อไป กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ ไม่มีการปรับพอร์ตการลงทุน ส่วนหุ้น TOP Picks เลือก 3 ตัวหลักในพอร์ตการลงทุนจำลอง ได้แก่ CPN, MCS และ JWD
ต่างประเทศ ให้น้ำหนัก คือ ตัวเลขแรงงานสหรัฐ และ การเจรจาการค้า
ต่างประเทศ ยังให้น้ำหนักสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ภายหลังการประชุม APEC ที่ประเทศชิลีถูกยกเลิกไป วานนี้ประธานาธิบดีทรัมป์ระบุว่า การเจรจาการค้าของทั้ง 2 ประเทศดำเนินต่อไป และจะประกาศสถานที่เจรจาใหม่ เพื่อลงนามเซ็นสัญญาสงบศึกเฟสที่ 1 ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม
วันนี้ให้น้ำหนักการรายงานดัชนีเศรษฐกิจด้านแรงงานของสหรัฐเดือน ต.ค. คือ การจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm payroll) และอัตราการว่างงาน ซึ่งตลาดคาด Nonfarm payroll จะเพิ่มขึ้นราว 8.9 หมื่นตำแหน่ง จาก 1.36 แสนตำแหน่งในเดือน ก.ย. ขณะที่อัตราการว่างงาน ตลาดคาดที่ 3.6% เพิ่มเล็กน้อยจาก 3.5% ในเดือน ก.ย. ซึ่งหากข้อมูลจริงออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาด อาจสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้น
สำหรับปัจจัยที่ให้น้ำหนักในสัปดาห์หน้า คือ การแถลงรายงานของกลุ่ม OPEC (World Oil Outlook) วันที่ 6 พ.ย. 2562, การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) วันที่ 7 พ.ย. 2562 ซึ่งตลาดคาดว่าจะยังคงดอกเบี้ยที่ 0.75%
MSCI EM เพิ่มน้ำหนักหุ้นจีน ยังกดดัน Fund Flow ชะลอการไหลเข้าหุ้นไทยเดือน พ.ย.
ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นไทยผันผวนมาก และน่าจะสร้างความอึดอัดให้กับนักลงทุนพอสมควร เนื่องจากมีทั้งหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาแรง และหุ้นที่ปรับตัวลงแรงผสมกัน สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากตลาดยังขาดแรงหนุนจาก Fund Flow สังเกตได้จากต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยมาตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา เดือน ส.ค. -5.4 หมื่นล้านบาท, ก.ย. -1.1 หมื่นล้านบาท และต.ค. -7.8 พันล้านบาท ส่งผลให้ลักษณะการลงทุน ณ ปัจจุบัน เป็นการซื้อขายสลับกลุ่ม คือ ขายทำกำไรหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาแรง อย่าง กลุ่มโรงไฟฟ้า แล้วสลับไปลงทุนในหุ้นที่ปรับฐานลงมาเยอะจนมี Upside เปิดกว้าง เช่น กลุ่ม ธ.พ. เป็นต้น
ขณะในเดือน พ.ย. 2562 นี้ ทาง MSCI จะมีการปรับพอร์ต (rebalance) อีกครั้ง โดยประกาศผลในเช้าวันที่ 8 พ.ย. 2562 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 พ.ย. 2562 ซึ่งจะเป็นบวกต่อหุ้นไทยที่คัดเข้าดัชนี สอดคล้องกับสถิติในอดีต พบว่า หุ้นที่ถูกคัดเลือกเข้าคำนวณดัชนี MSCI มักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงก่อนการเข้าคำนวณเสมอ โดยเฉพาะ ดัชนี MSCI Global Standard ในทางตรงกันข้ามหุ้นที่ถูกคัดออกราคาหุ้นมักจะถูกกดดัน แต่จะค่อยฟื้นตัวหลังวันที่มีผลบังคับใช้
แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ ในช่วงต้นปี 2562 ทาง MSCI ได้มีการประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่า จะปรับเพิ่มน้ำหนัก 5% ของ China A-Share ลงในดัชนี MSCI Emerging Market ในรอบนี้ คาดว่ากดดันให้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสถูกเบียดให้มีสัดส่วนลดลง และ Fund Flow น่าจะชะลอการไหลเข้าเช่นเดียวกับเดือน ส.ค. 2562 เป็นเดือนที่ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยสูงสุดในปีนี้ และทาง MSCI มีการเพิ่มน้ำหนัก 5% ของ China A-Share ลงในดัชนี MSCI Emerging Market เช่นกัน (ดังตารางด้านล่าง)
เหตุผลดังกล่าวน่าจะเป็นตัวเหนี่ยวรั้งการไหลเข้าของ Fund Flow ในตลาดหุ้นไทยออกไปอีกซักระยะ และยังสอดคล้องกับสถิติในอดีตย้อนหลัง 10 ปี ที่ Fund Flow มักจะไหลออกจากตลาดหุ้นไทยในเดือน พ.ย. เฉลี่ยสูงถึง 1.47 หมื่นล้านบาท (มากสุดเป็นอันดับ 2 ของปี) และยังเป็นการขายสุทธิสูงถึง 8 ใน 10 ปี
ธปท. รายงานเศรษฐกิจไทย ก.ย. ชะลอตัว หนุนลดดอกเบี้ยฯ ปลายปี
วานนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ย. 2562 คือ อยู่ในภาวะชะลอตัว หลักๆ คือ จากภาคส่งออกคิดสัดส่วนราว 68%ของ GDP หดตัว 1.5%yoy ในเดือน ก.ย. และหดตัวต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 11 (ส่งออกเฉลี่ย 9M62 หดตัวเฉลี่ย 2.1%), ลงทุนภาคเอกชน ในเดือนนี้ยังหดตัวต่อ ตามการผลิตภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจาก อัตรากำลังใช้การผลิตรวม เดือนนี้ลดลงอยู่ที่ 64.5% ชะลอจากเดือน ส.ค. ที่ 66.5% และเห็นได้จากการลงทุนหมวดเครื่องจักรหดตัวและ ยอดขายเครื่องจักรในประเทศ และยอดจดทะเบียนรถยนต์ ลดลง ขณะที่ตัวอื่นๆ อาทิ การบริโภคครัวเรือน และการใช้จ่ายภาครัฐทรงตัว
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยช่วงที่เหลืออีก 3 เดือน ต.ค.-ธ.ค.62 ASPS ประเมินว่ามีปัจจัยหนุนจากการบริโภคครัวเรือน(C)ราว 49%ของGDP หนุนจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ เดือน ก.ย.-ธ.ค. 2562 อาทิ บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย, ชิมช็อปใช้เฟส 1&2, ประกันราคาสินค้าเกษตร ,กระตุ้นภาคการท่องเที่ยว คือ ขยายเวลาฟรีธรรมเนียม VOA จนถึง เม.ย. 2563
อย่างไรก็ตามมีความเสี่ยงจากภาคส่งออกยังคงได้รับผลกระทบสงครามการค้า และเงินบาทแข็งค่า ทำให้จะยังหดตัวในต่อจากฐานที่สูงในปี 2561 และการลงททุนโครงการลงทุน คาดมีเม็ดเงินการลงทุนที่จะหายไปจากระบบเศรษฐกิจ จากการพิจารณางบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้า โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ยังไม่ก่อนหนี้ผูกผัน (สศค.ประเมินเม็ดเงินที่จะหายไปจากระบบเศรษฐกิจประมาณ 8 หมื่นล้านบาทราว 0.56%ของ GDP)
โดยรวม ธปท. เบื้องต้นประเมิน GDP Growth งวด 3Q62 อาจจะขยายตัวต่ำกว่า 2.9% (18 พ.ย. 2562 สภาพัฒน์จะรายงาน GDP Growth ไทยงวด 3Q62 ASPS คาดขยายตัว 2.8% และจะฟื้นตัวราว 3.1% ในงวด 4Q62 ทำให้คาดทั้งปี 2562 ขยายตัว 2.7% และ 2.8% ในปี 2563)
ทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวในอนาคต ให้น้ำหนักไปที่สัปดาห์หน้า 6 พ.ย. การประชุม กนง. ASPS ยังคงให้น้ำหนัก กนง.มีโอกาสลดดอกเบี้ยฯตามหลัง Fed ที่พึ่งปรับลดดอกเบี้ยฯ ไปเมื่อวานนี้ และ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวดังกล่าว คาดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.25% สอดคล้องกับมุมมองนักวิเคราะห์ Consensus ใน Bloomberg 7 ท่าน ส่วนใหญ่คาดจะปรับลดในรอบนี้ (คือ 4 ท่านคาดปรับลดดอกเบี้ยฯ 0.25% อีก 3 ท่านคาด ยังคงดอกเบี้ยฯ ที่เดิม 1.5%) ผลของ กนง.ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จะส่งผลทำให้ Market Earning Yield Gap ขยายกว้างขึ้นไปแตะระดับ 5% โดยปัจจุบันกว้างขึ้นมาอยู่ที่ 4.85% ซึ่งเป็นระดับที่สูงมาก (ค่าเฉลี่ยนับจากปี 2551 จนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 4.28%) ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุน จากตราสารหนี้ เข้ามาสู่ตลาดหุ้นมากขึ้น
พอร์ตจำลอง ASPS ตัวช่วยในการสร้างผลตอบแทนที่ดี
ในภาวะที่ปัจจัยภายนอกลุมเล้า อาจกดดันภาพเศรษฐกิจและสร้างผลกระทบต่อตลาดหุ้นให้เคลื่อนไหวผันผวน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการลงทุนในหุ้นยังคงสร้างผลตอบแทนได้ดี และนอกเหนือจากการค้นหาหุ้นด้วยตัวเองยังมีตัวช่วยในการลงทุนอย่าง พอร์ตจำลอง ฝ่ายวิจัย ASPS ภาพรวมผลตอบแทนพอร์ตจำลองยังสูงถึง 13% ต่อปี ขณะที่ SET Index บวกเพียง 2.4% และให้ผลตอบแทนชนะตลาดเกือบทุกเดือน หรือ 7 ใน 10 เดือนที่ผ่านมา
ปัจจุบัน พอร์ตจำลอง มีหุ้นแนะนำจำนวน 9 บริษัท โดยเชื่อว่าจะยัง Outperform ตลาดได้ ซึ่งกลยุทธ์แบ่งออกเป็น 3 ธีม หลักๆ ดังนี้
•หุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการดี พร้อมกับมีปัจจัยสนับสนุนเฉพาะตัว อย่าง CPN, EA และ PLANB ล่าสุด เข้าลงทุนในบริษัท MACO สัดส่วน 19.96% โดย PLANB จะได้สิทธิบริหารจดการสื่อโฆษณานอกบ้านทั้งหมดของ MACO ซึ่งอยู่ในทำเลที่ดี นอกจากนี้จะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองและเอเจนซี รวมถึงการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตโตของ MACOหุ้น
•Defensive เน้นเลือกหุ้นปันผลสูง คือ LH, MCS และ KKP คาดหวังปันผลได้เกินกว่า 6% ต่อปี
•หุ้น Domestic พื้นฐานแข็งแกร่งที่คาดวาจะได้ประโยชน์จากการกระตุ้นการลงทุนทั้งในเอกชนและรัฐบาล คือ AMATA JWD และ CK
สรุปคือ พอร์ตจำลองของฝ่ายวิจัยฯ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นหนึ่งในแนวทางการลงทุน พร้อมกับเพิ่มความสะดวกในการคัดเลือกหุ้นที่น่าลงทุน ขณะที่ผลตอบแทนยังคงทำได้ดีอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ดูแล และยังมีความมุ่งหวังที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดียิ่งขึ้นให้กับนักลงทุน ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ